"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

(นางสาวอินทิรา ตอน 3/3 “ถ้าคนดี มิได้ช้ำ ระยำยับ” -สุนทรภู่) สังหารโหด นักการเมืองสตรีเอเชีย women politicians in Asia murdered กรณี इंदिरा प्रियदर्शिनी - นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี

women politicians in Asia murdered
กรณี इंदिरा प्रियदर्शिनी - นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี

คุณงามความดี

นักการเมืองบางคน ก็มีคุณงามความดี ไม่ได้เลวไปเสียทั้งหมด หรือเลวทั้งตัว นักเขียนผู้หนึ่ง ผู้เขียนชีวประวัติชีวิต นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี กล่าวไว้ว่า “ถ้าแม้นบัญชีหางว่าว แสดงข้อเสียของอินทิรา จะยืดยาว แต่บัญชีบันทึกข้อดีของเธอ อันกอปรด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าพิศวง ยาวกว่านั้นอีก...” ซึ่งคนอินเดียรุ่นใหม่ จะเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ กันเป็นส่วนมาก

คืนหนึ่ง ใต้แสงจันทร์เสี้ยวเล็กบาง ผู้เขียนกับมิตรอีกสองคน พากันลอยเรือลำน้อย ตะคุ่ม ๆ ไปในความมืดมิดและเงียบเชียบ ของแม่น้ำคงคา เพื่อไปจอดเรือกลางน้ำ ตรงหน้าท่าน้ำแห่งหนึ่ง โดยผูกเรือโยงเข้ากับหมู่เรือใหญ่น้อยลำอื่น ๆ ที่ลอยกันเป็นตับ ใต้ฟ้าคืนเดือนมืด รอชมพิธีบูชา ร่ายรำคบเพลิง ที่จัดขึ้นบริเวณชายฝั่ง พระจันทร์เสี้ยวเล็ก ๆ ค้างอยู่บนฟ้าสีดำ ชวนให้นึกถึงเครื่องหมาย จันทระพินทุ รูปพระจันทร์เสี้ยว ที่เขียนไว้บนอักขระเทวะนาครี โดยเฉพาะตามคำยืม ที่ดาวน์โหลดตรงจากสันสกฤต มิตรชาวภารตะเล่าว่า สมัยเด็ก ๆ ครูจะดุเสมอ เรื่องลืมเขียนเครื่องหมายจันทระพินทุ  นี้

ขากลับขึ้นจากเรือแล้ว ก็เดินไปตามซอกซอย อันหรุบหรู่ ริบหรี่แสงไฟ ในย่านชุมชนแออัดของเมืองพาราณสี บัดนั้น ก็ได้ยินเสียงผู้คน เดินโห่ร้อง ก้องมาจากทางแยกตรงหน้า จึงหลบเข้าข้างทาง เพื่อหลีกหัวขบวนที่กำลังนำฝูงชน เดินร้องเข้าจังหวะมาในความสลัว ใต้แสงไฟมัวซัวริมทาง มองเห็นคนในขบวน แต่งกายแลดูขะมุกขะมอม ตามประสาอินเดีย ส่วนมากจะเป็นพวกวัยรุ่น ถือป้ายที่ทำขึ้นตามมีตามเกิด ชูป้ายพลางตะโกนข้อความพร้อมเพรียงกัน ทำให้ผู้เขียนทราบว่า เป็นขบวนของ ยุวชนพรรคคองเกรส ออฟ อินเดีย ไม่ใช่อันธพาลที่ไหน

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ผู้หนึ่ง ในค่ำวันนั้น เอ่ยนาม อินทิรา ปริยัทรศินี และพรรคคองเกรส กับผู้เขียนด้วยความชื่นชม และแม้ในความริบหรี่ของแสงไฟ ผู้เขียนคิดว่า ยังจำหน้า น้ำเสียง และแววตาของเขาได้ พรรคคองเกรส ออฟ อินเดีย และอินทิรา ปริยัทรศีนี ที่เคยซบเซาเฉาลงระยะหนึ่ง บัดนั้น ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นประทีป นำทางการเมืองอินเดีย ต่อไป

ก็ในยุคสมัยที่อินทิรา นำพรรคคองเกรสอยู่ มิใช่หรือ ที่อินเดียได้กลายเป็น ขุมกำลังแรงงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันดับสามของโลก ได้กลายเป็นอำนาจทางทหารอันดับห้าของโลก ได้กลายเป็นสมาชิกลำดับที่หก ในสโมสรนิวเคลียร์โลก ได้กลายเป็นชาติที่เจ็ด ซึ่งส่งยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และได้กลายเป็นอำนาจอุตสาหกรรมลำดับสิบ

คุณงามความดีของ อินทิรา ปริยัทรศินี ที่สถิตอยู่ในความทรงจำคนอินเดียนั้น อาจสรุปเพื่อท่านผู้อ่าน ผู้อยู่ห่างไกลจังหวะชีพจรภารตะ ให้ได้ทราบพอสังเขปว่า เธอมีความดีประเด็นใหญ่ ๆ อยู่สองประการ คือ ประการที่หนึ่ง อินทิรา ปริยัทรศินี ยืนหยัดเข้มแข็งมั่นคง กับบูรณภาพแห่งดินแดน กับเอกภาพ ตลอดจนกับเกียรติภูมิของอินเดียเสมอ เธอไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียวกับเรื่องเหล่านี้ และประการที่สอง ด้วยน้ำใจกว้างดุจมหาสีทันดร เธอปันใจให้กับคนจนของอินเดีย

“ถ้าคนดี มิได้ช้ำ ระยำยับ”
-สุภาษิตสอนหญืง ของ สุนทรภู่

นับถอยหลัง ประมาณสิบปีจากที่กำลังเขียนอยู่นี้ มีคดีไม่ธรรมดาคดีหนึ่ง เกี่ยวข้องกับสตรี เกิดขึ้นในประเทศไทย และศาลได้ตัดสินถึงที่สุด ในช่วงเวลาประมาณ ๆ กันนั้น ก็เกิดคดีลักษณะเดียวกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน เกิดขึ้นที่อินเดีย ศาลอินเดียได้ตัดสินในระยะใกล้ ๆ กับศาลไทย ผู้เขียนจำรายละเอียดคำตัดสินไม่ได้ แต่ผู้กระทำผิดทั้งที่เป็นคนแขกในประเทศอินเดีย และคนไทยในประเทศไทย ถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

คดีแปลก ๆ แบบนี้ เราสามารถค้นข้อมูลข่าวสารได้ไม่ยาก ถ้าสนใจจริง ทั้งในระบบข้อมูลศาลอินเดีย และในระบบข้อมูลศาลไทย แต่ผู้เขียนอ่านเรื่องทั้งสองเรื่อง จากน.ส.พ.ไทย และน.ส.พ.อินเดีย

เหตุแห่งคดี เกิดในตู้รถไฟชั้นหนึ่ง แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน บนรถไฟไทยและรถไฟอินเดีย ซึ่งการเดินทางชั้นหนึ่งนี้ ถือว่าเป็นชั้นสูง หนาว และโดดเดี่ยว ผู้โดยสารสตรีคนหนึ่ง เดินทางโดยลำพัง เธอถูกพนักงานประจำตู้รถไฟชั้นหนึ่งข่มขืน เป็นเรื่องลักษณะเดียวกัน ทั้งในรถไฟไทยและบนรถไฟอินเดีย แต่คนละกรณีกัน ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวกัน

กฎหมายทุกประเทศ เกี่ยวกับเรื่องการกระทำผิดทางเพศ โดยทั่วไปแล้วก็จะมาจากแหล่งใกล้เคียงกัน ใช้หลักเดียวกันบางหลัก แต่อาจมีข้อแตกต่าง ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา หลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องนี้หลักหนึ่ง แต่มิใช่หลักเดียว คือ หลักกฎหมายเรื่องการ “ละเมิด” ที่ภาษากฎหมายภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Tort Law”

ทั้งอินเดียที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายจารีตประเพณี แบบอังกฤษ) และไทยที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ (กฎหมายที่มีประมวลฯ แบบฝรั่งเศส) ต่างก็เรียนปรัชญากฎหมาย “ละเมิด” แบบตะวันตก จากสำนักนักปรัชญาฝรั่ง ยุคสว่างทางปัญญา ในศตวรรษที่ 18 ด้วยกัน ทั้งนี้โดยที่ การอ้างเหตุผล แก้คำกล่าวหาเรื่องละเมิด มีหลักวางรูปคดีอยู่หลักหนึ่ง แต่มิใช่หลักเดียว ว่าจะต้องแก้กันด้วย หลัก “ยินยอม”

ในกฎหมายไทยนั้น คำว่า “ยินยอม” มีใช้อยู่ในหลายมาตรา ในประมวลกฎหมายอาญา

หลักเรื่องความ “ยินยอม” นี้ ที่จริงก็เป็นหลักใหญ่หลักหนึ่ง ในระบบความยุติธรรมที่ใช้กันในโลกปัจจุบัน ทั้งในตะวันตก ในอินเดีย และไทย โดยไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดทางเพศ เท่านั้น

ทั้งเรื่องความยุติธรรมทางการมุ้งและการเมือง นั้น จ้าวแห่งปรัชญาความยุติธรรม บนพื้นฐานของความยินยอม เราอาจศึกษาได้จาก จอห์น ล็อค อย่างไรก็ดี ความยินยอมเรื่องความผิดทางเพศ เราจะรู้สึกคุ้นหู รู้สึกว่าชัดเจนใกล้ตัว มากกว่าเรื่องความยินยอมในทางการเมือง และเราก็รู้จักสำนวนอังกฤษภาษากฎหมาย ที่ว่าด้วยกิจกรรมถูกต้องตามกฎหมายชนิดหนึ่ง ที่บอกว่าเป็นการกระทำ “ระหว่างผู้ใหญ่ที่ยินยอม” หรือ consenting adults ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะหมายถึงกิจกรรมเรื่องเพศ

กรณี “ความยินยอม” ในทางการเมืองที่มีชื่อเสียงกรณีหนึ่ง ได้แก่การที่บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ และเป็นนักปรัชญาการเมืองอเมริกัน นายแซมมวล อะดัมส์ รณรงค์ให้คนปฏิปักษ์ต่อการที่อังกฤษเก็บภาษีจากดินแดนอาณานิคมอเมริกัน โดยไม่ได้รับ “ความยินยอม” จากคนในอาณานิคม ซึ่งนำไปสู่การประกาศอิสรภาพอเมริกันในที่สุด

ก็ในเมื่อหลักความยุติธรรม บนพื้นฐานของความยินยอม ที่จริงแล้วท่านใช้กับการเมืองด้วย คำถามที่เราน่าจะถาม จึงได้แก่คำถามที่ว่า อินทิรา ปริยัทรศินี ได้กระทำการใดในระดับ “ระยำยับ” ที่สังคมอินเดียไม่ให้ “ความยินยอม” หรือ?

เรื่องที่อินทิรา กระทำชำเรา ต่ออินเดีย : 1) เธอปรามาส ระบอบประชาธิปไดยของอินเดีย

ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก พ.ศ. 2509-2520 นางสาวอินทิรา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อหนีคดีคอรัปชันและความวุ่นวายในสังคม ท่ามกลางการท้วงติงคัดค้าน ติฉินนินทา เมื่อ พ.ศ. 2518 โดยเธออาศัยอำนาจ จากกลุ่มมาตราเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉิน(มาตรา 352-359) ในรัฐธรรมนูญอินเดีย อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ยืดยาวที่สุดในโลก มี 444 มาตรา ใช้คำประมาณ 120,000 คำ แล้วบริหารประเทศแบบ “เผด็จการ” คือ ด้วยการสั่งการของฝ่ายบริหาร ที่ผู้ใดแม้แต่สื่อมวลชน จะท้วงติงคัดค้านไม่ได้ ซึ่งโดยแท้จริงก็คือบริหารโดยลำพัง และตามอำเภอใจเธอเอง ภาษาเทคนิคเรียกว่า rule by decree

ขออนุญาตท่านผู้อ่าน ลงรายละเอียดสักสองสามคำ ในทางเทคนิคนั้น นายกรัฐมนตรีอินเดีย ไม่มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจนี้เป็นอำนาจประธานาธิบดี แต่ว่าคนชงเรื่องคือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีของเรานี้ ประธานาธิบดี ฟารุคดิน อาลี อาเหม็ด จะเป็นผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามคำเสนอแนะ “เป็นลายลักษณ์อักษร” ของนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี

สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประชาธิปไตยอินเดีย ก่อนหน้านี้ เคยประกาศใช้มาแล้วสองครั้ง คือ พ.ศ. 2505 เมื่อเกิดสงครามชายแดนกับจีน และพ.ศ. 2514 ระหว่างสงครามกับปากีสถาน ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สาม แต่ครั้งนี้มีประเด็นที่แปลกพิสดาร ไปจากสองครั้งก่อน

ผู้เขียนเห็นว่าความแปลกที่ว่านั้น ได้นำไปสู่ความเกลียดชังนางสาวอินทิรา ตั้งแต่บัดนั้นจนเท่าบัดนี้ ทั้งในหมู่ปัญญาชนอินเดีย และในหมู่ผู้ที่ไม่ได้เป็นปัญญาชน แต่ใช้สติปัญญาในการอ้างเหตุผลยกขึ้นแย้งกัน เช่น อัยการสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดีย เป็นต้น นอกจากนั้น คนในคณะรัฐบาลเองบางคน ก็ไม่เห็นด้วย เช่น รัฐมนตรี กระทรวงข่าวสารและการแพร่ภาพแพร่เสียง คือ นายอินทร์ กุมาร คุชราล ซึ่งประกาศลาออกจาตำแหน่ง เป็นการประท้วง เป็นต้น

แต่ตัวอย่างที่ยกมานั้น ในความเห็นของผู้เขียน ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับที่เธอถูกต่อต้านอย่างเปิดเผย จากขบวนการทางการเมือง ที่จะมองข้ามไม่ได้ขบวนการหนึ่งในอินเดีย อันได้แก่ ขบวนการ राष्ट्रीय स्वयंसेवक संघ = ราษทริยะ สวยัมเสวะกะ สังฆะ = สมาคมจิตอาสาแห่งชาติ  ซึ่งนักสังเกตการณ์ความเป็นไปในอินเดีย มักเห็นพ้องกันว่าเป็น ขบวนการชาตินิยมฮินดูขวาจัด จะเรียกว่า ฮินดู ฟันดาเมนทัลลิสต์ แบบที่พวกฝรั่งชอบเรียกก็ได้ หรือจะบอกว่าเกือบ ๆ จะเทียบได้เป็น “นาซี” ของอินเดียก็อาจจะได้อีก และสมาชิกขบวนการนี้ ก็เคยเป็นผู้สังหาร มหาตมะ คานธี เพราะฉะนั้น อินทิรา เธอสร้างได้สร้าง “haters” ขึ้นเป็นปริมาณมาก หลายหมู่เหล่า ในคราวเดียว

ความพิศดาร ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ แปลกกว่าครั้งก่อน ๆ อย่างไร

มนตราศักดิ์สิทธิ์มนตร์หนึ่ง ผู้ใดจะละเมิดมิได้ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดียหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียด แต่ว่ามาตรา 21 ในหมวด 3 ประกันสิทธิในชีวิต ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Right to life” เอาไว้

แต่ ในคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีรายละเอียดทางเทคนิคบางแง่มุมที่ถือได้ว่า แม้สิทธิในชีวิต คนอินเดียก็จะไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองอีกต่อไป การจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาลนับพันคน รวมทั้งอดีตนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษ ตลอดจนวิธีปฎิบัติต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น รัฐบาลอินทิรา คานธี กระทำการที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พร้อมที่จะฉกฉวย “Right to life” ของคนอินเดียมาย่ำยีตามอำเภอใจ ซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนหน้านี้ ไม่เคยที่จะล่วงละเมิดสิทธิกัน ถึงขั้นนี้

ด้วยประการฉะนี้ เราก็อาจถือได้ว่า นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี ก็ “เอวัง” หรือตายไปแล้วครึ่งตัว เพราะไม่เชื่อโอวาท สุภาษิตสอนหญิง ของ สุนทรภู่ ที่กล่าวว่า

“อย่าเอาผิด มาเป็นชอบ ประกอบใจ
จงอยู่ใน โอวาท ญาติวงศ์”
-สุภาษิตสอนหญิง ของ สุนทรภู่


เรื่องที่อินทิรา กระทำชำเรา ต่ออินเดีย : 2) เธอลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย ที่เธอไม่เคารพนับถือ

ซึ่งกรณีเช่นนี้นั้น สุภาษิตสอนหญิง ของ สุนทรภู่ เตือนไว้ว่า

คนผู้นั้น ครั้นตาย วายชีวาตม์
คงไม่คลาด แคล้วนรก ตกถลา
ไม่เห็นเดือน เห็นตะวัน พระจันทรา
ทรมา หมกไหม้ ในไฟฟอน

ชีวิตลูกผู้หญิงคนหนึ่งของอินทิรา ทรมา หมกไหม้ มาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2523 เมื่อลูกชายคนเล็ก ซึ่งเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนชื่อ นายสันชัย คานธี ขับเครื่องบินเล็ก บินผาดโผน โฉบไปโฉบมา เหนือน่านฟ้ากรุงเดลลี คล้าย ๆ กับจะฉลองโอกาสที่มารดา ได้กลับมานั่งบัลลังก์นายกฯอีกครั้งหนึ่ง แล้วเครื่องบินลำนั้นตีลังกา พลัดตกลงมายู่ยี่ ยับอยู่กับพื้น นายสันชัยตาย เครื่องบินตกใกล้ย่าน จาณะกะยะปุรี(चाणक्यपुरी) ซึ่งเป็นย่านสถานทูตในกรุงเดลลี สถานทูตไทยก็อยู่ที่นั่น ปีนั้นเป็นปีแรก ที่คุณแม่เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ระหว่างพ.ศ. 2523-2527 คุณลูกชายตาย เมื่อคุณแม่อายุ 63 ปี

อินทิรา หมายมั่นปั้นมือกับลูกชายคนเล็กมาก สันชัยไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เขาสำเร็จการศึกษามัธยมปลายในเดลลี ช่วยงานการเมืองของมารดา มาตั้งแต่มารดาเป็นนายกฯสมัยแรก โดยเฉพาะในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คาบเกี่ยวระหว่างปี พ.ศ. 2518-2520 รวมเวลา 19 เดือน อันเป็นเดือนแห่งฝันร้ายของประชาธิปไตยอินเดีย ความจุ้นจ้านวุ่นวายของสันชัย ขึ้นชื่อลือชา และยังอยู่ในความทรงจำอย่างน่ารังเกียจ ของวงการการเมืองอินเดียส่วนมาก ในเวลานั้นทุกคนทราบว่า สันชัย ถูกกำหนดตัวให้รับทอดอำนาจวาสนาบารมี ของอินทิราสืบไป แต่ขณะเดียวกันบางคนก็เห็นว่า สันชัยคือ มือคอรัปชัน ของคุณแม่ เช่น กรณีการประมูลงานหลวงโครงการใหญ่ ที่มีลับลมคม บางโครงการ เป็นต้น ครั้งหนึ่ง ร.ม.ต. มหาดไทยอินเดีย ในรัฐบาลนายกฯ โมรา เคยออกหมายจับทั้งสันชัยและอินทิรา โดยที่น.ส.พ. ตีพิมพ์ว่า กรณีของสันชัยนั้น มีรายงานข้อหาฆาตกรรมด้วย

เมื่อสันชัยตายแบบปัจจุบันทันด่วน อินทิราก็เลยกลายเป็นคนเสียศูนย์ ไม่มีอู่ใด ๆ จะตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้เธอได้ เป็นไปได้ไหมว่า ความสูญเสียหนักหนาสาหัส ในชีวิตส่วนตัวของนักการเมืองระดับชาติ มีส่วนทำให้คุณภาพการตัดสินใจราชการงานเมือง พลอยด้อยคุณภาพไปด้วย แล้วก็ด้วยสภาพจิตที่ว้าเหว่ เดียวดาย และเครียดจัด(=โคตรเซ็ง)นั้นเอง ที่อินทิรา ได้เข้ารับงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย รอบที่สอง

ที่ย่านพาหุรัดในกรุงเทพฯ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าอินเดียเอ็มโปเรี่ยม มีวัดแขกเด่นเป็นสง่า เป็นวัดในศาสนาซิกข์ ซึ่งเป็นวัดคนละศาสนากัน กับวัดแขกสีลมอันเป็นวัดฮินดู คนซิกข์มีหลักแหล่งสำคัญ อยู่ในรัฐปันจาบ ทางเหนือของอินเดียต่อแดนกับปากีสถาน รัฐนี้มีพลเมืองซิกข์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และในทางปฏิบัติชาวซิกข์ในรัฐปันจาบ เคยเป็นหัวหอกนำร่องการปฏิวัติเขียวของอินเดีย อมฤตสาร์ คือเมืองสำคัญของรัฐปันจาบและของคนซิกข์ เพราะเป็นที่ตั้งวัดศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาซิกข์ เป็นกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญหลายหลัง ศูนย์รวมจิตใจซิกข์ทั้งปวง ชื่อวัดในภาษาปันจาบี แปลว่า “เทวาลัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า” ซึ่งเน้นให้เห็นถึง การนับถือ “พระเจ้าองค์เดียว” ของชาวซิกข์ ทั่วโลกรู้จักวัดนั้นกันทั่วไปว่า วัดสุวรรณ หรือ วัดทองแห่งอมฤตสาร์

ในเวลานั้น เกิดวิกฤตและเหตุการณ์รุนแรงขึ้นที่ อมฤตสาร์ คล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นที่นั่น สมัย บริทิศ ราช เมื่อพ.ศ. 2462 ตรงกับรัชกาลที่ 6 ครั้งกระโน้นทหาร กองทัพอินเดียของอังกฤษ the British Indian Army สั่ง “ยิงทิ้ง” หรือ shoot-to-kill คนอินเดียที่ชุมนุมที่สวนสาธารณะ เมืองอมฤตสาร์ ไปประมาณหนึ่งพันคน

แต่ กรณีของวิกฤตเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2527 ยุคนางสาวอินทิราเป็นนายกฯ รอบหลังนี้ กองกำลังที่เข้าปราบปราม ผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ ซึ่งเข้าไปยึด “เทวาลัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า” ในเมืองอมฤตสาร์ ได้แก่ ภารัติยะ สะศาสตรา เสนา  भारतीय सशस्त्र सेनाएं หรือ กองทัพอินเดีย ไม่ใช่ the British Indian Army อีกต่อไป แบบว่ากองทัพบังล้วน ๆ ไม่มีฝรั่งปน มาฆ่าบังกันเอง

“ปฎิบัติการณ์ ดาวสีน้ำเงิน ब्ल्यू स्टार ”  คือ ชื่อรหัสปฏิบัติการณ์ลุยวัดทอง ด้วยอาวุธหนัก ประกอบด้วยรถถัง 6 คัน รถหุ้มเกราะ และสารพัดสรรพาวุธ ของกองทัพอินเดีย โดยการสั่งการจากนางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี นับได้ว่า เป็นปฏิบัติการรบที่มีชัยในสนามรบสุดหรู แต่พ่ายแพ้ภินท์พัง ยู่ยี่ ย่อยยับ ยอบแยบ ดูไม่จืดในทางการเมือง ชาวซิกข์ทั่วโลกลุกขึ้นมาประท้วง และนายทหารชาวซิกข์หลายคน ก็ประท้วงด้วยการลาออก จากกองทัพอินเดีย ฯลฯ

ฆ่าตัวตายชัด ๆ แต่เธอมีสติรู้ตัวดี ผู้สนใจศึกษาประวัติขีวิตอินทิราหลายราย เห็นพ้องกันว่า อินทิรา ปริยัทรศินี รู้ตัวดีว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอ เป็นการตัดสินใจระดับ “ถึงฆาต”

สวรรค์ลงโทษอินทิรา

ในที่ชุมนุมทางการเมือง ค่ำวันก่อนวันที่เธอจะถูกปลิดชีพ เหมือนกับจะสังหรณ์ใจ เธอกล่าวต่อที่ประชุมว่า

“ฉันทำใจได้แล้ว หากว่าชีวิตฉันจะต้องพลี เพื่อรับใช้ประเทศชาติ
วันที่ฉันตาย เลือดทุกหยดของฉัน จะเติมพลังให้แก่อินเดีย ”
เช้าวันรุ่งขึ้น เธอมีนัดให้สัมภาษณ์ ปีเตอร์ อูสตินอฟ ศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งกำลังสร้างสารคดีเกี่ยวกับอินเดีย เธอกำลังเดินจะออกจาก จวนที่พำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ 1 ถนนซัฟทระชุค(सफदरजंग ) และทันใดนั้น...

-เวลา 09.20 น. นายเบ-อัน ซิงห์ พนักงานรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชาวซิกข์ ชักปืนพกลูกโม่ .38 ออกมายิงเข้าที่ท้องของนางสาวอินทิรา สามนัด เธอล้มทรุดลงกับพื้น รปภ.ชาวซิกข์อีกคนหนึ่ง นายสัทวัน ซิงข์ ใช้ปืนยาวอัตโนมัติยี่ห้อ “สะเต็น” สาดกระสุน 30 นัดใส่ตัวเธอ

อินทิรา ถูกส่งตัวไปยัง สถาบันการแพทย์ที่ดีที่สุดของอินเดีย ที่ भारतीय आयुर्विज्ञान संस्थान ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน ทีมแพทย์ผ่าตัดเอาหัวกระสุนจำนวน 16 ลูก ออกจากตัว เธอมีแผลกระสุน เจาะทะลุร่างกายไม่ต่ำกว่า 19 แผล
-เวลา 10.50 น. อินทิรา ถึงแก่ความตาย

รปภ.ชาวซิกข์สองคนที่ฆ่าเธอ ยอมจำนนในที่เกิดเหตุ นายเบ-อัน ซิงห์ ถูกคุมตัวเข้าไปในห้องพักพนักงานรักษาความปลอดภัยทันที และบัดดลต่อมา เสียงปืนลั่นขึ้นในห้องนั้น นายเบ-อัน ซิงห์ ถูกยิงตายในห้องนั้น ตามรายงานระบุว่า เขาพยายามจะแย่งปืนจากเพื่อนรปภ.

ส่วนนายสัทวัน ซิงข์ และผู้ร่วมก่ออาชญากรรมอีกนายหนึ่งชื่อ เคหะ ซิงข์ ถูกศาลพิพากษาตัดสินประหารชีวิต และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเรือนจำ กรุงเดลลี

-เวลา 11.00 น. สถานีวิทยุ ออล อินเดีย ราดิโอ กระจายเสียงทั่วประเทศ รายงานข่าวนายกรัฐมนตรี อินทิรา ถูกคนชิกข์ฆ่าตาย

-เวลา 16.00 น. นายราชีฟ คานธี บินกลับจากรัฐเบงกอลตะวันตก และเดินทางไปเคารพศพมารดา ซึ่งยังเก็บรักษาอยู่ที่ ศูนย์การแพทย์ ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน

-เวลา 17.30 น. ขบวนรถประธานาธิบดีอินเดีย นาย เซล ซิงห์ ซึ่งเป็นคนซิกข์ กลับมาจากไปราชการต่างประเทศ ปรับขบวนจากสนามบิน ตรงไปยัง ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน เมื่อเข้าใกล้ศูนย์การแพทย์ ม็อบกลุ่มหนึ่งเข้าขัดขวางขบวนรถประธานาธิบดี เซล ซิงห์

ค่ำวันนั้น และตลอดคืนนั้น ม็อบแอนตี้ซิกข์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นม็อบจัดตั้ง และรับทรัพย์จากนักการเมืองพรรคคองเกรส(ไอ) คนเหล่านั้นจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออก ขยายตัวออกจาก ภารัติยะ อายุระเวชะยัน สันสถาน

-เวลา 09.00 น. เช้าวันรุ่งขึ้น คนซิกข์คนแรกในกรุงเดลลี ถูกม็อบแอนตี้ซิกข์ ฆ่าตาย

ความวุ่นวายดำเนินต่อไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในกรุงเดลลี และในอินเดียภาคเหนือ ข้อมูลทางการระบุว่า มีคนซิกข์ถูกฆ่า 2,700 คน แต่องค์การเอกชนและสื่อมวลชน รายงานจำนวนคนตาย ไว้ระหว่าง 10,000 – 17,000 คน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีนั้น พิธีเผาศพอินทิรา คานธี จัดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใกล้กับอนุสรณ์สถาน “ราช ฆาท” राज घाट ที่ระลึกถึงมหาตมะ คานธี

และ เพื่อเราจะได้รู้จักอินทิรา เพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย ขอคัดคำพูดแสดงความคิดเห็นในบางโอกาสของเธอ มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ครับ

                             “ชีวิตครอบครัวนักการเมืองอย่างฉัน ฉันเป็นคล้าย โจน ออฟ อาร์ค คือว่าฉันถูกเผาทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา”

ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า เธอไม่ได้เป็นนักการเมืองแท้จริง เธอตอบโต้ว่า

                             “ฉันเป็นนักการเมืองเต็มตัว ในแง่ที่ว่า ฉันปรารถนาจะเห็นอินเดีย มีรูปลักษณ์อันเฉพาะและชัดเจน คือ อินเดียที่ปราศจากความยากจนข้นแค้น อินเดียที่ไร้ความอยุติธรรม อินเดียที่ปลอดจากการครอบงำของต่างชาติ”

ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า เธอเป็นนายกรัฐมนตรี “รับมอบฉันทะ” แต่ “ไร้ภารกิจ” ภาษาอังกฤษเขาวิจารณ์ว่า เธอเป็นนายกที่มี “mandate” แต่ปราศจาก “mission” เธอตอบโต้ว่า

 “คุณคิดว่า การที่จะดูแลรักษาประเทศอย่างอินเดีย ให้อยู่ร่วมกันได้ อย่างปรองดองพอสมควร เป็นเรื่องง่ายหรือ คุณบอกว่ารัฐบาลฉัน ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชน ฉันขอถามสักคำ คุณเคยเห็นรัฐบาลไหนในโลก รักษาคำมั่นสัญญาได้มากเท่าฉันหรือ”

ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า เธอได้เปรียบนักการเมืองคนอื่น เพราะเธอเป็นลูกสาวอดีตนายกรัฐมนตรี เธอมีความเห็นตอบกลับ ว่า

            “ตำแหน่งฐานะคนในสังคม ทุก ๆ ตำแหน่งฐานะ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับฉันข้อดีก็คือ ฉันได้รับการศึกษาที่คุณพ่อดูแลให้ และมีคุณพ่ออบรมสั่งสอนโดยตรง นอกจากนั้น ฉันก็มีโอกาสได้พบปะ กับคนที่มีความสามารถสูงทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่นักการเมือง แต่ฉันได้พบนักเขียน ศิลปิน บุคคลที่น่าทึ่งในสาขาต่าง ๆ แต่จะกระนั้นก็ดี ในวงการเมืองแล้ว คุณก็ต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เพื่อยืนยันและยืนหยัดว่า คุณไม่ใช่สักแต่ได้ดีเพราะความเป็นลูกอดีตนายก แต่คุณ เป็นคนที่มีคุณค่า ในตัวของคุณเอง”

และเธอกล่าวเติมว่า

“แล้วก็ ในฐานะลูกผู้หญิงคนหนึ่ง คุณก็ต้องทำงานหนักกว่าผู้ชายสองเท่า”

หากข้อเขียนนี้ ละลาบละล้วงจ้วงจาบไปบ้าง ก็ขออภัยต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว และต่อผู้ที่รักท่าน ขอตั้งจิตอธิษฐานให้ดวงวิญญาณของ อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ที่โลกยากจะลืม ประสบสุขในสัมปรายภพ เทอญ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

สังหารโหด นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ตอน 1/3
สังหารโหด นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ตอน 2/3

ยังสนใจ อยู่อีก...
นายกรัฐมนตรีหญิง ถูกฆ่า น.ส.เพนะซีระ ภุทโท ตอน 1/3
นายกรัฐมนตรีหญิง ถูกฆ่า น.ส.เพนะซีระ ภุทโท ตอน 2/3
นายกรัฐมนตรีหญิง ถูกฆ่า น.ส.เพนะซีระ ภุทโท ตอน 3/3

ยังสนใจ ไม่เลิก...
ลอบฆ่า นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ นายกรัฐมนตรีหญิง ศรีลังกา ตอน 1/2
ลอบฆ่า นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ นายกรัฐมนตรีหญิง ศรีลังกา ตอน 2/2

๒ ความคิดเห็น:

  1. 1) คำชี้แจง การเรียกชื่อกฎหมายอินเดีย ในข้อเขียนว่า “พ.ร.บ.”

    กฎหมายอินเดียผู้เขียนใช้คำไทยอย่างย่อ เรียกว่า “พ.ร.บ.” ซึ่งในเมืองไทยคำย่อนี้ หมายถึง กฎหมายทั้งปวงที่ผ่านสภาฯ ออกมา และพระเจ้าอยู่หัวลงพระนามแล้ว

    ง่าย ๆ เลยอย่าปวดหัว กลับไปอ่าน พระราชบัญญัติฉบับแรก ที่ออกมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 2 วัน คือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ในมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า “สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย พระราชบัญญัตินั้น เมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้”

    เพราะฉะนั้น ตามความเข้าใจของผู้เขียน ก็เห็นว่าการที่รัฐบาล “ออกกฎหมาย” ใด ๆ ก็ดี ในทางภาษากฎหมายท่านใช้คำว่า “ออกพระราชบัญญัติ” ดังความในมาตรา 8 นั้น

    ส่วน กฎหมายที่ผ่านสภาฯ อินเดีย ใช้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Act” ผู้เขียนก็เรียกเป็นภาษาไทยว่า พ.ร.บ. เพื่อให้เนื้อความตรงตามภาษากฎหมายไทย เช่น พ.ร.บ. ธนาคารแห่งชาติเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท พ.ศ. 2524 (ของอินเดีย) ผู้เขียนก็แปลมาจากชื่อภาษาอังกฤษของกฎหมายอินเดียฉบับนั้น ที่ว่า the National Bank for Agriculture and Rural Development Act 1981

    โดยที่ ผู้เขียนแปลคำว่า act = พ.ร.บ. ซึ่งก็ไม่ได้คิดเองทำเอง หรือนึกทึกทักเอาเอง ตามอำเภอใจ แต่แปลตามครรลองของการเรียกชื่อกฎหมายไทย ที่ว่ามาในย่อหน้าต้น และตามอาจารย์กฎหมายหลาย ๆ ท่าน

    ระบบกฎหมายอินเดียทุกวันนี้ รับมรดกมาจาก บริทิศ ราช หรือระบอบการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และกระบวนการยุติธรรมของอินเดีย ก็ถ่ายสำเนาจากอังกฤษ แต่ก็มีการปรับเนื้อหาเพื่ออินเดียเป็นการเฉพาะตัวอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น แม้อินเดียจะไม่ได้ใช้ระบบประมวลกฎหมาย เช่นประเทศฝรั่งเศส สเปน ละตินอเมริกา ไทย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ แต่ก็มีข้อยกเว้นพิเศษอยู่ว่า อินเดียมี “ประมวลกฎหมายอาญา” ไว้ใช้ (แต่ประมวลแพ่ง หามีไม่)

    ประมวลกฎหมายอาญาฉบับดังกล่าว บริทิศ ราช สร้างขึ้นไว้ เพื่ออาณานิคมอินเดียโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้ในประเทศอังกฤษ แต่ต่อมา-และตราบจนเท่าทุกวันนี้ ประมวลกฎหมายอาญาฉบับนั้น ก็ยังเป็นพื้นฐานของกฎหมายอาญา ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย สิงห์คโปร์ และบรูไน

    โดยชื่อแล้ว พ.ร.บ. ธนาคารแห่งชาติเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท พ.ศ. 2524 ของอินเดีย ก็พอจะเทียบได้ตรงกับ “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509” ของประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนก็ได้ประหยัดขั้นตอน ไม่ได้ใช้คำว่า “พระราชบัญญัติ” ให้ยืดยาวกับกฎหมายอินเดีย แต่ใช้คำย่อเรียกกฎหมายแขกว่า “พ.ร.บ.” นั่น “พ.ร.บ.” นี่

    สรุปว่าตั้งแต่ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คำย่อว่า “พ.ร.บ.” ในประเทศไทยใช้หมายถึงกฎหมายทั่วไป ที่ผ่านสภาฯออกมา โปรดกลับไปอ่าน-อีกครั้ง -พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา 8

    แต่ ดังได้สาธกแล้วว่า กฎหมายอินเดียที่ ไม่ได้ ผ่านสภาฯออกมาก็มี เช่น ประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย เป็นต้น ซึ่งรับมรดกหน้าตาเฉยมาจาก บริทิศ ราช และท่านแขกก็ไม่ได้เรียกกฎหมายฉบับนั้น ว่า “Act” และทางผู้เขียนก็ไม่ได้ดัดจริตเรียกว่า “พ.ร.บ.” แต่แขกท่านเรียกว่า “Code” ซึ่งทางผู้เขียนก็เรียกตามท่านว่า “ประมวลกฎหมาย” ซึ่งชื่อตรงกับประมวลกฎหมายอาญา ของไทย แต่ถ้าเราจะศึกษาให้ละเอียด “ศักดิ์” ของประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย ในระบบกฎหมายอินเดีย กับ “ศักดิ์” ของประมวลกฎหมายอาญาไทย ในระบบกฎหมายไทย มีศักดิ์ไม่ตรงกันทีเดียวนัก ซึ่งจะขอละเว้นไม่ลงรายละเอียด

    ในสมัยโบราณ สมัยอยุธยาหรือก่อนนั้น คำที่พอเทียบได้กับ พ.ร.บ. คือคำว่า “พระไอยการ” เช่น “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” ถ้าจะเรียกขานเทียบเป็นภาษาปัจจุบัน ก็จะประมาณเรียกได้ตามสำนวนภาษาทุกวันนี้ว่า “พ.ร.บ.ตำแหน่งนาพลเรือน” หรือ “พระไอยการลักษณรับฟ้อง” ก็น่าจะเรียกพอสัณฐานประมาณได้ว่า “พ.ร.บ.ลักษณรับฟ้อง” เป็นต้น

    ที่ยกตัวอย่างมานั้น ก็เพื่อจะอภิปรายในเชิงการใช้ภาษาไทยและแขก ระหว่างหมู่มิตรสหายท่านผู้อ่านทั้งหลายว่า การเปรียบเทียบระบบกฎหมายโดยเนื้อหาก็ “โคตรยุ่ง” ผู้เขียนไม่ต้องการทำเรื่องที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว ให้ “แม่ง” ยากขึ้นไปอีกสำหรับตัวเอง และสำหรับท่านผู้อ่าน ถ้าเป็นกฎหมายอินเดีย แล้วแขกเรียกว่า Act เราก็เรียกเสียง่าย ๆ ว่า “พ.ร.บ.” แล้วกัน-ความหมายจะได้ตรงกัน

    ตอบลบ
  2. 2) คำชี้แจงการใช้คำว่า “ราช”

    ข้อ 2) นี้ก็ต่อเนื่องกันกับข้อ 1) นั่นเอง คือว่าในเมืองไทยเนี่ยะ เมืองแขกไม่เกี่ยวนะครับ เฉพาะในเมืองไทยเนี่ยะ บางทีในเชิงรัฐศาสตร์ เราท่านบางคนก็เห็นว่า ถ้าประเทศใดไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กฎหมายประเทศนั้น เราก็ไม่น่าจะเรียกว่า “พ.ร.บ.” เพราะในคำเต็มของ “พ.ร.บ.” มีคำว่า “ราช” อยู่ด้วย เราคิดว่า “ราช” หมายความเกี่ยวพันถึงพระมหากษัตริย์ เท่านั้น

    ผู้เขียนไม่กล้าฟันธงว่า ความเห็นชนิดนั้น ผิด! เพราะการแสดงออกรุนแรงจะกลายเป็นโรตีจิ้มน้ำพริกรสแซ่บ ไป แต่ผู้เขียนมีความเห็นอย่างกลาง ๆ ด้วยการอ้างเหตุผล(อากิวแม้น) ดังต่อไปนี้

    ขอความกรุณาว่า โปรดเปิดพจนานุกรม “The Oxford HINDI-ENGLISH Dictionary” ควบคู่ไปด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการอ่าน และทำความเข้าใจเนื้อความต่อไปนี้ แต่ถ้าไม่มีดิคชันนารีฉบับนั้น-ก็ไม่เป็นไรครับ จะพยายามเขียนให้ผู้ไม่มีพจนานุกรม พออ่านเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพียงแต่ว่า ท่านจะขาดพยานหลักฐาน ที่จะเห็นกับตา อยู่ตรงหน้าเท่านั้น

    คำว่า “ราช” ภาษาฮินดีนั้น(-พจนานุกรม หน้า 859) แม้จะเกี่ยวข้องกับ “ราชา” โดยตรง แต่ตาม The Oxford HINDI-ENGLISH Dictionary ความหมายหลักอย่างพื้นฐาน จะหมายถึง “ผู้ปกครอง” กับ “การปกครอง” กับหมายถึง “บ้านเมือง” ด้วย เพราะฉะนั้น อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับบ้านเมืองและการปกครอง ก็เข้าข่ายใช้คำว่า “ราช” ได้หมด (-พจนานุกรม หน้า 860-861)

    ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่ชื่อประเทศอินเดีย อย่างเป็นทางการ ยังมีคำว่า “ราช” ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คืออินเดียมีชื่อเต็มว่า “ภารัติยะ คณะราชยะ” = भारत गणराज्य ซึ่งแปล เรียกกันในภาษาไทยว่า “สาธารณรัฐอินเดีย”

    ที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็เพื่อจะอ้างเหตุผล(อากิวเม้น)ว่า แม้แต่ประเทศสาธารณรัฐเช่นอินเดีย ก็ยังใช้คำว่า “ราช” เรียกชื่อประเทศ และ The Oxford HINDI-ENGLISH Dictionary ท่านอธิบายคำนี้ไว้กว้างขวาง อย่างชนิดที่น่าจะถูกต้องดีแล้ว ถ้าไม่ถูกไม่ต้อง ก็ไม่ทราบว่าจะไปพึ่งใคร เพราะนักภาษาทั้งหลายก็เห็นว่า เป็นพจนานุกรมฮินดี-อังกฤษที่วิเศษที่สุด เท่าที่มีใช้กันอยู่เวลานี้

    ว่า คำว่า ราช นอกจากจะหมายถึง “ราชา” แล้ว ก็ยังมีความหมายเกี่ยวกับ ผู้ปกครอง การปกครอง และบ้านเมือง เป็นต้น

    คำว่า “ราชการย์” แม้ไม่พบบ่อยในภาคปฏิบัติ แต่ก็มีความหมายตรงกับคำไทย ว่า “ราชการ” คือหมายถึง public administration พจนานุกรมฉบับนั้น ก็ได้ยกตัวอย่าง อธิบายไว้เหมือนกัน

    ในบทความที่ได้เขียนไปนั้น ก็มีคำว่า

    บริทิศ ราช = ब्रिटिश राज ซึ่งหมายถึง ระบอบการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียอยู่ในอดีต ก็มีคำว่า “ราช” อยู่

    และมีคำว่า
    ราชยะ สภา = राज्य सभा ซึ่งหมายถึงวุฒิสภาของอินเดีย

    และมีคำว่า
    ราช ฆาท = राज घाट ซึ่งที่จริง มีความหมายตามตัวอักษร ว่า ท่าน้ำของผู้ปกครอง คล้าย ๆ กับ “ท่าราชวรดิษฐ์” อะไรประมาณนั้น แต่ในทางปฏิบัติใช้เรียกบริเวณอนุสรณ์สถาน สำหรับนักการเมืองระดับสูง หรือบุคคลสำคัญระดับชาติ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา กรุงเดลลี

    เพราะฉะนั้น ผู้เขียนก็เลยไม่อยากทำให้ ท่านผู้อ่านและตัวเอง สับสนโดยไม่จำเป็น ยังคงแปลภาษากฎหมายคำว่า “Act” เป็นภาษาไทยว่า “พ.ร.บ.” แม้จะเป็นกฎหมายอินเดีย สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ก็ตาม

    ขออภัย ที่ชี้แจงยืดยาว และยินดีรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย โปรดแสดงความเห็นของท่าน ในช่อง คอมเม้นต์ ถัดไปนี้-ขอบคุณ ครับ

    ตอบลบ