"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 7 ในทะเลบ้าของการปฏิวัติ-ลำดับเหตุการณ์ช่วงหลังทำลายคุกบาสตีย์

โดย ภูพาเนช มะเด็ง

เกาะติดสถานการณ์ (ต่อจาก ตอน 6) ก่อน-ระหว่าง-และหลัง การปฏิวัติฝรั่งเศส  ลำดับเหตุการณ์ช่วงหลังการทำลายคุกบาสตีย์

...เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่อากาศในปารีสหนาวเย็น และฝนตก ระหว่างที่กำลังรอคิวตัดหัว(ตัดหัวนะ ไม่ใช่ตัดผม) ตากฝนท่ามกลางอากาศเย็นยะเยือก อยู่ใกล้ยกพื้นที่ตั้งเครื่องกิโยติน ฌัง-ซิลแวง แบลลี ซึ่งอายุมากแล้ว ยืนหนาวสั่น มวลชนคนหนึ่งที่มาชมการประหารชีวิต เป็นคนในกลุ่ม “haters” ของท่านผู้นั้น ได้ร้องตะโกนถามว่า


“นี่แนะ ตาเฒ่าแบลลี นั่นแกยืนตัวสั่นเลยเหรอะ?”

ซึ่ง แบลลี ได้ตอบไปว่า

“เออ--แต่ก็เพราะความหนาวเท่านั้นนะ”

ทูตอเมริกันประจำฝรั่งเศส  บันทึกบรรยายบรรยากาศเหตุการณ์ในวันนี้ไว้ชัดเจนแจ่มกระจ่าง  และทูตผู้นั้นก็มิใช่คนธรรมดา  ท่านเป็นหนึ่งในบรรดา บิดาผู้ให้กำเนิดประเทศ(Founding Fathers)ของประเทศสหรัฐฯ  เพราะต่อมาท่านได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ  ท่านทูตอเมริกันประจำฝรั่งเศสผู้นั้น คือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน  
(สนใจ โปรดติดตามอ่านบทความเนื้อเต็มได้ที่นิตยสาร MBA
หรือ   ท่านสามารถอ่านบทความเนื้อเต็ม โดยคลิกแท็ป "ปฏิวัติฝรั่งเศส" ด้านบน ใต้ชื่อบล็อค)

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 6 ในทะเลบ้าของการปฏิวัติ-ลำดับเหตุการณ์จนถึงวันทำลายคุกบาสตีย์

โดย ภูพาเนช มะเด็ง


ณ บัดนั้น คนไม่ได้คิดเรื่องการปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเรื่องสุดคิดและเกินการคาดคิด การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มีใคร “วางแผนให้เกิด” มันเกิดขึ้นเองตามการเขม็งเกลียวและขมวดปมของเหตุการณ์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ และแม้ภายหลังจากนั้นก็ไม่มีการปฏิวัติอื่นใดเทียบได้ การปฏิวัติฝรั่งเศสหลอกหลอน “นักปฏิวัติ” ยุคหลังทุก ๆ คน ตั้งแต่พวกบอลเชวิคในการปฏิวัติรัสเซีย จนถึงการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์จีน จนถึงการปฏิวัติต่าง ๆ บนแผ่นดินละตินอเมริกา จนถึงการปฏิวัติสังคมของอะตาเตอร์กในตุรกี และแม้กระทั่งบัดนี้...ที่อิหร่าน เล่ากันว่า ระหว่างการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี 1917 นั้น พวกปฏิวัติจะประชุมหารืออย่างเคร่งเครียดด้วยการยึดลำดับเหตุการณ์ในการปฏิวิติฝรั่งเศสเป็น “นางแบบ” แล้วถกเถียงกันว่า ณ ขณะนี้ เรากำลังอยู่ ณ จุดใด เมื่อเทียบกับการปฏิวัติฝรั่งเศส?

ข้อความย่อหน้าแรกนั้น คงคุ้นตาท่านอ่านเพราะผู้เขียนได้เขียนไว้ครั้งหนึ่งแล้วในตอนที่ 3 ห้วงกำเนิด-สาเหตุเศรษฐกิจและเหตุอื่น ๆ ตอนที่ 6 นี้จึงเท่ากับขยายความความคิดเห็นอันจะถูกหรือผิดก็เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ขยายความประเด็นที่ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่มีใคร “วางแผนให้เกิด” ทั้งนี้โดยจะได้ลำดับเหตุการณ์การปฏิวัติมาเรียงตามกาลเวลา แจงให้ท่านทราบพร้อมกับจะได้แทรกข้อความสั้น ๆ ไม่เยิ่นเย้อ ขยายความเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นจุดหักเหของการปฏิวัติ ส่วนช่วงไหนตอนใดที่มี โรเบสปิแยร์ เกี่ยวข้อง ก็จะเน้นไว้ให้ทราบเป็นพิเศษ เพราะถึงอย่างไรการนำเสนอ(หรือ เล่าเรื่อง)ของผู้เขียนนั้น ไม่ได้อิงทฤษฎีการต่อสู้ระหว่างชนชั้น แต่จะอิงชีวิตของนักปฏิวัติทั้งหลาย

(บทความเนื้อเต็ม ตีพิมพ์ในนิตยสารเอ็มบีเอ ฉบับตุลาคม 2553
และ ท่านสามารถอ่านบทความเนื้อเต็ม โดยคลิกแท็ป "ปฏิวัติฝรั่งเศส" ด้านบน ใต้ชื่อบล็อค)

วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

Entrepreneur ในภาษาฝรั่งเศส-วิจารณ์

โดย เดฟ นาพญา
เราพิจารณาเรื่องรูปของคำกันก่อนน่าจะดี ส่วนความหมายของคำว่ากันทีหลังยังไม่เอาใจใส่-เดี๋ยวเราจะยุ่ง ซึ่งทำให้เราพบว่าแม้ในภาษาฝรั่งเศสที่เป็นต้นตอ คำ ๆ นี้ก็มีลูกหลอก กล่าวคือเราจะหา คำกิริยา ตรง ๆ ของคำนามคำนี้ไม่เจอ เราจะพบแต่คำกิริยาที่เพี้ยนออกไปเล็กน้อย คือคำกิริยาว่า “entreprendre”(อัง-เถรอะ-ปร็อง-เดรอะ) อันที่จริงคำนามที่ตรงกับรูปของคำกิริยา entreprendre คือ “entreprendeur” มีอักษร “d” แทรกอยู่ด้วยเช่นเดียวกับอักษร “d” ที่มีอยู่ในคำกิริยาอันเป็นรากศัพท์ แต่คำนามคำที่มีอักษร “d” แทรกอยู่ด้วยนี้เป็นคำโบราณที่เคยปรากฏใน(คริสต์)ศตวรรษที่ 13 ประมาณปลายกรุงสุโขทัยเหลื่อมกับต้นอยุธยา ครั้นถึงประมาณรัชกาลเจ้าสามพระยาเมื่อ ค.ศ. 1430 คำว่า entrepreneur ของเรา(ปราศจาก “d”) ก็ปรากฏขึ้นมาแทนที่ ส่วนคำโบราณว่า “entreprendeur” หายตัวไปเลย ไม่มีให้เราได้พบเห็นกันอีกในภาษาฝรั่งเศสสมัยใหม่

หันมามองความหมายกันบ้าง คำกิริยา entreprendre ไม่ใช่คำลึกลับ แต่มาจากคำรากที่ดาษดื่นเกลื่อนตลาดเอามาก ๆ เพราะเกิดจาก entre + prendre ท่านผู้อ่านนิตยสาร MBA จำนวนไม่น้อยที่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสกันมา หลายท่านก็จะรู้ภาษาฝรั่งเศสดีกว่าผู้เขียนด้วยซ้ำ เราย่อมจำกันได้ว่าเพียงชั่วโมงแรก ๆ ผ่านไป ครูก็จะนำคำกิริยา “prendre” มาสอน และเราก็ต้องเริ่มท่องจำรูปและเสียงของ การผันคำกิริยา คำนี้กันแล้ว ว่า

je prends
tu prends
il prend
nous prenons
vous prenez
ils prennent

คำกิริยา “prendre” มีความหมายหลักความหมายหนึ่งละม้ายคำกิริยาภาษาไทยว่า “เอา” แถมตามความหมายที่ว่านี้ก็มีที่ใช้มั่วทั่วไปหมดคล้าย ๆ กันอีกด้วย จนเป็นเหตุให้จะต้อง.........................

(โปรดติดตามอ่านบทความเนื้อเต็ม ในนิตยสาร MBA ฉบับกันยายน 53)

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 5 พระเอกนางเอก-ตัวจริง

โดย ภูพาเนช มะเด็ง


หลังจากช่วงเวลาอันบ้าคลั่งสุดขีดอีกเหตุการณ์หนึ่งในการปฏิวัติฝรั่งเศส อันได้แก่ช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่า ยุคสยองขวัญ(la Terreur) ใกล้จะขมวดตัวอวสานลงนั้น โรเบสปิแยร์กับนักปฏิวัติคนสนิท ถูกพวกปฏิวัติมุ้งเดียวกัน(คือมุ้ง Les Jacobins) จับตัวไปคุมขังไว้บนศาลาเทศบาลนครปารีส ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งศาลาเทศบาลปัจจุบันนั่นเอง เพียงแต่ว่าอาคารหลังปัจจุบันเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาแทนอาคารหลังเดิมที่ทุบทิ้งไปแล้ว

เวลาเขียนเรื่องประวัติศาสตร์จะน่ากลัวอยู่อย่าง คือกลัวว่าท่านผู้อ่านจะนึกว่าผู้เขียนคร่ำครึชนิด old and boring ทั้ง ๆ ที่เราเปล่าซะหน่อย ผู้เขียนเป็นเพียงนักเขียนผู้ใช้ทักษะของอาชีพมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์(และเรื่องอื่น ๆ) แต่ผู้เขียนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดีผู้เขียนมีเพื่อนเป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพ คือเรียนมาทางประวัติศาสตร์และทำมาหากินเป็นครู(อาจารย์)สอนวิชาประวัติศาสตร์ เขาก็น่าจะมีความหวาดกลัวแบบที่ผู้เขียนกำลังกลัว คือเขากลัวว่าคนจะเข้าใจว่าตัวเขาเป็นคนชนิด old and boring เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดระยะเวลาที่คบกันมา เขาไม่เคยคุยกับเพื่อนฝูงเรื่องประวัติศาสตร์เลย แล้วเขาชอบคุยเรื่องอะไรกับพวกเรา? เขาจะคุยแต่เรื่อง เหตุการณ์ปัจจุบัน...ครับ ท่านผู้อ่านที่มีเพื่อนเป็นนักประวัติศาสตร์ เคยลองสังเกตประเด็นนี้กันบ้างเปล่า?

เพื่อตีตัวออกห่าง แยกตัวเองออกจากยุคสมัยของโรเบสปิแยร์ ไม่ให้คนเข้าใจว่าเราคร่ำครึ ก็ใคร่จะเรียนท่านผู้อ่านว่า เมื่อผู้เขียนเดินทางไปเรียนหนังสือที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ไม่ได้เดินทางไปทางทะเลด้วยเรือเดินสมุทร์ แล้วไปขึ้นบกที่เมืองท่ามาร์เซย์...แบบที่นักเรียนฝรั่งเศสยุคดึกดำบรรพ์ท่านเดินทางกัน แต่ผู้เขียนเดินทางแบบบินตรงจากกรุงเทพฯไปลงที่สนามบินชาร์ล เดอ โกลล์ กรุงปารีส ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินแอร์ฟร้านซ์เที่ยวบินที่ AF 169 ซึ่งต้นทางมาจากโฮจิมินห์ ซิตี้ ในเวียตนาม แวะกรุงเทพฯแล้วบินตรงเข้าปารีส เที่ยวบินเที่ยวนี้ยังคงบินอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้...เหมือนเดิม โปรดดูตารางเวลาการบิน ที่ก็อปมาจากเว็บของแอร์ฟร้านซ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

AF169

Départ prévu de Ho Chi Minh Ville (SGN) à 19:50, Ven. 25 juin 10
Arrivée prévue à Bangkok (BKK) à 21:20, Ven. 25 juin 10
Départ prévu de Bangkok (BKK) à 22:45, Ven. 25 juin 10
Arrivée prévue à Paris (CDG) à 06:00, Sam. 26 juin 10

เที่ยวบิน AF 169 ของสายการบินแอร์ฟร้านซ์ ยังคงไปถึงปารีสเวลาเช้าตรู่ เช่นเดียวกับวันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึงในฐานะนักเรียน เมื่อหลายปีก่อนโน้น  ตอนเย็นวันที่เดินทางไปถึง ผู้เขียนก็ได้เที่ยวเล่น  ด้วยการนั่งรถไฟใต้ติน จากย่านการ์ติเย่ ละแต็ง อันเป็นถิ่นที่พำนัก  ไปโผล่ที่กลางกรุง  โดยมิได้มีจุดหมายใด ๆ เฉพาะเจาะจง.......................................................

(บทความเนื้อเต็ม  ติดตามได้ที่นิตยสาร MBA ประจำเดือนกันยายน 53
และ ท่านสามารถอ่านบทความเนื้อเต็ม โดยคลิกแท็ป "ปฏิวัติฝรั่งเศส" ด้านบน ใต้ชื่อบล็อค)

วันพุธที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

วิจารณ์ พระวัด(ระฆัง)โฆสิตาราม กับ เมืองแมว [โพสต์ทั้งบท]

โดย เดฟ นาพญา


[บทความ-โพสต์ทั้งบท]
รถไฟด่วนขบวนกลางคืนออกจากกัลกัตตา แล่นมาตลอดทั้งคืนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น เวลาสายแก่ ๆ ก็ชะลอความเร็วเข้าเทียบชานชลาสถานีอัลละหะบัด ซึ่งก่อนจะเดินทางมาผู้เขียนก็ได้กดซอฟแวร์ กูเกิ้ล เอิร์ธ ตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม ดูทางหนีทีไล่ของสถานี พบว่าเป็นสถานีใหญ่และทางหนีทีไล่ที่สำคัญสำหรับคนเดินทางแบกเป้ใบเดียวแบบผู้เขียน ก็คือต้นสายรถเมล์อยู่ไม่ไกลจากบริเวณหน้าสถานีรถไฟ (-แบบนี้ค่อยยังชั่วหน่อย)

มาทำไม? เมืองอัลละหะบัดมีความสำคัญต่ออินเดียตั้งแต่โบราณมาจนปัจจุบัน ทั้งความสำคัญด้านจิตวิญญาณและด้านเทคโนโลยี จนไม่สามารถจะประมวลมาเขียนได้หมดในบทความชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นนี้ จึงตัดสินใจว่าจะไม่เขียนถึงอัลละหะบัดแล้วกัน เพราะอัลละหะบัดไม่ใช่จุดหมายปลายทาง เป็นเพียงเมืองที่เป็นทางรถไฟผ่านเพื่อมาต่อรถเมล์ไปโกสัมพีเท่านั้น

เมื่อได้กด กูเกิ้ล เอิร์ธ ดูภาพถ่ายดาวเทียมอีกครั้งก็พบว่า เมืองโกสัมพี ( ) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนานั้น ในเวลานี้ที่ดาวเทียมถ่ายให้ดู เห็นว่าเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้กับโกสัมพีได้แก่เมืองอัลละหะบัด แล้วแม่น้ำยมุนาก็ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำคงคาตรงใจกลางชมพูทวีปที่เมืองนี้ ครั้นตรวจสอบแผนที่ภาคพื้นดินก็พบว่า ใช่แล้ว...ถ้าจะไปโกสัมพีต้องมาที่นี่ก่อน แล้วจะสะดวกในการหาพาหนะเดินทางต่อไป และเมื่อศึกษาตารางรถไฟอินเดียแล้วก็ทราบว่าจากกัลกัตตานั้น ถ้าจะไปโกสัมพีให้ลงรถไฟที่อัลละหะบัดจะสะดวกที่สุด และจากกัลกัตตาก็มีรถไฟขบวนค่ำชื่อ

 ”เฮาราห์ มุมไบ เมล์” ซึ่งจะมาถึงอัลละหะบัดช่วงสายแก่ ๆ ของวันรุ่งขึ้น

วันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 4 โรเบสปิแยร์ ปีศาจร้ายหรือ

โดย ภูพาเนช มะเด็ง



ว่ากันว่า การปฏิวัติอื่น ๆ ในภายหลังล้วนแล้วแต่เป็นของลอกเลียนแบบและทำเทียมแบบลวก ๆ สะเพร่า ๆ ด้วยเหตุที่ว่านักประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประวัติศาสตร์ และคนทั่วไปจำนวนหนึ่ง เห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติทางการเมืองที่แท้จริงเพียง ครั้งเดียว ที่เคยเกิดขึ้นในโลก การปฏิวัติรัสเซียและการปฏิวัติสีแดงทั้งหลาย เช่น ในจีนและคิวบา เป็นต้น หรือการปฏิวัติอื่น ๆ ที่เกิดทีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ท่านเห็นว่าเป็นเรื่อง “nonsense” (ไร้สาระ) ผลของการปฏิวัติก็ไม่ได้จีรังยั่งยืน เช่น การปฏิวัติรัสเซีย เป็นต้น

ประเด็นนี้ สร้างความหนักใจต่อผู้เขียนในการนำเสนอเรื่องนี้ เพราะว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นที่สนใจศึกษาของคนในวงกว้าง คนรู้เรื่องนี้กันมาก มีความเห็นที่หลากหลายและยังไม่จบสิ้นลงตัว แล้วผู้เขียนนำเสนอเรื่องนี้อย่างไรต่อท่านผู้อ่านทั้งหลาย-ซึ่งก็มีหลากหลายสีสันทางการเมือง? เราคงต้องยอมรับกันแล้วนะว่า การเมืองไทยไม่ได้มีแค่ “สามสี” แบบเดียวกับชื่อสุนัขไทยที่มีชื่อเสียงตัวหนึ่งในอดีต

เดชะบุญ พักหลังก่อนที่จะได้มาเขียนเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้เขียนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของ “บิแซ้งต์” อันเป็นปริมณฑลประวัติศาสตร์ยุโรปที่รู้ตัวว่าตัวเองยังบอดอยู่ รู้จักอีจิปต์ อินเดียและจีน ดีกว่ารู้จักบิแซ้งต์ ท่านผู้รู้ “กูรู หรือ ครู” ที่ผู้เขียนศึกษาจากท่าน ท่านเสนอประวัติศาสตร์ผ่าน “ตัวบุคคล” หรือผ่าน “ตัวละครสำคัญ” ในประวัติศาสตร์บิแซ้งต์ ซึ่งก็เป็นวิธีเล่าประวัติศาสตร์วิธีหนึ่ง และเรายอมรับว่าวิธีอื่น ๆ นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายวิธี บังเอิญผู้เขียนเห็นว่าวิธีเล่าประวัติศาสตร์วิธีนี้ น่าจะเหมาะที่จะนำมาเล่าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะจะช่วยท่านผู้อ่านรุ่นใหม่ ผู้อยู่ไกลสังคมฝรั่งเศสยุคเก่า ให้ได้แลเห็นและรู้จักประวัติศาสตร์ต่างบ้านต่างเมือง ต่างยุคต่างสมัย อย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น ทั้งนี้เพราะจะได้ฟังเรื่องราวผ่านตัวละครนั่นเอง คล้ายกับนักศึกษาพระไตรปิฎกที่ง่วงเหงาหาวนอนเวลาอ่านพระอภิธรรมกับพระวินัย แต่หูตาสว่างขึ้นเมื่อได้อ่านพระสูตร-เพราะว่าพระสูตรมีตัวละคร มีมนุษย์เป็นตัวตั้ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะไม่ลืมเรื่องการลำดับศักราช-จะแทรกศักราช...


(บทความเนื้อเต็มจะพิมพ์ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2553
หรือ ท่านสามารถอ่านทั้งหมดได้ โดยคลิกแท็ป "ปฏิวัติฝรั่งเศส"  แท็ปอยู่ใต้ชื่อบล็อคครับ)

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 3 ห้วงกำเนิด-สาเหตุเศรษฐกิจและเหตุอื่น

โดย ภูพาเนช มะเด็ง



มี 3 สาเหตุ คือ

1.ยากเข็ญทุกหย่อมหญ้า - ปัญหาเศรษฐกิจ
2.สังคมไม่ยุติธรรม
3.การปกครองบ้านเมืองหน่อมแน้ม

ที่จริง สาเหตุอาจจะมีมากกว่านั้น หรืออาจจะน้อยกว่านั้น หรืออาจจะแตกต่างไปจากนั้น เพราะว่าตราบจนบัดนี้ความเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการ เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยังไม่ลงตัวตรงกันแต่ประการใด ที่เห็นตรงกันมีอยู่ประเด็นเดียว คือประเด็นที่ว่า ในปี 1789 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในประเทศฝรั่งเศส อันจะละเลยเพิกเฉยมองข้ามเสียมิได้ เพราะเหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบในวงกว้าง ระดับนานาชาติ ในลำดับต่อมา

เนื่องจากความหลากหลายมัลติคัลเลอร์ของความคิดเห็น เพราะฉะนั้นผู้เขียนจะขออนุญาตท่านผู้อ่านยึด 3 ประเด็นข้างบนนั้นเป็นห้วงกำเนิดของการปฏิวัติแล้วกันครับ เพื่อจะได้เขียนบทความเรื่องนี้ให้จบลงได้งัย เพราะถ้ายกมาหมดทุกความเห็นจะไม่มีวันเขียนจบ แต่ถ้าท่านผู้อ่านมีความต่างต้องการจะอภิปรายระหว่างผู้อ่านด้วยกัน หรือต้องการให้คำแนะนำใด ๆ ต่อผู้เขียน (ซึ่งผู้เขียนก็จะน้อมรับด้วยความขอบพระคุณมาก ๆ) ท่านสามารถอภิปรายได้ที่บล็อกของผู้เขียน ในส่วนท้ายของบทความซึ่งได้จัดที่ไว้ให้แสดงความเห็นแล้วครับ ที่ www.devnapya.blogspot.com

1. ยากเข็ญทุกหย่อมหญ้า - ปัญหาเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีทรูแมนเคยพูดว่า “ไหนช่วยส่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจที่มีแขนข้างเดียว มาให้ผมสักคนเด้ะ...” นักเศรษฐศาสตร์แขนด้วน มีแขนข้างเดียว เป็นที่ต้องการของนักการเมือง อย่างเช่นประธานาธิบดีทรูแมน เป็นต้น เพราะว่า นักการเมืองนึกรำคาญบรรดาที่ปรึกษาเศรษฐกิจทั้งหลาย ที่ชอบให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยกล่าวว่า

“On one hand, if……….”
พอพูดจบ ก็พูดใหม่ต่อไปอีกว่า
“On the other hand, if………”
พร้อมกับสรุปว่า มันมีทางเป็นไปได้ทั้งสองทาง

ประธานาธิบดีทรูแมนได้ยินแล้วท่านวางนโยบายไม่ถูก ท่านจึงตบอกผางอุทานว่า “พับผ่า! ไหนช่วยส่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจที่มีแขนข้างเดียว มาให้ผมสักคนเด้ะ”

หลุยส์ที่ 16 โชคดีกว่าประธานาธิบดีทรูแมนมากในประเด็นนี้ เพราะเสนาบดีคลังยุคนั้น
อันได้แก่ ฌาคส์ เน็คแกร์(Jaques Necker)  ท่าน“ฟันธง”ลูกเดียว................


(บทความเนื้อเต็มจะพิมพ์ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฏาคม 2553
หรือ ท่านสามารถอ่านทั้งหมดได้ โดยคลิกแท็ป "ปฏิวัติฝรั่งเศส" แท็ปอยู่ใต้ชื่อบล็อคครับ)

วันพฤหัสบดีที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 2 แรงบันดาลใจจากยุคฟ้าแจ้งจางปาง (โพสต์ทั้งบท)

โดย ภูพาเนช มะเด็ง

ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 2 แรงบันดาลใจจากยุคฟ้าแจ้งจางปาง

โดย ภูพาเนช มะเด็ง 

หมายเหตุ-กำลังรวบรวมบทความเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส  ไปไว้ด้วยกันในหน้าเดียวในบล็อคนี้...โดยจะเปิดหน้าใหม่เพิ่มขึ้นชื่อ "หน้ารวมเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศส" ครับ


พอศอสองพันห้าร้อยสี่
ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม
มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี


ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว
ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
ทางการเขาสั่งมาว่า * (ซ้ำ)
ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร


ฝ่ายตาสีหัวคลอน
ถามว่า สุกร นั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด * (ซ้ำ)
สุกรนั้นไซร้ คือ หมาน้อยธรรมดา
หมาน้อย หมาน้อย ธรรมดา * (ซ้ำ)


สายัณห์ตะวันร้อนฉี่
ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจอน
แดดฮ้อนๆใส่แว่นตาดำ
ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกพรำ * (ซ้ำ)
ถอดแว่นตาดำ ฟ้าแจ้งจางปาง
ฟ้าแจ้ง ฟ้าแจ้ง จางปาง * (ซ้ำ)
ฯลฯ


“เชื่อโชคลาง-งมงาย-ไร้เหตุผล-ไม่มีวิจารณญาณของตัวเอง-นับถือไสยศาสตร์-ถูกข่มขู่ได้ง่ายด้วยนรกและสวรรค์” อีกนัยหนึ่ง “อวิชชาสุด ๆ” นั่นก็คือภาพลักษณ์ของคนฝรั่งเศสก่อนฟ้าแจ้งจางปาง(คือก่อน 1700-1800) ยุคฟ้าแจ้งจากปาหรือ the Age of Enlightenment หรือ Le siècle des Lumières (ประมาณปี 1700-1800) เป็นยุคที่แพร่สะพัดเรื่อง ความคิดอ่านแบบมีเหตุผล เช่น วิทยาศาสตร์(มีเหตุผล) วิทยาการ(มีเหตุผล) เรื่องของความคิดความอ่านทางสังคม(ที่มีเหตุผล) ซึ่งยุคฟ้าแจ้งจางปางจะโดดเด่นเรื่องการใช้เหตุผลกับสังคม โดยได้ยืมใช้เหตุผลแบบที่วิทยาศาสตร์ได้ใช้อธิบายสิ่งแวดล้อมวัตถุธรรมแจ่มแจ้งมาแล้วในศตวรรษก่อน มาเน้นอธิบายสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่วัตถุธรรมของมนุษย์บ้าง(เช่น เรื่องสังคม การเมือง และวัฒนธรรม) ความคิดความอ่านแบบมีเหตุผลในเชิงที่ไม่ใช่วัตถุธรรมนี้ กระจายออกไปในวงที่กว้างมากขึ้นในศตวรรษนี้ ขยายทั่วไปหมดทุกหมู่เหล่าและทุกชั้นชนไม่เลือกหน้า ระดับการอ่านหนังสือออกของผู้คน ทั้งคนมีและคนจนทั้งคนชั้นบนและคนชั้นล่างเพิ่มขึ้น ที่สำคัญก็คือมีหนังสือให้อ่านมากขึ้น หลากหลายขึ้น ราคาไม่แพงเนื่องจากระบบการพิมพ์สมัยใหม่ก็ได้เกิดขึ้นนานแล้ว (กูเต็นเบิร์ก คิดค้นสมบูรณ์ทั้งระบบการพิมพ์ หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ด้วยระบบใหม่นี้ซึ่งมีคุณภาพดีและราคาถูกได้แก่ “กูเต็นเบิร์ก ไบเบิล” พิมพ์ค.ศ. 1455 กว่าสองร้อยปีก่อนยุคฟ้าแจ้งจางปาง)


ประวัติศาสตร์ยุโรปมีศัพท์แสงเกี่ยวกับยุคเฟื่องสติปัญญาอยู่หลายยุค เพื่อที่ท่านผู้อ่านผู้เพิ่งจะเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ จะได้ไม่จมทะเลศัพท์เทคนิคสำลักเสียก่อน จะขอสรุปหยาบ ๆ ง่าย ๆ ว่ากันคร่าว ๆ ลวก ๆ แบบลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว สุก ๆ ดิบ ๆ อาจไม่ถูกต้องนักแต่ชัดเจนพอสมควรว่า ก่อนจะถึงยุคฟ้าแจ้งจางปาง -the Age of Enlightenment- ซึ่งคำ ๆ นี้นักปรัชญาเยอรมัน(Emmanuel Kant)เป็นคนคิดเรียกนั้น ยุโรปได้ผ่านยุคปรับปรุงศาสนาที่เรียกว่า ยุคปฏิรูปศรัทธา(the Reformation) มาก่อนแล้ว ยุคปฏิรูปศรัทธาวิพากษ์ วิจารณ์ศาสนจักรโรมันคาธอลิค แล้วชวนกันย้อนกลับไปปลื้มศาสนาคริสต์สมัยต้นศักราชโน่น เพราะเห็นว่าเรียบง่าย-น่ารัก-เป็นกันเอง ไม่รกรุงด้วยเยียรบับแบบที่ปกาศิตมาจากสำนักวาติกัน-ซึ่งอีรุงตุงนังชวนให้ง่วงเหงาหาวนอน โคดน่าเบื่อ


เทคนิคการอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปอีกนิดหนึ่งนะครับ ทำไมชอบเขียนว่าศาสนจักรโรมันคาธอลิค? มันน่ารำคาญอ่ะ เรียกศาสนาคริสต์เฉย ๆ ไม่ได้หรือ? ตอบว่า-ไม่ได้ดอก เราเขียนกันตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เพราะยุโรปสมัยโบราณมีศาสนาคริสต์อยู่สองสายใหญ่ คือ ศาสนาคริสต์ละติน มีองค์สันตะปาปาอยู่ที่โรม กับ ศาสนาคริสต์กรีกหรือศาสนจักรตะวันออก สันตะปาปาอยู่ที่กรุงคอนสแตนตินติโนเปิล(ก่อนที่แขกเตอร์กจะยึด) ดินแดนยุโรปตะวันตกอันเป็นยุโรปที่เราศึกษากัน รู้จักกัน เข้าใจกัน เขามีปัญหากับศาสนาคริสต์ละติน หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า“ศาสนจักรโรมันคาธอลิค” เพื่อจะแยกให้ชัด จากคริสต์กรีก งัย ภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า l’eglise catholique romaine ซึ่งแยกคำได้ดังนี้ เป็นศาสนจักร-l’eglise-คือมีวัดมีพระมีระบบการปกครอง เป็นคาธอลิค-catholique-ซึ่งมาจากคำกรีกแปลว่า “สากล” กล่าวคือศาสนานี้ไม่กีดกันใคร เพื่อมนุษย์ทุกคนบนพื้นพิภพนี้ และสุดท้ายเป็นโรมัน-romaine-เพื่อแยกว่าไม่ใช่ศาสนจักรกรีกหรือศาสนจักรตะวันออก เป็นของกรุงโรมไม่ใช่กรุงคอนสแตนติโนเปิล


ยุคปฏิรูปศรัทธาก่อให้เกิดศาสนาคริสต์ นิกายประท้วง(โปรเตสแตนต์ = ผู้ประท้วง) และอีกสารพัดนิกายแทรกขึ้นมาในเขตอิทธิพลของศาสนาคริสต์ละติน ประวัติศาสตร์ก่อนหน้ายุคปฏิรูปศรัทธา ทวนน้ำย้อนขึ้นไปอีก ยุโรปก็ได้ผ่านยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)ที่ผู้รู้ทั้งหลายหันกลับไปรื้อฟื้นและพากันปลื้มกับตำรับตำรา ความคิดความอ่าน และรูปแบบศิลปะ ของสมัยกรีกและโรมันโน่น – คนในกระแสสมัยนั้นบอกว่า ของเก่าของเดิม เจ๋งครับพี่ เจ๋ง! ขอยกตัวอย่างสักตัวอย่างเดียวพอเป็นกระสาย คือ เรื่องกฎบัตรกฎหมาย เมื่อผู้พิพากษายุคนั้นกลับไปอ่านประมวลกฎหมายโรมันดั้งเดิมก็เห็นว่า“เข้าท่า” จึงนำมาอ้างอิงตัดสินคดีความ ผลปรากฏว่า “ดีแฮะ” คำพิพากษาเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายว่ายุติธรรมดี จึงศึกษาและปลื้มกันใหญ่ กฎหมายโรมันจึงได้แพร่หลายกลายพันธ์(-มาหลายชั้น)จนเป็นประมวลกฎหมายที่ใช้ตามประเทศต่าง ๆ ส่วนมากในโลกปัจจุบัน-รวมทั้งประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีนด้วย เป็นต้น


แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งปลื้มมั่วไปตามลีลาการเขียน โปรดได้สังเกตว่าทั้งยุคปฏิรูปศรัทธาและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ต่างล้วนมีลักษณะ มองกระจกส่องหลัง หันกลับไปปลื้มอดีตด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อพ้นยุคปลื้มอดีตทั้งสองยุคนั้นมาแล้ว ยุโรปจึงได้เปิดตัว ยุคฟ้าแจ้งจางปาง ของเรา ที่มีลักษณะการโปรโมชันแบบ แลไปข้างหน้า ผู้คนในกระแสพากันกลับหลังหัน เปลี่ยนมาเชื่อใหม่ว่า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้แน่ พวกเขาละสายตาจากกระจกส่องหลัง ผินไปข้างหน้า มองไปยังทิศที่ฟ้าแจ้งจางปาง...


ทิศาปาโมกข์(= “อาจารย์ดัง” )แห่งยุค ผู้ชูประทีปส่องทาง สาดความกระจ่างให้แก่จิตใจคนยุคนั้น ปรากฏรายนามตามตารางเล็ก ๆ ข้างล่างนี้ โปรดสังเกตว่าทิศาปาโมกข์มีอยู่ทั้งในโลกเก่า(ยุโรป)และโลกใหม่(ทวีปอเมริกา) อีกประการหนึ่ง การค้นพบโลกใหม่เมื่อสองร้อยปีก่อนหน้านั้น(ปี 1492) และการเดินทางไปตั้งอาณานิคมรอบโลกของชาวยุโรป ก็มีส่วนทำให้พวกเขาหูตาสว่าง แล้วหันกลับมาตั้งคำถามปรัชญาเอากับโลกเก่าของตน ตารางข้างล่างนี้ใช่ว่าจะรวมชื่ออาจารย์ดังไว้หมดทุกคนนะ แต่รวมไว้เยอะเท่านั้น............
(โปรดติดตามบทความเนื้อเต็ม ในนิตยสารเอ็มบีเอ)

วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓

วิจารณ์บทกวี "อกผายไหล่ผึ่ง" ของ ขรรค์ชัย บุนปาน

โดย เดฟ นาพญา

---------------------------------------------------------------------------------------------------
คำโคลง ที่ถูกวิจารณ์

                     อก ซบอกสั่นสะท้าน สยิวสทก
          ผาย แผ่ผืนแผ่นอก         รับอ้อน
          ไหล่ แบกโลกเข็นครก     เอวคราก
          ผึ่ง แดดผึ่งลมร้อน          เพิ่งรู้ธุรลีเดียว


                               คำโคลง “อกผายใหล่ผึ่ง” ผู้ประพันธ์-คุณขรรย์ชัย บุนปาน
                               ตีพิมพ์ใน นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552

ถ้าผู้เขียน วิจารณ์เพียงสั้น ๆ ใช้สไตล์ลอกเลียน ท่านศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
“คุณสุจิตต์ วงศ์เทศ” อิงผลงาน มีชื่อของท่าน ประมาณปี 2512 ชื่อ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา”

ก็จะสามารถ วิจารณ์เพียงประโยคเดียว ได้ว่า “กูสงสัย ฉิบหายเลย มันเป็นบทกวี ตงไหนวะ?”
หรือวิจารณ์เป็นคำโคลง แบบโคลงเคลง ไม่ได้ดีไปกว่า โคลงที่ถูกวิจารณ์ ดังนี้ ครับ

               กู โคตรกังขานะน้า  ว่ายังงัย
          สง สารตัวเองไป่           บอดเดี้ยง
          สัย ยะเวทอันใด            ชักอ่าน
          ฉิบ หายแน่โอมเพี้ยง    มึงอย่าเขียนอีกนะ

แต่ เนื่องจากเราอยู่ในยุค ที่ไกลจากปี 2512 มานาน ประมาณใกล้จะ 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษแล้ว
ก็เลย ต้องเขียนวิจารณ์ เป็นบทความสั้น ๆ ถึง 3 ตอน

ตามลิงก์ ด้านล่าง ครับ
--------------------------------------------------------------------------------------------------
มีอะไรใหม่หรือ?

มีอะไรใหม่เกี่ยวกับการวิจารณ์งานศิลป์?

ในการวิจารณ์คำวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง โหมโรง ซึ่งจะได้เสนอในอนาคตนั้น ผู้เขียนได้เชิญชวนท่านผู้อ่านขยายความคำว่า “วิจารณ์” ออกไปอีกเล็กน้อยให้เกินกว่า “การติชม” โดยเสนอว่า แม้แต่การตินั้นก็ดี หากเป็นการวิจารณ์งานศิลป์ ผู้เขียนก็จะพยายามติเพื่อก่อ...หรือถ้าติเพื่อก่อไม่ได้ ก็จะติอย่างขอให้มีความเมตตาปรานีต่อกันและกันทั้งสองฝ่าย หมายความว่า จะติแบบที่คนโดนติ เขาจะยังสามารถแผ่เมตตาให้แก่เราผู้ติได้อยู่ต่อไป ไม่ใช่ประกาศเลิกเผาผีกัน ทั้งนี้เพราะเราได้พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งแปลหยาบ ๆ เป็นภาษาฝรั่งว่ามี compassion มิใช่สักแต่จะ “รู้เขา-รู้เรา” ซึ่งแปลว่าเป็นเรื่องของ game theory หรือยุทธศาสตร์แห่งการได้เสีย อันเป็นคนละเรื่องกันกับ compassion

ที่ตั้งคำถามว่า มีอะไรใหม่ เกี่ยวกับการวิจารณ์งานศิลป์หรือ? นั้นคืออย่างไร? แปลว่า มันต้อง มีอะไรเก่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่ะซี? ใช่เปล่า?

ในเมืองไทย ผู้วิจารณ์กับผู้ถูกวิจารณ์ขี้มักจะมีเรื่องกันเสมอ แทบจะกลายเป็นอนิจจังแห่งความสิ้นหวังทางสังคมของงานศิลปะ คู่ที่คลาสสิคที่สุดคู่หนึ่งคงจะไม่พ้นคู่ระหว่างพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เมื่อครั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ วิจารณ์นวนิยายเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของ ม.จ.อากาศดำเกิง ต่อจากนั้นมา ก็ยังมีอีกหลายคู่หลายกรณี เรื่อยมาจนถึงยุควิจารณ์กันแหลกใกล้เหตุการณ์ตุลาคมอันโด่งดัง เรื่อยมาจนกระทั่งถึงกรณีของนักเขียนผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมายอย่าง“เจ๊ทม” ผู้เขียนจะขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อจริงนามสกุลจริงของเธอ เพราะไม่อยากจะเปลืองตัว โปรดอย่าถามเค้นเอาคำตอบว่า เธอคือใคร?

-โปรดติดตามอ่านบทความเนื้อเต็มในนิตยสาร MBA ฉบับพฤษภาคม 2553

หรือ คลิกอ่านเต็มบท ที่นี่ครับ
คลิกอ่านตอน ๑ ทั้งหมด
คลิกอ่านตอน ๒ ทั้งหมด
คลิกอ่านตอน ๓ ทั้งหมด

หรือ คลิกโหลดรวมทุกตอน ๑-๒-๓
https://docs.google.com/viewer?a=v&pid=explorer&chrome=true&srcid=0B1pqd2WJcbO3NjQ2OWMzYjYtN2ZhOC00YTBlLTk0ZWItODI4NDMwNTIzMzdh&hl=th
&hl=th

วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

การปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 1 ศิลปินและศิลปะ(ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ) [บทนี้ โพสแล้วทั้งบทครับ]

ปัง – ปัง!

เสียงปืนดังขึ้นสองนัดเมื่อแปดปีก่อน ในวันที่ 14 กรกฏาคม พ.ศ. 2545 อันเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวปารีสทำลายคุกบาสตีย์ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาถือวันนั้นเป็นวันชาติฝรั่งเศส เสียงปืนดังมาจากฝูงชนที่ยืนชมขบวนสวนสนามอยู่บนถนนช็องเซลิเซ่ ถนนสำคัญสายหนึ่งของปารีส อันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ ซุ้มชัยสมรภูมิ (อาร์ค เดอ ตริ-อ็ง - Arc de Triomphe de l'Étoile) ของนะโปเลียน ปัจจุบันทำหน้าที่อนุสรณ์สถานสำหรับทหารนิรนาม

ปืนกระบอกนั้นเล็งไปที่ประธานาธิบดี ฌาคส์ เรอเน ชีรัค ซึ่งยืนเด่นอยู่บนรถเปิดประทุนในขบวนสวนสนามวันชาติฝรั่งเศส หรือวันบาสตีย์ อันเป็นขบวนสวนสนามประจำปีขนาดใหญ่ไม่กี่ขบวนที่ยังจัดกันอยู่ในโลกปัจจุบัน ขณะที่กำลังจะลั่นไก ผู้ยืนชมขบวนผู้หนึ่ง เป็นชาวจังหวัดอัลซาส ได้เห็นการลงมือกระทำนั้นเสียก่อน จึงตบปัดกระบอกปืนให้เบี่ยงขึ้นฟ้า และประชาชนที่ยืนอยู่บริเวณนั้นก็กลุ้มรุมจับนายมักซิม บรูเนรี (Maxime Brunerie) ผู้มีเจตนากระทำการสังหารประธานาธิบดีฝรั่งเศสไว้ได้ ชื่อตัวของผู้ลงมือกระทำที่ชื่อ มักซิม ชวนให้เรานึกถึงนามของนักการเมืองคนสำคัญระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส คือนาย มักซีมีเลียง โรแบสปิแยร์ หรือชื่อเต็มว่า มักซีมีเลียง ฟร็องซัว มารี อีซีโดร์ เดอ โรแบสปีแยร์ (Maximilien François Marie Isidore de Robespierre)

ประธานาธิบดี ฌาคส์ เรอเน ชีรัค ไม่ทราบเรื่องที่ตนเองถูกปองร้าย กระทั่งเวลาล่วงไปแล้วสองชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในบัดนั้นซึ่งก็คือประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน นายนิโกลาส์ ซาร์โคซี จึงได้แจ้งให้ทราบ ประธานาธิบดี ชีรัค เอ่ยสั้น ๆ เพียงว่า “Ah bon”. (“งั้นหรือ”)

หลังจากเข้ารับโทษในคุกตามคำพิพากษาครบเรียบร้อยแล้ว โดยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 10 ปี เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 นายมักซิม บรูเนรี ก็เป็นอันพ้นโทษในวัยสามสิบเศษ โดยที่ก่อนหน้านั้นกระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศสก็ได้แจ้งให้ อดีตประธานาธิบดี ชีรัค ทราบว่านายมักซิม บรูเนรี จะพ้นโทษ เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นประธานาธิบดีชีรัคนึกสงสัยเสมอว่า ตนถูกปองร้ายด้วยเหตุอันใด จึงได้ศึกษารายงานของตำรวจอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งกระทั่งพ้นตำแหน่งประธานาธิดี และประธานาธิบดีชีรัคก็ได้มีโอกาสพบปะกับคุณแม่ของนายมักซิม บรูเนรี ครั้งหนึ่งด้วย

ประเทศฝรั่งเศสนั้น มีการตำรวจที่ทำงานละเอียดและเข้มแข็งมายาวนานตั้งแต่ยุคพระเจ้าหลุยส์ทั้งหลาย บันทึกของตำรวจในอดีตมีส่วนช่วยให้คนรุ่นหลังค้นคว้าประวัติศาสตร์ได้สะดวก ส่วนในปัจจุบันนี้นั้นสังคมเปลี่ยนไป แต่ภาพลักษณ์สมัยใหม่ของตำรวจก็เป็นที่เข้าใจกันอย่างมั่นคงว่า กำลังตำรวจคือแขนขาของกระบวนการยุติธรรม และระบบยุติธรรมทั้งระบบ ก็ถือว่าเป็นกระบวนการ “ศักดิ์สิทธิ์” ตามระบอบประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ตำรวจฝรั่งเศสมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผู้พิทักษ์สันติ” หรือ “Gardien de la paix” ไม่ได้เรียกว่า “โปลิส” เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามหลักฐานประวัติอาญากรรมเกี่ยวกับนายมักซิม บรูเนรี ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการ “ขวาตกขอบ” ผู้พิทักษ์สันติของฝรั่งเศสก็ไม่ได้สรุปเรื่องจบง่าย ๆ เพียงเท่านั้น เช่นสรุปว่านายคนนี้เป็นพวกขวาตกขอบ หรือนายคนนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วจบแค่นั้น

แล้วทางการฝรั่งเศสสรุปเรื่องนี้อย่างไร? ผู้เขียนได้เพียรค้นหาคำตอบให้กับคำถามนี้อยู่นานนับเดือน เพื่อจะนำคำตอบที่ตัวเองพอใจมาเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทั้งหลายได้ทราบ หรือจะพูดแบบเกิน ๆ สักนิดว่าค้นอยู่ประมาณหนึ่งปี จนกระทั่งได้คำตอบที่พอใจมา 3 ประโยค(ในภาษาฝรั่งเศส) ว่า
"Ne personnalisez pas cet acte. Ce n'est pas moi qui étais visé, mais ce que je représente. Lorsqu'on se sent rejeté par la société, on cherche à atteindre son plus haut symbole."

ข้อความนั้น เป็นคำสรุปของตัวผู้ถูกปองร้ายเอง คือ คำของอดีตประธานาธิบดี ชีรัค ผู้ได้ศึกษารายละเอียดของรายงานเรื่องนี้และเข้าถึงข้อมูลมากกว่าผู้เขียนสุดจะประมาณ จึงน่าจะเป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ถูกต้องครบถ้วนที่สุดแล้ว แปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวและตรงตามเนื้อความ ได้ว่า

“อย่าได้ถือการกระทำนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ตัวฉันดอกที่ถูกเล็ง แต่เป้าอยู่ที่สิ่งที่ฉันทำหน้าที่เป็นผู้แทนอยู่ ต่างหาก ในเมื่อเรารู้สึกว่าเราถูกสังคมทอดทิ้ง เราก็จะหาทางแก้แค้น ด้วยการเล็งเป้าไปที่ผู้แทนสูงสุดของสังคมนั้น”

คำตอบนั้นออกจากปากของผู้ถูกปองร้าย ผู้เข้าถึงรายงานและข้อมูลครบถ้วนกว่าใคร ๆ คือท่านอดีตประธานาธิบดี ชีรัค

อดีตประธานาธิบดี ชีรัค เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนมัธยมลีเซ่หลุยส์มหาราช(Lysée Louis le Grand)ในกรุงปารีส เช่นเดียวกับ โรแบสปิแยร์ ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเคยเป็นนักเรียนดีเด่นที่โรงเรียนนั้นมาก่อนเมื่อ 200 ปีเศษที่แล้วมา

และผู้เขียนก็จะไม่พยายามตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมประเทศฝรั่งเศสที่เป็นประชาธิปไตย ผ่านการปฏิวัติและปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่มาหลายครั้ง เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติปารีสคอมมูน การปฏิวัตินักเรียนนักศึกษาปีค.ศ.1968 การก่อการจลาจลทั่วประเทศที่เรียกว่า Frenah riots เมื่อห้าปีก่อน(พ.ศ.2548) ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสที่มีระบบประกันสังคมครอบคลุม(แทบจะ)ทุกชีวิตของพลเมืองในปัจจุบันนี้ ทำไมจึงยังมีคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกสังคมทอดทิ้งอยู่อีก?

จะขออนุญาตท่านผู้อ่าน โหมโรงเข้าสู่เรื่องราวของการปฏิวัติฝรั่งเศสเลยดีกว่า ซึ่งสำหรับผู้เขียน หรือผู้เรียบเรียง-เพราะเป็นผู้เรียบเรียงนำเสนอ ไม่ได้คิดอ่านจินตนาการการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมาเอง-แต่บางทีเรียกตัวเองว่า ผู้เขียน เพราะว่านำเสนอด้วยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อการตีพิมพ์ ไม่ได้นำเสนอเป็นพาวเวอร์พอยต์ หรือบรรยายในที่ประชุม หรือแสดงปาฐกถา หรือทำวีดีโอคอนเฟอเรนต์ ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นของนักประวัติศาสตร์บางท่านว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการปฏิวัติสังคมเพียงครั้งเดียวที่โลกเคยประสบมา การปฏิวัติอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลัง ล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งสิ้น ผู้เขียนกราบขออภัยอย่างสูงต่อท่านผู้อ่าน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นเว่อ ๆ นี้

ท่านผู้สนใจประวัติศาสตร์ หรือ “history buff”ทั้งหลาย อาจจะเคยตั้งข้อสังเกตกันบ้างแล้วว่า การปฏิวัติอื่น ๆ รวมทั้งการปฏิวัติประกาศอิสรภาพอเมริกัน จะมีแนวทางนำเสนอที่เบาสมองให้เราเลือก เช่น การปฏิวัติอเมริกันที่เสนอเป็นการ์ตูนก็มี แต่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น การนำเสนอมักจะเคร่งเครียดเสมอ คนที่จับเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสก็อาจจะอดเครียดไม่ได้ การปฏิวัติรัสเซียยังมีเรื่องโจ๊กเล่าสู่กันฟัง แต่เราไม่ใคร่จะได้ยินใครนำเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสมาเล่าเป็นเรื่องขำขัน เพราะฉะนั้น คำกล่าวของอดีตผู้นำจีน ฯพณฯ โจว เอินไหล เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็อาจจะเป็นความจริงก็ได้ ทั้งนี้โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งชาวตะวันตกผู้หนึ่งถาม โจว เอินไหล ผู้เคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสว่า ท่านพอจะประเมินผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่มีต่อโลกได้ไหม? โจว เอินไหล ตอบว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป”

ดังนั้น ท่านผู้อ่านโปรดเย็นใจและผ่อนคลายได้เลยว่า การเขียนเล่าประวัติการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งนี้ เขียนนะครับไม่ได้เสนอเป็นพาวเวอร์พอยต์หรือแปลมา(-ขอย้ำ) ผู้เขียนจะไม่ตั้งตัวเป็นปรมาจารย์ หรือเผด็จการเม้าส์(mouse dictator)นั่งคลิกอยู่คนเดียวคนอื่นห้ามคลิก พูดจาสรุปบทเรียนนั่นบทเรียนนี่ ให้เป็นที่น่ารำคาญแก่ท่านผู้อ่านเป็นอันขาด ไม่ว่าท่านจะสังกัดสีสันการเมืองเฉดสีใด ๆ ก็ดี อ่านได้สบายใจทุกคน เพราะท่านผู้อ่านแห่งยุคปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นกลุ่มผู้อ่านกลุ่มเดียวกัน ก็ไม่ได้มีสีสันทางการเมืองเพียงสีเดียวหรือสองสี น่าจะมีมากสีกว่านั้น แต่แม้จะหลากสีมัลติคัลเล่อร์อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านทุกท่านและทุกสีสัน ก็มีทางเลือกเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอภาคกัน...ดังจะขยายความต่อไป

ขณะที่กำลังเริ่มทำงานชิ้นนี้ ผู้เขียนลองเคาะกูเกิ้ลภาษาอังกฤษพบว่า มีเว็บไซด์เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสอยู่ประมาณ 24 ล้านเว็บไซด์! การปฏิวัติจีน(คอมมิวนิสต์)มีประมาณ 2 ล้านเว็บไซด์ และการปฏิวัติรัสเซียประมาณ 5 แสนเว็บไซด์ เพราะฉะนั้น ท่านมีสิทธิ์จะโดนการปฏิวัติฝรั่งเศสท่วมหัวท่วมหูสำลักและจามหูดับตับไหม้ หรือจมทะเลเลือดที่ไหลโกรกมาจากเครื่องกิโยติน จากตัวเลขนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจจะเริ่มมีความเห็นคล้อยตามผู้เขียนกันบ้างไม่มากก็น้อยแล้วว่า น่ากลัวความเห็นที่แสดงไว้ในย่อหน้าก่อน ที่ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติสังคมเพียงครั้งเดียวที่โลกเคยได้ประสบมา การปฏิวัติอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลัง ล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งสิ้น คำกล่าวนั้น อาจจะมิได้เกินเลยมากนักก็ได้ ส่วนประเด็นที่ว่าท่านผู้อ่านทุกสีสันมีทางเลือกเสมอ หมายความว่า ถ้าท่านเลือกที่จะศึกษาจากเว็บไซด์(เฉพาะเว็บภาษาอังกฤษ)ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 24 ล้านเว็บไซด์ โดยศึกษาเว็บไซด์ละ 1 ชั่วโมง ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ปีหนึ่งท่านจะอ่านได้ 3,650 เว็บไซด์ ต้องใช้เวลาถึง 24,000,000 / 3,650 = 6,575 ปี จึงจะอ่านจบ แต่ท่านผู้อ่านทุกสีสันมัลติคัลเลอร์มีอ็อปชันอย่าง เสมอภาค เราเสนอโปรโมชันว่าท่านมี เสรีภาพ ที่จะติดตามอ่านเป็นตอน ๆ เป็นภาษาไทยในนิตยสาร MBA ประมาณไม่เกิน 10 เดือนก็จบ ส่วนเวลาที่เหลืออีกราว ๆ 6,500 ปีเศษนั้น ด้วย ภราดรภาพ เราเห็นว่าท่านน่าจะนำไปใช้ทำอย่างอื่นจะดีกว่า

เพื่อไม่ให้การนำเสนอเครียดเกินไป ผู้เขียนได้เรียนหารือคุณวีระพงษ์ กองบ.ก. MBA ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะเปิดฉากกล่าวถึงศิลปะอันเนื่องอยู่กับการปฏิวัติฝรั่งเศสปูพื้นไปก่อน เป็นปฐม

ซึ่งก็จะขอเริ่มด้วยภาพเขียนภาพนี้...เป็นศิลปะ ชิ้นแรก ที่จะขอแนะนำต่อท่าน



ตรงมุมด้านล่างในภาพ ขวามือท่านผู้อ่าน จะพบคำอุทิศว่า “แด่ มาราต์” พร้อมกับชื่อศิลปินผู้เขียนภาพว่า “ดาวิด” (-อ่านตามสำเนียงฝรั่งเศส) ภาพนี้มีชื่อภายหลังว่าภาพ ความตายของมาราต์ ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์หลวงแห่งเบลเยี่ยม (Musées royaux des Beaux-Arts de Belgique) อยู่ที่กรุงบรัซเซลส์ ฌัง-ปอล มาราต์ เป็นนักการเมืองระดับผู้นำคนหนึ่งในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ส่วน ฌาค-หลุยส์ ดาวิด ก็เป็นศิลปินนักการเมืองที่มีชื่อเสียงจากผลงานยุคนั้น ดาวิดคือมิตรที่ดีของมาราต์และโรแบสปิแยร์ งานของเขาหลายชิ้นตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ลูฟร์ กรุงปารีส แต่บรรดาคนคอศิลป์จำนวนมากเห็นพ้องกันว่า ภาพความตายของมาราต์เป็นงานชิ้นที่ดีที่สุดของ ดาวิด

มาราต์ เป็นแพทย์ นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมือง แต่บางช่วงชีวิตต้องลงไปอาศัยอยู่ในท่อน้ำทิ้งของกรุงปารีส พอพูดถึง ท่อน้ำทิ้ง บางท่านอาจจะอ่านเพียงผ่านตา ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของท่อน้ำทิ้งกรุงปารีส จึงขอสะกิดเตือนสติท่านผู้อ่านว่า คำเล็กคำน้อย ที่เราคิดว่าคุ้นอยู่แล้วนั้น บางทีในการศึกษาประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เราคุ้นก็ได้ อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เช่น คำว่าท่อน้ำทิ้ง เป็นต้น ทุกวันนี้(กำลังเล่าเรื่องปัจจุบัน-ไม่ใช่ประวัติศาสตร์) ถ้าท่านไปเที่ยวปารีส ท่านสามารถซื้อทัวร์ไปเที่ยวชมท่อน้ำทิ้งของกรุงปารีสได้ ใต้กรุงปารีส(ใต้ถนน)จะมีคลองขุดอยู่เป็นอุโมงค์ไหลลดเลี้ยวทำหน้าที่ระบายน้ำให้เมืองทั้งเมือง ทั้งน้ำใช้และน้ำฝน ระบบอุโมงค์เพื่อการระบายน้ำนี้ ไหลวนเวียนลับตาคนอยู่ใต้ดินทั่วปารีส วัดระยะทางได้ 2,450 กิโลเมตร ซึ่งถ้านำมาขึงวางบนแผ่นดินก็จะยาวตั้งแต่ปารีสถึงนครอิสตันบุล ประเทศตุรกี

มาราต์ ได้อาศัยอยู่บนฝั่งของท่อน้ำทิ้งใต้กรุงปารีสอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าประดับสว่างใสวไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาทัวร์แบบเวลานี้ ก็คงจะต้องมืด ๆ และสกปรก อันนี้จินตนาการเอานะ ไม่ได้เห็นเอง เรามาตกลงกันแล้วกันว่า อะไรที่เห็นกะตาเองจะระบุไว้ ถ้าไม่ได้ระบุไว้แปลว่า จำ ๆ เขามาเล่าต่อ ไม่ได้เห็นเอง แต่ก็อย่างว่านะครับท่าน เรื่องราวในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ดี มารี-อังตัวแนต ก็ดี มาราต์ก็ดี โรแบสปิแยร์ก็ดี แซงต์จุสต์ก็ดี เดสมูแลงส์ก็ดี ดังต็งก็ดี ฯลฯ ก็ดี ต่างก็ล่วงลับกันไปหมดมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว ไม่เห็นมีใครกลับมาแสดงปาฐกถาเล่าจากปากตัวเองสักราย-พูดผิดเปล่าเนี่ยะ?(ถ้าพูดผิดจะได้พูดใหม่) เล่ากันว่าผลจากการอาศัยอยู่ในรูท่อแบบนั้นนาน น้ำท่าไม่ได้อาบ ทำให้มาราต์เป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเวลาโรคกำเริบ ผิวหนังจะเห่อขึ้นน่าเกลียดและแลดูน่ารังเกียจจนเข้าสังคมไม่ได้ ศิลปิน ดาวิด ผู้เป็นศิลปินการเมืองมิตรสนิทของมาราต์ ได้วาดรูปให้ผิวพรรณของมาราต์เกลี้ยงเนียนสะอาด ปราศจากร่องรอยโรคผิวหนัง วางท่าตายของมาราต์ให้ละม้ายแม้นท่าพระเยซูคริสต์ในรูปแกะสลัก ลา ปิเอตตา ของไมเคิล แองเจโล ดังภาพ (รูปปั้นนี้ผู้เขียนเคยเห็นกะตามาแล้ว ที่วาติกัน)


และได้รับอิทธิพลเรื่องการใช้แสง มาจากภาพเขียนชื่อ Entombment of Christ
ภาพข้างล่างนี้ ซึ่งอยู่ที่วาติกันเช่นเดียวกัน


มาราต์ ถูกหญิงสาวตระกูลขุนนางผู้น้อยในมณฑลนอร์มังดีชื่อ ชาร์ล็อต คอร์เดย์ ซึ่งเป็นคนตี่นตัวทางการเมือง เดินทางมาหลอกแทงตายในที่พักของเขาที่กรุงปารีส โดยเธอเห็นว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ฆ่าหมู่เดือนกันยายน(massacres de Septembre) อันเป็นเหตุการณ์รุนแรงน่าสยดสยองเหตุการณ์หนึ่งในหลาย ๆ เหตุการณ์ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส สำหรับเหตุการณ์ ฆ่าหมู่เดือนกันยนยน นั้น ฝูงชนในภาวะบ้าคลั่งได้เปิดคุกเข้าไปฆ่าฟรีนักโทษการเมือง ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกกรุงปารีส ภายในสองสามวันระหว่าง 2-6 กันยายน 1792 นักโทษผู้ไม่มีทางต่อสู้ถูกฝูงชนที่กำลังคลั่ง ฆ่าตายอยู่ในคุกประมาณ 1,500 คน เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสยดสยองและขนลุกขนพองทั่วยุโรป

ชาร์ล็อต คอร์เดย์ แทงมาราต์ตายแล้วก็ยืนอยู่ตรงนั้น ไม่พยายามหลบหนีไปไหน เธอถูก ศาลปฏิวัติ (Le Tribunal révolutionnaire)พิพากษาให้ประหารชีวิต เธอถูกนำไปตัดหัวด้วยเครื่องกิโยตินในไม่กี่วันต่อมา...

ศิลปะอันเนื่องอยู่กับการปฏิวัติฝรั่งเศส ชิ้นที่สอง ที่จะแนะนำ ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 3 ของ บีโธเฟน คีตกวีชาวเยอรมันผู้นี้มีชีวิตอยู่ในยุคที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้ติดตามเหตุการณ์ด้วยความสนใจ จนกระทั่งนายพลนะโปเลียนนำกองทัพสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เพิ่งจะก่อตั้งใหม่ ๆ ต้านทานกองทัพนานาชาติที่รวมหัวกันมุ่งรุกรานฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ครั้นนะโปเลียนประกาศสถาปนาตนเองเป็น “จักรพรรดิ์” ในเดือนพฤษภาคม 1804 (15 ปีหลังเหตุการณ์ทำลายคุกบาสตีย์) บีโธเฟน ก็สิ้นศรัทธา จากที่เคยรักกลายเป็นชัง ซิมโฟนีหมายเลข 3 เพิ่งจะเขียนเสร็จเรียบร้อยต้นฉบับวางอยู่บนโต๊ะ บนหัวกระดาษต้นฉบับซึ่งคัดลอกไว้สวยงามดีแล้ว เขียนชื่อเพลงว่าเพลง “นะโปเลียน” เมื่อผู้ช่วยของเขาแจ้งข่าวว่านะโปเลียนสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์ บีโธเฟนเดินไปที่โต๊ะวางต้นฉบับเพลง และอย่างโกรธจัดบีโธเฟนร้องว่า

“อ้าว งั้นก็เป็นแค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง! ต่อแต่นี้ไป เขาก็จะขยี้คำประกาศสิทธิมนุษยชนเหยียบไว้ใต้อุ้งเท้า ก้าวเดินไปตามความทะเยอทะยานส่วนตัว เดี๋ยวนี้เขาคิดว่าตัวเขาวิเศษกว่ามนุษย์อื่นทั้งหมด เขาจะกลายเป็นทรราชย์!”


บีโธเฟน หยิบต้นฉบับเพลงแผ่นแรกที่วางอยู่บนโต๊ะขึ้นมาฉีก แล้วขว้างทิ้งลงกับพื้น ดังนั้น ในภายหลังจึงต้องคัดลอกต้นฉบับเพลงแผ่นแรกนั้นขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนชื่อเพลงเป็นภาษาอิตาเลียนว่า Sinfonia eroica, composta per festeggiare il sovvenire d'un grand'uomo แปลว่า “ลำนำแห่งผู้กล้า แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงคนสำคัญคนหนึ่ง” หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ซิมโฟนี เอรอยกา” ต้นฉบับเพลงหน้าแรกที่นำมาลงไว้นั้น ชื่อนะโปเลียนถูกขีดฆ่าทิ้งอยู่บนหัวกระดาษ

ผู้สนใจประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่า บีโธเฟ่นไม่ได้เป็นคนที่ติดตามเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิดแต่เพียงเท่านั้น เขาและงานของเขาเป็นผลิตผลของการปฏิวัติฝรั่งเศสเลยทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะซิมโฟนีหมายเลข 3 เพลงนี้เพลงเดียว เพลงอื่น ๆ นอกไปจากเพลงนี้ก็ใช่ทั้งนั้น ท่านบอกว่าถ้าไม่เชื่อ ให้ลองฟังซิมโฟนีหมายเลข 5 อันมีชื่อเสียงดูใหม่เด่ะ แต่แรกเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนก็ไม่เชื่อ ต่อมาพอได้ทำอย่างที่ท่านแนะนำ ชีวิตก็เลยซวยเล็ก ๆ ตั้งแต่นั้นมา จากที่เคยฟังเพลงบีโธเฟนเพลิน ๆ ด้วยหูอันซื่อ ๆ บริสุทธิ์ พักหลังหูมันไม่ซื่อเสียแล้ว ดันได้ยินสัญญาณการเมืองแฝงอยู่ในท่วงทำนอง-น่ากลุ้มใจแท้


ศิลปะอันเนื่องมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ชิ้นที่สาม ที่จะแนะนำนั้น “กินได้” ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่สนใจประกอบอาหารน่าจะชอบ และเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าท่านสามารถทำกินเองและเลี้ยงเพื่อนฝูงได้ เป็นอาหารฝรั่งเศสจานที่มีขายตามร้านอาหารฝรั่งเศสบางร้านทั้งในกรุงเทพฯและตามเมืองท่องเที่ยว ผู้เขียนเคยรับประทานครั้งแรกในชีวิตที่หัวหินเมื่อหลายปีมาแล้ว อาหารจานนี้มีชื่อเรียกอย่างเต็มยศในภาษาฝรั่งเศสว่า “Languoustes thermidor” ซึ่งพอจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “กั้ง แธร์มิโดร์” เมนูภาษาอังกฤษตามร้านอาหารจะเรียกว่า “Lobster Thermidor” บางแห่งในเมืองไทยอาจกลายพันธ์ จนเหลือเรียกสั้น ๆ ในเมนูว่า “Rock Lobster” ก็เคยเจอนะ


เครื่องปรุง สำหรับ “กั้ง แธร์มิโดร์”
กั้งเป็น ๆ 3 ตัว รวมน้ำหนักราว 700 กรัม
น้ำซุปกุ้งหรือกั้ง 10 เซ็นติลิตร
ไวน์ขาว 10 เซ็นติลิตร
ครีม 20 เซ็นติลิตร
4 หอมเล็ก
ผงมัสตาร์ด 2 ช้อนโต๊ะ
เนยเหลว 30 กรัม
เนยแข็งพามิแสนขูดฝอย 20 กรัม
ผงเชอร์วิลผสมเอสตราโกน 1 ช้อนโต๊ะ
(-ถ้าไม่มีและไม่รู้จัก สับผักชีลาวใส่เลย ใช้แทนได้-พูดจริงไม่ได้พูดเล่น)
เกลือ
พริกไทยดำบดละเอียด

ต้องขออภัยที่ไม่ได้บอกวิธีเตรียมอาหารจานนี้ บอกไว้เพียงแต่เครื่องปรุง เพราะคิดว่าท่านผู้อ่านผู้มีศรัทธาแรงกล้ากับการปฏิวัติฝรั่งเศส อย่างเก่งก็คงจะไปหารับประทานเอาตามร้านอาหารมากกว่าที่จะคิดทำเอง เพราะฉะนั้น จึงบอกเครื่องปรุงไว้ให้ท่านได้ทราบว่าท่านกำลังจะกินอะไร สำหรับท่านที่ยังดื้อดึงคิดจะปฏิวัติครัวทำกินเอง และกะจะชวนผู้เขียนไปกินเป็นเพื่อน(ขออภัย-ตลกบริโภคเล็กน้อย) ผู้เขียนเชื่อว่าท่านสามารถค้นหาวิธีทำได้ไม่ยาก เพราะเป็นอาหารจานที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์จานหนึ่ง

มันเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสตรงไหน อ่ะ?

ตำหรับอาหารจานนี้ ร้านอาหารร้านหนึ่งอยู่ใกล้โรงโอเปร่าที่ปารีสคิดขึ้น หลังจากที่การปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านไปแล้วร้อยปีเห็นจะได้ แต่ใช้คำว่า Thermidor อันเป็นชื่อเดือน 11 ตาม ปฏิทินปฏิวัติฝรั่งเศส (calendrier révolutionnaire français ) อยู่ในชื่ออาหาร

เรื่องราวสั้น ๆ เกี่ยวกับปฏิทินมีว่า ระหว่างช่วงปฏิวัตินั้น คณะปฏิวัติประกาศเลิกใช้คริสต์ศักราช ตั้งศักราชขึ้นมาใหม่และสร้างปฏิทินใหม่ แบ่งเดือน ๆ หนึ่งออกเป็น 3 สัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งมี 10 วัน ทั้งนี้ให้นับวันที่ 22 กันยายน 1792 เป็นวันเริ่ม ศักราชที่ 1 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเลิกนึกถึงวันอาทิตย์ตามพระคัมภีร์ ตลอดจนให้เลิกนึกถึงวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา การปฏิวัติฝรั่งเศสแอนตี้ศาสนจักรอย่างรุนแรง คณะผู้นำหวังกันว่าเมื่อใช้ปฏิทินใหม่นี้แล้ว ประชาชนจะพากันมึนตื้บถ้วนหน้า ไม่ทราบว่าวันอาทิตย์อยู่ไหน วันคริสต์มาสคือวันใด? หรือเทศกาลป้าคส์(อีสเตอร์)เริ่มวันไหน? หรือวันตูสแซงต์ (เทศกาลเช็งเม้งของคาธอลิคฝรั่งเศส-ถ้าเป็นคาธอลิคสเปนและละตินอเมริกาจะเรียกว่าเทศกาล “โตโด้ส โล้สซานโต้ส” )ตรงกับวันใดในปฏิทิน เป็นต้น

ต่อมานะโปเลียนก็ได้ประกาศพลิกโผ ให้หันกลับไปใช้ระบบปฏิทินระบบเดิม ชื่อเดือน แธร์มิโดร์ นั้น เป็นชื่อเดือนหนึ่งในฤดูร้อนตามปฏิทินปฏิวัติที่คนทั่วไปยังจำได้มากกว่าชื่อเดือนอื่น ๆ ซึ่งมีชื่อไม่ค่อยจะคุ้นหูคน เช่น เดือน บรูแมร์ (คาบเกี่ยวระหว่างตุลาคม-พฤศจิกายน) เดือน ปลูวิโอ้ส (คร่อมระหว่างมกราคม-กุมภาพันธ์) หรือเดือน แยร์มินาล (อยู่ระหว่างมีนาคม-เมษายน) เป็นต้น

ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่สมัยโบราณทั้งตะวันตกและตะวันออก นิยมทำงานช้างงานหนึ่ง คือ งานตั้งศักราช  พระเจ้าวิกรมาทิตย์() แห่งกรุงอุชเชนนี เป็นกษัตริย์องค์เดียวในแดนภารตะที่มีบารมีตั้งศักราชได้ เรียก กันว่า “ศักราชวิกรมาทิตย์”   ปัจจุบันนี้กองทัพเรืออินเดีย                          ( = ภารัติยะ นาวา เสนา ) ได้ตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ทันสมัยให้เป็นอนุสรณ์ ชื่อ เรือวิกรมาทิตย์ สลักอักขระเทวะนาครีกำกับด้วยอักษรโรมันไว้กับเรือดังภาพ ส่วนภาพขวามือคือตราประจำเรือ อักขระเทวะนาครีด้านบนอ่านว่า วิกรมาทิตย์ ด้านล่างของตราคือคำขวัญของกองทัพเรือ เป็นคำขอพรพระวรุณ เพราะถือว่าเทพที่คุ้มครองกองทัพเรืออินเดียคือ พระวรุณ-เทพแห่งพระสมุทร์

  

(บทความนี้ได้พิมพ์แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับพฤษภาคม 2553 ในนามปากกา ภูพาเนช)

วันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ครูนั้นยังลำพอง ในเกียรติของตนเสมอมา ..จริ๊ง?

โดย เดฟ นาพญา

คิดง่าย ๆ แล้วกันว่าโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีทั้งหมดประมาณสามหมื่นโรง ถ้าจะเฉลี่ยคร่าว ๆ ว่าโรงเรียนหนึ่งมีครูสิบคน คูณเลขสิบเข้ากับจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ผลลัพธ์เบื้องต้นก็คือข้าราชการครูระดับประถมศึกษาน่าจะมีราว 3 แสนคน โดยที่เรายังไม่นับครูระดับมัธยมศึกษาและไม่นับครูโรงเรียนราษฎร์(เอกชน)

เรารู้จักกันได้ไม่ยากหรอก ถ้าจะทำความรู้จักกันง่าย ๆ ฉาบ ๆ ฉวย ๆ ด้วยการอ่านตารางสถิติ หรือด้วยการถามว่าคุณอายุเท่าไร ย่อหน้าแรกนี้เราก็ได้“รู้จัก”แล้วว่า ระบบการศึกษาเมืองไทยประกอบด้วยคนผู้ “ยังลำพอง ในเกียรติของตนเสมอมา...” อยู่จำนวนประมาณ 3 แสนคน คำถามสร้อยห้อยติดมาคือ “...จริ๊ง?”

ยังภาคภูมิใจในเกียรติแห่งอาชีพตนกันมากมายขนาดนั้น เอ้ะ...แต่ว่าเกียรติของครูคือการมีรถปิกอัพขับไปโรงเรียน ใช่เปล่า?

(บทความเนื้อเต็ม จะตีพิมพ์ในนิตยสาร MBA เมษายน 2510)

วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ฝันถึงบางกอกยูโทเปีย ตอนที่ 1

ฝันถึง “บางกอกยูโทเปีย”
-บนรถเมล์สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาด (ตอน 1)

โดย เดฟ นาพญา




ผู้เขียนเตรียมตัวนานเดือน เพื่อการเดินทางสั้น ๆ ภายในหนึ่งวันเที่ยวนี้ บางทีก็เกิดความรู้สึกอย่างออกจะดัดจริตว่า ไปปารีสยังไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับที่ได้มานั่งรถเมล์สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาดครั้งนี้ สำหรับคนที่นั่งรถเมล์สายนั้นประจำทุกวัน ความรู้สึกทำนองดังกล่าวของผู้เขียนจะต้องน่าหมั่นไส้ แต่สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่ามีความรู้สึกจริง ๆ แฝงอยู่ไม่น้อย เพราะว่าช่วงของชีวิตระยะหลัง ๆ ผู้เขียนรู้สึกคุ้นเคยกับระบบขนส่งมวลชนในกรุงปารีสมากกว่าในกรุงเทพฯ พูดอย่างนี้ใครจะนึกว่ากวนโอ๊ยก็ยอม เราไม่ว่ากัน มีเหตุผลเยอะแยะว่าทำไมจึงได้รู้สึกอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ตามจริงนั้นใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯนานปีกว่าปารีส มากมาย


เพื่อที่จะเขียนถึงรถเมล์สาย 2 อุปกรณ์สำคัญในการทำงานไม่ใช่ปากกา แต่เป็นกล้องวีดีโอดิจิทัลที่ชาร์จแบตเตอรี่ไว้ตลอดคืน ภาพที่บันทึกได้จะช่วยงานเขียนในวันหน้า วันทำงานชิ้นนี้ผู้เขียนออกเดินทางแต่เช้ามืดด้วยรถแท็กซี่ จากที่พักชานกรุงซึ่งอยู่มุมเมืองด้านหนึ่ง ไปยังมุมเมืองอีกด้านหนึ่งที่สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นต้นสายรถเมล์สาย 2 อันเก่าแก่ ก่อนหน้านี้เคยมีรถปอ.2 อันเป็นรถเมล์ปรับอากาศสีน้ำเงินขาววิ่งอยู่ด้วย บัดนี้ปอ.2 ถูกยกเลิกแล้ว ชาวบ้านบอกว่าต้นสายรถเมล์อยู่เลย “อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร” ไปเล็กน้อย เช้ามืดวันนั้นการจราจรเบาบาง...

ไปถึงต้นสายรถเมล์ที่สำโรงเวลายังเช้ามาก ที่บ้านอำเภอหลังสวนเรียกเวลายามเช้าขนาดนี้ว่าเวลา “หัวรุ่ง” เห็นพระสงฆ์เดินบิณฑบาตอย่างสงบสำรวมอยู่ไม่ไกลนัก ผู้เขียนหันกล้องไปบันทึกภาพนั้นไว้ อันเป็นภาพที่ทำให้คนรู้ทันทีที่เห็นว่านี่คือกรุงเทพฯแน่เลย ไม่ใช่ปารีสหรือบอร์โดส์หรือชิคาโกหรือบรัสเซลส์ เมืองใหญ่อีกสี่เมืองที่ผู้เขียนพอจะคุ้นเคยอยู่บ้าง ยามเช้าตรู่ บรรยากาศของกรุงเทพฯอ่อนโยนมิใช่น้อย...(เนื้อเต็มจะตีพิมพ์ในนิตยสาร MBA มีนาคม 2510)