"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โพสต์ที่ 2/2 บทสรุป พลังงานนิวเคลียร์ต้นทุนต่ำ เพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

บทสรุป ทั้งบท ในต้นฉบับหนังสือแปล "พลังงานนิวเคลียร์"
แปลจาก Nuclear Energy Now
ปรีชา ทิวะหุต แปล

พลังงานนิวเคลียร์: ต้นทุนต่ำเพื่อความมั่นคงของสหรัฐ


คงจะไม่หวังสูงเกินไป ว่าลูกหลานของเรา จะมีความสุขอยู่กับบ้าน ที่พลังงานไฟฟ้า ถูกเสียจนไม่คุ้ม ที่จะติดมาตรวัด แล้วรับรู้เรื่องความอดอยากหิวโหยตามภาคส่วนของโลก เพียงตำนานในอดีต จะเดินทางอย่างสุขสบาย ข้ามขอบฟ้ามหาสมุทร์ หรือแม้ใต้ท้องทะเล อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว แล้วจะมีอายุขัยยืนยาว กว่าช่วงอายุของเรา เมื่อโรคาพยาธิถูกปราบราบคาบ และมนุษย์เริ่มรู้เหตุ แห่งความแก่เฒ่า

-- ลิววิส แอล. สเตราส์ ประธานคณะกรรมการพลังงานอะตอม กล่าวต่อสมาคมนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์แห่งชาติ นครนิวยอร์ค 16 กันยายน 1954


นัยยะ แฝงในคำปราศรัยของนายลิววิส สเตราส์ นั้น หมายถึงจุติกาลของพลังงานปรมาณู แต่บัดนี้ทราบกันทั่วไปแล้วว่ากระแสไฟฟ้าไม่ได้พัฒนามาถึงจุดได้เปล่า กาลเวลาผ่านไปใบเสร็จค่าไฟฟ้ากลับสูงขึ้น แม้ว่ากฎระเบียบกำกับดูแลจะลดทอนผ่อนคลายลง ราคาค่าไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลหนึ่งเรื่องต้นทุนค่าเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงขึ้น ราคาเชื้อเพลิงที่สูงมากขึ้นนั้น ทำให้ทางเลือกนิวเคลียร์เป็นเรื่องน่าคิดยิ่งกว่าแต่ก่อน

บันทึกประวัติการดำเนินงานโรงไฟฟ้าปรมาณูกว่า 30 ปี ได้พิสูจน์ไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ถึงความเหมาะสมเชิงเศรษฐกิจของพลังงานชนิดนี้ ชี้ให้เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์มีข้อดีเชิงเศรษฐกิจมากกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงทางเลือกทั้งหลาย(alternative fuel sources)อย่างไรบ้าง จุดเด่นในการดำเนินงานพลังงานนิวเคลียร์ ก็คือต้นทุนต่ำเพราะใช้ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งดึงให้ค่าใช้จ่ายรวมในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำลงด้วย ถ้าจะเทียบเฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงอย่างเดียว พลังงานนิวเคลียร์ก็เทียบสู้ได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ราคาถูกที่สุด และโครงสร้างต้นทุนจะละม้ายไฟฟ้าพลังน้ำและคล้ายกับพลังงานทางเลือกหลายชนิด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิงเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้ยูเรเนียม ค่าเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เนื่องจากวัฎจักรชีวิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำเหมืองถ่านหินหรือกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน อีกทั้งเชื้อเพลิงชนิดนี้ก็ไม่มีผู้อุปโภคปลายทางอื่นใดมาแย่งใช้ พลังงานนิวเคลียร์จึงเสนอทางเลือกที่น่าใส่ใจ เพราะไม่ต้องพะวงกับภาวะตลาดขึ้นลงอย่างน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการตั้งราคาเป็นเนื้อข่าวในสื่อมวลชนและผันผวนตามภาวะอากาศกับสถานการณ์ด้านภูมิศาสตร์การเมือง

ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีปรมาณูได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยลำดับ ความรู้ที่สะสมจากการดำเนินโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างประสบความสำเร็จในทวีปอเมริกาเหนือ มีอยู่ถึงขนาดที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าชนิดเดียวซึ่งพร้อมใช้และถูกใช้กันมากที่สุด ต้นทุนการดำเนินงานก็ดีขึ้นตามวัฏจักรชีวิตเชื้อเพลิงแต่ละรอบ ทั้งนี้ก็ด้วย เทคนิคที่ดีกว่าเดิมอันได้พัฒนาขึ้นมาใช้กัน ขณะที่ไม่มีโรงไฟฟ้าปรมาณูสร้างใหม่ในสหรัฐมานับแต่ปี 1996 แต่ว่าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานอยู่แล้วนั้น ก็ได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งที่ทำไปเพื่อขยายขนาดกำลังการผลิตและเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง ให้เป็นหลักประกันได้ว่าจะสามารถเดินเครื่องได้จนตลอดอายุใบอนุญาตระยะเวลา 40 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น

การผ่อนคลายเรื่องกฎระเบียบและการผนวกรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์สหรัฐ มีผลช่วยลดต้นทุนลงอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่งด้วยการขยายเครือข่ายโรงงานของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งช่วยลดกำลังคนลง กับทำให้ได้พึ่งพาอาศัยความรู้จากฐานเดียวกัน ประสบการณ์ดังกล่าวก็ได้แบ่งปันกันระหว่างนานาชาติด้วย การปรับปรุงภายในภาคอุตสาหกรรมนี้ให้ดีขึ้นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะได้เป็นน้ำหนักถ่วงกับต้นทุนจม หรือต้นทุนทางการเงินที่เรียกว่า “ต้นทุนสร้างเสร็จชั่วข้ามคืน”(“overnight” financing costs)ที่เกิดขึ้นเมื่อสร้างโรงงานระหว่างทศวรรษ 1960s และ 1970s ในช่วงเวลานั้น แบบโรงงานที่แตกต่างหลากหลาย ความล่าช้าในการก่อสร้างเพราะประเทศกำลังทบทวนเรื่องการเติบโตของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานใหม่ชนิดนี้ ทำให้ต้นทุนด้านการเงินและต้นทุนการก่อสร้างทะยานสูงขึ้น แต่สภาพต้นทุนสูงก็ถูกถ่วงดุลด้วยราคาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ซื้อขายล่วงหน้าที่ถูกกว่า อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ไม่เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างความรู้สึกขึ้นมาในใจคนว่า เป็นสิ่งก่อสร้างราคาแพงเกินไปที่จะสร้าง และยากที่จะคืนทุนเริ่มต้นซึ่งมีลักษณะบานปลายได้

ครั้นต่อมา เมื่อโรงไฟฟ้าปรมาณูสามารถจ่ายคืนราคาค่าสร้างได้ และปรับปรุงการดำเนินให้ดีขึ้น(ด้วยการยกเลิกหรือปลดระวางโครงการที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน) เมื่อนั้นสมรรถนะการแข่งขังเชิงเศรษฐกิจของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงได้ปรากฏให้เห็น ถ้าเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ สถานะทางการเงินของนิวเคลียร์จะได้เปรียบ บัดนี้ ขณะที่สหรัฐกำลังพิจารณาทบทวนบทบาทของการผลิตกระแสไฟฟ้าในภาวะที่ราคาน้ำมันกับราคาก๊าซธรรมชาติผันผวน รวมทั้งตระหนักถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์สู่บรรยากาศ การตั้งประเด็นแย้งโดยยกพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมา จึงฟังดูดีขึ้น เนื่องจากพลังงานปรมาณูแทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เลย

ค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้าเกิดจากอะไรบ้าง

ต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าที่มาถึงเคหะสถานผู้อุปโภคนั้นเป็นค่าเฉลี่ย สิ่งที่สะท้อนอยู่ในราคาไม่ใช่มีเฉพาะแต่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ยังรวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านการส่งจ่ายกระแสไฟและการจัดจำหน่ายจนถึงมือผู้อุปโภค รวมทั้งยังมีค่าภาษีมลรัฐและภาษีท้องถิ่นที่มีอัตราแตกต่างกันไป ในที่สุดแล้ว องค์ประกอบของต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สะท้อนอยู่ในใบเสร็จค่าไฟฟ้าของผู้อุปโภค ปรากฏตามแผ่นภาพ 6.1

Figure 6.1 Typical Residential Electricity………………………..
หมายเหตุ-ตารางทั้งหมด ไม่ได้นำมาเผยแพร่ที่นี่ ครับ ตารางจะมีอยู่ในหนังสือเท่านั้น แต่ที่นี่ จะมีชื่อตารางไว้ให้

ในมุมมองของแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ใบเสร็จค่ากระแสไฟฟ้าที่ผู้อุปโภคใช้ในเคหะสถาน กอร์ปด้วยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตมาจากหลาย ๆ แหล่ง ซึ่งผู้ให้บริการไฟฟ้าเจ้านั้นรับมาอีกต่อหนึ่ง เช่น กระแสไฟฟ้าผลิตจากเชื้อเพลิงต่างชนิด และกระแสไฟฟ้าที่ผู้ให้บริการนำเข้ามาจากระบบส่งจ่ายในเขตข้างเคียง การผลิตกระแสไฟฟ้าในฤดูหนาวมีต้นทุนสูงที่สุด สูงกว่าฤดูร้อน สะท้อนให้เห็นถึงราคาเชื้อเพลิงที่สูงในฤดูนั้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันกับราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งกำลังอยู่ในความต้องการในเวลานั้นเพื่อสร้างความอบอุ่นในที่อยู่อาศัย ตลาดซื้อขายเชื้อเพลิงสองชนิดนี้จึงตึงตัว ทำให้ราคาสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายการใช้กระแสไฟฟ้าในบ้านที่สูงขึ้นนี้ ได้ถูกถ่วงดุลลงแล้วด้วยการไม่เปิดเครื่องทำความเย็น อันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่กินไฟมากที่สุดจนตลอดฤดูหนาว สำหรับผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้ารายใดก็ตามที่ใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันเตา ต้นทุนของผู้ให้บริการรายนั้น ก็จะสูงกว่าต้นทุนกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศ ดังที่ชี้ชัดอยู่ในแผ่นภาพ 6.2 ส่วนผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้ารายใดที่มีการผสมผสานแหล่งกำเนิดกระแสไฟ ทั้งที่มาจากถ่านหิน พลังน้ำ หรือพลังนิวเคลียร์ ผู้ให้บริการรายนั้นจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

ราคาค่ากระแสไฟฟ้ามีลักษณะเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงด้านดีมานด์ การที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการ ล้วนยังผลให้

Figure 6.2 Estimated Average Revenue per………..

ค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผู้อุปโภคต้องจ่าย แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือชายฝั่งปาซิฟิคที่กำลังหลักของกระแสไฟฟ้าได้จากพลังน้ำ กระแสไฟฟ้าจึงมีราคาถูกกว่าภูมิภาคอื่น มลรัฐใดที่พึ่งกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินหรือนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตอนกลางประเทศด้านตะวันตก ก็จะมีราคาค่ากระแสไฟฟ้าค่อนข้างถูก ส่วนทางมลรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งใช้เชื้อเพลิงน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนสูง อัตราค่ากระแสไฟฟ้าถึงผู้ใช้รายย่อยก็จะสูงขึ้น บริบทดังกล่าวนี้ กำหนดเกณฑ์การอ้างอิงเพื่อนำไปพิจารณาคุณสมบัติของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตด้วยพลังปรมาณู

ผ่านยุคก่อร่างสร้างตัวที่ยืดระยะคร่อมทศวรรษที่ 1960s จนถึงทศวรรษ 1980s พลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนลดต่ำลงมาโดยตลอด ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานชนิดอื่น ๆ ต้นทุนเฉลี่ยของการดำเนินงานโรงไฟฟ้าปรมาณูในสหรัฐแบ่งออกตามต้นสองกลุ่มใหญ่นั้น แสดงไว้ในตาราง 6.1 ซึ่งใช้ตัวเลขสรุปรายปีในช่วงระยะ เวลา 25 ปี จากเลขระดับสูงช่วงต้นทศวรรษ 1980s จะพบว่าค่าใช้จ่ายรวมในการดำเนินงานลดลงมาเกือบครึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งวิวัฒนาการของวัฏจักรชีวิตเชื้อเพลิงและจากการปรับปรุงการจัดการโรงงาน หลังจากที่การก่อสร้างโรงงานใหม่ซึ่งส่วนมากสิ้นสุดลงตอนต้นทศวรรษ 1980s โดยมีระยะชะลอตัวอยู่ก่อนและอยู่หลังเหตุการณ์ทรี ไมล์ ไอส์แลนด์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ถูกปล่อยให้ดิ้นรนดำเนินงานเทคโนโลยีชนิดใหม่นี้เอาเอง โดยที่อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ การหาคนที่ผ่านการฝึกฝนอบรมอย่างพอเพียงมาทำงานกับเครื่องปฏิกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องตามกติกาการกำกับดูแลของภาครัฐ ที่มีวัตถุประสงค์จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านการดำเนินงานขึ้นอีกในอนาคต

ประเด็นนอกเหนือเรื่องเชื้อเพลิงข้อนี้ เรื้อรังมาแต่กลางทศวรรษ 1980s จนตลอดทศวรรษ 1990s ซึ่งรัฐบาลกลางได้พยายามจะลดทอนกฎระเบียบลง ตามพ.ร.บ.นโยบายการพลังงาน 1992 (the Federal Policy Act of 1992) และบังคับลงมากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ซึ่งยังเป็นกิจการชนิดเดียวที่ใช้เทคโนโลยีปรมาณู) การทอนกฎระเบียบลงนั้นได้บังคับว่า กิจการพลังงานจะต้องบริหารจัดการโรงงาน(โรงไฟฟ้าทุกชนิด)ให้มีประสิทธิภาพด้านต้นทุน มิฉะนั้นแล้ว จะให้ผู้ประกอบการใหม่ซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้ามาก่อนจะเข้ามายึดครองส่วนแบ่งตลาด เพื่อให้ได้ผลในประเด็นนี้เป็นการแน่นอน บางมลรัฐ(คาลิฟฟอร์เนียและมลรัฐนิวอิงแลนด์)ผู้ออกระเบียบไม่ให้ผู้ประกอบการมีทางเลือก แต่ได้สั่ง

Table 6.1 Average U.S. Electricity Production Costs……………………..

ให้ผู้ประกอบการพลังงานจำหน่ายถ่ายโอนกำลังการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลออกไปก่อนเป็นอย่างน้อย โดยที่ระหว่างนั้น ไฟฟ้านิวเคลียร์กับไฟฟ้าพลังน้ำดำเนินการได้โดยทางการมลรัฐไม่แทรกแซง
จากสภาพต้นทุนดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ลดลงตั้งแต่ปี 2003 จึงคาดว่าต้นทุนในอนาคตแม้ยังจะลดลงได้อีก แต่จะลดได้อีกเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ภาพรวมของต้นทุนลักษณะนี้บ่งว่า องค์ประกอบของต้นทุนส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับพื้นฐานของโรงงาน และพนักงานที่โรงงานต้องการให้มาทำงาน ประเด็นเรื่องเชื้อเพลิงมีความสำคัญรองลงมา โดยที่ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงคิดเป็นร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายรวมในการดำเนินงาน ในกาลข้างหน้าเมื่อการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการและการปรับปรุงตัวโรงงานเองดำเนินต่อไป ต้นทุนเฉลี่ยก็มีสิทธิจะลดลงได้อีก ต้นทุนเฉลี่ยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รวมทั้งประเทศจะดีขึ้นอีก เมื่อโรงงานเก่าถูกปลดระวาง และ โรงงานที่กำลังดำเนินงานอยู่มีการบำรุงรักษาได้ระดับ

เมื่อได้นิยามระดับต้นทุนเรียบร้อยแล้วเช่นนี้ ก็จะเริ่มเปรียบเทียบต้นทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดอื่นได้ แต่ก็ควรตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อนด้วยว่า เทคโนโลยีต่างชนิดถูกใช้ในลักษณะต่าง ๆ กันเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แม่ข่ายการส่งจ่าย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกใช้ในฐานะโรงจักรภาระฐาน(base-load operation)เพียงลักษณะเดียวเท่านั้น ซึ่งแปลว่าโรงไฟฟ้าโรงนั้นจะทำงานเต็มกำลังเกือบจะตลอดเวลา เว้นแต่เวลาหยุดเครื่องเพื่อเติมเชื้อเพลิงหรือเพื่อบำรุงรักษา เพราะฉะนั้น ต้นทุนโรงงานนิวเคลียร์ก็จะเทียบเคียงได้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีกังหันไอน้ำชนิดอื่น เช่น ไอน้ำจากเชื้อเพลิงถ่านหิน ไอน้ำจากเชื้อเพลิงน้ำมัน โรงไฟฟ้าพลังงานร่วมซึ่งส่วนมากได้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติโรงใหม่ ๆ ก็ถูกใช้งานในฐานะโรงจักรภาระฐานด้วยเช่นเดียวกันแต่ก็สามารถใช้เป็นโรงสำรองไว้สำหรับช่วงที่ความต้องการใช้น้อยก็ได้ เช่น ช่วงกลางคืนหรือในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น
ตามปกติการเปรียบเทียบต้นทุนพลังงาน ต้นทุนรวมทุกอย่าง(all-in costs)จะแยกออกเป็น (1) กระแสไฟฟ้า หมายถึงพลังงานที่ลูกค้ารายย่อยอุปโภค และ (2) กำลังการผลิต หมายถึงอุปกรณ์กายภาพทั้งหลายที่ก่อสร้างหรือติดตั้งเพื่อผลิตพลังงาน เราอาจเพิ่มต้นทุนชนิดที่สามเข้ามาด้วยเป็นต้นทุนภายนอก(externalities)ทั้งหลาย ซึ่งจะประกอบ ด้วย จุดสิ้นสุดที่ปลายทางของวงจรพลังงานแต่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเด็นนี้ประเด็นเดียว เช่น การกำจัดของเสีย การปลดระวางโรงงาน และอื่น ๆ ข้อสำคัญพึงพิจารณาอีกอย่างหนึ่งได้แก่การที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องนี้ตัดกันเป็นการตรงข้ามกับกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน และอยู่ในศูนย์กลางความสนใจของสังคมซึ่งกังวลเรื่องนี้ องค์ประกอบต้นทุนส่วนนี้ มีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกที เพราะว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เป็นปรากฏการณ์อันชัดแจ้ง ซึ่งโยงไปยังเรื่องภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ส่วนเรื่องที่ว่า จะขีดเส้นให้กับประเด็นหลังกันอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่

อย่างไรก็ดี ต้นทุนภายนอกเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดหมายกันได้ไม่ยาก หรือจะวัดกันเป็นรูปธรรมก็ไม่ยากเหมือนกัน ซึ่งเมื่อวัดออกมาแล้ว ก็สามารถจัดเป็นจำนวนหน่วยต่อเม็กกะวัตต์-ชั่วโมง ของพลังงานที่อุปโภค
ต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์

พยานหลักฐานชัดเจน ตรวจพิสูจน์ได้จากเอกสารต้นทุนพลังงานที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลระดับมลรัฐและระดับชาติ ปรากฏข้อเท็จจริงสอดคล้องกันว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในสหรัฐโดยส่วนมาก มีต้นทุนพอเทียบได้กับโรงงานไฟฟ้าถ่านหินชนิดที่ต้นทุนต่ำสุด สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ ระดับต้นทุนการผลิตปกติจะเท่ากับ 20 ดอลลาร์ต่อเม็กกะวัตต์-ชั่วโมง เพียงแต่องค์ประกอบของต้นทุนรวมต่างกัน องค์ประกอบสำคัญของต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้แก่ ค่าถ่านหิน ซึ่งพิจารณาในแง่การให้กำเนิดเนื้อพลังงานก็จะถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่น ๆ (เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) วัดเนื้อพลังงานเป็นหน่วยความร้อนอังกฤษ(Btu) เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลายมีระดับราคาผันผวนตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นพ้องต้องกันด้านตลาดว่า การคาดการณ์ระยะยาวจะต้องยึดราคาสูงไว้เป็นหลัก หากระดับราคาลดต่ำลง จะถือกันว่าเป็นข้อยกเว้นและจะกินระยะเวลาสั้น ๆ

กลับกัน สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์องค์ประกอบส่วนใหญ่ของต้นทุนรวมเป็นเรื่องต้นทุนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง คือ ต้นทุนการดำเนินงานที่มิใช่เชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ซึ่งส่วนสำคัญได้แก่ค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน กับ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้สอดคล้องตามกฎระเบียบซึ่งกำหนดมาตรฐานของโรงงานนิวเคลียร์ไว้สูง ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายดำเนินงานซึ่งไม่เกี่ยวกับส่วนทุน หรือ 5 ดอลลาร์ต่อเม็กกะวัตต์-ชั่วโมงในกรณีที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานส่วนนี้เท่ากับ 20 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง สำหรับค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เกี่ยวกับส่วนทุน(capital costs)จะเติมลงไปอีก 9 ดอลลาร์ ถึง 10 ดอลลาร์ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพราะฉะนั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปกติจะดำเนินงานได้เต็มที่ โดยมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานนอกค่าเชื้อเพลิง รวมกับค่าบำรุงรักษา เท่ากับ 15 ดอลลาร์ ซึ่งแบ่งรายละเอียดออกได้เป็น ค่าแรงงาน ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าเงินบำเหน็จบำนาญและประกันชีวิต ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจสอบ ค่าภาษีอสังหาริมทรัพย์ และค่าใช้จ่ายธุรการกับการบริหาร

ต้นทุนผันแปรของนิวเคลียร์

ปัจจัยสองปัจจัยที่เป็นหัวใจของโครงสร้างต้นทุนดังกล่าวนี้ก็คือ ขนาดของต้นทุนจะไม่แปรผันไปมากนักไม่ว่าโรงงานจะใหญ่หรือเล็ก และไม่ว่าโรงงานนั้นเดินเครื่องหรือไม่

การคำนวณประสิทธิผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คิดตามช่วงอายุขัยของชีวิตเชื้อเพลิง หมายความว่า ระหว่างการหยุดเครื่องดับไฟช่วงหัวและช่วงท้าย เพื่อเติมเชื้อเพลิงนั้นจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในระหว่างนั้น ต้นทุนเฉลี่ยก็มีสิทธิจะได้ผลกระทบจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยผันแปรได้ ที่สำคัญก็คือ ปัจจัยเรื่องวัฎจักรชีวิตเชื้อเพลิง กับ การบำรุงรักษา สองปัจจัยนี้จะคอยกำหนดจำนวนชั่วโมงดำเนินงานที่จะนำมาใช้คำนวณต้นทุนต่อหน่วย
แต่เดิมนั้น วัฏจักรเชื้อเพลิงมีระยะเวลาระหว่าง 12 เดือนถึง 18 เดือน ถ้าจะให้ดีที่สุดก็จะเติมเชื้อเพลิงกันในช่วงฤดูใช้ไฟฟ้าน้อย(ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง) ซึ่งก็จะ เป็นเวลาที่ราคาเชื้อเพลิงต่ำสุดในรอบปี การเติมเชื้อเพลิงกินเวลาราว 20 วันหรือ 40 วัน ส่วนการหยุดเครื่องดับไฟเพื่อการบำรุงรักษาจะเสียเวลาน้อยกว่านั้น สำหรับโรงไฟฟ้าเก่าก็จะมีปัญหาอันเป็นเรื่องธรรมดาเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์และชิ้นส่วนเสื่อมสภาพ โรงงานเก่าเหล่านี้อาจมีต้นทุนดำเนินงานสูงขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการมายาวนานจะสะสมประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการต้นทุนและย่นระยะเวลาหยุดเครื่องเติมเชื้อเพลิงก็ตาม

ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาเรื้อรังจากความชราภาพของโรงงานก็อาจบังคับให้ต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์เป็นงานใหญ่ ถังทนแรงดันของเครื่องปฏิกรณ์กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไอน้ำ จะเป็นอุปกรณ์ที่ราคาแพงที่สุดและมักจะต้องเปลี่ยนบ่อย ค่าใช้จ่ายสำหรับการนี้เริ่มต้นที่ประมาณสิบล้านขึ้นไป และอาจสูงถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ได้ไม่ยาก ค่าใช้จ่ายก้อนนี้เมื่อนำมาคิดค่าเสื่อมราคาในช่วงชีวิตที่ยังเหลืออยู่ของโรงงาน ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมิใช่น้อย พ้นจากค่าวัสดุอุปกรณ์ ระยะเวลาที่ดับไฟกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการหากระแสไฟฟ้าทดแทนก็เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในเวลานั้น ระยะเวลาดับไฟสามเดือนเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ถือเป็นระยะเวลาเฉลี่ย ดังนั้น ในรอบปีนั้นเมื่อเทียบกับปีปกติ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะทะยานสูงขึ้น ตามระยะเวลาดับไฟเพื่อเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ และสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของปีปกติ

ตาราง 6.2 แสดงตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีต่างกัน โรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขนาด 23.85 มิลล์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ส่วนมากจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็มีที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซและน้ำมันอยู่บ้าง ซึ่งมีส่วนดึงให้สัดส่วนของโรงไฟฟ้าฟอสซิลสูงขึ้นเล็กน้อย กว่าที่จะเป็นถ่านหินอย่างเดียว โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาด 51.1 ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าสำหรับชั่วโมงใช้ไฟฟ้าสูงสุด จะเดินเครื่องเมื่อวัฏจักรดีมานด์ขึ้นถึงจุดสุงสุดเท่านั้น และบางครั้งอาจเดินเครื่องเพียงปีละไม่กี่ชั่วโมง กระบวนการกังหันก๊าซนี้มีลักษณะพร้อมใช้เสมอ แต่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก โรงงานเหล่านี้จะใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันเกรดดีขึ้น

Table 6.2 Average Operating Expenses…………………………….

ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์จะมีองค์ประกอบของต้นทุนรายการใหญ่ที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่ 8.3 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาที่ 5.83 ส่วนค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงมีส่วนแบ่งเล็กลงมาที่ 4.58 ภาพจะกลับเป็นตรงกันข้ามสำหรับไฟฟ้าฟอสซิลซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่ 18.21 ส่วนไฟฟ้าพลังน้ำถือว่าไม่มีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง

การปรับปรุงสภาพโครงสร้างโรงงานและเข้มงวดเรื่องการบริหารโรงงาน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ภาวะโครงสร้างต้นทุนดีขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990s จนถึงปัจจุบัน ถ้าสถิติที่สรุปเรื่องนี้เป็นการสะท้อนภาพอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม ก็มีข้อพิจารณาเพิ่มเติมได้ว่า ถ้าได้นำโรงงานประสิทธิภาพต่ำสุดออกไปเสีย ก็จะทำให้ภาพรวมโดยเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมดูดีขึ้นอีก ดังจะเห็นได้ชัดเมื่อนำโรงงานปลดระวางออกไปตามตาราง 6.3 โรงงานเหล่านี้มีขนาดเล็กมากกว่าขนาดเฉลี่ย ดำเนินงานในอัตราต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และการที่จะปรับปรุงให้ได้มาตรฐานการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานปรมาณู(NRC)ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าระดับเฉลี่ย โรงไฟฟ้าปรมาณูที่ปลดระวางแล้วในสหรัฐมีขนาดเล็ก ประมาณ 510 เม็กกะวัตต์ ขณะที่โรงงานที่กำลังดำเนินงานมีขนาดเฉลี่ย 900 เม็กกะวัตต์ โรงงานปลดระวางมักจะเป็นโรงงานรุ่นเก่า ผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ได้มีเครือข่ายโรงงานจำนวนมากโรง ทำให้ค่าใช้จ่ายการพนักงานต่อโรงงานสูง ในขณะที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีเครือข่ายโรงงานหลายโรง สามารถใช้พนักงานบางส่วนร่วมกันได้

ในกรณีที่ผลผลิตรวมต่ำกว่า 100 เม็กกะวัตต์ การเพิ่มผลผลิตบนฐานเดิมจะทำให้การประกอบกิจการเป็นที่น่าสนใจขึ้น และจะช่วยลดต้นทุนเฉลี่ย เนื่องจากจำนวนเม็กกะวัตต์-ชั่วโมงเพิ่มมากขึ้นบนฐานที่ตั้งอยู่เดิม การปรับปรุงผลผลิตให้ดีขึ้นดังปรากฏในแผ่นภาพ 6.3 นั้น จำต้องมีความผูกพันกับธุรกิจนิวเคลียร์ในระยะยาว ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายได้กระทำมาในช่วงทศวรรษ 1990s โดยการประสาน การบริหารการพนักงานที่ดีขึ้น เข้ากับ การยกระดับโครงสร้างโรงงาน จึงได้รับผลผลิตที่สูงกว่าเดิม

ระหว่างที่การใช้ขีดความสามารถการผลิตของโรงงานนิวเคลียร์สหรัฐ ขยับเข้าใกล้และผ่านเลยระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ ดังแสดงในแผ่นภาพ 6.4 แนวทางในการปรับปรุงต่าง ๆ ก็จะลดน้อยถอยลง เพราะว่าในสภาพที่การดำเนินงานโรงงานจำจะต้องหยุดทำงานเพื่อการเปลี่ยนเชื้อเพลิงและบำรุงรักษาอย่างน้อยทุก ๆ สองปี และโรงไฟฟ้าหลายโรงก็กระทำทุก ๆ 18 เดือน ดังนั้น การที่จะใช้กำลังการผลิตให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นไปไม่ได้กับโรงงานนิวเคลียร์รุ่นปัจจุบัน

Table 6.3 Retired U.S. Nuclear Units

Figure 6.3 Net U.S. Nuclear Generation versus…………………..

Figure 5.4 U.S. Nuclear Operating Capacity Factor

ต้นทุนเชื้อเพลิง

การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าปรมาณูนั้น แทบจะกล่าวได้ว่าโดยนิยามแล้ว จะต้องพิจารณาถึงการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้ว การปลดระวางโรงงานเมื่อใบอนุญาตสิ้นสุดลง ตลอดจนการทิ้งขยะนิวเคลียร์ เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในต้นทุนรวม การคิดต้นทุนลักษณะเดียวกันนี้ กับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ก็ย่อมทำได้ แต่ปรากฏว่า ปกติแล้วรายการเหล่านี้มิได้ถูกบวกเข้าไว้ในต้นทุนการผลิตรวมของเชื้อเพลิง ชนิดอื่น ๆ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกันให้ยุติธรรมจริง ๆ ต้องรวมไว้ด้วย


ข้อพิจารณาเบื้องแรกก็คือ จะทำอย่างไรกับแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่ดึงออกจากแกนเตาปฏิกรณ์ เวลานี้มีวิธีจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสีที่เลิกใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วอยู่สองวิธี : เก็บไว้กับทำเลที่ตั้งโรงงาน หรือที่เก็บขยะนิวเคลียร์ในภูมิภาคนั้น ส่วนวิธีปฏิบัติอันเป็นทางเลือกที่สาม ซึ่งเห็นพ้องกันมานานนับทศวรรษระหว่างอุตสาหกรรมกับรัฐบาลกลาง แต่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจัง ได้แก่ ที่เก็บขยะนิวเคลียร์ส่วนรวม เพื่อการทิ้งขยะนิวเคลียร์ระยะยาว ความคืบหน้าที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ก็คือที่ทิ้งขยะนิวเคลียร์ภูเขายูคคาในมลรัฐเนวาดา ตารางเวลาขณะนี้ประมาณกันว่า จะเก็บขยะนิวเคลียร์ที่นั่นได้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2017

วิธีการที่ทำกันในปัจจุบันเพื่อเก็บรักษาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ก็คือถอดแท่งเชื้อเพลิงจากเตาปฏิกรณ์แล้ววางลงในถังน้ำพิเศษ ซึ่งวางไว้ในอ่างคอนกรีตเสริมเหล็กกล้าตั้งอยู่ในโรงงาน น้ำในถังพิเศษจะลดความร้อนแท่งเชื้อเพลิงลงและป้องกันมิให้กัมมันตรังสีแพร่กระจายในบรรยากาศบริเวณนั้น ครั้นเชื้อเพลิงเย็นลงแล้ว ก็จะนำออกจากถังน้ำไปเก็บในถังเก็บชนิดแห้ง ซึ่งทำด้วยเหล็กกล้าและคอนกรีต ถังเก็บนี้อาจจะเก็บไว้กับที่ตั้งโรงงานหรือส่งไปเก็บยังสถานที่จัดเก็บในภูมิภาค ปัจจุบันมีที่เก็บชั่วคราวอยู่ 125 แห่งตามมลรัฐต่าง ๆ 41 มลรัฐทั่วประเทศ โปรดดูแผ่นภาพ 6.5 ซึ่งจะพบว่าประชากรสหรัฐกว่า 160 ล้านคนอาศัยอยู่ในรัศมี 75 กิโลเมตรจากที่เก็บขยะนิวเคลียร์ เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่เก็บชั่วคราวเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสุดยอด และต้นทุนการก่อสร้างกับดูแลรักษาสถานที่เก็บเหล่านี้มีจำนวนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับต้นทุนอื่น ๆ ของโรงงาน

ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วในที่ตั้งโรงงาน แตกต่างกันไปจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ผันแปรตามลักษณะทำเลที่ตั้งของแต่ละโรงงาน และตามความจำเป็นของผู้ประกอบการแต่ละราย ประมาณคร่าว ๆ ตามค่าเงินดอลลาร์ปัจจุบันได้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 50 ถึง 100 ล้านดอลลาร์หรือกว่านั้น ถ้าจะคิดเป็นมาตรฐานต่อเม็กกะวัตต์ สำหรับโรงงานขนาด 1,000 เม็กกะวัตต์ ต้นทุนรายการนี้คิดเป็น 100 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ หรือจะมีต้นทุนเพียงกึ่งหนึ่งถ้าเป็นโรงงานเตาคู่ขนาดเตาละ 1,000 เม็กกะวัตต์ เมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างโรงงานทั้งโรงรวม 1,500 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์หรือกว่านั้น ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เก็บรักษาเชื้อเพลิงซึ่งตัดค่าเสื่อมราคาในระยะเวลา 40 ปีตามอายุโรงงาน ถือว่าน้อยมาก

วาระเร่งด่วนในขณะนี้คือ ประเด็นที่ว่าที่เก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วตามที่ตั้งโรงงานนั้น ได้รับการออกแบบมาให้ใช้เป็นที่เก็บรักษาชั่วคราว จึงไม่ได้มีขนาดใหญ่โตพอ ที่จะเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วได้หมดทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์จนตลอดอายุขัยของโรงงาน ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า โรงงานบางแห่งเริ่มเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วไว้กับสถานที่ตั้งโรงงานเกินกว่าจำนวนที่ตั้งใจไว้แต่ต้น จึงได้พากันร้องขึ้นมาว่า เมื่อใดที่เก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของรัฐบาลกลาง จึงจะพร้อมที่จะรับขยะนิวเคลียร์ได้ ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าปรมาณูนั้น สำหรับประเด็นนี้มีแง่มุมทางการเงินที่จัดไว้เตรียมไว้ เพื่อก่อสร้างที่เก็บส่วนกลางอยู่

Figure 6.5  Current and Potential Independent………..

แล้ว โดยกระแสไฟฟ้า 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงที่ผลิตขึ้นได้จากโรงไฟฟ้า จะถูกกันไว้เป็นกองกลาง เพื่อนำไปพัฒนาและบริหารจัดการสถานที่เก็บส่วนกลางดังกล่าว


จะเห็นได้ว่า โครงสร้างต้นทุนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ค่อนข้างจะซับซ้อน แต่เมื่อรวมตัวแปรทั้งหมดเข้าด้วยกัน การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังอยู่ในฐานะแข่งขันได้เป็นอย่างดีกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ แถมยังมีข้อได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการดำเนินงานระยะยาว อันเนื่องมาจากคุณสมบัติเรื่องราคาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ย่อมเยา

ทุกวันนี้ เรายืนอยู่ตรงไหน


บัดนี้ ในสหรัฐอเมริกามีการกล่าวขวัญกันมากขึ้น เรื่องพลังงานนิวเคลียร์จะเกิดใหม่ มีการวางแผนสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ และมีแผนการจะสร้างสุสานขยะนิวเคลียร์ของส่วนกลาง

แผนการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายซามวล โบดแมน เปิดเผยว่า ภายในสามปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณู 12 แห่งในสหรัฐจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานนิวเคลียร์(NRC)เพื่อขออนุญาตสร้างเตาปฏิกรณ์ 18 เตา เพื่อตอบรับกับ

ความต้องการด้านพลังงานในสหรัฐซึ่งกำลังขยายตัว สภาความมั่นคงกระแสไฟฟ้าอเมริกาเหนือ(the North American Electric Reliability Council – NERC) ระบุว่า จากทำเลที่ตั้ง 15 แห่งที่ผู้ประกอบการไฟฟ้าปรมาณูได้แจ้งไว้แล้วนั้น จำนวน 13 ทำเลอยู่ทางภาคใต้ของสหรัฐ อันเป็นภูมิภาคที่คาดกันว่าความต้องการกระแสไฟฟ้าจะเติบโตขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 15 ในอนาคต

เพราะว่า จะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งทศวรรษหรือกว่านั้นเพื่อการวางแผน การออกแบบ และสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผู้ประกอบการรายปัจจุบันหลายรายจึงกำลังดำเนินการเบื้องต้น เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพย์สินนิวเคลียร์อันจะเปิดดำเนินการได้ระหว่างปี 2015 ถึงปี 2025 ขั้นตอนแรก ๆ ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการขออนุญาตก็คือ ยื่นขออนุมัติทำเลที่ตั้งล่วงหน้า(ESP- early site permit)จากคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานปรมาณู ESP เป็นระเบียบใหม่บทหนึ่งของคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานปรมาณู มีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดความไม่แน่นอนด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ด้วยการวางระเบียบให้การขออนุญาตดำเนินไปเป็นลำดับขั้น แต่เมื่อได้รับอนุญาตเรื่องทำเลที่ตั้งแล้ว ใบอนุญาตนั้นก็มิได้ผูกมัดให้ผู้ประกอบการจะต้องสร้างโรงไฟฟ้า เป็นเพียงขั้นตอนต้น ๆ ขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการขออนุญาต ซึ่งหากผู้ประกอบการประสงค์จะดำเนินต่อจึงจะทำคำร้องสำหรับขั้นตอนต่อไป

การขยายตัวของผู้ประกอบการปัจจุบัน

เวลาผ่านไปหลายทศวรรษ โดยที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีทรัพย์สินโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่ได้สนใจจะขยายทรัพย์สินโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น บัดนี้ ผู้ประกอบการได้ริเริ่มสร้างทรัพย์สินนิวเคลียร์ใหม่ ๆ ขึ้นมา การริเริ่มเพื่อการสร้างใหม่ สรุปได้ในย่อหน้าต่อ ๆ ไป

การไฟฟ้าหุบเขาเทนเนสซี(Tennessee Valley Authority-TVA) TVA เป็นรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้จัดจำหน่าย 158 ราย ซึ่ง
ให้บริการแก่ประชาชน 8.6 ล้านคนในมลรัฐเทนเนสซี กับบางส่วนของมลรัฐเคนทักกี แอละแบมา มิสซิสซิปปี นอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย และเวอร์จิเนีย


เครื่องปฏิกรณ์เครื่องที่สองของ ทีวีเอ ใกล้จะเสร็จ ตั้งอยู่ที่สถานีวัตต์บาร์ ใกล้กับสปริงซิตี มลรัฐเทนเนสซี ห่างจากน็อควิลล์ราว 50 ไมล์ เตาปฏิกรณ์วัตต์บาร์หน่วยที่ 1 เป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องล่าสุดที่เปิดดำเนินงานในสหรัฐ การไฟฟ้าแห่งนี้กำลังพิจารณาจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ ทำการศึกษาด้านวิศวกรรมอย่างละเอียดเพื่อเป็นพื้นฐานที่จะกำหนดต้นทุนค่าก่อสร้างสำหรับทำโครงการวัตต์บาร์หน่วยที่ 2 ซึ่งยังคาราคาซัง สร้างไว้ครึ่งเดียว ว่าถ้าจะทำจนสำเร็จจะต้องลงทุนอีกเท่าไร

การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่วัตต์บาร์ ถูกยับยั้งไว้ในปี 1985 พร้อม ๆ กับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โครงการอื่นของ ทีวีเอ ทั้งนี้เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย ต่อมาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูวัตต์บาร์หน่วยที่ 1 เริ่มขึ้นใหม่และสร้างเสร็จในปี 1996 ใช้เวลา 23 ปี และนับแต่เริ่มต้นสิ้นงบประมาณไป 7 พันล้านดอลลาร์

ทีวีเอ มีโรงไฟฟ้าปรมาณูเปิดดำเนินงานอยู่สามโรงในเทนเนสซี แอละแบมา โดยมี เตาปฏิกรณ์ทั้งหมดห้าเตา เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องที่หกกำลังอยู่ระหว่างการ

ปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยงบประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ และกำหนดว่าจะเปิดเดินเครื่องได้ใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2007 เครื่องที่หกนี้ ตั้งอยู่ที่สถานีบราวน์แฟรรี ใกล้เมืองเอเธนส์ มลรัฐจอร์เจีย ซึ่งเมื่อปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 104 ที่เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในสหรัฐ


ทีวีเอ ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการกระแสไฟฟ้า ตั้งเป็นกลุ่มค้าร่วม(consortium)ขึ้นมา เรียกชื่อว่า NuStart มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งคือจะเข้าไปดำเนินงานโรงไฟฟ้าปรมาณูที่ยังสร้างไม่เสร็จของทีวีเอ ที่แบลฟ็อนต์ มลรัฐแอละแบมา โดยตั้งใจจะสร้างเครื่องปฏิกรณ์รุ่นใหม่ที่นั่น ในเดือนตุลาคม 2007 ทีวีเอ วางแผนจะยื่นคำร้องขอใบอนุญาตร่วม ทั้งเพื่อการก่อสร้างและการดำเนินงานเครื่องปฏิกรณ์ใหม่สองเครื่องที่แบลฟ็อนต์ และทีวีเอ กับกิจการค้าร่วมนูสตาร์ท ตั้งใจจะสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสองเครื่องด้วยเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ AP1000 ของบริษัท เวสติงเฮาส์ หากได้รับอนุญาต ทีวีเอ ก็สามารถเริ่มการก่อสร้างที่แบลฟ็อนต์ได้ในปี 2010 และจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2015

บริษัท เซาเธอร์น คอมปานี (Southern Company) ในเดือนสิงหาคม 2006 บริษัท เซาเธอร์น นิวเคลียร์ โอเปอเรทติง คอมปานี บริษัทลูกของ เซาเธอร์น คอมปานี ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯ เพื่อจะขออนุมัติเรื่องทำเลที่ตั้งล่วงหน้า(ESP)โดยจะขอเพิ่มเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้า Vogtle Electricitry Generating Plant ตั้งอยู่ที่ Waynesboro มลรัฐจอร์เจีย โรงไฟฟ้าโวกเทิลเป็นของบริษัท จอร์เจีย พาวเวอร์ คอมปานี ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในโอเกิลธอร์พ พาวเวอร์ คอร์ปอเรชัน อันเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดการไฟฟ้าเทศบาลแห่งจอร์เจียร่วมกับเทศบาลเมืองเดลตัน


คำร้องเพื่อขออนุญาตทำเลที่ตั้งล่วงหน้า(ESP)ของโวกเทิล เปิดโอกาสให้คณะกรรมการกำกับดูแลฯได้ตรวจสอบและพิจารณาอนุมัตที่ตั้งไว้ก่อนเพื่อการสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ และเปิดทางให้บริษัท เซาเธอร์น นิวเคลียร์ ได้ออกแบบ การสร้าง ตลอดจนประเมินเนื้องานในทำเลนั้น ก่อนที่เจ้าของกิจการโรงไฟฟ้าจะตัดสินใจสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่จริง ๆ

ในปี 2008 เซาเธอร์น นิวเคลียร์ ซึ่งมีโรงไฟฟ้าอยู่ทีเมืองแบกซ์เลย์ มลรัฐจอร์เจีย ด้วย ชื่อว่า โรงไฟฟ้าแฮทช์ นิวเคลียร์ นอกจากนั้น ยังมีโรงไฟฟ้าปรมาณูที่เมืองโดธัน มลรัฐแอละแบมา ชื่อโรงไฟฟ้าฟาร์เลย์ นิวเคลียร์ ก็จะได้เดินเรื่องอีกทางหนึ่งในส่วนเกี่ยวกับคำร้องขอใบอนุญาตร่วมเพื่อการก่อสร้างและดำเนินงาน(COL)สำหรับเตาปฏิกรณ์ทั้งสองเตาที่โวกเทิล กิจการเซาเธอร์น นิวเคลียร์ เป็นสมาชิกในกิจการค้าร่วม(consortium)ชื่อนูสตาร์ท เอ็นเนอร์จี ดีเวลล็อปเมนต์ คอนซอร์เตียม ดังได้กล่าวถึงข้างต้น

 ดุคเอ็นเนอร์จี(Duke Energy)  เดือนมีนาคม 2006 ดุค เอ็นเนอร์จี คอร์ปอเรชัน  ได้เลือกขอตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทำเลที่ตั้ง  ตำบลเชอโรกี(Cherokee County) มลรัฐเซาท์       แคโรไลนา (การปกครองท้องถิ่นของสหรัฐ  แบ่งมลรัฐออกเป็น county หรือ ตำบล ผู้แปล)  กิจการนี้จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯเพื่อก่อสร้างโรงงานราวปลายปี 2007  หรือต้นปี 2008  เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว  บริษัทจะได้พิจารณาทบทวนอีกรอบหนึ่งว่าจะดำเนินขั้นตอนต่อไปหรือไม่

บริษัท ดุค ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์ริมแม่น้ำยาดคิน ในตำบลเดวี(Davie County) มลรัฐนอร์ธ แคโรไลนา และยังคิดอยู่ว่าจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ขออนุมัติเรื่องทำเลที่ตั้งล่วงหน้าที่ตำบลเดวี กับอีกทำเลหนึ่งที่ตำบลโอโคนี ในมลรัฐเซาท์ แคโรไลนา เช่นเดียวกัน จากกระบวนการขออนุญาตนี้เห็นได้ว่า การพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง จะได้รับการพิจารณาเสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะขอใบอนุญาตก่อสร้าง

เจ้าหน้าที่บริษัท ดุค เอ็นเนอร์จี แคโรไลนา ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ดุค เอ็นเนอร์จี คอร์ปอเรชัน แสดงความเห็นว่าขีดความสามารถในการผลิตพลังงานของบริษัทจะต้องขยายขึ้น เพื่อสนองความต้องการผู้อุปโภครายใหม่ในพื้นที่ให้บริการของบริษัทในมลรัฐนอร์ธ แคโรไลนา และเซาท์ แคโรไลนา ที่เพิ่มขึ้นปีละ 60,000 ราย ขณะนี้ในสองมลรัฐนั้น บริษัทให้บริการลูกค้าอยู่ประมาณ 2.1 ล้านราย

โดมิเนียน พาวเวอร์(Dominion Power) ปี 2003 บริษัทนี้ยื่นคำร้องเรื่องทำเลที่ตั้งล่วงหน้าสำหรับสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มอีกสองเตา ในโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทที่ นอร์ธ แอนนา มลรัฐเวอร์จิเนีย ถ้าได้รับอนุญาต บริษัทก็จะมีเครื่องปฏิกรณ์ที่นั่นเพิ่มขึ้นสองเครื่อง


โรงไฟฟ้านอร์ธ แอนนา ตั้งอยู่ห่างจากเมืองริชมอนด์ 40 ไมล์ บนฝั่งแม่น้ำนอร์ธ แอนนา แม่น้ำสายนี้มีเขื่อนกั้นและอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเรียกชื่อว่า เลค แอนนา น้ำจากที่นี่จะใช้เป็นน้ำหล่อเย็นให้แก่เตาปฏิกรณ์ใหม่ทั้งสองเตา ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนั้นมีเครื่องปฏิกรณ์ดำเนินอยู่แล้วสองเครื่อง เครื่องหมายเลข 1 เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 1978 ส่วนเครื่องหมายเลข 2 เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 1980 ทั้งสองเตาผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวมกัน 1,786 เม็กกะวัตต์

โดมิเนียน พาวเวอร์ ตั้งใจจะยื่นคำร้องขออนุญาตสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ที่นอร์ธ แอนนา ภายในเดือนพฤศจิกายน 2007 ต้นทุนค่าสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่จะตกประมาณ 2 หรือ 3 พันล้านดอลลาร์ การก่อสร้างจะใช้เวลาสี่ปีโดยประมาณ และโดมิเนียนคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องใหม่นี้ได้ในปี 2015
 
เซาท์ แคโรไลนา อิเล็คตริค แอนด์ ก๊าซ (South Carolina Electric & Gas) ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบส่งจ่าย ระบบการจัดจำหน่าย และการขายกระแสไฟฟ้า โดยมีลูกค้าประมาณ 610,000 ราย ใน 24 ตำบลที่กระจายอยู่ตามภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมลรัฐแคโรไลนา บริษัทนี้ยังให้บริการก๊าซธรรมชาติแก่ลูกค้าจำนวนประมาณ 292,000 ราย ตามตำบล 34 ตำบลในมลรัฐนั้น


เมื่อเดือนธันวาคม 2005 เซาท์ แคโรไลนา อิเล็คตริค แอนด์ ก๊าซ กับบริษัท Santee Cooper แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯว่า ประสงค์จะยื่นคำร้องขออนุญาตร่วม(COL)เพื่อดำเนินงานโรงไฟฟ้าปรมาณูโรงใหม่ การพิจารณาใบอนุญาตร่วมเริ่มขึ้นแต่ต้นปี 2006 สำหรับเตาปฏิกรณ์สองเตาที่ซัมเมอร์ มลรัฐแคโรไลนา ผู้ประกอบการหวังจะยื่นคำ

ร้องขอใบอนุญาตร่วมจริง ๆ ในเดือนตุลาคม 2007 กระบวนการพิจารณาใช้เวลาประมาณสามปี เพราะฉะนั้นคณะกรรมการกำกับดูแลฯ คงจะออกใบอนุญาตร่วมได้ในปี 2010 แล้วถ้าการก่อสร้างเริ่มขึ้นทันทีที่ได้รับอนุญาต เครื่องปฏิกรณ์หนึ่งเครื่องจะแล้วเสร็จใช้งานได้ประมาณปี 2015


เดือนกุมภาพันธ์ 2006 เซาท์ แคโรไลนา อิเล็คตริค แอนด์ ก๊าซ กับบริษัท Santee Cooper ประกาศว่า ได้เลือกทำเลที่ตั้งที่พอใจไว้แล้วรวมทั้งแบบเครื่องปฏิกรณ์ด้วย ซึ่งถ้าจะเริ่มงานสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็จะทำตามนั้น บริษัทจะเลือกเตาปฏิกรณ์เวสติงเฮาส์ รุ่น AP1000 ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์ใช้เทคโนโลยีน้ำมวลหนัก(pressurized water reactor) และจะสร้างที่ทำเลที่ตั้งที่เลือกไว้ คือจะสร้างในโรงไฟฟ้า วีซี ซัมเมอร์ นิวเคลียร์ สเตชัน ใกล้เจนกินวิลล์ มลรัฐเซาท์แคโรไลนา โรงไฟฟ้าวีซี ซัมเมอร์ นิวเคลียร์ สเตชัน ที่มีอยู่เดิมได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1984 โดยมีกิจการเซาท์ แคโรไลนา อิเล็คตริค แอนด์ ก๊าซ กับบริษัท Santee Cooper เป็นเจ้าของร่วม และร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ตลอดจนร่วมเป็นเจ้าของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จำนวน 1,000 เม็กกะวัตต์ ส่วนผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้า ได้แก่บริษัท SCE&G

บริษัท SCE&G ก็กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการจะเข้าร่วมอยู่ในกิจการร่วมค้า นูสตาร์ท เอ็นเนอร์จี ดีเวลล็อปเมนต์ ซึ่งจะได้ร่วมกันผลักดันคำร้องขอใบอนุญาตร่วม(COL) และดำเนินการด้านการออกแบบวิศวกรรมสำหรับโรงงานอันทันสมัยนี้

บริษัท เอ็นเทอร์จี( Entergy Corporation) เป็นกิจการครบวงจร คือทั้งผลิตกระแสไฟฟ้าและจัดจำหน่าย เอ็นเทอร์จีเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหลายโรงมีกำลังผลิตรวมกันประมาณ 30,000 เม็กกะวัตต์ และเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยนิวเคลียร์รายใหญ่อันดับสองในสหรัฐ กิจการนี้มีลูกค้า 2.7 ล้านราย กระจายอยู่ในมลรัฐอาร์คันซอ ลุยเซียนา มิสซิปซิปปี และเทกซัส

บริษัท เอ็นเทอร์จี นิวเคลียร์ ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตสร้างเครื่องปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าแกรนด์กัลฟ์ ในเมืองพอร์ตกิบสัน มลรัฐมิสซิสซิปปี ห่างจากเมืองแจคสัน 60 ไมล์ ในตำบลแคลบอร์น ริมฝั่งแม่น้ำมิสซิปซิปปี โรงไฟฟ้าแกรนด์กัลฟ์มีเตาปฏิกรณ์ดำเนินงานอยู่แล้วหนึ่งเครื่อง และเอ็นเทอร์จีกำลังขออนุมัติสร้างใหม่อีกสองเครื่อง เอ็นเทอร์จีได้ยื่นคำร้องเพื่อขอใบอนุญาตร่วม(COL) สำหรับเตาปฏิกรณ์ทั้งสองเครื่องนั้นในเดือนตุลาคม 2007

นูสตาร์ท เอ็นเนอร์จี ดีเวลล็อปเมนต์ ประกาศเจตนาจะขออนุญาตเป็นผู้สร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ที่นั่น นูสตาร์ท ได้เลือกแกรนด์กัลฟ์ นิวเคลียร์ สเตชัน เป็นทำเลหนึ่งเพื่อขอใบอนุญาตร่วม(COL) สำหรับโรงไฟฟ้าปรมาณูโรงใหม่ โดยนูสตาร์ทกำหนดแกรนด์กัลฟ์ไว้ให้เป็นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์ของบริษัท จีอี รุ่น ESWR และตั้งใจจะยื่นขอใบอนุญาตร่วม(COL)ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ช่วงปลายปี 2007 และต้นปี 2008 หลังจากที่

คณะกรรมการกำกับดูแลฯใช้เวลาสองปีพิจารณาคำขอ ประมาณว่าจะให้ใบอนุญาตร่วมได้ในปี 2010 การก่อสร้างประมาณระยะเวลาไว้สี่ปี ดังนั้น เตาปฏิกรณ์ก็จะเดินเครื่องได้ในปี 2014


ฟลอริดา พาวเวอร์ แอนด์ ไลต์(Florida Power & Light) เป็นบริษัทในเครือของ FPL Group, Inc., ที่มีกิจการเครือข่ายอยู่ในมลรัฐ 26 มลรัฐในสหรัฐอเมริกา ฟลอริดา พาวเวอร์ แอนด์ ไลต์ ให้บริการแก่ลูกค้า 4.4 ล้านรายในมลรัฐฟลอริดา เอฟพีแอล นิวเคลียร์ เป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่โรง ตั้งอยู่ที่เซนต์ลูซี ใกล้ฟอร์ต เพียซ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ ฟลอริดา ที่เตอร์กีพอยต์ ใกล้ฟลอริดา ซิตี มลรัฐฟลอริดา ที่ซีบรูค สเตชัน มลรัฐนิวแฮมเชียร์ และที่ดวนอาร์โนลด์ เอ็นเนอร์จี เซนเตอร์ ใกล้ซีดาร์ ราปิดส์ มลรัฐไอโอวา

ในเดือนเมษายน 2006 FPL แจ้งให้คณะกรรมการกำกับดูแลฯทราบว่ามีความประสงค์จะขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูใหม่สองโรงในปี 2009 ในมลรัฐฟลอริดา การยื่นขออนุญาตเปิดทางให้ เอฟพีแอล ได้ประเมินโอกาสที่มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ในเวลานี้ เอฟพีแอล ยังไม่ได้ระบุทำเลที่ตั้งหรือกำหนดแบบเตาปฏิกรณ์ที่จะใช้ การตัดสินสร้างจริงคงจะใช้เวลาอีกหลายปี และตามการคาดหมายของ เอฟพีแอล กระบวนการสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จ คงใช้เวลาราว 12 ปี

ทีเอ็กยู(TXU) เป็นกิจการในเมืองดัลลัส บริหารเครือข่ายธุรกิจนิวเคลียร์ทั้งที่อยู่ในความควบคุมของรัฐและนอกการควบคุม บริษัท ทีเอ็กยู เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นกิจการนอกการควบคุม ให้บริการกระแสไฟฟ้าต่อลูกค้ากว่า 2.4 ล้านราย ทีเอ็กยู พาวเวอร์ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในมลรัฐเทกซัสกว่า 19,300 เม็กกะวัตต์ รวมทั้งที่มาจากนิวเคลียร์ 2,300 เม็กกะวัตต์ และจากถ่านหินลิกไนท์/ถ่านหินธรรมดา 5,837 เม็กกะวัตต์

ทีเอ็กยู วางแผนจะพัฒนาโครงการโดยยื่นคำร้องขอใบอนุญาตร่วม(COL)ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯเพื่อจะสร้างกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์จำนวนสองถึงหกกิกกะวัตต์(gigawatts) จะสร้างในทำเลที่ตั้งสองหรือสามแห่ง กิจการแห่งนี้หวังว่าจะยื่นคำร้องขอใบอนุญาตร่วมต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯในปี 2008 และจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ระหว่างปี 2015 ถึงปี 2020

ความคืบหน้าที่เก็บขยะนิวเคลียร์ส่วนกลาง


อุตสาหกรรมนิวเคลียร์สหรัฐจะยังคงมีของเสียอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งส่วนมากก็เก็บไว้ที่หน้างาน(on site)โดยมีห้องมั่นคงเพื่อการจัดเก็บ แต่ด้วยจำนวนเตาปฏิกรณ์ใหม่ที่จะทยอยสร้างขึ้นในระหว่างปี 2015 ถึง 2017 ทำให้ประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องที่เก็บขยะนิวเคลียร์ในภูเขายูคคานั้น จะต้องหาหนทางไปสู่มติเห็นชอบกันให้ได้ ตามตารางเวลาล่าสุดของกระทรวงพลังงานกำหนดไว้ว่าโครงการภูเขายูคคาจะแล้วเสร็จ เริ่มรับเก็บ เชื้อเพลิงใช้แล้วได้ในวันที่ 31 มีนาคม 2017


กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการยื่นเสนอขออนุญาตทำที่เก็บขยะนิวเคลียร์ภายในเดือนพฤศจิกายน 2007 และจะจัดทำเอกสารเกี่ยวการจัดเก็บให้ตรวจสอบได้ในเดือนธันวาคม 2007 ส่วนแผนการเก็บขยะนิวเคลียร์ก็จะยื่นคำร้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับดูแลฯได้ในเดือนมิถุนายน 2008 ในเดือนเดียวกันนั้นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับทางรถไฟเข้าถึงหน้างานก็จะแล้วเสร็จ ประมาณว่าคณะกรรมการกำกับดูแลฯคงจะยอมรับคำร้องขออนุญาตของกระทรวงพลังงานได้ในเดือนกันยายน 2008

ถ้าตารางเวลานั้นเป็นจริง ที่เก็บขยะนิวเคลียร์ในภูเขายูคคาก็จะสร้างเสร็จในเดือนเมษายน 2016 และจะเริ่มทดสอบการทำงานเบื้องต้นสำหรับสถานที่เก็บใต้ดินเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2016 เมื่อการอนุญาตและการทดสอบสมบูรณ์แล้ว ภูเขายูคคาก็จะเริ่มรับเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วได้ ในเดือนเมษายน 2017

สรุป


สหรัฐกำลังมาถึงทางแพร่งสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ ทางหนึ่งนั้น เป็นทางแห่งการเมินเฉย คงรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ ซึ่งทางสายนี้จะนำไปสู่ความเสื่อมถอยของขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณู เพราะว่า ถ้าไม่สร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ขึ้นมาในสหรัฐในเร็ววัน เครื่องปฏิกรณ์ที่ทำหน้าที่โรงจักรภาระหลักในสหรัฐจะทยอยปลดระวางไปเรื่อย ๆ เมื่อครบอายุอนุญาต 40 ปี หรือครบการต่ออายุ 20 ปี และเมื่อโรงไฟฟ้าปรมาณูจำนวนทั้งหมด 103 โรง ค่อย ๆ หมดอายุไปทีละโรง ความตึงตัวของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยรวมของสหรัฐ จะยิ่งเขม็งเกลียวขึ้น โดยจะเกิดแรงกดดันต่อโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ซึ่งพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่หายากยิ่งขึ้นทุกที กรณีการเล็งการณ์ที่เลวร้าย(worst case scenario)ก็จะสามารถเล็งไว้ได้ว่า กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม จะไม่สามารถก้าวทันกับความต้องการ แล้วจะเกิดสภาพขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอย่างรุนแรงขึ้น

อีกทางหนึ่งของทางแพร่งอันสำคัญนี้ ได้แก่ ทางแห่งการขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสหรัฐด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งการณ์ลักษณะนี้ก็กำลังกระทำกันทั่วโลก เพราะว่าพลังงานนิวเคลียร์มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นเพราะเหตุที่เป็นพลังงานสะอาด ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมายอมรับพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกจากปัญหาพลังงานในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นคือ ประเทศแทนซาเนีย โปรตุเกส และเม็กซิโก เป็นต้น ถึงแม้ว่าประเทศอัฟริกาที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศแทนซาเนียอาจจะขาดทรัพยากรด้านการเงินที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่ประเทศยุโรปตะวันตกอย่างประเทศโปรตุเกส ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2004 เคยยับยั้งพลังงานนิวเคลียร์มาหนหนึ่งแล้ว บัดนี้กลับใจหันมาพิจารณาเทคโนโลยีชนิดนี้ด้วยสายตาใหม่ เนื่องจากการอุปโภคกระแสไฟฟ้า ภายในประเทศสูงขึ้น กับด้วยเหตุที่การนำเข้าพลังงานและนำเข้าน้ำมันก็มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ประเทศโปรตุเกสเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับนิวเคลียร์ กล่าวคือ ประเทศนี้เคยทำเหมืองยูเรเนียมมานานถึง 50 ปี แต่ได้ยกเลิกไปเมื่อปี 2001 ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ


โอกาสอีกโอกาสหนึ่ง ที่กำลังคิดกันอยู่ในโปรตุเกส ก็คือ การทำโครงการร่วมกันระหว่างโปรตุเกสกับสเปนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเตาปฏิกรณ์น้ำมวลเบา(LWR) โอกาสนี้มีทางสำเร็จสูง เพราะว่าขณะนี้ระบบการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของทั้งสองประเทศนั้นเชื่อมประสานเข้าเป็นระบบเดียวกันแล้ว ซึ่งจะช่วยในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าที่จะผลิตขึ้นมาจากโครงการนิวเคลียร์ร่วมดังกล่าวได้ด้วย

ในทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศเม็กซิโกก็กำลังมองพลังงานนิวเคลียร์ด้วยสายตาใหม่และจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูโรงที่สอง หลังจากที่โรงแรกซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เตาปฏิกรณ์น้ำเดือด(BWRs)มีกำลังผลิต 654 เม็กกะวัตต์ ที่ลากูนา แบร์เด เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ไปเมื่อสิบปีก่อน ในปี 2005 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประเทศเม็กซิโก ได้สั่งการให้คณะกรรมการพลังงานรัฐบาลกลาง(the Federal Energy Commission - FCE)วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการพลังงาน โดยที่จะเน้น “การผลิตกระแสไฟฟ้าทางเลือกที่หลากหลาย” ซึ่งแนวทางนี้ จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลเม็กซิโกหยิบยกทางเลือกนิวเคลียร์ขึ้นมาพิจารณาเป็นหนึ่งแนวอยู่ในนั้น เพราะเหตุที่ทางเลือกนี้มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำเมื่อคำนึงถึงการผลิตตลอดชั่วอายุขัยของการลงทุน

กล่าวอย่างย่นย่อ ถ้าพลังงานนิวเคลียร์ดีแก่ประเทศแทนซาเนีย ประเทศโปรตุเกส และประเทศเม็กซิโก พลังงานนี้ก็น่าจะดีพอต่ออนาคตของสหรัฐอเมริกาด้วย นับหลายทศวรรษมาแล้วที่กองกำลังเตาปฏิกรณ์ปรมาณูในสหรัฐจำนวน 103 เครื่อง ได้ผลิตพลังงานไฟฟ้าต้นทุนถูกขึ้นมานับล้าน ๆ กิโลวัตต์-ชั่วโมงจากไอน้ำที่ต้มเดือดด้วยกระบวนการแตกตัวทางนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์สหรัฐนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดของคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานปรมาณู(NRC) อันยังผลปรากฏเป็นการดำเนินงานอย่างปลอดภัยมาตลอดหลายทศวรรษ และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์สหรัฐ จะไม่ได้รับใบอนุญาตการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใหม่เชิงพาณิชย์มานานนับทศวรรษ เนื่องจากขาดความกระตือรือร้นเรื่องเครื่องปฏิกรณ์กันอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการทั้งหลาย ก็ได้ใช้ระยะเวลาอันซบเซานั้นปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานทรัพย์สินชนิดนี้ขึ้นเป็นอันมาก


ระหว่างทศวรรษที่ทั่วโลกขยายปริมาณการใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่นั้น ถือได้ว่าภายในสหรัฐสถานการณ์พลังงานชนิดนี้หยุดอยู่กับที่ บัดนี้ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์สหรัฐเริ่มแสดงสัญญาณแห่งการเกิดใหม่ เรื่องนี้มีเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่ขยายตัวไม่หยุด การแก่งแย่งเชื้อเพลิงฟอสซิลระดับโลกและระดับราคาเชื้อเพลิงประเภทนั้นทะยานสูงขึ้น การปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์ ภาพคิดของคนที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้า ความวิตกกังวลเรื่องก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ตลอดจนการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันผลักดันเพื่อการขยายตัวของพลังงานปรมาณูสหรัฐ

ด้วยพยากรณ์ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าอันจะสูงขึ้นในวันข้างหน้า ผู้ประกอบการกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าหลายแห่ง กำลังพิจารณาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์  อนาคตของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์สหรัฐจึงสดใส  แม้ว่าพลังงานปรมาณูคงจะไม่ใช่ทางออกของความต้องการกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของสหรัฐ  แต่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ก็จะอยู่ในฐานะอันน่านิยม  เพราะได้รับอานิสงส์จากทั้งเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและเรื่องเศรษฐกิจ  พลังงานนิวเคลียร์จะไม่มีวันเข้ามาแทนที่การผลิตด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินหรือก๊าซหรือแหล่งพลังงานทดแทนชนิดอื่นในสหรัฐได้เสียทั้งหมด  แต่ว่า  จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการผสมผสานแหล่งกำลังการผลิต  แล้วการกระจายทรัพย์สินกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า  ก็จะส่งให้สหรัฐอเมริกามีกำลังหนุนเนื่องให้เศรษฐกิจขยายตัว  และรักษาระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชน  ไปจนตลอดศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด      


แดง ใบเล่ - เดฟ นาพญา - ปรีชา ทิวะหุต
Not for commercial use. ไม่สงวนสิทธิ์ฉบับดิจิทัล ไม่ได้เผยแพร่เชิงพาณิชย์ แต่แบ่งปันเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา สำนักพิมพ์ใด สนใจจะตีพิมพ์เป็นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ โปรดติดต่อเจ้าของงานที่อีเมล  salaya123@yahoo.com  -ขอบคุณครับ

สนใจ บทที่เกี่ยวกับ ความปลอดภัยโรงไฟฟ้าปรมาณู เชิญอ่าน ที่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น