"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันจันทร์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

พจมาน ตอน 2/2 วินโดว์ ของพจมาน วรรณคดีวิจารณ์

"วินโดส์” ของพจมานฯ (ขอโทษ บิล เกตส์ ชิดซ้าย)
พจมาน ตอน 2/2 วินโดว์ ของพจมาน
 โดย แดง ใบเล่ 


"พจมาน สว่างวงศ์" นวนิยายอสังหาฯอมตะ ต่อเนื่องมาจาก "บ้านทรายทอง" ของ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งตีพิมพ์ปีพ.ศ. 2493 ใช้อสังหาฯ ชิ้นไพรม์เป็นฉาก ทั้ง พจมาน สว่างวงศ์ และ บ้านทรายทอง มีประเด็นในเรื่อง คล้ายกับนวนิยายอสังหาฯ ของนักเขียนอังกฤษ เจน ออสเตน เรื่อง Pride and Prejudice อยู่หลายประเด็น เช่น ทั้งนวนิยายไทยและอังกฤษต่างก็ได้ใช้ “หน้าต่าง” อสังหาฯ เป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่มีบทบาทน่าสนใจ อยู่ในท้องเรื่อง พิจารณาตามความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่า นวนิยายทั้งสองนั้น ต่างก็มีอสังหาฯชิ้นงาม หรือชิ้นไพรม์(มิใช่ซับไพรม์) เป็นเวทีให้ตัวละครได้เล่นบทบาทชีวิต เพราะฉะนั้น โดยสามัญสำนึกแล้ว จะไม่ให้ ประตูหน้าต่างอสังหาฯ เข้ามามีบทบาทในท้องเรื่องบ้าง ได้อย่างไรกัน จริงเปล่าแพ่

อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่านผู้ประพันธ์ ต่างก็ได้ใช้ประโยชน์จาก "วินโดส์" หรือ "หน้าต่าง" แต่ว่า
เจน ออสเตน ได้อาศัย "วินโดส์" ปรุงแต่ง แสดงจุดเด่น ให้แก่อสังหาฯ เธอใช้หน้าต่าง เน้นให้เห็นคุณค่าของอสังหาฯ ช่วยเพิ่มเรตติ้งให้แก่อสังหาฯ ทำให้คุณภาพชีวิตตัวละครดีขึ้น เมื่อมาเกี่ยวข้องกับหน้าต่างนั้น เธอใช้ "วินโดส์" เชื้อเชิญโลกกว้างภายนอก อันสวยงามของชนบทอังกฤษ เข้ามาภายในคฤหาสน์ แล้วก็ด้วยหน้าต่างนั่นเอง ที่ชีวิตภายในตัวคฤหาสน์ จะได้เป็นอิสระทางอารมณ์ มีโอกาสปล่อยใจ โบยบินไปไกลผ่าน "วินโดส์" ได้พักใจให้สดชื่น ด้วยวิธีการอันง่ายและแสนธรรมดา เพียงแค่เดินไปที่หน้าต่าง ทัศนาภูมิทัศน์อันสวยงามภายนอก ผ่าน "วินโดส์" อสังหาฯ เท่านั้นเอง คิดดูแล้วกันว่า หน้าต่างอสังหาฯ สำคัญเพียงใด

แต่ ก.สุรางคนางค์ ใช้ประโยชน์จากหน้าต่างบ้านทรายทอง ในเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ เพียงเพื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบ้านเท่านั้น "วินโดส์" ของ พจมานฯ ไม่ได้เป็นเครื่องมือ ในการเน้นคุณค่า เพิ่มเรตติ้งทริปเปิ้ลเอ(AAA) ให้กับอสังหาฯ  และหน้าต่างของ พจมาน สว่างวงศ์ ไม่ได้เชิญชวน ชี้ชวน หรือเชื้อเชิญ หรือเปิดโอกาส ให้ท่านผู้อ่านได้จินตนาการไปไกล เกินกว่าอาณาบริเวณบ้านทรายทอง ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ จะได้ยกขึ้นมากล่าวอย่างชัดเจนต่อไป


ณ บัดนี้จะขอยก "วินโดส์” ของ เจน ออสเตน ขึ้นไว้เป็นตัวตั้งกันก่อน โดยที่ใน บท 43 ของ Pride and Prejudice ผู้วิจารณ์ (คือผู้เขียนบทความนี้) เห็นว่า หน้าต่างที่ เจน ออสเตน กล่าวถึงในบทนั้น โดดเด่นที่สุด และน่าจะสำคัญที่สุด ในบรรดาใจความทั้งหลาย ที่พาดพิงถึงหน้าต่าง จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ตลอดนวนิยายเรื่องนั้นทั้งเรื่อง ข้อความเกี่ยวกับหน้าต่างในบท 43 มีว่า

“...คนทั้งหลาย เดินตามเธอเข้าไปในห้องรับประทานอาหาร ห้องกว้างขวาง แต่ได้ส่วน ตบแต่งอย่างหรูหรา เมื่อได้สำรวจดูพอทำเนาแล้ว อะลิซาเบธ ก็เดินไปที่ หน้าต่าง เพื่อชื่นชมกับทัศนียภาพภายนอก แลเห็นลูกเนิน ที่พวกเขาเดินกลับลงมาเมื่อสักครู่นี้ มีป่าไม้ปกอยู่บนยอด และดูโดดเด่นยิ่งขึ้น เมื่อมองจากที่ไกล ภาพอันงามแท้ ผืนดินโดยรอบปริมณฑล ดูดีไปทั้งนั้น เธอทัศนาภาพทั้งภาพ อย่างเปี่ยมปีติ ที่แม่น้ำ ต้นไม้กระจายอยู่ชายตลิ่ง แอ่งเขาที่เว้า สูงต่ำขึ้นลงไปจนสุดสายตาของเธอ ครั้นคนทั้งกลุ่มผละจากห้องนั้น ไปยังห้องอื่น ๆ ทัศนียภาพภายนอก ก็เปลี่ยนไปอีกมุมมองหนึ่ง แต่จะกระนั้นก็ดี หน้าต่างทุกบาน ล้วนเผยให้เห็นภาพอันสวยงาม น่าชมด้วยกันทั้งสิ้น”    (ผู้วิจารณ์ได้แปล เป็นไทย และได้เน้นอักขระตัวหนากับคำว่า หน้าต่าง เอาเอง)-โดยที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษ เริ่มต้นว่า “They followed her into the dining parlour. It was a large, well proportioned room, handsomely fitted up. Elizabeth, after slightly surveying it, went to a window to enjoy its prospect…………………………”

ไม่จำเป็นจะต้องวิจารณ์ให้เรี่ยราด ว่า ภาพที่เห็นจากหน้าต่าง ทำให้เรานึกรักอสังหาฯแห่งนั้น คุณค่าของคฤหาสน์ เพิ่มสูงขึ้น โดยร้านเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงร้านใด ก็ยากที่จะมาตกแต่งแข่งให้สู้ได้

ก่อนหน้านี้ ในบท 29 เจน ออสเตน เล่าไว้ ว่า

“...หลังจากนั่งพักได้ครู่หนึ่ง คนเหล่านั้น ก็ถูกเชิญให้ไปชมทัศนียภาพที่ หน้าต่าง บานหนึ่ง ในบรรดา หน้าต่างทั้งหลาย นายคอลลินส์ คอยชี้ชวนให้ชมความงาม ของภูมิประเทศภายนอก แล้วท่านหญิงคัทธรีน ก็ได้กรุณาเล่า ว่า ถ้าได้ชมในฤดูร้อน ทัศนียภาพจะงามน่าชม กว่านั้นอีก”

-ต้นฉบับภาษาอังกฤษ เริ่มต้นว่า “After sitting a few minutes, they were all sent to one of the windows to admire the view, ……………………………”

สิ่งที่ท่านหญิงคัทธริน เติมคุณค่า ให้กับภาพที่เห็นจากหน้าต่าง ได้แก่ การเชื้อเชิญให้เพิ่มมิติแห่งการชมภูมิทัศน์จากหน้าต่าง ด้วยการเปลี่ยนฤดูกาล ไปเน้นทัศนียภาพในฤดูร้อน อันเป็นฤดูที่มีความหมายพิเศษออกไป สำหรับคนในประเทศหนาว ทั้งในเรื่องของความฝันและความหวัง ความสุขและความเริงใจ

ต่อไปในบท 45 ท่านผู้ประพันธ์ ได้นำเราติดตามตัวละครของท่าน เข้าไปในคฤหาสน์ชั้นล่าง ซึ่งก็ไม่วายจะมี “หน้าต่าง” เปิดออกสู่พื้นดินภายนอก ท่านบอกว่า

“เมื่อไปถึงบ้าน คนเหล่านั้น ก็ถูกนำชมห้องโถงใหญ่ แล้วผ่านเข้าไปยังห้องนั่งเล่น ซึ่งทำเลที่อยู่ทิศเหนือ ทำให้ห้องนั่งเล่น กลายเป็นที่น่านั่งน่าชมในฤดูร้อน หน้าต่าง ทุกบานเปิดออก เห็นพื้นดินภายนอก เผยภาพอันสดชื่น ของลูกเนินที่มีป่าปกด้านหลังบ้าน รวมทั้ง ต้นโอคอันงาม กับ ต้นเชสนัทสเปน ซึ่งกระจัดกระจาย อยู่บนพื้นสนาม ไม่ไกลจากหน้าต่าง....."

-ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ขึ้นต้นว่า “On reaching the house, they were shown through the hall into the saloon, ……”

จากตัวอย่างทั้ง 3 ฉากที่ยกมา รวมทั้งข้อความในตำแหน่ง อื่นที่พาดพิงถึงหน้าต่าง จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ตำแหน่งตลอดนวนิยายเรื่อง Pride and Prejudice ทำให้เราพอจะได้ทราบ ถึงความสำคัญที่ท่านผู้ประพันธ์ได้มอบให้แก่ “หน้าต่างอสังหาฯ” ตามท้องเรื่องของท่าน ซึ่งมุมมองเหล่านั้น เราจะไม่พบที่หน้าต่างของ “พจมาน สว่างวงศ์”

ตัวอย่างบทบาทของหน้าต่าง ในนวนิยาย พจมาน สว่างวงศ์  ฉากที่เด่น ที่สุด และอาจถือได้ว่า ในฉากนี้ หน้าต่างได้กลายเป็นตัวละครสำคัญ เท่าเทียมกับมนุษย์ ได้แก่ ตอนที่ 25 ซึ่งในตอนนี้นั้น ถ้าเรายกหน้าต่างทิ้งไป จะเกิดเหตุ “งานเข้า”  โดยที่บททั้งบท จะล่มสลายทำลายลง จนไม่ “อ. อาจสามารถ” จะ re-boot ขึ้นมาใหม่ได้อีก ตัวพาวเว่อร์เจอรายการ power surge ไหม้จนเหม็นฉุน แม้จะเปลี่ยน “หน้าต่าง” เป็น “ประตู” ก็ไม่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ที่จะทำให้บททั้งบท ฟื้นขึ้นมาได้ ไม่เชื่อลองทำ ดูเด่ะ

ตลอดทั้งบท 25 นั้น คำว่า “หน้าต่าง” ถูกนำมาใช้ทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งมากกว่าการปรากฏตัว ของคำว่า “หน้าต่าง” ในบทอื่น ๆ ทั้งหมด สำหรับฉากหน้าต่างฉากสำคัญนี้ นางเอก พจมาน กล่าวเปิดประเด็นกับพระเอก ภราดาพัฒน์ระพี  ว่า

“พจ โยนทิ้ง ลงไปทางหน้าต่างนั้น เสียแล้วค่ะ”  ชี้ไปทางหน้าต่างบานหนึ่ง ด้วยกิริยาอันมึนชา

สิ่งที่ถูก พจมาน โยนทิ้งไป คือ กุญแจห้อง ฉากนี้เป็นฉากผัวเมียทะเลาะกัน กระเง้ากระงอดมากกว่าที่จะมีประเด็นซีเรียสระดับประเด็นทางการเมือง แต่นั่นแหละ ประเด็นผัวเมียทะเลาะกันนั้น ท่านว่า ไม่มีประเด็นใดเล็ก เรื่องกระจิบกระจอก มีสิทธิจะกลายเป็นกระทู้สำคัญขึ้นมา กลางสภาสามีภรรยาได้เสมอ สำหรับกรณีของ พจมาน ในที่สุดก็จบตอน 25 ลง ด้วยการที่ฝ่ายผัว หันหลังกลับ แล้วทิ้งเมียไว้ที่
“วินโดส์” ความว่า...

แต่เขาหันหลังกลับไป แล้วทิ้งพจมาน สว่างวงส์ฯ ไว้ที่หน้าต่างคนเดียว ตามที่เธอต้องการ

โห...โคดโลนลี่เลย!

เหตุการณ์ ก่อนที่จะถูกผัวทิ้งไว้ที่หน้าต่าง เธอได้วิ่งมาที่หน้าต่างบานนั้น แล้วชะโงกมองลงไปที่พุ่มลำดวนข้างล่าง สรุปว่า ความอึงคะนึง ตกแก่บรรดาข้าทาสบริวารลิ่วล้อทั้งหลาย ซึ่งถูกโฟน-อินกลางค่ำกลางคืน ระดมตัวมาค้นหา กุญแจที่พจมานทิ้งลงไป วุ่นวายกันอยู่ใต้หน้าต่าง ถึงกับต้องฟันต้นไม้ใต้หน้าต่างทิ้งไปเสียบ้าง เพื่อค้นหากุญแจ ที่นางเอกทิ้งลงมา

ณ ขณะนาทีต่อมา นางเอกพจมานก็ละล้าละลัง อยู่ที่หน้าต่าง ว่า จะผละจากหน้าต่าง วิ่งถลาไปอ้อนผัว ดีหรือไม่ดี แต่แล้วทิฐิมานะ ก็ชนะเหตุผล ฉุดข้อเท้า ไว้ให้ยืนนิ่ง เธอตะลึงอยู่ที่หน้าต่าง เข้าทางคำพูดของ แบลซ ปาสคาล (Blaise Pascal) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่ว่า...

Le coeur a ses raisons que la raison ne connaît pas.
หัวใจมีเหตุผลของมัน ซึ่งระบบเหตุผล หารู้จักไม่

โสตประสาทผึ่ง ตื่นตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ เฝ้าระวัง คอยฟังเสียงดัง “กริ๊ก” ที่ประตูห้อง เพราะว่า เสียงดัง "กริ๊ก" จะดังขึ้นได้ ก็ด้วยเหตุที่ผู้คนใต้หน้าต่าง ค้นพบกุญแจห้อง และได้ส่งกุญแจห้องนอน ถึงมือ ภราดาพัฒน์ระพี แล้วเท่านั้น ห้องนอนของเขา อยู่ติดกับห้องนอนของเธอ แบบว่าเป็น adjoining bedroom ประมาณนั้น โดยที่เธอ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ล็อคประตูด้านฝ่ายเธอได้ ถ้าเขาจะเข้ามาหาเธอ หรือที่ภาษาวรรณคดีเรียกว่า บทพระเข้านาง(เขียนผิดเปล่าไม่รู้ หรือว่าเข้าพระเข้านาอง) เขาต้องไขกุญแจเข้ามา แต่ว่ากุญแจดอกนั้น เธอได้โยนทิ้ง ไปนอกหน้าต่างที่ว่า นั่นแหละ

อาการ “ยืนนิ่ง ตลึงอยู่ที่หน้าต่าง”  ของนางเอกในค่ำคืนวันนั้น ยาวนานมาก จนมิอาจจะประมาณเวลานาทีเป็นรูปธรรมได้ เนื้อความบรรยายว่า “จนเกือบสองยาม และไม่รู้สึกว่า เวลาได้ผ่านไปอย่างไร” กระทั่งกาลต่อมา สามีก็ไขกุญแจเข้ามา แต่แล้ว ก็หันหลังกลับไป ทิ้งเธอไว้ที่หน้าต่าง อย่างเดียวดาย โคดโลนลี่ดังกล่าวแล้ว พรรณนาความในช่วงสุดท้าย ของฉากนั้น กล่าวว่า

...พจมานกลั้นใจ ตาจับอยู่ที่ประตูกลางเขม็ง มีเสียงก๊อกแก๊กไขกุญแจ สักครู่บานประตูก็เปิดกว้าง สามีของเธอ ม.ร.ว.ชาย ภราดาพัฒน์ระพี อยู่ที่นั่น หน้าตาเป็นปกติ ดูไม่ออกว่าเขาเสียใจน้อยใจอย่างไร คงใช้วิธีเดิม คือให้แววตา ของเขาบอกการเอาชนะอย่างเด็ดขาด กุญแจยังอยู่ที่ประตู แต่เขาหันหลังกลับไป แล้วทิ้งพจมาน สว่างวงศ์ ไว้ที่หน้าต่างคนเดียว ตามที่เธอต้องการ

เกี่ยวกับฉากหน้าต่างของ พจมาน สว่างวงศ์ นั้น ตามความเห็นของผู้วิจารณ์ ซึ่งตัวเอง(ตัวผู้วิจารณ์เอง)ก็เห็นด้วย อีกนัยหนึ่ง Yes, I agree with my opinion.(ถูกต้องแล้ว ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความเห็นของข้าพเจ้าเอง) ผู้วิจารณ์เห็นว่า ฉากหน้าต่างที่โรแมนติคที่สุดใน พจมาน สว่างวงศ์ ไม่ใช่ฉากนี้ครับ แต่เป็นฉาก หน้าต่างอีกฉากหนึ่ง ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่า สร้างอารมณ์ได้เกือบถึงระดับ “บทอัศจรรย์” นั่นเลย ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ผู้วิจารณ์อ่านแบบใส่อารมณ์ละเอียดยิบมากไปเปล่า มันพาลพาให้นึกถึงฉากหน้าต่างอันลือลั่นใน โรเมโอจูเลียต  แต่เราก็ต้องสะกิดเตือนกันก่อน ว่า ฉากหน้าต่างในโรเมโอจูเลียตนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีการร่วม “อภิรมย์ประสมสอง” กันเรียบร้อยแล้ว (...after) นะน้อง น้องไม่เชื่อก็ลองกลับไปอ่าน ดูใหม่เด่ะ  ส่วนฉากหน้าต่างอันน่า “อัศจรรย์” ของ พจมาน สว่างวงศ์ เกิดอยู่ในบท 8 ก่อนวันแต่งงาน เพียงวันเดียว จะพูดว่าเกิดอารมณ์โรแมนติค ระดับบท “อัศจรรย์” กันในวันสุกดิบ(...before) ก็ไม่น่าจะผิด ไม่เชื่อก็ลองกลับไปอ่าน ดูใหม่เด่ะ โดยท่านว่า ของท่านไว้ว่า

....คำสั่งของเขา เจ้าตัวจะรู้สึกหรือเปล่าไม่ทราบ แต่พจมานรู้สึกว่า หวานและประหนึ่งเธอเป็นของเขาแล้ว "ช่วยสั่งกรดให้เตรียมของฉันด้วย" เลือดวิ่งขึ้นหน้าร้อนผ่าว ใจของเธอกระซิบว่า "ทูลหัวของพจ" มันเพียงแต่ใจเท่านั้น ท่าทางที่สะเทิ้น พิงอยู่กับขอบ หน้าต่าง มิได้ขยับเขยื้อนอิริยาบถเลย ทำไมเขาไม่ก้าวเข้ามาจนชิด และพึมพำว่า "เธอจะเป็นสว่างวงศ์ของฉันแล้ว ในวันพรุ่งนี้"  (คัดจากบท 8)

นี่คือ บทอัศจรรย์ประเภท Virtual หรือ บทอัศจรรย์ Cyber ชัด ๆ เลย อ่านให้ลึก เราจะรู้สึกได้ ว่านี่มันบทอัศจรรย์แบบ "No life" นี่หว่า...

โดยที่ก่อนหน้านี้ ท่านผู้ประพันธ์ท่านเกริ่นเรื่อง ปูพื้นพรรณนามา แบบค่อนข้างจะบอดี้ ๆ ด้วยการชม “ความงามของชาย” ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่า ท่านผู้ประพันธ์ท่านเป็นหญิง แต่แม้ท่านผู้ประพันธ์จะเป็นชาย ก็ถือว่าธรรมดาอีกเช่นเดียวกัน ความว่า

ภราดายืดอกกว้าง ขณะยกมือขึ้นลูบผมของเขาเอง ตอบว่า “นิดหน่อย” ตาต่อตาประสานกัน พจมานเพิ่งเห็นได้ถนัดว่า แววตาของเจ้าบ่าวของเธอ มีประกายประหลาด ผิดกว่าทุกคราวที่เคยเห็น ร่างของเขาเป็นสง่า อกผึ่ง การแต่งกายประณีตเรียบร้อย ผิวพรรณเกลี้ยง สมเป็นผู้ดีมีตระกูลทุกกระเบียดนิ้ว ภราดาเป็นชาย ที่หญิงทุกคนควรภูมิใจในเกียรติของตัวเอง หากได้อยู่ใกล้แต่แขนเอื้อม...

ข้อความข้างบนนั้น พิจารณาจากจิตใจคนสมัยนี้ หลาย ๆ ท่านน่าจะเห็นว่า "Sexist" คือว่า ออกอาการกดขี่ทางเพศ ไม่เบาเลย แต่ถ้าอ่านด้วยใจของคนร่วมสมัยกับนางเอก คือคนยุคโน้น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ "ฟังได้" ไม่ได้ระคายหูแต่ประการใด

และพิจารณาตามที่ท่านพรรณนา น่าจะฟันธงได้เลย ว่า พระเอกบ้านทรายทอง เธอหล่อ “แบบตี๋” ชัวร์! แล้วเธอเอาความเป็นตี๋มาจากไหน ก็น่าจะมาจาก “เจ้าคุณตา” ที่นอนครางฮือ ๆ ก่อนตาย อยู่ที่ตึกขวางอย่างไรเล่า เจ้าคุณตานั้น ท่านต้องเป็น “อาแปะแก่ ๆ” คนหนึ่งอย่างแน่นอน โดยท่านผู้อ่านต้องกลับไปอ่านมาตั้งแต่ต้น ในเรื่อง บ้านทรายทอง  ย่อหน้านี้ผู้วิจารณ์เลี้ยวไปเล็กน้อย แต่ที่จริงก็ต้องการจะนำความ มาเน้นอากัปกิริยา ที่เกือบจะถึงระดับบทอัศจรรย์ ของนางเอกที่ “...ท่าทางที่สะเทิ้นพิงอยู่กับขอบ หน้าต่าง”

ผู้วิจารณ์ขอจบประเด็นหน้าต่างของ พจมาน สว่างวงศ์ แต่เพียงย่อหน้า ข้างบน ต่อไปนี้ จะเป็นการเลี้ยวออกนอกประเด็น คือ ออกไปหานวนิยายตะวันตก ที่เกี่ยวกับพระเอกตี๋ “ผิวพรรณเกลี้ยง”  ซึ่งผู้ประพันธ์สตรีชาวตะวันตก ได้เขียนไว้ อันจะหาใครเทียม มาการิต ดูราส นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้ยาก เธอเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่อง “ฮิโรชิมา ม็งนามูร์” (ฮิโรชิมา ที่รัก) ปี 1959/2502 ซึ่งพระเอกเป็นญี่ปุ่น และอีก 25 ปีต่อมาในปี 1984/2527 ก่อนจะละสังขารไปสู่ปรโลก เธอก็เสนอนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกือบจะเสมือนอัตตชีวประวัติ ชื่อ “ลามังต์” (ชู้รัก) ซึ่งพระเอกเป็นเศรษฐีหนุ่มจีนย่านโชล็ง ในเมืองไซ่ง่อน นวนิยาย “ลามังต์” ของเธอ ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ และนิยมกันในหมู่คอหนัง แต่ก็ยังแพ้ภาพยนตร์เรื่อง “ฮิโรชิมา ม็งนามูร์”

มีนวนิยายไทย ที่มีชื่อเสียงอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีประเด็นเล็ก ๆ ละม้ายแม้นนวนิยายตะวันตก ได้แก่เรื่อง “ข้างหลังภาพ”  ของ ศรีบูรพา พิมพ์เมื่อพ.ศ. 2479 หรือประมาณ 15 ปี ก่อนนวนิยาย บ้านทรายทอง ซึ่งท่านผู้ประพันธ์ ก็เป็นรุ่นพื่ผู้วิจารณ์ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่เป็นรุ่นก่อนแบบไกลมาก ๆ ประเด็นละม้ายแม้นที่ว่านั่น ได้แก่คำพูดอันมีชื่อเสียง ของ ม.ร.ว. กีรติ นางเอกที่กล่าว ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”  ซึ่งละม้ายคำพูด ของนางเอกนวนิยายยิ่งยง 1 ใน 10 ของโลก(ความเห็นของนิตยสารไทม์) เรื่อง “มาดามโบวารี”  ของ โฟลแบร์ ความว่า

" Elle se répétait: j'ai un amant! un amant! se délectant à cette idée comme à celle d'une autre puberté qui lui serait survenue. Elle allait donc enfin posséder ces plaisirs de l'amour, cette fièvre de bonheur dont elle avait désespéré. Elle entrait dans quelque chose de merveilleux, où tout serait passion, extase, délire".

คำแปลอย่างลำลอง - เธอร้องขึ้นซ้ำ ๆ ว่า : ฉันมีคนรัก! ฉันมีคนรัก! ตื่นเต้นกับความรู้สึกนั้น ดุจจะสาวรุ่นผู้ไม่ยอมโต อันแฝงร่างอยู่ในตัวเธอ ในที่สุด เธอก็ได้เป็นเจ้าของความหรรษาแห่งรัก อาการจับไข้ความสุข ซึ่งเธอเฝ้าถวิลหาตลอดชีวิต เธอกำลังก้าวเข้าสู่บางสิ่งบางอย่าง ที่วิเศษสุด ที่ ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่อวล ด้วยอารมณ์แรงรักแรงราคร้อน รนสมร ยงยิ่งเปลวไฟฟอน หมื่นไหม้

เมื่อ พ.ศ. 2550/ค.ศ. 2007 เว็บไซด์ของกระทรวงยุติธรรม ฝรั่งเศส ได้ระลึกถึงครบรอบปีที่ 150 ที่มีการนำคดีนวนิยาย มาดามโบวารี กับผู้เขียนคือ โฟลแบร์  ขึ้นฟ้องร้อง และพิจารณาในศาลฝรั่งเศส โดยที่อัยการแผ่นดินยุคโน้น กล่าวหาว่า โฟลแบร์เขียน หนังสือส่งเสริมการผิดผัวผิดเมีย หรือการคบชู้สู่ชาย กรณีจึงเป็นการขัดต่อศิลธรรมอันดีของประชาชน แต่แล้วแฟน ๆ ของโฟลแบร์ก็ "โล่งใจ" เพราะว่า ศาลยุคนั้น พิพากษาให้โฟลแบร์ พ้นผิด แฟน ๆ ที่รู้ภาษาฝรั่งเศส อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เอ็นจอยกับสรุปคดีเด็ดดังกล่าว ได้ที่หน้าเว็บของกระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศส ที่

http://www.justice.gouv.fr/index.php?rubrique=10050&ssrubrique=10411&article=12830

-------------------------------------------------------------------------------

ยังอยากรู้จัก "พจมาน"  ยิ่งขึ้นกว่านี้ อีก
คลิกอ่าน บทความเรื่อง พจมาน ตอน 1/2  พจมาน สว่างวงศ์
พจมาน ตอน 1/2 พจมาน สว่างวงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น