"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

"รายการข่าว น้ำเน่ากว่าละคร" news programs are more of sewage than telenovela

เจตนา-เพื่อทำความเข้าใจ เชิงวิจารณญาณ กับข่าวทุกข่าว

แรงบันดาลใจ-ได้จาก เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงศึกษาธิการ ฝรั่งเศส
ทำ คู่มือการรับฟังข่าวสาร ให้นักเรียนมัธยมฝรั่งเศส ได้ศึกษา


--งานสั้น ๆ เขียนประเด็นละสองย่อหน้า เรื่อง "รายการข่าว น้ำเน่ากว่าละคร"
เริ่มเผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2554
อ่านตอนหนึ่งตอนใด ก่อนหลังก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงลำดับ ครับ

-ข้อเขียนบทก่อน ๆ รวมไว้-ข้างล่าง รวม 14 ตอน ดังต่อไปนี้ ครับ

กลางเดือนสิงหาคม 2554
เหตุการณ์เทียม เพื่อเป็นข่าวน้ำเน่า คืออย่างไร [ตอน 14]

ท่านว่า มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 1) เกิดจากเจตนาจะกุ จะก่อ จะปลุกปั่น ยุแยงตะแคงบอน ของคนบางคน เช่น ตัวเราเอง เป็นต้น ให้มันเกิดขึ้นมา มันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ 2) เจตนาที่ว่านั้น ต้องการให้เหตุการณ์ดังกล่าวประทุขึ้น เพื่อ เป็นข่าว ได้โดยสะดวก และน่าถ่ายทำ น่ารายงาน น่าเผยแพร่ ทั้งแพร่ภาพและแพร่เสียง ที่สำคัญที่สุดคือ น่าเชื่อถือ เช่น เผายางรถยนต์เก่า ๆ ให้เกิดควันดำ มืดมิด เหมือนไฟไหม้ทั้งเมือง

เพราะฉะนั้น 3) จึงเป็น “ฝี” ที่สร้างขึ้น แล้วบวมแตกโดยไม่สนใจเรื่อง “สมุฎฐานวินิจฉัย” ขอให้บวมแล้วแตกเป็นใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ร่างกายคนยังแข็งแรงดี เช่น ควันดำเกิดจากเผายางรถยนต์เก่า สมุฎฐานวินิจฉัยไม่ได้ชี้ว่า เพราะไฟไหม้เมือง 4) มักจะมีลักษณะสอดคล้อง กับคำทำนายตอแหล อันประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจูงใจควาย [ตอน 14 เผยแพร่ กลางเดือนสิงหาคม 54

15 กรกฎาคม 2554
ข่าวสร้าง ต่างจากข่าวการตลาด หรือไม่ [ตอน 13]

มิตรสหายสาขาการตลาดบางท่าน อาจข้องใจ แต่ผู้เขียน ผู้เรียบเรียงบทความนี้ ขึ้นจากงานของปรมาจารย์ต้นความคิด เห็นว่า ท่านไม่มีเหตุที่จะต้องสงสัย

เพราะว่า กิจกรรมการตลาดจริง ๆ นั้น ท่านจัดขึ้นมาโฆษณาสิ่งที่เป็นของจริง ไม่ใช่ตอแหลขายปลอม เช่น ถ้าหลังจากโกหยก ลงทุนปรับปรุงบริการพื้นฐานของโรงแรมเสร็จแล้ว นักการตลาดไปช่วยจัดงานส่งเสริมธุรกิจ ให้กับโรงแรมโกหยกยุคปรับปรุงใหม่ กรณีนี้ เนื้องานย่อมแตกต่าง เป็นคนละเนื้อกัน กับงานฉลองครบยี่สิบเอ็ดปีที่จัดขึ้นดุ่ย ๆ เพื่อยกระดับเรตติ้ง แตกต่างกันดุจผ้าไหมแท้กับผ้าไหมเทียม กิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับงานมอเตอร์โชว์ ก็ไม่ใช่เหตุการณ์สร้าง หรือเหตุการณ์เทียม เพราะงานนั้นที่ไบเทค บางนา เขาแสดงรถยนต์จริง ไม่ใช่รถยนต์กงเต็ก [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 15กค.54]

ศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2554
เคล็ดวิชา คือ เหตุการณ์สร้าง + ความดัง [ตอน 12]

“ยิ่งลักษณ์: มัคคุเทศก์สู่เหตุการณ์เทียม” ชื่อตำราของอาจารย์บูรฺติน พิมพ์มาครึ่งศตวรรษ รู้จักกันทั่วไป ไม่จำเพาะแต่มืออาชีพ อาจารย์ท่านชี้ให้ระวัง “เหตุการณ์สร้าง” ซึ่งเราน่าจะถือเป็นเคล็ดวิชาที่ ๑ บางทีถูกเหมาเรียกว่า “กิจกรรมการตลาด” ท่านเน้นให้คนอเมริกัน รู้จักแยกแยะ เหตุการณ์ปลอมที่กุสร้างกันขึ้นมา และนับวันจะมีอิทธิพลมากขึ้น ออกเสียจากเหตุการณ์จริง ที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต ของสังคม และของธรรมชาติ

ในสหรัฐอเมริกา ชนชั้นสูง-ไฮโซ ได้แก่พวกคนดังวงการต่าง ๆ “ความดัง” ถือเป็นเคล็ดวิชาประการที่ ๒ ซึ่งสร้างกันได้ ถ้าเรารู้จักสื่อหลาย ๆ สื่อ แล้วเขาช่วยประโคมเรา เราก็ดัง เช่น คนบางคนถูกทำการตลาดให้ดังก่อน แล้วมาเป็นนักการเมืองทีหลัง หรือประโคมกันก่อนแล้วเป็นดาราทีหลัง อนึ่ง อาจารย์ท่านว่า“วีรบุรุษ” กับ“ปูชนียบุคคล” เป็นแนวคิดของสังคมแบบบ้าน ๆ แต่ “คนดัง” เป็นแนวคิดเชิงมวลชน เกิดมาพร้อมกับสื่อมวลชน [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 54] 


ศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2554
คำทำนายตอแหล เพื่อจูงใจควาย [ตอน 11]

“ยิ่งลักษณ์: มัคคุเทศก์สู่เหตุการณ์เทียม” คู่อยู่กับ“คำทำนายแตอแหล เพื่อจูงใจควาย” ซึ่งเป็นข่าวสร้างที่คลาสสิคเสมอ ท่านผู้ได้รับเกียรติว่า คิดคำนี้ขึ้นมาในภาษาอังกฤษ สร้างสูตร และแจงผล เป็นนักสังคมวิทยาชื่อ โรเบิร์ต เมอร์ตัน ท่านนิยามศัพท์เข้าใจง่ายไว้ทำนองว่า เมื่อสีดาเกิดสำคัญผิดคิดว่า การแต่งงานกับราม จะแตกแยก ความกลัวต่อความแตกแยกนั้น ก็จะกระตุ้น ให้การแต่งงานแตกแยกจริง ๆ

คำทำนายตอแหล เพื่อจูงใจควาย เป็นข่าวสร้างต้นทุนถูกที่สุด เจตนาจะลวงให้เกิดความสำคัญผิดขึ้นมาก่อน เช่น ทำนายว่าการแต่งงานจะแตกแยก หรือทำโพลสวะ ๆ ตรวจสอบไม่ได้ ชี้ว่าเหี้ยจะมาวิน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้เกิดสำคัญผิดกันก่อน อันจะเป็นเหตุจูงใจควาย ให้เกิดความประพฤติ ที่เอื้อต่อคำทำนาย คอยโน้มให้คำทำนายกลายเป็นจริง เช่น โน้มน้าวให้สีดามีปากมีเสียงกับรามทุกวัน ซึ่งจะทำให้การแต่งงานแตกแยกจริง หรือหลอกให้กระบือหวั่นไหวว่า เหี้ยจะมาวิน ซึ่งจะโน้มนำการลงคะแนนเสียงของพวกกระบือ ทำให้พวกเหี้ยมาวินจริง ๆ [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 24มิย.54]


ศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2554
“ยิ่งลักษณ์: มัคคุเทศก์สู่เหตุการณ์เทียม” [ตอน 10]

ผู้ตั้งทฤษฎีข่าวน้ำเน่าและภาพสร้างในฝรั่งเศส คือนายฌัง โบ ดริ ญาร์ ซึ่งมองว่าเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ล เทรด เป็นภาพสร้าง รวมทั้งสงครามอ่าว ก็เป็นเหตุการณ์เทียมและน้ำเน่า โดยท่านอิงแนวคิดอยู่กับทฤษฎีศิลปะสมัยใหม่ บางชนิด

ส่วนในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ศาตราจารย์บูร์สติน มหาวิทยาลัยชิคาโก โรงเรียนเก่าของผู้เขียน ท่านเขียนหนังสือโคตรเทพ ข้ามห้วงเวลามหาสีทันดร อมตะนิรันดร์กาลมหานิยม ลงนะหน้าทองวิชาเหตุการณ์มายาและภาพสร้าง พิมพ์มาแล้วครึ่งศตวรรษ ไม่ได้อ้างอิงศิลปะชนิดใด แต่อาศัยการสังเกตการณ์ กับ การคิดหาเหตุผลเชิงปรัชญา(อากิวเม้น) ซึ่งยุคสมัยที่ การตลาด และ การแพร่ภาพแพร่เสียง มีบทบาทลึกล้ำ ตราบจนยุคทวิทเตอร์ ยูทูบ เฟสบุค บล็อค และพ็อดคาสต์ สมัยเช่นนี้หนังสือท่านยิ่งไปโลด ท่านผู้รู้ด้านนี้รู้จักทั่วโลก และทั้ง ๆ ที่ท่านเขียนติติง ไม่ได้เขียนชม ทว่าวงการสื่อภาพสร้าง กลับยกย่องท่านเป็นเอกอาจารย์ ชื่อหนังสือแปลตรงตัวว่า “ยิ่งลักษณ์: มัคคุแทศก์สู่เหตุการณ์เทียม”  [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 17มิย.54]


ศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2554
ตัวอย่าง-ข่าวน้ำเน่าที่ชั่วกว่าละคร [ตอน 9]
ข่าวน้ำเน่าทั้ง 2 ตัวอย่างที่ยกมาแล้วนั้น ล้วนเป็นข่าวดี คือ 1)ภาพครอบครัวแสนอบอุ่น ที่ตั้งแสดงอยู่ตามหน้าร้านถ่ายรูป 2)งานฉลองยี่สิบเอ็ดปี ที่จัดขึ้นเพื่อยกระดับเรตติ้งโรงแรม แต่ไม่ได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพ หรือบริการพื้นฐาน ของโรงแรมเลย

อย่างไรก็ดี ข่าวน้ำเน่า และชั่วด้วย ก็มีได้ ด้วยการประดิษฐ์เหตุการณ์ กุเรื่องขึ้นมา เพื่อจะได้ถ่ายทำเป็นข่าว แล้วเจือสมความชั่ว เลวยิ่งกว่าละคร คือมีคนตายจริง ๆ อยู่ในสถานการณ์ปลอมนั้น เช่น วางเพลิงเผาสำนักงานอ.บ.ต.แห่งหนึ่ง ในจังหวัดอันตระประเทศ แล้วฆ่าคนตายในเพลิง (มีคนตายจริง ๆ) จะได้ถ่ายทำและรายงานสมจริง เพื่อประโคมว่าเกิดสถานการณ์ลุกฮือทั่วประเทศอินเดีย (สถานการณ์ไม่จริง ที่พยายามกุขึ้น) ซึ่งกรณีนี้ ถ้าจะขอให้ท่านผู้อ่านนึกถึงละครสักเรื่องหนึ่ง ที่มีคนตายจริง ๆ อยู่ในฉาก ท่านก็คงจะนึกไม่ออกทันทีทันควัน หรือนึกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ ว่าเป็นละครเรื่องอะไร ตัวอย่างนี้แสดงว่า ข่าวน้ำเน่า ที่เป็นข่าวร้าย เน่าและชั่วกว่าละคร ก็อาจมีได้ [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 10 มิย.54]


ศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2554
“นักข่าวน้ำเน่า” รายงานภาพสร้าง ประหนึ่งเรื่องจริงแท้ [ตอน 8]

นักข่าวน้ำเน่า เขาจะเขียนรายงาน แพร่ภาพ แพร่เสียง เรื่องราวของภาพสร้าง เหตุการณ์เทียม สถานการณ์ปลอม การแถลงข่าวปลิ้นปล้อน อย่างเป็นตุเป็นตะ เช่น เพื่อยกศักดิ์ศรีโรงแรมตนและส่งเสริมธุรกิจ แทนที่โกหยกจะลงทุนปรับปรุงคุณภาพ และบริการพื้นฐานของโรงแรม โกหยกก็หาเรื่องสร้างภาพ จัดงานฉลองยี่สิบเอ็ดปี เชิดชูเกียรติโรงแรมว่าให้บริการอย่างมีคุณานุคุณ ต่ออำเภอนี้ตลอดมา ต่อจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของนักข่าวน้ำเน่า ที่จะรายงานเป็นตุเป็นตะ ปะติดปะต่อ เป็นเรื่องราวใหญ่โต เสมือนจริง ต่อไป

ซึ่ง เราอาจวิจารณ์แบบอ้างเหตุผลเชิงปรัชญา(อากิวเม้น) ได้ว่า ถ้าโรงแรมโกหยก ไม่ได้มีคุณานุคุณต่ออำเภอนี้มา โกหยกก็จะจัดตั้ง “คณะกรรมการเกียรติยศ-ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” ประกอบด้วยบุคคลสำคัญระดับอำเภอ ขึ้นมาไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าโรงแรมโกหยก มีคุณานุคุณต่ออำเภอถึงขนาดนั้นจริงไซร้ การจัดงานนี้ ก็ไม่จำเป็น [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 3 มิย.54]


ศุกร์ที่ 27 พฤษภา 2554
ไม่ได้ใส่สีตีไข่ ข่าวน้ำเน่าไม่ได้โกหก-แต่พกลม [ตอน 7]

ทั่วโลกใคร ๆ ก็ทราบ เมื่อโกหยกเถ้าแก่โรงแรมในอำเภอ ถามที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ว่า จะยกระดับเกียรติยศศักดิ์ศรีเรตติ้งโรงแรมตนได้อย่างไร ต่อปริศนานี้ ยุคก่อนภาพสร้างเขาจะแนะนำ ให้ปรับปรุงห้องโถงโรงแรมเสียใหม่ ติดผ้าม่านใหม่ตามห้องพัก ซ่อมแซมห้องน้ำในห้องพัก อีกนัยหนึ่ง ให้ลงทุนปรับปรุงพื้นฐานของธุรกิจ

แต่ถึงยุคสร้างภาพ เขาจะบอกว่า ปีนี้โรงแรมย่างยี่สิบเอ็ดปี ก็ทำทีเป็นฉลองแล้วกัน ตั้ง “คณะกรรมการเกียรติยศ-ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” ขึ้นมา ประกอบด้วย เฮียเล้งเจ้าของตลาดสด เจ๊เกียวประธานบริษัทรถทัวร์ คุณสมชายนายก อ.บ.ต. เป็นต้น ในวันงาน จัดพิธีศาสนาตอนเช้า ค่ำมีงานเลี้ยง พร้อมรายการบันเทิงบนเวที มีคนสำคัญ เช่น หัวหน้าสำนักงานท่องเที่ยวอำเภอ สมาชิกสภาจังหวัด ฯลฯ เวียนขึ้นกล่าวอวยพร พูดตามที่โกหยกเตรียมไว้ให้ เน้นคุณานุคุณ ที่โรงแรมของโกหยก มีต่ออำเภอนี้ เชิญสื่อมวลชนมาทำข่าว เผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ ใบปลิว วิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์เคเบิ้ล และอินเตอร์เนต เป็นอันบรรลุเป้าประสงค์ ของการยกระดับศักดิ์ศรีเกียรติยศเรตติ้งโรงแรม การจัดงานประเภทนี้ท่านเรียก “เหตุการณ์เทียม” หรือ “สถานการณ์สร้าง” หรือ “ภาพสร้าง” เช่นเดียวกับ ภาพถ่ายครอบครัวแสนจะอบอุ่นของเราท่าน ที่ตั้งแสดงอยู่ตามร้านถ่ายรูป ดังกล่าวแล้ว [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 27พค. 54]


ศุกร์ที่ 20 พฤษภา 2554
“ข่าวน้ำเน่า” มีชีวิตปลอม ๆ อยู่ในโลกลิเก ๆ [ตอน 6]

โลกของสื่อน้ำเน่า ไม่ใช่โลกที่เป็นจริงของเราท่านทั้งหลาย แต่คืออีกโลกหนึ่งต่างหาก ข่าวน้ำเน่า มักจะเกิดจากเหตุการณ์ประดิษฐ์ ทำเทียมขึ้นมา คล้ายละครฉากหนึ่ง ทำเทียมแต่ว่าก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบของจริงใด ๆ ท่านผู้รู้บางท่านเรียกว่า “ข่าวสร้าง” เพราะมีผู้มีเจตนา ตั้งใจ สร้างขึ้นมาล้วน ๆ จากอากาศธาตุ

แม้จะเป็นสิ่งสร้าง อยู่ในโลกนี้คือละคร เป็นน้ำเน่าก็จริงอยู่ แต่ก็มักจะสร้างให้เห็นเป็นข่าวดี อีกนัยหนึ่งเน่าแต่สวย และดีไม่มีชั่วปน ตัวอย่างเจนตา ได้แก่ ภาพถ่ายครอบครัวอันสุดแสนจะอบอุ่น ของเราท่านทั้งหลาย ที่ตั้งแสดงอยู่ตามหน้าร้านถ่ายรูป เป็นต้น ภาพสร้างภาพนี้ ก็มักจะเป็นจริง เฉพาะที่เห็นอยู่ในโลกลิเก ๆ ตามรูป เท่านั้น [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 20พฤษภา54]


ศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2554
ข่าวที่ไม่ใช่ “ข่าวน้ำเน่า” [ตอน 5]

เมื่อวาน เพื่อนมาจากกรุงเดลี อินเดีย ถือหนังสือพิมพ์รายวัน “เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย” วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2011 มาฝาก ผู้เขียนรับด้วยความยินดี ข่าวใหญ่หน้าแรกคือ ข่าวชาวไร่ชาวนาที่หมู่บ้านหนึ่ง ในรัฐมัธยมประเทศ ไม่พอใจกับราคาเวนคืนที่ดินทำกิน เกิดจลาจลปะทะกับเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหาร ล้มตายทั้งสองฝ่าย

ผู้เขียนสมมติตัวเองว่า เป็นราษฎร-พลเมืองอินเดีย ลองอ่านข่าวนั้นในหน้าหนึ่ง แล้วตามต่อจนจบเรื่องในหน้าสี่ รู้สึกพอใจกับข่าวที่ให้ข้อมูลพอเพียง และได้สมดุลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อ่านแล้วไม่เกิดความรู้สึก ว่ามนุษย์ตนใด กำลังกัดกับสุนัขตัวไหน-ขออภัยภาษาครับ ไม่ปั่นหัวจิ้งหรีดให้กัดกัน ไม่ทำให้นึกอยากขว้างหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นทิ้งไป ขอบคุณ “เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย” [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 13พฤษภา54]


ศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2554
จริงหรือว่า ข่าว-น้ำเน่าเข้าข่าย [ตอน 4]

งานข่าวกลายเป็นเซ็งลี้ประเภทหนึ่ง เข้าข่ายธุรกิจบันเทิงด้วยซ้ำ และเขาไม่ได้หลอกใคร ว่าเขาเปล่าเซ็งลี้ ราษฎร-พลเมืองต้มตัวเอง พากันนึกทึกทักเอาเองว่า เขาเซ็งลี้ไปวัน ๆ เพื่อเสนอข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ ต่อชีวิตตนในฐานะราษฎร-พลเมือง ผู้มีสิทธิในการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ข่าวที่ทำเพื่อเซ็งลี้ เขาจะทำให้โลก แลดูเน่ากว่าที่เป็นจริง เพราะเขาเชื่อว่าถ้าไม่ทำให้เน่ากว่าจริง เซ็งลี้จะได้เงินน้อย ตัวอย่างทราบกันทั่วไป คือ สุนัขกัดมนุษย์-เรื่องจริงตามธรรมชาติและไม่น้ำเน่า จะไม่เข้าข่ายข่าว คนกัดหมา-เรื่องน้ำเน่า จะเข้าข่ายเป็นข่าว ท่านผู้อ่านไม่เคยกลุ้มใจบ้างเลยหรือว่า หัวข้อข่าวจำนวนมาก จะพาดหัวในรูป มนุษย์กัดสุนัข ทั้งสิ้น [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 6 พฤษภา 54]


ศุกร์ที่ 29 เมษา 2554
เขาทำข่าวแบบน้ำเน่า กันอย่างไร [ตอน 3]

ครั้นสื่อมวลชนจุติขึ้นในโลก รัฐทั้งหลายก็ทำข่าวเพื่อราษฎร-พลเมือง ซึ่งหมายถึงผู้มีสิทธิในการปกครองประเทศ คำอังกฤษว่า ซิติเซ็น ส่วนคำไทยใช้ตามอาจารย์ กาญจนา นาคสกุล เขาไม่ได้ทำเพื่อผู้บริโภคเฉย ๆ แต่ทำเพื่อคนทั้งหลายผู้มีฐานะราษฎร-พลเมือง

แบบฝึกหัดที่หนึ่ง-เมื่อนักคาบข่าววิ่งมารายงานกลางกรุงโรม ว่า “ซีซาร์ นำทัพข้ามแม่น้ำรูบิโก มาแล้ว” คือแม่น้ำชานกรุงด้านเหนือ ไล่ ๆ กันนั้นนักคาบข่าวอีกคนหนึ่ง กระหืดกระหอบรายงาน ว่า“ซีซาร์ นำทัพข้ามแม่น้ำรูบิโกแล้ว จงระวังภัย! สาธารณรัฐโรมันกำลังตกอยู่ในห้วงอันตราย!” ท่านคิดและเห็นว่า นักคาบข่าวคนไหนน้ำเน่า คนแรกหรือคนหลัง [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 29 เมษา 54]


ศุกร์ที่ 22 เมษา 2554
รายการข่าว - มีสิทธิ์น้ำเน่ายิ่งกว่าละครหรือ [ตอน 2]  

ตอนแรกผมเขียนหนังสือ เพราะว่าผมมีเรื่องจะเล่า ต่อมาผมเขียนเพราะผมมีความคิดจะเผยแพร่ และต่อมาอีก ผมเขียนเพราะมีตัวละครที่ผมต้องการเขียนถึง แต่มาบัดนี้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ผมเขียนหนังสือทำไม--คำกล่าวนี้เป็นของ ฌัง-มารี กุสตาฟ เลอ เคล ซิ โอ (Jean-Marie Gustave Le Clézio) นักเขียนฝรั่งเศส รางวัลโนเบลปี 2008/2551

สมัยนี้ ข่าวกลายพันธ์เป็นรายการบันเทิงเช่นเดียวกับละคร แต่รายการข่าว ไม่ต้องซื้อลิขสิทธิ์ค่าเรื่อง ไม่ต้องจ่ายค่าตัวนักแสดง ไม่ต้องนัดซ้อมบท ทว่า ก็เช่นเดียวกับนิยายหรือละคร รายการข่าวมีเรื่องจะเล่า มีความคิดจะเผยแพร่ และมีตัวละครที่ต้องการกล่าวถึง เช่นที่เลอ เคลซิโอ ว่าไว้ในย่อหน้าแรก เพราะฉะนั้น จะเป็นไปได้ไหมว่า เดี๋ยวนี้ คนทำข่าวหลายคน ก็อาจจะไม่รู้เหมือนกันว่า พวกเขาทำข่าวกันไปทำไม เนื่องจากผู้ชมจำนวนหนึ่งเลิกสนใจข่าวในสื่อเดิม ๆ รอชมแต่ละคร เพราะน้ำเน่าน้อยกว่า และมีเนื้อหาสาระดีกว่า [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 22 เมษา 54]


ศุกร์ที่ 15 เมษา 2554
เชื่อหรือไม่ “ข่าว” น้ำเน่ายิ่งกว่า “ละคร” [ตอน 1]

นับได้นานปีมาแล้วที่ “รายการข่าว” น้ำเน่ายิ่งกว่า “ละคร” แต่ละวัน จะมีสักสองสามข่าวเท่านั้น ที่จะดีต่อชีวิตเรา เพราะฉะนั้น เราท่านทั้งหลายจะยัง ดู-ชม-อ่าน-ฟัง “ข่าว” ให้ประสาทกินกันไปทำไม ไม่เชื่อใช่ไหม ทดลองได้ด้วยตนเอง

เมื่อที่บ้านมีเครื่องรับโทรทัศน์ ครูด้านสุขภาพจิตท่านหนึ่ง แนะวิธีทดลองบำบัดอาการเสพติดข่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ขั้นแรก เปิดโทรทัศน์ชมแต่ภาพอย่างเดียว แต่ปิดเสียง จิตประสาทของเราจะเบาภาระลงมาก ครั้นภาพข่าวน่าสนใจ จึงค่อยเปิดเสียงเบา ๆ เบาที่สุดดีที่สุด ครั้นฟังจบเรื่องแล้ว ให้ปิดเสียงทันที คำแนะนำของท่านฟังดูสมเหตุสมผล ผู้เขียนได้ลองปฏิบัติ พบว่าจิตใจดีขึ้น ส่วนขั้นต่อมา ท่านบอกว่า ให้ยกเครื่องรับโทรทัศน์ฝากคนเก็บขยะไปทิ้ง [เผยแพร่ ศุกร์ที่ 15เมษา 54]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น