"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ฤาโลกจะทรุด สุนามิถล่มกรุงลิสบอน ปี 1755



ฤๅโลกจะทรุด?
โดย แดง ใบเล่

จำได้ว่าหลังวันคริสต์มาส 2547 มีกิจธุระมาพักอยู่ชานกรุงด้านตะวันออก แถวบางนา ใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงวิทยาเขตบางนา ช่วงบ่าย ๆ ในล็อบบี้โรงแรมโนโวเตลที่พำนัก เสียงผู้คนพูดกันฮือฮาเรื่องเกิดคลื่นยักษ์ถล่มแถวภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามัน คนที่ยังไม่ได้ชมข่าวต่างก็ฟังเรื่องราวจากปากของแขกโรงแรมและพนักงาน คาดเดากันไปต่าง ๆ นานา ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ ผู้เขียนซึ่งมีชีวิตปกติไปมาอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล โดยที่ฝั่งอ่าวไทยอยู่ห่างจากบ้านประมาณเจ็ดกิโลเมตร ส่วนฝั่งทะเลอันดามันอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 50 กิโลเมตร ที่ฝั่งอันดามันมีบ้านน้าอยู่ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง และบ้านเพื่อนอยู่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

เพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเกาะอยู่กลางทะเล สมัยเด็กเพื่อนโม้ให้ฟังว่าที่เกาะนั้น ถึงหน้าลมสลาตันบางทีคลื่นใหญ่มากสูงเท่ายอดมะพร้าว โถมขึ้นมาจากทะเล ผู้เขียนถามว่ามันไม่กวาดไปหมดเกาะเลยหรือ แล้วเอ็งมาเล่าเรื่องนี้อยู่ได้อย่างไร เอ็งก็น่าจะไปกับคลื่นเรียบร้อยแล้ว เพื่อนมันหัวเราะ มันบอกว่าบ้านมันอยู่บนเนินสูง(ขี้โม้) ในฤดูคลื่นลมสงบผู้เขียนเคยเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนบนเกาะ แล้วจากนั้นก็ได้อาศัยเรือเดินทะเลลำน้อย สร้างด้วยไม้ทั้งลำ เดินทางจากเกาะซึ่งอยู่ในอ่าวไทยเข้ากรุงเทพฯ เดินทางมาสองวันสองคืน ถึงสมุทรปราการเรือก็เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้เขียนขึ้นฝั่งแถวทรงวาดหรือราชวงศ์ ประมาณนั้น ระหว่างการเดินทาง ยามคลื่นลมสงบทะเลช่างสวยงามดีจริง ๆ กลางคืนดาวเต็มฟ้า กลุ่มดาวที่ตัวเองรู้จักมาแต่เด็กเพราะผู้ใหญ่สอนให้ดู คือ ดาวลูกไก่ ดาวจระเข้ และดาวว่าวปักเป้า ขึ้นให้เห็นหมดและก็ได้เห็นดาวจระเข้หันหางขึ้นกลางหาวด้วย...ดาวที่ไม่ได้เห็นคือดาวจุฬามณี ที่เปล่งแสงอัญมณีมาจากยอดเจดีย์วัดจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเดียวบนสวรรค์ที่มนุษย์โลกสามารถแลเห็นได้ด้วยตาเปล่า (นอกนั้นจะเห็นได้ก็ ด้วยใจ เท่านั้น)

วันหลังวันคริสต์มาส 2547 ที่ล็อบบี้โรงแรมโนโวเตล บางนา ผู้เขียนก็นึกเดาเอาว่าคงจะเป็นเรื่องของคลื่นยักษ์ธรรมดาที่มีสิทธิมาได้กับลมสลาตันปลายฤดู เพียงแต่ว่าลมอาจจะแรงหน่อยและคลื่นก็เลยใหญ่กว่าธรรมดาสักนิด คิดได้ดังนั้นก็สั่งไวน์แดงมาดื่มแก้วหนึ่งเพื่อดัดจริตให้เกิดความครื้มอกครื้มใจ ค่ำวันนั้นได้ชมรายละเอียดของข่าวคลื่นยักษ์ทางโทรทัศน์ฝรั่งเศสผ่านดาวเทียม ยังจำได้ว่าผู้ประกาศรายงานข่าวเรื่องสึนามิที่เกิดขึ้นว่า “เป็นอุบัติการณ์ระดับพิภพ” เขาใช้สำนวนว่า “à l’échelle planétaire” (planetary level) ก็รู้สึกเย็นไขสันหลังเล็กน้อย แต่ด้วยไวน์แดงอีกหนึ่งแก้วก็สามารถกลับจริตจนเคลิ้ม ๆ ไปได้ และเมื่อหลังสงกรานต์ปี 2551 นี้เอง ที่องค์การอุตุนิยมอเมริกัน (The National Oceanic and Atmospheric Administration –NOAA) ได้สร้างภาพเคลื่อนไหวเป็นไฟล์ความจุสูง (6.6 MB เพราะว่าเมื่อปี 2548 เขาเคยโพสต์ไฟล์ขนาดเล็ก 2.8 MB มาก่อน) แสดงให้เห็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวใต้ทะลที่สุมาตรา เกิดสึนามิ “ระดับพื้นพิภพ” แผ่ขยายไปทุกท้องสมุทร์ของโลก ไฟล์นี้ถูกโพสต์ไว้ใหม่ ๆ ในเครือข่ายใยแมงมุมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 นี่เอง นับได้ประมาณสามปีเศษหลังเหตุการณ์ ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวจะน่าดูน่าชมสำหรับท่านที่สนใจ เขาทำนาฬิกาวิ่งให้ดูด้วยว่า คลื่นเดินทางไปถึงไหนเมื่อเวลาผ่านไปเท่าไร คลิ้กชมได้ที่ http://nctr.pmel.noaa.gov/animations/Sumatra2004-cmoore.mov คลิกแล้วบางทีหน้าจออาจเตือนว่า อาจมีไวรัส จะโหลดเปล่า? ให้คลิ้กโอเคไปเลย...ยอมรับไวรัสทุกรูปแบบ แป้ปเดียวจะขึ้นไฟล์ฉายด้วยควิกไทม์นะครับ ถ้าไม่มีควิกไทม์ก็อาจจะดูไม่ได้ก็ได้นะ

คลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทร์อินเดียคร่าชีวิตคนไปราว 230,000 ชีวิต รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวยุโรปนับพันคนที่มาผึ่งแดดแถวจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ แรก ๆ ก็ประกาศจำนวนคนตายนับร้อย ต่อมาขยับขึ้นเป็นนับพัน และต่อมาอีกก็ขยับเป็นเลขหมื่น ในที่สุดก็จบลงด้วยตัวเลขสองแสนเศษดังว่า ซึ่งก็เป็นตัวเลขประมาณการ วันที่ 3 พฤษภาคม 2551 นี้ พายุนาร์กิสถล่มดินแดนลุ่มน้ำปากแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพม่า แรก ๆ ประกาศกันว่ามีคนตายนับร้อย ต่อมาขยับขึ้นเป็นนับพัน และนับหมื่นในไม่ช้า ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้แหล่งข่าวบางแหล่งเล่นตัวเลขขึ้นเป็นเรือนแสนแล้ว อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมาที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน 12 พฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จำนวนคนตายขณะนี้นับกันเป็นเรือนหมื่น คาดว่าจะเป็นหลายหมื่นในไม่ช้า ขณะที่กำลังเขียนนี้ตัวเลขขยับเป็นครึ่งแสนแล้ว โศกนาฏกรรมสำหรับคนผู้สูญเสียด้วยธรณีวิบัติและวารีวิบัติคงจะประมาณกันไม่ได้ และผู้เขียนขออนุญาตท่านผู้อ่าน ซึ่งแม้ท่านไม่อนุญาตก็จะดื้อทำ คือจะขอละเว้นเรื่องการเมือง อันเป็นโศกนาฏกรรมที่มนุษย์ก่อกรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองซึ่งตามมาหลังเหตุการณ์ธรณีวิบัติ วายุวิบัติ และวารีวิบัติ จะเห็นว่าในขณะที่ผู้นำและรัฐบาลจีนเอาใจใส่ต่อประชาชนผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง แต่ผู้นำและรัฐบาลพม่ากลับเมินเฉยทำตัวเป็น uncaring government นี่ใช้คำอย่างสุภาพที่สุดเท่าที่จะคั้นและคัดออกมาได้ (เพราะโดยสันดานแล้ว ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนสุภาพแต่ประการใด)

ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่ประทับใจกับแผ่นดินพม่า เคยเดินทางไปท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง ขับรถไปไหนมาไหนได้เองในกรุงย่างกุ้งสมัยที่ยังไม่ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอยู่ที่ “jungle capital” ทางเหนือขึ้นไป และเช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนเวลาไปเมืองพุกาม พอตกเย็นผู้เขียนก็จะปีนขึ้นไปนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินในคุ้งน้ำอิระวดีบนเทเรซของพระเจดีย์ “สรรพพัญญู”(Thatbyinnyu) และเช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนที่เวลาไปหงสาวดีก็จะไปนมัสการพระธาตุมุตาว(ชเวเมาดอ)ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวังที่สมเด็จพระนเรศวรเคยถูกกักไว้เป็นตัวประกัน เช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนอีกเหมือนกันที่ถ้าเขามีกลองยาวกันที่วัดพระธาตุ ผู้เขียนก็จะไปชม ในแม่น้ำอิระวดีตอนกลางของพม่าเหนือขึ้นไปจากย่างกุ้งราว 700 กิโลเมตร แม่น้ำกว้างใหญ่ดุจทะเลสาบน้อย ๆ ในน้ำมีปลาเข้แบบเดียวกับที่มีในแม่น้ำโขง เนื้อเหลืองเหมือนทาขมิ้น ซึ่งผู้เขียนก็เหมือนกับคนอื่นหลาย ๆ คนที่ชอบกิน ก็จะไปหาปลาเข้มากิน และทุกครั้งที่ไปพม่าก็จะเข้าประเทศทางเมืองย่างกุ้ง ซึ่งทุกครั้งผู้เขียนก็จะไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง นั่งพิงเสาศาลารายบนลานพระเจดีย์ แหงนหน้าชมฉัตรบนยอดพระเจดีย์ที่พระเจ้ามังระสร้างเป็นเจดีย์บูชา ตามข่าวลือบอกว่าเงินทองของมีค่าประดับฉัตรนั้น ได้ไปจากกรุงศรีอยุธยา...

พม่าประสบธรณีพิบัติมากกว่าเมืองไทยเยอะ เช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนที่ไปนมัสการพระธาตุมุตาวที่หงสาวดีซึ่งใหญ่ไม่แพ้พระปฐมเจดีย์ ผู้เขียนก็ย่อมได้เห็นยอดเจดีย์เก่าขนาดมหึมาของพระธาตุ หักปักจมธรณีอยู่บนลานพระเจดีย์นั่นเอง...ฝีมือแผ่นดินไหวในอดีต! พม่ามีบ่อน้ำมันบนบกซึ่งคงจะเป็นสายเดียวกับบ่อน้ำมันอำเภอฝางในเมืองไทย เพราะฉะนั้น ผู้เขียนก็เป็นเช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนที่เคยอ่านพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช คือเราทราบว่า สงครามแย่งบ่อน้ำมันแบบที่อเมริกันทำในอิรัค หรืออิรัคทำกับคูเวต ก็เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินพม่าในอดีตตามที่พงศาวดารมอญเล่าไว้เรื่องการวิวาทกันเพื่อแย่ง “บ่อน้ำมันดิน”

ธรณีวิบัติ วายุวิบัติ และวารีวิบัติที่เรารับรู้กันในเวลานี้นั้น ไม่ใช่เรื่องผูกขาดของโลกตะวันออก มันบ่แน่ดอกนาย ในอู่อารยธรรมตะวันตกนั้นก็เคยพบกับเรื่องแบบนี้มา เช่น เรื่องเมืองปอมเปอีและเมืองใกล้เคียงถูกเถ้าถ่านภูเขาไฟฝังทั้งเป็นทั้งเมือง หรือก่อนนั้นก็เป็นเรื่องประภาคารแห่งอะเล็กซานเดรียถล่มจมทะเล ผู้เขียนก็เช่นเดียวกับคนอื่นอีกหลาย ๆ คนที่เคยไปชมปอมเปอีมาแล้วและนึกอยากจะไปชมอีกเพราะทางการอิตาลีเพิ่งจะจัดพิพิธภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับปอมเปอี แต่เรื่องของปอมเปอีเป็นเรื่องเก่ามาก ปอมเปอีไม่ใช่กรุงโรมแต่เป็นเมืองเล็ก ๆ ดังนั้น เรื่องของปอมเปอีจึงดูเหมือนจะไม่มีร่องรอย “สึนามิทางวัฒนธรรม” กระทบถึงใครสักคนในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคนตะวันตกหรือคนตะวันออก หรือชาวโลกาภิวัตน์ธรรมดา ๆ ผู้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นคนอะไร

แล้วธรณีพิบัติเหตุการณ์ใดในยุโรป ที่มีผลเป็น “สึนามิทางวัฒนธรรม” ตกทอดถึงผู้คนจำนวนมากจำนวนหนึ่ง ในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน?

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา และตรงกับต้นรัชกาลอะลองพญาในพม่าซึ่งเมื่อสองปีก่อนนั้นก็ได้ยกทัพไป “ปลดปล่อย” รัฐไทยใหญ่ได้สำเร็จ ระหว่างนั้นอะลองพญาทำสงครามปลดปล่อยนั่นปลดปล่อยนี่โดยตลอด (พูดให้ทันสมัย) เช่น พ.ศ. 2299 ปลดปล่อยพม่าตอนล่างรวมทั้งบริเวณปากน้ำอิระวดีที่กำลังประสบภัยพายุนาร์กิสอยู่นี้ พ.ศ. 2300 ปลดปล่อยมณีปุระ พ.ศ. 2301 ปลดปล่อยหงสาวดี พอถึงพ.ศ. 2303 อะลองพญาก็ยกกองทัพจะมา “ปลดปล่อย” กรุงศรีอยุธยา ระหว่างล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ท่านก็ยิงปืนใหญ่ด้วยตนเอง เป็นคนเอาจริงเอาจังและขยันขนาดนั้น ปืนระเบิดใส่เข้าให้ อาการปางตายก็เลยต้องถอยทัพกลับไป สิ้นชีวิตระหว่างทางในเมืองไทย แต่พวกบิ๊ก ๆ ในกองทัพพม่าพากันปิดข่าว ยกศพท่านขึ้นนั่งทำเป็นวับ ๆ แวม ๆ ให้ไพร่พลนึกว่าอะลองพญายังเป็น ๆ อยู่ จนกระทั่งยกทัพกลับถึงเขตพม่า ไพร่พลถึงได้รู้ว่าอะลองพญาเดินทางกลับมากับกองทัพโดยประทับอยู่ใน “เดดโหมด”(dead mode) ตลอดเลยอ่ะ...

เช้าตรู่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 ณ กรุงลิสบอนน์ ประเทศโปรตุเกส ตรงกับต้นรัชกาลอะลองพญาในพม่า และตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา กรุงลิสบอนน์เวลานั้นคือมหานครใหญ่โตที่สุดนครหนึ่งในยุโรป เป็นเมืองหลวงอาณาจักรริมทะเลที่กว้างใหญ่สุดลูกตากว่าคาร์เธจ ซึ่งเคยแจวเรือ(เรือแจวขนาดใหญ่ชนิดใช้ทาสนับร้อยช่วยกันแจว)และขี่ช้างสร้างอาณานิคมอยู่รอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่โปรตุเกสชักใบแล่นเรือไปสร้างอาณานิคมชายฝั่งแทบจะทุกย่านสมุทร์ ถึงเวลานั้นคือพ.ศ. 2298 ก็ล่วงพ้นยุครวยเครื่องเทศจากอินเดียและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกอันเป็นสินค้าแบรนด์เก่ากันมาแล้ว อีกนัยหนึ่งพ้นยุคร่ำรวยด้วยเครื่องปรุงดับกลิ่นเนื้อเน่า พูดอีกแบบว่ารวยของคาว สมัยใหม่ (หมายถึงสมัยนั้นหรือพ.ศ. 2298) มีสินค้าตัวใหม่ คือ น้ำตาลกับกาแฟ ซึ่งโปรตุเกสล้อนช์สินค้าตัวใหม่ที่มีอยู่มหาศาลจากอาณานิคมบราซิลเข้ามาในยุโรป อีกนัยหนึ่งรวยด้วยกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟและความหวานจากน้ำตาลอ้อย พูดอีกแบบว่ารวยของหวาน แถมยังพบเหมืองทองในบราซิลอีกต่างหาก เป็นทองจริงที่ไม่ต้องไปค้าไปขายสิ่งอื่นแล้วเอากำไรมาแปลงเป็นทองคำ เงินทองไหลมาเทมาเพราะปล้นมาได้ตามอำเภอใจ นึกอยากจะหยิบอะไรก็หยิบ...ประมาณนั้น

เช้าตรู่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2298 (ค.ศ.1755) เป็นวันนักขัตฤกษ์ตามคติคาธอลิคเรียกว่า “วันนักบุญทั้งปวง”(Todos Los Santos) เทียบอย่างหยาบแบบคร่าว ๆ ได้กับวันเช็งเม้งหรือวันบุญเดือนสิบทางปักษ์ใต้ พระราชาแห่งโปรตุเกสเวลานั้นคือ พระเจ้าโฮเซ่ ที่ 1 นำพระราชวงศ์ร่วมพิธีมิซซาแต่เช้ามืด เสด็จออกจากพระราชวัง ปาลาซิโอ เด ริไบรา อันสง่างามริมฝั่งน้ำตากุส วังนั้นทำหน้าที่เป็นที่ประทับพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสมานานกว่า 200 ปีก่อนนั้น คือนับตั้งแต่ปีค.ศ.1511 เรื่อยมาจนตลอดยุคการเริ่มเดินทางค้นหาและจัดตั้งอาณานิคมโพ้นทะเล ท้องพระคลังเก็บทรัพย์สมบัติประมาณค่ามิได้ หอสมุดหลวงอันมีชื่อเสียงก้องยุโรป เก็บเอกสารการเดินเรืออันหาค่ามิได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งบันทึกการเดินทางของ วาสโก ดา กามา และของนักผจญภัยคนอื่น ๆ โรงโอเปร่าที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ชื่อ Phoenix Opera ตั้งอยู่ใกล้พระราชวัง เช้าตรู่วันเทศกาลนักบุญทั้งปวงครั้นเสร็จพิธีมิซซาแล้ว พระราชวงศ์ออกจากกรุงลิสบอนเพื่อแปรราชสถานยังชนบทนอกกรุง โดยมิได้เฉลียวใจว่าขากลับมานั้น จะไม่ได้เห็นพระราชวัง ปาลาซิโอ เด ริไบรา กันอีกเลย

เพราะว่าช่วงสาย เวลาประมาณ 09.40 นาฬิกา นครใหญ่และรุ่มรวยเลื่องลือของยุโรปพังพินาศสันตะโรราบเป็นหน้ากลอง เมืองพินาศไปราว 90% ผู้คนล้มหายตายจากไปประมาณครึ่งเมือง พระราชวัง ปาลาซิโอ เด ริไบรา หายไปทั้งวัง โรงโอเปร่าฟินิกซ์ก็หายไปด้วย เพิ่งจะขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็นพระราชวังกันเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ทั้งนี้เพราะเกิดธรณีวิบัติในมหาสมุทร์แอตแลนติคห่างออกไปราว 200 กิโลเมตร ประมาณว่าสั่นสะเทือนราว 9 สเกลริคเตอร์ ก่อให้เกิดวารีวิบัติเป็นคลื่นยักษ์โถมเข้าถล่มกรุงลิสบอนน์ ถึงสามระลอกยักษ์ กำแพงน้ำสูงประมาณ 30 ถึง 50 เมตร ด้วยความตระหนกตกใจกับคลื่นยักษ์ระลอกแรกผู้คนบางส่วนแตกตื่นขึ้นเรือเท่าที่หาได้ ประสงค์จะหนีออกทางทะเล แต่ออกจากชายฝั่งไปได้ไม่ไกล คลื่นยักษ์ลูกที่สองก็ทะมึนมาแต่ไกล มากวาดเรือเหล่านั้นไปในกำแพงน้ำและเข้าถล่มกรุงลิสบอนซ้ำสอง ต่อมาไม่นานคลื่นยักษ์ลูกที่สามก็ตามมา หลังจากนั้นก็เกิดอัคคีวิบัติไฟไหม้เมืองทั้งเมือง ลิสบอนน์กลายเป็นเมือง “อกแตก” อย่างแท้จริง กล่าวคือในใจกลางเมืองแผ่นดินร้าวแยกออกเป็นทางยาว รอยแตกนั้นกว้างประมาณ 5 เมตร

พระราชาไร้พระราชวัง ต้องกางเต็นท์อยู่นอกเมือง และโปรตุเกสต้องสร้างกรุงลิสบอนน์ขึ้นมาใหม่ ผู้เขียนไปโปรตุเกสครั้งแรกในปี 2529 ปีที่สหภาพยุโรปรับโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิก อีกนัยหนึ่ง 221 ปีหลังเกิดธรณีวิบัติและวารีวิบัติครั้งใหญ่ ที่ระบุจำนวนปีมานี้เพื่อจะเรียนท่านผู้อ่านว่า สองร้อยปีเศษผ่านไปแล้วร่องรอยของกรณีวิบัติก็ยังมีให้เห็น กล่าวคือ ผู้เขียนรู้สึกแตะตากับกระเบื้องปูฝาผนังสีขาวมีลายสีน้ำเงิน พบเห็นตามอาคารเก่า ๆ เยอะมากและดูเหมือน ๆ กันหมด มัคคุเทศอธิบายให้ฟังว่าหลังธรณีวิบัติครั้งนั้นการสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมาใหม่ทำกันอย่างเร่งรีบ อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านทั่วไปก็จะใช้กระเบื้องชนิดนี้ที่ผลิตขึ้นมาเหมือน ๆ กันและผลิตทีละมาก ๆ เป็นกระเบื้องสีขาวลายน้ำเงินที่เห็นอยู่อย่างดาดดื่นนั่นเอง

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้การขยายดินแดนของโปรตุเกสสะดุดหยุดลง และเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบเป็น “สึนามิทางวัฒนธรรม” ทั่วยุโรปจนตลอดศตวรรษที่ 18 บรรดา “ครู” และผู้นำทางปัญญาทั้งหลายซึ่งกำลังตั้งคำถามเอากับความคิดความเชื่อดั้งเดิมกันอยู่แล้วนั้น ถูกสึนามิทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ มาเร่งให้หาข้อสรุปต่อยอดความคิดความอ่านของตน ไม่ว่าจะเป็นวอลแตร์ หรือฌัง-จาค รุสโซ หรือคนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นเยอรมัน อังกฤษ และอิตาลี โดยบุคคลโดดเด่นที่น่าสนใจที่สุดซึ่งได้หยิบยกเรื่องคลื่นยักษ์ถล่มลิสบอนน์มาเป็นอุทาหรณ์โดยตรงในเนื้อหางานของตนได้แก่ วอลแตร์ ซึ่งเสนอหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งชื่อว่า “ก็องดีด” มีเนื้อหาคล้าย ๆ กับจะต่อต้านแนวคิดปรัชญาแบบมองโลกในแง่ดีตะพึดที่ “ครู”รุ่นก่อนท่านหนึ่งคือ ไลบ์นิซ ได้เทศนาไว้ ปัจจุบันนี้หนังสือ “ก็องดีด” เป็นงานเล่มที่ทำให้คนรู้จักกันวอลแตร์กันมากที่สุด

บุคคลที่แนะนำให้ผู้เขียน(และศิษย์ทั้งหลายของท่าน)ได้รู้จัก “ก็องดีด” คือ อาจารย์มัทนี รัตนิน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในวัยเยาว์นั้นผู้เขียนได้อ่าน “ก็องดีด” ในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านแล้วก็ไม่ใคร่จะเข้าใจอะไรสักเท่าไร รู้แต่ว่าตัวละครทำนั่นทำนี่ ไปนี่มานั่น อ่านเหมือนนิยายผจญภัย...ประมาณนั้น ต่อมาเมื่อไปเรียนหนังสือในฝรั่งเศสและภาษาฝรั่งเศสใช้การได้ดีขึ้น ก็ได้อ่านต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ก็เริ่มเข้าใจเนื้อหามากขึ้นกว่าที่อ่านครั้งแรก ครั้นหลายปีผ่านไปหยิบฉบับภาษาฝรั่งเศสขึ้นมาอ่านใหม่เป็นการอ่านครั้งที่สาม เที่ยวนี้จึงเริ่ม “get” ว่าจริง ๆ แล้วหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร แต่ก็ยังไม่เข้าใจเจตนาของท่านผู้เขียนและไม่เข้าใจเนื้อหาทะลุปรุโปร่ง ครั้นเวลาผ่านไปจนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน หลังจากนั้นได้หยิบงานเล่มนั้นขึ้นมาศึกษาใหม่อีกรอบ เที่ยวนี้รู้สึกภูมิใจและแสดงความยินดีกับตัวเอง (อาจจะกำลังสำคัญตนผิดก็ได้) ว่า “ฉันรู้แล้วล่ะ”
ผู้เขียนรู้สึกเสียวใส้ว่า นี่ถ้าไม่เกิดคลื่นยักษ์เข้าขย่มชายฝั่งอันดามัน ผู้เขียนคงจะไม่สามารถอ่านหนังสือเล่มนั้นจนแตกได้ภายในชาตินี้...

ท่านผู้อ่าน พลอยรู้สึกเสียวใส้ไปด้วยกับผู้เขียนมั๊ยครับ?

ตีพิมพ์ในนิตยสารเอ็มบีเอ ฉบับกรกฎาคม 2008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น