ภาพเขียนภาพนี้ เป็นภาพที่มีผู้แวะชมมากที่สุด ในพิพิธภัณฑ์ ออกเซ่ กรุงปารีส
ชื่อภาพ "โลริจีน ดู ม็งด์"(L'Origine du monde) แปลว่า "กำเนิดโลกมนุษย์"
ผลงานของศิลปินฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำด้านศิลปะเหมือนจริง กุสตาฟ กูร์เบต์
บทกวี ที่อ่านประกอบวีดีโอ เป็นบทกวีชิ้นเอกของอิตาลี
ชื่อ "L'Infinito" ของกวีเอก Giacomo Leopardi ศตวรรษที่ 18
ถึงไม่รู้ภาษาอิตาลี ก็ฟังเพราะ ครับ คลิกเลย แพ่ !
ถึงไม่รู้ภาษาอิตาลี ก็ฟังเพราะ ครับ คลิกเลย แพ่ !
ตัวอย่าง จากบทสุดท้าย ในหนังสือ
ท้ายเล่ม…
คำหยาบ ส่อแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่ขาดการตอบสนอง
แสดงถึงความเชื่อที่ไร้เดียงสาเกี่ยวกับอวัยวะเพศและของเสียจากร่างกาย
คำหยาบเป็นส่วนหนึ่งในระบบคุณค่า หรือค่านิยมในสังคม
แต่ทั้งนี้ จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการทอนค่า ที่ฝังตัว(imbeded)คู่ขนานอยู่ในระบบดังกล่าว
ในศาสตร์แห่งรากเหง้าของคำ คำหยาบ ก็เช่นเดียวกับถ้อยคำอื่นในภาษามนุษย์
ที่สังกัดอยู่กับแม่บทใหญ่ อันได้แก่ ภาพแห่งเรือนร่างของคน
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของคำหยาบและหยาบหยามนั้น
ถ้อยคำ และ วัตถุที่ถ้อยคำบ่งชี้ มิใช่สิ่งเดียวกัน
เช่น ในคำสบถ หรือคำอุทาน หรือคำทอนค่า
คำว่า หี หรือ ควย ไม่ได้ชี้ถึงอวัยวะเพศหญิง หรืออวัยวะเพศชาย
แต่ทำหน้าที่เป็นตัวทอนราคา หรือเป็นตัวหาร
แม้กามารมณ์จะเป็นพื้นของจิตวิทยาบางสำนัก แต่กามารมณ์ก็มิได้อยู่เบื้องหลังแรงกระตุ้นทุกชนิดของมนุษย์ แม้แต่ในคำหยาบ ซึ่งมีถ้อยคำเกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ และกามารมณ์อยู่มาก แต่คำเหล่านั้น ทำหน้าที่เป็นเครื่องอ้างอิง อุปมาอุปมัย เปรียบเปรย เทียบเคียง โดยที่กามารมณ์เป็นเพียงทางผ่านของถ้อยคำหรือภาษา เช่นเดียวกับที่แรงกระตุ้นและแรงปรารถนาประเภทอื่นของมนุษย์ ซึ่งบางกรณีก็ได้อาศัยภาษาที่เกี่ยวกับกามารมณ์ เป็นทางผ่าน แต่โดยส่วนมาก คำเหล่านั้น เมื่อถูกยืมใช้แล้ว ก็มิได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับอวัยวะเพศหรือกามารมณ์ อีกต่อไป
หนังสือเล่มนี้ คงไม่ใช่คัมภีร์เรื่องคำหยาบ และไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้ครบถ้วนบริบูรณ์
เจตนาของผู้เขียน ประสงค์เพียงเพื่อเปิดปริมณฑลนี้
ให้มีนักภาษาสนใจศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจกันต่อไป
การพิมพ์ครั้งที่ ๓ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต้นฉบับไปมาก
เพื่อเป็นบันทัดฐาน ในการพิมพ์ครั้งต่อไป ถ้าจะมีขึ้นได้
กระนั้นก็ตาม “ความหยาบคาย” ในสังคมไทยยังมีอีกมาก ความหยาบคายเหล่านั้น มิได้แสดงออกด้วยคำหยาบ จึงไม่ใช่ความหยาบคายของถ้อยคำ คนที่กระทำการอันหยาบคาย หยาบหยาม และหยาบช้าสามานย์เหล่านั้น ชีวิตทั้งชีวิต เขาอาจจะไม่เคยพูดคำหยาบเป็นภาษาไทยเลย แม้แต่คำเดียว แต่สิ่งที่เขาทำต่อบ้านเมือง(ซึ่งหมายถึง ประชาชนส่วนรวม) หยาบคายยิ่งกว่าคำว่า ควย! หยาบหยามยิ่งกว่าคำว่า ไอ้หน้าหี! และเป็นการสบถสาบแช่งเสียยิ่งกว่า ไอ้ฉิบหาย! เพราะมึงคนเดียว... เสียอีก
ผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่อาจเหมารวมเรียกว่า “ฅนเดือนตุลา” ซึ่งท่านผู้อ่านที่เคารพ อย่าได้สะเพร่าบ้องตื้น ตีขลุมว่า เหมือน ๆ กันหมด “ฅนเดือนตุลา” เหมือนกันอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา กับ เหตุการณ์ ๑๖ ตุลา กันมา และแต่ละคน ต่างก็ได้ข้อสรุปเฉพาะตัวที่มิได้เหมือนกัน ข้อสรุปเฉพาะตัวของผู้เขียนก็คือ หลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ก็ไม่ใคร่จะเชื่อถืออะไรอีกเลย นอกจาก “ภาษา เซ็กส์ และศิลป์”
ต่อเหตุการณ์พื้นที่ชายแดนด้านเหนือของประเทศมาเลเซียนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ยังไม่ได้ถึงหนึ่งในร้อยของเหตุการณ์ตุลาคม จึงขอส่งความปรารถนาดี และอำนวยอวยชัย ให้ชนะด้วยกันทุก ๆ ฝ่าย เพราะว่ามีหลายฝ่าย แบบที่นักธุรกิจชอบพูดว่า win, win situation คือ ขอให้ต่างฝ่ายต่างได้รับชัยชนะ ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ ต่างฝ่ายต่างบรรลุ วัตถุประสงค์
อะเมซซิ่งไทยแลนด์ “เมื่อคนแคระขี้โม้อยากโชว์ความเป็น ‘แมน’ หาเรื่องกับคนแขก ทำไมคนไทยสายพันธุ์อื่น ๆ จะต้องเป็นฝ่ายสูญเสียด้วยเล่า” ( เขียนว่า “แคระ” นะครับ ไม่ได้เขียนว่า “แคะ” คนพิมพ์อย่าได้พิมพ์ผิดล่ะ เดี๋ยวจะมีเรื่องกันเปล่า ๆ ) เดิมพันแห่งความสูญเสีย ได้แก่ การเสียแผ่นดิน เสียชีวิต เสียทรัพย์ เสียญาติและมิตรสหายทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม แล้วยังจะ เสียใคร และ เสียอะไร อีกบ้างก็ไม่รู้ หรือว่า คนแคระขี้โม้มีเจตนาซ่อนเร้นทรยศหักหลัง “แผ่นดิน” ส่งเสริมทางอ้อมให้ Patani Darussalam (Patani, Land of Peace) อันเป็นชื่อประเทศใหม่ในจินตนาการ กลายเป็นความจริง อยากจะไปเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศนั้นหรืออย่างไร ไม่เข้าใจ…
ปัญหาคนแขกในประเทศฝรั่งเศส ลุกขึ้นมาทวงสิทธิโดยใช้ความรุนแรง เผารถยนต์ไปนับพัน ๆ คัน ตามเมืองต่าง ๆ ราว ๓๐๐ เมืองทั่วประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นตัวอย่างที่ดี (แต่มีคนตายเพียงสองสามคนเอง) ความวุ่นวายเกิดขึ้น ๑๒ วันก็สงบลงได้ ไม่ใช่ยืดเยื้อยาวนานเป็นปี ๆ เป็น “ลิงแก้แห” (สำนวนอ่านพบ และยืม มาจากสื่อดิจิทัล)
เขาแก้ปัญหากันอย่างไร จุดแห่งการประทุนั้น เกิดจากการใช้ “คำหยาบ” ของท่านรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส นายซาโกซี ที่ไปพูดคำสบถ ว่ากล่าวยุวชนลูกหลานคนอพยพรุ่นที่สอง ซึ่งเกิดบนแผ่นดินฝรั่งเศส เและได้สิทธิแห่งการเป็นพลเมืองสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามหลักกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ กฎหมายไทยเหมือนกับกฎหมายฝรั่งเศส เรียกว่า “หลักดินแดน” หรือที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “ดรัว ดู โซล” (droit du sol) ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า “jus soli”
นายซาโกซี บอกว่าคนเหล่านั้นเป็น “สวะ” และ “อันธพาล” โดยพูดภาษาฝรั่งเศสว่า “racaille” และ “voyous” โดยที่นายซาโกซีเอง ก็เป็นบุตรของบิดาซึ่งอพยพมาจากต่างประเทศ คือ ประเทศฮังการี
แต่ความรุนแรงของฝ่ายต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่เหมือนสังคมฝรั่งเศส อย่างน้อยที่สุด วัฒนธรรมฝรั่งเศส ก็มีจารีตนิยมเรื่องการ “ปฏิวัติของประชาชน” เพราะฉะนั้น จึงมักเห็นกันว่า จะดีชั่วอย่างไร การลุกขึ้นมาทวงสิทธิของพลเมืองนั้น ย่อมจักนำไปสู่การแก้ไขที่ดี แต่กระนั้นก็ดี ผู้เขียนก็ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง โดยไร้เหตุผลที่ดี ไม่มีเหตุอันน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะในสังคมฝรั่งเศส หรือที่อื่นใด "Make love, not war!" ซึ่งถ้าเราจะแปลประโยคนี้ โดยประยุกต์ใช้คำหยาบจากหนังสือเล่มนี้ เราก็จะแปลได้ ว่า "เลิกรบกันเหอะ เย็ดกันดีกว่า!"
การใช้คำหยาบ บางครั้งก่อให้เกิดปัญหา เพราะความหยาบคาย ไม่เคย “สยบปัญหา” ได้ และการใช้เงินแก้ปัญหาแห่งความสิ้นหวังในชีวิตคน ผู้ที่สังคมไม่เปิดโอกาสให้เขามีอนาคต ก็ไม่น่าจะแก้ปัญหาชีวิตดวงนั้น ๆ ได้ เอ๊ะ เราจะถือได้หรือไม่ ว่า การเอาเงินตบหน้าคนสิ้นหวัง เป็นความหยาบคายชนิดหนึ่ง
สวัสดีครับ และขอบคุณที่อ่าน
แดง ใบเล่
บ้านนาพญา
มกราคม ๒๕๔๙
"คำหยาบ และบทบาทของคำหยาบในภาษาไทยกลาง"
แนะนำ หนังสือค้นคว้าวิจัย ส่วนบุคคล
ชื่อ "คำหยาบ และบทบาทของ คำหยาบในภาษาไทยกลาง"
ตีพิมพ์ไปแล้วครั้งสองครั้ง
ท่านที่สนใจด้านการใช้ ภาษาไทย อ่านตัวอย่าง ได้ที่นี่ Exciting!
ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบเล่ม
ท่านสามารถจะทะเลาะในตลาดสด ได้ทุกตลาด
และแช้ทรูม หยาบ ๆ ได้ทุกแช้ทรูม-Wow!
อีกประการหนึ่ง ท่านที่นิยม
หรือมีเป็นนิสัยฝังลึก
-ชอบที่จะ ด่าทอ ผรุสวาท ลูกเดียว
แบบว่าเหตุผลไม่ต้อง! น่าเบือ่!
หนังสือเล่มนี้ คือ "คัมภีร์" ที่ท่านวางไว้หัวนอน
OMG สวรรค์ทรงโปรด!
ประโยชน์สุดท้าย สำหรับท่านที่เกลียดคำหยาบ
หนังสือเล่มนี้ ทำหน้าที่เป็น"วัคซีน" ป้องกันอันตราย
จากคำหยาบใน อินเตอร์เนต
ได้ทุกรูปแบบ ที่หยาบ
--------------------------------------------------------------------
สารบัญ
คำนำจากผู้เรียบเรียง
บทที่ ๑ ทำไมต้องสร้างงานเรื่องนี้ขึ้นมาด้วย?
บทที่ ๒ ความสุภาพกับมารยาทในสังคมไทย
บทที่ ๓ ผู้ดี “อังกฤษ” ในสังคมไทย
บทที่ ๔ หยาบ หรือ ละเอียด
บทที่ ๕ ว่าด้วยคำหยาบคาย
บทที่ ๖ ถ้อยคำ ที่คอยทอนค่า
บทที่ ๗ หยาบหยาม
บทที่ ๘ การแสดงออกของคำหยาบหยาม
บทที่ ๙ คำสบถ สาบาน สาปแช่ง
บทที่ ๑๐ อยากบิ๊ก
คำส่งท้าย
เดฟ นาพญา - ปรีชา ทิวะหุต
Not for commercial use. ไม่สงวนสิทธิ์ฉบับดิจิทัล ไม่ได้เผยแพร่เชิงพาณิชย์ แต่แบ่งปันเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา สำนักพิมพ์ใด สนใจจะตีพิมพ์เป็นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ โปรดติดต่อเจ้าของงานที่อีเมล salaya123@yahoo.com -ขอบคุณครับ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างจากบทต่าง ๆ
ตัวอย่าง-จาก คำนำ
หนังสือเล่มนี้มิใช่หนังสือประเภท linguistic nationalist แบบที่เคยระบาด ในประเทศอังกฤษ ต้องการให้ภาษาอังกฤษบริสุทธิ์ ไม่มีคำฝรั่งเศสและละตินแฝงปนในการใช้ภาษา โดยมีคำขวัญว่า “Avoid Latin derivatives; use brief, tense Aglo-Saxon monosyllables.” ซึ่งปรากฏว่า ในประโยคคำขวัญ รณรงค์เพื่อความบริสุทธิ์ของภาษาอังกฤษดังกล่าวนั้น มีคำอังกฤษ แท้ อยู่เพียง คำเดียว คือคำว่า Anglo-Saxon นอกนั้นล้วนแต่เป็นคำยืมมาจากคำฝรั่งเศสและละติน ทั้งสิ้น
ภาษาไทยมีมาแต่เมื่อไรไม่รู้ คำไทยที่ใช้พูดเกิดก่อนคำไทยที่ใช้เขียนนานนักหนา แม้แต่ภาษาเขียนก็มีมาก่อนสมัยสุโขทัย แต่ใช้ระบบการเขียนและอักขระที่ผิดไปจาก ซอฟต์แวร์กับฟ็อนท์สุโขทัยที่เรายังใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คำไทยดั้งเดิมมีลักษณะเป็นคำโดด และการประสมของคำโดด เช่น ตีน และ ส้นตีน เป็นต้น
จินดามณี บัญญัติไว้ว่า พากย์(หรือ ภาษา)ต่าง ๆ ที่กลายพันธุ์อยู่ในภาษาไทย มีอยู่ ๘ พากย์ด้วยกันคือ มคธพากย์(ภาษาบาลี) สังสกฤฏพากย์(ภาษาสันสกฤต) สิงหฬพากย์ (ภาษาลังกา) ตะเลงพากย์(ภาษามอญ) ภุกามพากย์(ภาษาพม่า) กัมพุชพากย์(ภาษาเขมร) ชวาพากย์(ภาษาชวามลายู) หริภุญไชยพากย์(ภาษาลาวพุงดำ) ซึ่งต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) ได้เติมไว้อีกพากย์หนึ่ง ท่านเรียกว่า “อิงคลิศพากย์” อันได้แก่ ภาษาอังกฤษ
ตัวอย่าง-จาก บทที่ ๑ ทำไมต้องสร้างงานเรื่องนี้ขึ้นมาด้วย
รูปคำหยาบเป็นอย่างไร? ที่มาและบ่อเกิดของคำหยาบอยู่ที่ไหน? คำหยาบใช้กัน ในทางใด? หน้าที่ของคำหยาบคืออะไร? บทบาทของคำหยาบในภาษาไทยเราเป็นอย่างไร? กลไกทางภาษาทางสังคมและทางจิตวิทยากลไกใด ที่ชวนให้เกิด ส้นตีน ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ และ คำบ่งอวัยวะเพศ อันเป็นตัวอย่างของคำหยาบที่พบเสมอในภาษาไทยกลางซึ่งเป็นภาษา ของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล อันถือเป็น lingua franca ของการสื่อด้วยคำไทย ตั้งแต่ กลันตันถึงสิบสองปันนา
ตัวอย่าง-จาก บทที่ ๒ ความสุภาพกับมารยาท ในสังคมไทย
ภาษาแห่งบทกลอน คือ ภาษาของคนผู้ดี ภาษาของคนสุภาพ เพราะปราชญ์ชาวเปอร์เซียกล่าวไว้ว่า คนชั่วไม่อาจเป็นกวีได้ กวีจึงเท่ากับนักธรรม เช่น
โอ้ว่า ข้าน้อย ด้อยศักดิ์
ตกหนัก เพียงว่า จะอาสัญ
อาชีพ บีบรัด กัดฟัน
แจวตะบัน แบกหน้า คราจน
-กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเรียนชั้น ๘ ข
จากหนังสือ “แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์”
ธันวาคม ๒๔๖๗
ความเจ้าบทเจ้ากลอนสอนให้คนไม่หยุดอยู่เพียงพูดว่า “...น้ำตาลใกล้มด”
แต่ได้สอนให้เขารู้จักพูดอีกแบบว่า
ผาณิตผิชิดมด ฤจะอด บ่อาจมี
แม่เหล็กฤเหล็กดี อยะยั่ว ก็พัวพัน
เพชรน้ำหนึ่งของบทกลอนรุ่นใหม่บทหนึ่ง เป็นของ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” คือบทที่ว่า
เหมือนไข่มุก เมื่อหล่น บนจานหยก
วณิพก พ่ายสิ้น เพียงยินเสียง
มธุรส โอษฐ์ฉะอ้อน ประอรเอียง
ดาลเผดียง ดาเรศ เนตรอนงค์
Top Model รายที่สอง เป็นแบบอย่างของคนสมัยใหม่ แต่เนื้อในเป็นคนยุคราชวงศ์เช็ง เป็นไพร่ด้วยความประพฤติ-มิใช่ชาติกำเนิด เป็นกระฎุมพีชั้นต่ำด้วยความคิดความอ่าน หยาบคาย และไร้กิริยาที่ดี-มิใช่เพราะการสังกัดชั้นชนหรือวรรณะ
ตัวอย่าง-จาก บทที่ ๓ ผู้ดี “อังกฤษ” ในสังคมไทย
ถ้าจะเปรียบลอนดอนกับปารีสในเรื่องความงามต้องตากันแล้ว ลอนดอนยังห่างความเจริญ ในเชิงศิลปะอยู่ไกลลิบ กรุงปารีสมีอาเวนิวเดอชองป์เอลีเซ่, ปลาสเดส์เซตัวล์, ปลาสเดอ ลาคองคอร์ด, มาดเดล็น และกร็องด์บูลวาร์ด ส่วนอังกฤษแม้จะมีรีเยนส์สตรีตและปิกาดีลี กับอ๊อกซฟอร์ดเซอร์กาส ก็จะหาถนนหรือสถานที่ใด ๆ งามเท่านครปารีสไม่ได้ อนุสาวรีย์ และรูปตามสี่แยกถนนต่าง ๆ ของกรุงปารีสแลดูงามเป็นรูปกระทัดรัดทุกอย่างทุกชนิด ส่วนอนุสาวรีย์และรูปปั้นต่าง ๆ ในลอนดอนแลดูทึมทึกเกือบไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไรแน่…
-มจ.อากาศดำเกิง “ละครแห่งชีวิต”
ความแตกต่างระหว่างกรุงลอนดอนและกรุงปารีสตามที่ข้าพเจ้าสังเกตนั้นคือ ลอนดอนปลูกนิสัยคนให้เป็นพลเมืองของประเทศอังกฤษ ส่วนปารีสปลูกนิสัยเราให้เป็นพลเมืองของโลก…
-มจ.อากาศดำเกิง “ละครแห่งชีวิต”
แต่ก่อนอื่น มีสหายสตรีของผู้เขียน ทำหน้าที่ "นางกำปั่นเหาะ" ภาษาเขมร แปลว่า แอร์โฮสเตส เธอเล่าให้ฟังว่า คนไทยที่ มีเงินนั่งเครื่องบิน "ขอบใจคน ไม่เป็น" เวลาที่เธอบริการถาดอาหาร และเครื่องดื่มในห้องโดยสารบนเครื่องบิน ลำทั้งลำ น้อยนักที่จะมีผู้โดยสารคนไทย กล่าวคำ "ขอบใจ" หรือ "ขอบคุณ"
เธอเล่าว่า แม่งรับถาดไปแดก หน้าตาเฉยงั้นแหละ จะขอบใจสักคำไม่มี ต่างจากผู้โดยสารฝรั่ง ทีแม่ง "แต้งกิ้วแล้ว แต้งกิ้วอีก"
...สำหรับเรื่องเล่า ของเพื่อน“นางกำปั่นเหาะ” ที่ผู้เขียนได้ยกเกริ่นไว้ตอนต้นนั้น ต่อมาผู้เขียนก็ได้วิจัยดูด้วยตนเองตั้งหลายครั้ง หลายเที่ยวบิน และเห็นจริงเห็นจังแบบ “ประจักษ์แก่ใจกูเอง” ดังคำเล่าขาน คือ ได้เห็นกับตาว่า พวก’แม่ง รับถาดอาหาร ไปแดกกันหน้าตาเฉย ทั้งลำ ทั้ง ๆ ที่แต่ละคน สวมเสื้อผ้า “เนื้อดี” ก็ยังดีนะ ที่พวก แม่งไม่แดกถาดเข้าไปด้วย!
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ขออนุญาตท่านผู้อ่าน สรุปว่า พิเคราะห์แล้ว เราคงจะยอมรับข้อความจริงที่ว่า สังคมไทยได้ “อภิวัฒน์” สู่สังคมชนิด
“ด้านได้
อายอด”
หรือจะพูดแบบขี้เกียจจะเป็นผู้ดี ไม่ว่าจะโดยนิยามใด
ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมชนิด
“เงินมา ผ้าหลุด” นั่นเอง…
ซึ่งว่าที่จริง ก็จะ สนุกไปอีกแบบ
...หรือพูดให้ครบถ้วนกระบวนความ แบบที่ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่ขอนำมากล่าวซ้ำ เต็มประโยค ว่า
เงินมาผ้าหลุด
เงินสะดุด...
ผ้าหยุดที่สะดือ!
ตัวอย่าง-จาก บทที่ ๔ หยาบ หรือ ละเอียด
คำหยาบ คือ คำเช่นไร?
อย่างไร จึงถือว่าหยาบ?
คำหยาบแยกพิจารณาได้สองสถาน คือ ในแง่เนื้อหาหรืออรรถะ กับแง่การประยุกต์ใช้
โดยอรรถะ คำที่มีเนื้อหาหยาบ เราหมายความถึงสิ่งที่คำ ๆ นั้นเจาะจงถึง หรือ เป็นตัวแทนมา ซึ่งจะเป็นส่วนต่ำของร่างกายดังกล่าวแล้วในบทก่อน เช่น อวัยวะเพศ กิริยา และกิจกรรมของอวัยวะเพศ ทวารหนักทวารเบา ของเสียที่ขับออกจากทวารหนักทวารเบา ของเน่าของเหม็น มลภาวะ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามลพิษทางวิทยาศาสตร์ไม่เป็นของหยาบ เช่น ควันพิษจากท่อ ไอเสียรถยนตร์ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม วัตถุกัมมันตภาพรังสี ขยะคอมพิวเตอร์ สารตกค้างในอาหาร และเคมีตกค้างในไร่นาที่ปนเปื้อนมาในผลผลิตด้านเกษตร ทั้ง ๆ ที่มลพิษเหล่านั้น ล้วนเป็นภยันตรายต่อมนุษย์
แล้วคำหยาบคาย คือ คำชนิดใด?
๑.คำลามก
๒.คำต่ำเชิงสังคม
๓.คำที่ขาดความละเอียด
๔.คำระคายหู
๕.คำลืมอาย
ทั้งหมดนั้น ณ ที่นี้จะไม่นิยาม แต่จะยกตัวอย่างแทน คือ คำหยาบประเภทลามก เช่น หี ที่ไม่หยาบคือ โยนี คำหยาบประเภทต่ำเชิงสังคมเช่น กู ไม่หยาบคือ ข้าพเจ้า คำหยาบประเภทคำที่ขาดความละเอียด เช่น ส้นตีน ไม่หยาบคือ ส้นเท้า คำหยาบประเภทระคายหู เช่น แดก ไม่หยาบคือ รับประทาน คำหยาบประเภทลืมอาย เช่น เงี่ยน ไม่หยาบคือ มีอารมณ์
ตัวอย่าง-จาก บทที่ ๕ ว่าด้วยคำหยาบคาย
ต้นบอนคัน ก็ยังหย่อน กว่าบอนปาก
พอแว่วกราก มักจะกราว ราวกับฝน
-ของโบราณ
“Gee…did some body shit in your mouth?”
-จากภาพยนตร์อเมริกันเรื่องหนึ่ง-ยุคปัจจุบัน
ปากเหม็นอมยา ปากหมามีสิทธิอมตีน
-แหล่งนิรนาม
สวย กับ งาม ต่างกันอย่างไร?
งาม ในภาษาไทยบ่งบอกถึงผลิตผลเชิงวัฒนธรรม สวย หมายถึงผลิตผลของธรรมชาติ เช่น กิริยามารยาทนั้นเรียกว่า “งาม” แต่หน้าตานั้นเรียกว่า “สวย” หรือ ทัศนียภาพตามธรรมชาติเราบอกว่า “วิวสวย” เราจึงมีสำนวนว่า “สวยแต่รูป จูบไม่หอม” คำอธิบายนี้ มิได้เป็นการเบ็ดเสร็จ แต่ยกขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
ตัวอย่าง-จาก บทที่ ๖ ถ้อยคำที่คอยทอนค่า
ทำปั้นเจ๋อ เย่อหยิ่ง เป็นกิ้งก่า
หน้าจะดำ คล้ำฝ้า น้ำตาตก
อีกาฝาก ปากกล้า ทำลามก
กลับมายก โทษทัณฑ์ ให้พันพัว
-จาก วรรณคดีไทยเล่มหนึ่ง
You can lead a whore to culture but you can’t make her think.
-Oscar Wilde
ท่านชักนำกะหรี่ ไปสู่วัฒนธรรมได้ แต่ท่านจะไม่มีวัน ทำให้เธอรู้จักคิด
- ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนชาวอังกฤษ
คำหยาบและคำสุภาพ เป็นการใช้ภาษาที่ส่อคุณค่าหรือคุณสมบัติทางวัฒนธรรมและสังคม การศึกษาเรื่องคำหยาบคายและคำสุภาพ ทำให้เราต้องพิเคราะห์ต่อไปถึงหน้าที่สองประการของถ้อยคำ หรือจะเรียกว่าองค์ประกอบของการใช้ภาษา ก็ได้กล่าวคือ...
คำแต่ละคำ บ่งชี้วัตถุ และขณะเดียวกันก็ บ่งชี้ “คุณค่า” ตามเจตนาของผู้พูด
....การใช้คำหยาบ คือ การใช้ภาษารูปแบบหนึ่ง ที่มีมาก่อนหนังสือเล่มนี้ และมีมาก่อนที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จะเกิดเสียอีก การแสดงออกทางภาษาด้วยคำหยาบ มีเจตนาอีกประการหนึ่ง เพื่อจะทอนค่าหรือทอนราคาสิ่งที่พูดถึง แล้วในกระบวนการทอนค่าทอนราคาวัตถุหรือสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้น คำหยาบก็จะลามไป ลดราคาบุคคล หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องลงด้วยในตัว เช่น เราพูดว่ารัฐบาล หน้าหี นอกจากวัตถุหรือสิ่งที่พูดถึง อันได้แก่ “รัฐบาล” จะถูกถ้อยคำทอนค่าลงต่ำแล้ว ตัวบุคคลอันประกอบกันเป็นสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล” ก็จะถูกลดราคาลงพร้อมกันไปด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลประเทศนั้น ก็อาจเป็นนายกรัฐมนตรี หน้าหี ไปด้วย เป็นต้น ในประเทศฝรั่งเศสเคยมีรัฐมนตรีท่านหนึ่ง พูดถึงการทำข่าว ของผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกโทรทัศน์ ว่า con! ซึ่งเป็นคำหยาบในภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นไทยตรงตัวได้ว่า หน้าหี ปรากฏว่า คนในวงการสื่อของฝรั่งเศส ถือว่า มาว่ากล่าวลาม ทอนราคาคนในวงการด้วย และเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีรายนั้นลาออก และท่านรัฐมนตรีก็ได้ลาออกไป เพราะคำ ๆ เดียวแท้ ๆ
ตัวอย่างจาก บทที่ ๗ หยาบหยาม
ในเรื่องความรักแล้ว อาการเอื้ออาทรใด ๆ ที่มิได้สงวนไว้เฉพาะบุคคล(ผู้เป็นที่รัก)
ความอาทรนั้น ๆ ล้วนเป็นการหยามกันทั้งสิ้น
- ฌัง-จาค รุสโซ
นักคิดนักเขียนฝรั่งเศส ค.ศ.๑๗๑๒-๑๗๗๘
เทียบประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ.๒๒๕๕-๒๓๒๑
รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ-พระเจ้าตากสิน
คำหยาบ เป็นเครื่องแสดงออกด้วยวาจา ถึงความไม่สบอารมณ์ ความรู้สึกดูหมิ่น ดูถูก ดูแคลน ความเป็นปฎิปักษ์ โดยตัวของมันเองแล้วคำหยาบคายจะลดค่า หรือทอน ราคาของวัตถุที่มันถูกนำไปเรียกขาน และขณะเดียวกันก็จะมีผล ลามลดค่า บุคคลผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัตถุนั้นด้วย เช่น งานชุ่ย คนหน้าหี เด็กเปรต เป็นต้น
.....แนวโน้มที่จะลงมือทำของประธาน “คู่กัด” เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการหยาบหยามของเรามี ๓ ประการคือ
๑.ความเกลียด และ ความขยะแขยง ก่อให้เกิดความปรารถนาจะผลักไสกรรม หรือปรารถนาจะเหยียบขยี้กรรมให้จมธรณีต่อหน้าต่อตา ด้วยการกระโจนเข้าใส่แล้วทำลายเสีย
๒.การดูถูก และ การเย้ยหยัน ก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะเปลื้องคุณค่า และปลดป้ายราคาออกเสียจากกรรม ให้ล่อนจ้อนไร้ค่า ไม่มีราคา ทั้งนี้ด้วยการเฉยเมย ไม่ไยดี ไม่แยแส ไม่ดูดำดูดี
๓.ความไม่พอใจ และ ความเบื่อหน่าย ก่อให้เกิดความปรารถนาจะตีตัวออกห่าง หรือ ห่าง ๆ ไว้ดีกว่า
แนวโน้มที่จะลงมือทำของประธานข้อ ๑. ทำให้เกิดคำหยาบหยามว่า ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์
แนวโน้มที่จะลงมือทำของประธานข้อ ๒ ทำให้เกิดคำหยาบหยามว่า ไอ้หน้าหี ไอ้หน้าหมา
แนวโน้มที่จะลงมือทำของประธานข้อ ๓ ก่อให้เกิดคำหยาบหยามว่า ไอ้ส้นตีน ไอ้สากกระเบือ
อารมณ์ทั้งสามชนิดนี้ เป็นแหล่งกำเนิดแหล่งใหญ่ที่สุดของ คำหยาบหยาม ซึ่งล้วนแต่ได้อาศัย คำหยาบคาย เป็นเครื่องมืออุปกรณ์
ตัวอย่างจาก บทที่ ๘ การแสดงออกของคำหยาบหยาม
เนื่องจากคำหยาบหยาม หยิบยืมคำหยาบคายมาใช้ในการแสดงออกซึ่งการดูหมิ่น ดังนั้น การหยาบหยามจึงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จัดระเบียบการออกอาการ โดยลักษณะของ คำหยาบคาย ที่ถูกยืมมาใช้นั่นเอง และ โดยเงื่อนไขในการใช้คำหยาบหยาม ในแต่ละกรณี
เราประจักษ์แล้วว่า คำหยาบหยามเป็นถ้อยคำที่บ่งค่าจำนวนน้อยหรือระบุราคาต่ำ ตลอดจนแสดงความไม่สบอารมณ์ สาระสำคัญในการประยุกต์ใช้หรือระบบปฏิบัติการ (operating system)ของถ้อยคำชนิดนี้ จะ ไม่ แสดงความคิดอ่าน หรือ ไม่ แสดงเหตุผล ถ้อยคำชนิดนี้แสดงออกซึ่ง “อารมณ์” เพียงถ่ายเดียว
บริบทข้างบนบ่งว่า ปริมณฑลและบริเฉทแห่งการประยุกต์ใช้คำหยาบหยาม จะกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ขณะเดียวกัน ก็จะมีลักษณะคลุมเครือ มิได้จำเพาะเจาะจง เช่นคำหยาบหยามว่า ไอ้เหี้ย ทุก ๆ คนอาจจะเป็น “ไอ้เหี้ย” ได้ด้วยกันทุกคนมิได้ถูกจำกัดสิทธิ ส้นตีน! นี่ก็เหมือนกัน ทุก ๆ คน รวมทั้งคนพูดล้วนมีสิทธิที่จะเป็น “ส้นตีน” เมื่อคู่กรณีมิได้อยู่เฉพาะหน้า
โดยทั่วไป การแสดงออกเชิงหยาบหยาม กรณีที่คู่กรณีมิได้อยู่เฉพาะหน้า ถือว่าเป็นการนินทาว่าร้าย หรือหมิ่นประมาท มิใช่หยาบหยาม อย่างไรก็ดี มีกรณียกเว้นว่า ผู้แสดงอาจใช้ถ้อยคำหยาบหยามโดยมิได้อยู่เฉพาะหน้ากันก็ได้ ตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับของลักษณะนี้คือ ถ้อยคำขีดเขียนตามผนังห้องน้ำสาธารณะ
ถ้าเขียนผนังห้องน้ำว่า “เย็ดแม่ช่างกลกนก” อย่างนี้เข้าข่ายนินทา เพราะเรา ซึ่งเป็นผู้อ่านข้อความนั้น ไม่ได้เป็น “ช่างกลกนก” แต่ถ้าเขียนว่า “เย็ดแม่คนอ่าน” หรือ “เย็ดแม่ทุกคนที่อ่าน” เช่นนี้จะเข้าข่ายหยาบหยาม เพราะว่าคำหยาบหยามเป็นคำที่ผู้พูด ใช้พูดโดยตรงกับผู้ฟัง ซึ่งกรณีนี้ก็คือ “เราท่าน” ที่เป็นผู้อ่านข้อความนั้น ด้วยตนเอง
เพราะฉะนั้น คำหยาบหยามจะ ไม่ว่าร้ายบุคคลที่สาม คำหยาบหยาม จึงจะไม่เขียนผนังห้องน้ำ ว่า
“ช่างกลกนก เป็นพ่อเทคโนบางขุนเทียน!”
แต่ คำหยาบหยาม จะเขียนผนังห้องน้ำ ว่า
“ช่างกลกนก พ่อมึงไง!”
ตัวอย่างจาก บทที่ ๙ คำสบถ สาบาน สาปแช่ง
คำสบถ สาบาน สาปแช่ง ถือเป็นหมวดหนึ่งของคำหยาบ เพราะว่าที่จริงก็คือ ถ้อยคำที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคำสวดบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่เคารพนับถือ หรือจะพูดว่าเป็น บทสวดแห่งนรก บทสวดของภูติผี ก็ไม่ผิด ถ้าพูดแบบฝรั่งก็คือ บทสวดของซาตาน
อย่างไรก็ดี คำทำนองคล้าย ๆ กันของคำสามจำพวกนั้น แต่อยู่ด้านดีงาม ได้แก่ คำอธิษฐาน ซึ่งจะได้อ้างอิงถึงบ้างเล็กน้อย เพื่อเป็นการ contrast ชูประเด็นให้เด่น แต่เราจะไม่ละลาบละล้วง จ้วงจาบ สามหาว ยกตัวอย่างบทสวดมนตร์ไม่ว่าในศาสนาใด ๆ มาเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของเราท่านทั้งหลาย ตัวอย่างส่วนใหญ่จะมาจากวรรณคดีเท่านั้น
ตัวอย่างจาก บทที่ ๑๐ อยากบิ๊ก
ความทะยานอยาก จะใหญ่โตทุกชนิด
ล้วนเกิดขึ้นจาก หัวใจที่ว่างโหวง
และ ประหวั่นพรั่นพรึง…
-มาควิส เดอ แม็งเตน็อง
นักเขียนฝรั่งเศส ค.ศ.1635-1719
เทียบประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ.๒๑๗๘-๑๑๖๒
รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง-พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ