"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

(นางสาว อินทิรา ตอน 2/3) สังหารโหด นักการเมืองสตรีเอเชีย The murder of woman politicians in Asia กรณีของ इंदिरा प्रियदर्शिनी - นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี การเมืองระหว่างเป็นนายกฯ รอบแรก 2509-2520

นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี ตอน 2/3
murder of woman politicians

ตัดภาพให้ชัดขึ้น

เพื่อตัดให้ภาพ คุณอินทิรา ปริยัทรศินี เด่นขึ้น บุคคลที่เราน่าจะยกขึ้นมาเทียบน่าได้แก่ นาย मोरारजी देसाई หรือนายโมรา รชี เทสาย ต่อไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า นายโมรา ส่วนคุณอินทิรานั้น เพื่อให้ทันสมัย ก้าวหน้า และสร้างสรรค์ จะใช้คำนำหน้านามเธอเสียใหม่ เป็น นางสาว อินทิรา เพราะว่า ในโลกตะวันตก ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านก็ทราบกันดีโดยทั่วว่า เขาจะเรียกสตรีว่า นางสาว ไว้ก่อน เว้นแต่ว่าเจ้าตัว จะบอกกล่าวให้ทราบชัดเจนว่า โปรดเรียกฉันว่า นาง ยิ่งในภาคธุรกิจของสหรัฐฯด้วยแล้ว การไปเรียกสตรีในธุรกิจว่า นางนั่นนางนี่ นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังอาจทำให้การเจรจาธุรกิจล้มเหลว ได้ด้วย

โอม ภะคะวัน(=พระผู้เป็นเจ้า หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้า) ส่งข้ามาเกิดแล้ว ทำไมต้องให้นายโมรา มาเกิดด้วย

ถ้าผู้เขียนเป็น นางสาว อินทิรา ผู้เขียนจะนึกอย่างนั้น นายโมรา อายุแก่กว่า นางสาว อินทิรา ประมาณยี่สิบปี เขาเป็นชาวคุชราต เช่นเดียวกับมหาตมะ คานธี และเป็นสานุศิษย์ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งของท่านมหาตมะ ตลอดระยะเวลาประมาณเกือบยี่สิบปี ที่เคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษ เขามีผลงานติดตะรางทางการเมือง และผลงานต่อสู้เพื่ออิสรภาพอินเดียหลายอย่าง อีกทั้งยังมีประสบการณ์การเมือง จากเขตคุชราต ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษปกครอง ซึ่งในเวลานั้นนายโมรา เป็นแกนนำทางการเมือง ของพรรคคองเกรสเขตคุชราต ครั้นถึงปี พ.ศ. 2480 อันเป็นปีที่ นางสาว อินทิรา เข้าเรียนที่อ็อกฟอร์ด นายโมรา ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐบอมเบย์(คล้าย ๆ สมาชิกสภาจังหวัด) และได้รับแต่งตั้งเป็น รมต. มหาดไทย ของรัฐบอมเบย์ ก่อนหน้านั้น เขาก็เคยดำรงตำแหน่ง รมต. กระทรวงคลัง ของรัฐบอมเบย์ มาก่อน

ช่วงทศวรรษที่ 50 ระหว่างที่ นางสาว อินทิรา ช่วยงานบิดาผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ข้างฝ่ายนายโมรา ก็มีโอกาสสะสมประสบการณ์ทางการเมือง เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยตำแหน่ง “หัวหน้าคณะมนตรีแห่งรัฐบอมเบย์” คล้าย ๆ กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขตการปกครองท้องถิ่น ซึ่งระบอบการปกครองส่วนภูมิภาค แบบที่มีคณะมนตรีแห่งรัฐ กับมีหัวหน้าคณะมนตรี เป็นมรดกจากสมัยอาณานิคมอังกฤษ ระบอบการปกครองรูปแบบนี้ อังกฤษก็นำมาใช้ในมลายูด้วย โดยเฉพาะในเขตที่ไม่มีสุลต่าน

ช่วงทศวรรษที่ 50 หลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษใหม่ ๆ นั้น การเมืองอินเดียเข้มข้นเรื่องการเรียกร้อง ขอปักปันดินแดนเสียใหม่ตามภาษาถิ่น เพราะเขตปกครองเดิม ที่รับมาจากระบอบอังกฤษ ปันแดนไม่สอดคล้องตามภาษา ระยะนั้น มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ค่อนข้างรุนแรงขอแบ่งรัฐบอมเบย์ ออกเป็นสองรัฐ คือ รัฐที่พูดภาษาคุชราต กับรัฐพูดภาษามหาราธี นายโมรา ในฐานะหัวหน้าคณะมนตรีรัฐบอมเบย์เวลานั้น คล้าย ๆ นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐ ใช้ความรุนแรงปราบพวกที่เรียกร้อง คนตายไปร้อยกว่าคน

ปัจจุบัน มีอนุสาวรีย์ระลึกถึงคนเหล่านั้น อยู่ในเมืองบอมเบย์(มุมไบ) เหตุการณ์ครั้งนั้น มีส่วนเขย่าฐานะรัฐบาลกลางที่เดลีด้วย แต่จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่อาจจะทราบได้ ที่นายกรัฐมนตรี เนห์รู ไม่ค่อยจะชอบหน้า นายโมรา หรือจะเป็นเพราะนายโมรา โดดเด่นขึ้นทุกที บนเวทีการเมืองของพรรคคองเกรส ก็ไม่รู้เหมือนกัน

สำหรับท่านผู้อ่าน ที่สงสัยว่า ทำไมไม่มีบท “จูบ” ในภาพยนตร์อินเดีย ก็โปรดทราบไว้ด้วยว่า นายโมรา เป็นคนเสนอกฎหมาย “มีเซ็น” (ห้ามจูบ)ในหนังเอาไว้ นายโมรา อนุรักษ์นิยมเชิงวัฒนธรรม แต่เอียงข้างทุนนิยมเสรีในเชิงเศรษฐกิจ ผิดกับสมาชิกพรรคคองเกรส สายนางสาวอินทิรา ที่ค่อนข้างใจกว้างเชิงวัฒนธรรม แต่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

นางสาว อินทิรา เจอคู่แข่งโดยตรง

เมื่อนายเนห์รู ตาย นายโมรา แข่งขันพอเป็นพิธีกับนายศาสตรี เพื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อินเดีย แต่ครั้นนายศาสตรี ถึงแก่กรรม ด้วยอาการตัวเขียวตาย เมื่อปี พ.ศ. 2509 ระหว่างไปประชุมสันติภาพ ที่เมืองทัชเคนท์ รัฐอุซเบ็ค ประเทศสหภาพโซเวียต (ซึ่งปัจจุบันนี้ จะมีคนไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยังไม่ยอมเชื่อว่า นายศาสตรีตัวเขียวตาย เพราะโดนยาพิษ) นายโมรา กระโดดลงเวทีแข่งกับนางสาวอินทิรา เพื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 169 ต่อ 351

นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี ไม่ใช่คนซื่อบื้อทางการเมือง แม้จะไม่ชอบหน้านายโมรา เช่นเดียวกับบิดาของเธอ แต่รัฐบาลเธอหลังการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2510 ก็มีนายโมรา เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมต. ว่าการกระทรวงการคลัง กระทั่งเกิดการแตกแยกถึงที่สุด ในพรรคคองเกรส นางสาวอินทิรา จึงปลดนายโมรา จากตำแหน่งรองนายกฯ และรมต. คลัง เมื่อปี พ.ศ. 2512 แล้วเธอก็ไม่พึ่งเสียงสนับสนุนจากพรรคคองเกรส มุ้งนายโมรา ที่มีแนวทางทุนนิยมเสรีและอนุรักษ์นิยม อีกต่อไป เธอบริหารประเทศโดยอาศัยเสียงสนับสนุน จากมุ้งสังคมนิยมในพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นมุ้งใหญ่ กับเสียงจากพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย และในปี 2512 นั้นเอง ที่นางสาวอินทิรา ปฏิบัตินโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยม ด้วยการยึดกิจการธนาคารพาณิชย์ มาเป็นของรัฐ

พรรคคองเกรสแห่งอินเดีย กลายพันธุ์ในยุค นางสาว อินทิรา

भारतीय राष्ट्रीय कांग्रेस อ่านว่า ภารัติยะ ราษทริยะ กังเครส  คือชื่อ “พรรคคองเกรสแห่งชาติภารตะ” เพื่อให้อ่านง่ายจะขอเรียกว่า พรรคคองเกรส สั้น ๆ แล้วกันครับ

แต่เดิม “ภารัติยะ ราษทริยะ กังเครส” เป็นชื่อกระบวนการทางการเมืองขบวนใหญ่ เพื่ออิสรภาพอินเดีย ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2428 ครั้นได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ก็ปรับฐานะขบวนการเป็นพรรคการเมือง โดยมีตระกูลเนห์รู-คานธี เป็นผู้นำในพรรค

ครั้นเกิดความร้าวฉาน อย่างยากจะปรองดอง ระหว่างกลุ่มนางสาวอินทิรา กับกลุ่มนายโมรา ครั้นกลุ่มนางสาวอินทิรา แตกกอไปเป็นพรรคคองเกรสใหม่ พรรคคองเกรสของกลุ่มนางสาวอินทิรา ได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการเลือกตั้ง ว่าเป็นพรรคคองเกรสของแท้ หรือรู้จักในชื่อเล่นว่า พรรคคองเกรส(ไอ) ส่วนพรรคคองเกรส สายนายโมรา ซึ่งเป็นกอเดิม ต้องเลี่ยงไปใช้ชื่อว่า พรรคคองเกรส (โอ) คำว่า โอ ย่อมาจาก โอลด์ หรือคองเกรสดั้งเดิม ในที่ประชุมใหญ่พรรคคองเกรสปี พ.ศ. 2512 ปีที่เกิดการแบ่งแยกพรรค โดยมีปีกซ้ายเป็นฝ่ายนางสาวอินทิรา กับปีกขวาเป็นฝ่ายนายโมรา สมาชิกที่ประชุม 446 คนจากทั้งหมด 705 คน เลือกที่จะ “เฮ” ไปอยู่ข้าง นางสาวอินทิรา

ดังคาด ผลการเลือกตั้งในอีกสองปีถัดมา คือปี พ.ศ. 2514 ปรากฏว่า พรรคคองเกรส สายนางสาวอินทิรา ได้คะแนน 44 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร หรือที่อินเดียเรียกว่า लोक सभा (= “โลก สภา” ) คำว่า โลก ในภาษาฮินดีแปลว่า ผู้คน พลเมือง ประชาชน สมาชิกพรรคคองเกรส สายนายโมรา ได้เสียงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในโลกสภา และนางสาวอินทิราก็ไม่ได้อาศัยคะแนนเสียง สายนายโมรา เพื่อปกครองประเทศอีกต่อไป ดังได้กล่าวแล้ว

พรรคการเมืองเก่าแก่ของอินเดีย และถือกันว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งในโลก นับจากบัดนี้อายุกว่า 125 ปีแล้ว ยังคงวิวัฒนาการต่อมา กล่าวคือ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2520 พรรคคองเกรส(โอ) หรือคองเกรสเดิม สายนายโมรา รวมตัวกันกับพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่เวลานี้เรารู้จักกันดี ในนามว่า พรรคประชาชน หรือ जनता पार्टी อ่านว่า "ชะนะตะ ปาร์ที" พรรคชะนะตะ กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น แล้วก็ได้หนุนนายโมรา เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง 2520-2522 เป็นนายกอินเดียคนแรก ที่ไม่ได้สังกัดพรรคคองเกรส ต่อมา พรรคชะนะตะใช้ชื่อใหม่เต็มยศ เมื่อปี พ.ศ. 2523 ว่า भारतीय जनता पार्टी หรือ “ภารัติยะ ชะนะตะ ปาร์ที”  สื่อมวลชนมักจะเรียกชื่อย่อภาษาอังกฤษ รู้จักกันทั่วโลกว่า พรรค BJP

ผลงานรัฐบาล นางสาวอินทิรา รอบแรก พ.ศ. 2509-2520

จะมาดูถูกลูกผู้หญิงตัวเล็ก ๆ กันไม่ได้ นักการเมืองอินเดีย ผู้คร่ำหวอดเวทีท่านหนึ่ง จะไม่ขอออกนาม เรียกนางสาวอินทิราลับหลัง เมื่อเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ ๆ ปี 2510  ว่า “คุงคิ คุดิยะ” แปลว่า “ยัย ตุ๊กตาโง่”

ปรากฏว่าสี่ปีหลังจากนั้น พ.ศ. 2514 เมื่อเธอนำทัพอินเดีย มีชัยสงครามต่อปากีสถาน ปลดปล่อยบังคลาเทศเป็นอิสระ ผู้คนพาแสร้ซร้อง สรรเสริญเธอดุจจะเทพเจ้าสตรี ที่สถิตบนสวรรค์พิมานฮินดู ซึ่งมีสตรี “ชั้นเทพ” สามองค์เรียกว่า "ไตรเทวี”  อันประกอบด้วย ลักษมีเทวี ปาระวะตี(อุมาเทวี) และพระสุรัสวดี ชายาของพระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหมณ์ ตามลำดับ

เธอได้รับการยกย่อง ดุจจะเป็นอวตารของเทพปาระวะตี ซึ่งเป็นเทพสตรีที่ฮ็อทที่สุดในไตรเทวี ในอินเดียปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนนั่งรถตุ๊ก ๆ จากชายฝั่งแม่น้ำคงคา มาสถานีรถไฟพาราณสี สังเกตเห็นรูปเทพสตรีองค์หนึ่ง เก่าและซีด แปะอยู่บริเวณกระจกหน้ารถ ก็ถามคนขับว่า อุมาเทวีหรือ คนขับตุ๊ก ๆ ตอบว่า “ปาระวะตี”

เพื่อความมั่นคงระยะยาวของอินเดีย กับเพื่อต้านทานการคุกคามจากประเทศจีนกับปากีสถาน นางสาวอินทิรา ยังได้สั่งลุย โครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อต่อยอดขั้นตอนสุดท้ายสร้างอาวุธ เป็นโครงการลับสุดยอด มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมประมาณ 50 กว่าคนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความลับรั่วไหล ส่วนการสร้างลูกระเบิดนิวเคลียร์นั้น นางสาวอินทิรา เป็นคนสั่งสร้างเอง โดยใช้วิธีสั่งด้วยวาจา ไปยังศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ภะภา เมืองบอมเบย์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2515

โครงการสร้างลูกระเบิด มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ” แต่ตั้งชื่อลูกระเบิดว่า "พระสังขจาย” คล้าย ๆ กับจะเป็นการตอบโต้ทางจิตวิทยา ต่อประเทศจีน เพราะภิกษุรูปนี้โด่งดังอยู่ในธรรมเนียมจีน นักวิทยาศาสตร์อินเดียยังมีความคิดสร้างสรรค์สุด ๆ (ทะลึ่ง) ได้กำหนดวันทดลองระเบิดปรมาณู “พระสังขจาย” ให้ตรงกับวัน “วิสาขะ”( वैशाख ) อันเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา โดยที่ตามปฏิทินสากลในปีนั้น ฤกษ์วิสาขะบูชา ในอินเดีย ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2517 และวันนี้คือ วันกำหนดทดลองระเบิดปรมาณู ลูกแรกของอินเดีย จำง่ายครับ น่าจะเป็นศักราชที่จำง่ายอีกศักราชหนึ่ง ในประวัติศาสตร์อินเดียยุคใหม่ ศักราชแรกที่จำง่ายคือ วันก่อตั้งบริษัท เดอะ อีส อินเดีย คอมปะนี  ในรัชกาลอะลิซาเบธที่หนี่ง ซึ่งเป็นเทรดดิ้ง เฟิร์ม ที่เย็นจัดที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1600 หรือ วันสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

ต่อมา อินเดียก็ได้ประกาศให้ วันที่ 11 พฤษภาคม ตามปฏิทินสากลเป็น “วันเทคโนโลยีแห่งชาติ” เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธก็ถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ระเบิดปรมาณูและไฮเทค ในอินเดีย โดยไม่ได้เจตนา ด้วยประการฉะนี้ แหละโยม

ระเบิดนิวเคลียร์พระสังขจาย ทดลองในทะเลทรายธาระ ผู้เขียนเคยเดินทางผ่านไปในทะเลทรายธาระ เพื่อจะขอเฉียดเมืองโปขรัน อันเป็นเมืองทหาร ห่างจากชายแดนปากีสถานประมาณ 130 กิโลเมตร และเป็นที่ทดลองระเบิดปรมาณู ซึ่งก็สามารถผ่านไปได้โดยฉลุย ผิดกับเมื่อครั้งไปสอดแนม(พูดเล่น-แต่ไปมาจริง)ในรัฐโอริสสา ที่เมืองชายทะเล ด้านอ่าวเบงกอล ซึ่งใช้เป็นที่ทดลองยิงจรวดอัคนี โดยทางการอินเดียจะนำขีปนาวุธอัคนี ออกจากคลังแสง มายิงทดสอบสมรรถนะ สองปีต่อหนึ่งลูก ปรากฏว่าผู้เขียนโดนเช็คพาสปอร์ตที่นั่นนานนับชั่วโมง

ต่อมา เมื่ออินเดียสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์แห่งที่สอง โดยสร้างไว้คนละมุมประเทศ กับศูนย์แรกที่บอมเบย์(มุมไบ) ศูนย์ที่สองสร้างใกล้เมืองมัทราส(เชนไน) ชายฝั่งอ่าวเบงกอล ศูนย์ที่สองนี้ เน้นการวิจัยและวิศวกรรมขั้นสูง เกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู และเป็นที่สำหรับสร้างเตาปฏิกรณ์ของอินเดียเองด้วย ศูนย์ดังกล่าว อินเดียตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ นางสาวอินทิรา ว่า “ इन्दिरा गांधी परमाणु अनुसंधान केन्द्र ” อ่านว่า “อินทิรา คานธี ปรมาณู อนุสันธาน เกนทระ” แปลว่า “ศูนย์วิจัยปรมาณู อินทิรา คานธี”

นิวเคลียร์ ภาษาไทยกับภาษาฮินดี ใช้คำตรงกันว่า “ปรมาณู” ( परमाणु ) เหมือนกันเด๊ะ ส่วนที่ว่า ใครจะก็อปใครนั้น คนไทยกับคนแขกต้องทะเลาะกันเอง นะครับ กรณีนี้ผู้เขียนขอออกตัวว่า เป็นคนละตินอเมริกา ผมไม่เกี่ยว(-พูดเล่น)

ผลงานสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ตราบเท่าทุกวันนี้ นางสาวอินทิรา ยังครองใจคนยากคนจน เหตุมีว่า เมื่อเธอเป็นนายกได้สองปี อินเดียเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างโหด ข้าวยากหมากแพง เกิดภาวะเศรษฐกิจยากเย็นเข็ญใจ มากมายหลายหย่อมหญ้า กล่าวคือ คนอดอาหารตาย เหตุการณ์นี้ ทำให้ฝันร้ายจากอดีตสมัยอังกฤษปกครอง กลับมาหลอนอินเดียอีกครั้ง กล่าวคือในอดีต เมื่อพ.ศ. 2486 สมัย  บริทิศ ราช ตรงกับรัชกาลที่ 8 ในประเทศไทย อินเดียเคยขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ ครั้งนั้น มีคนตายไปประมาณ 4 ล้านคน แต่ว่าที่จริงแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์ดินแดนภารตะ มีบันทึกเรื่องข้าวยากหมากแพงมาโดยตลอด เช่น ในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้น สำหรับข้าวยากหมากแพงยุคใหม่ ในยุคของนางสาวอินทิรานั้น บริทิศ ราช ไม่อยู่ให้ด่าแล้ว กลับบ้านกันหมดแล้ว ภารตะแลนด์ปกครองตนเอง ได้รับอิสรภาพแล้ว โทษใครไม่ได้แล้ว

ด้วยจิตสำนึกเฉกเช่นนี้ นางสาวอินทิรา จึงได้ผลักดันปรับปรุงภาคเกษตรแบบเน้น ๆ ที่เรียกกันภายหลังว่า การปฏิวัติเขียว กล่าวคือ ส่งเสริมพันธ์ข้าวสาลีพันธุ์ใหม่(เอามาทำ โรตี)ที่ให้ผลผลิตสูง ปรับปรุงแหล่งน้ำ ซึ่งส่วนมากใช้น้ำใต้ดิน ไม่ได้สร้างระบบคลองชลประทานแบบในเมืองไทย และส่งเสริมการใช้ปุ๋ย เพื่อให้อินเดีย ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ ทำไร่นาขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยมีที่ทำกิน ต่ำกว่าครอบครัวละ 5 ไร่ ให้สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตนเองได้

ซึ่ง เธอก็ดำเนินนโยบายการเมืองประเด็นนี้ ได้รับผลสำเร็จ จากที่เคยต้องสั่งอาหารเข้าประเทศ อินเดียพลิกแผ่นดิน กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร ความสำเร็จของการปฏิวัติเขียวเป็นเหตุหนึ่ง แต่มิใช่เหตุเดียว ที่ทำให้นางสาวอินทิรา อยู่บนเวทีการเมืองอินเดียได้นาน ปัจจุบันนี้ อินเดียผลิตอ้อยเป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิล ผลิตข้าวสาลีเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน แต่ส่งออกข้าวสาลี มากกว่าจีน สามเท่าตัว และการส่งออกข้าวเจ้า ก็เป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศไทย เป็นต้น

การเร่งรัดพัฒนาชนบท และส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารให้แก่อินเดีย ในส่วนที่เกี่ยวกับการเงินและสินเชื่อนั้น ก็ได้ชักนำไปสู่การตั้ง “ธนาคาร ธกส.” ของอินเดีย โดย พ.ร.บ. ธนาคารแห่งชาติเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท พ.ศ. 2524 ซึ่งก็เกิดขึ้นในยุครัฐบาล นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี สินเชื่อเกษตรในอินเดีย วิวัฒนาการในรายละเอียดเรื่อยมา กระทั่งเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว พ.ศ. 2541 รัฐบาลอินเดีย สร้างความฮือฮา ประเภทที่ชาวไร่ชาวนา “ได้เฮ”  ด้วยการริเริ่มโครงการ คิดใหม่ทำใหม่ และคิดนอกกรอบ ชื่อ “ किसान क्रेडिट कार्ड ” อ่านว่า “กิสาน เกรฑิท การฺฑ ”  แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า โครงการ บัตรเครดิต เกษตรกร”  วาว! ออซัม!


[สนใจ โปรดคลิกมาเช็ค ที่นี่บ่อย ๆ เพื่อติดตามตอนจบ ตอน 3/3 ครับ]

1 ความคิดเห็น:

  1. -ขออภัยครับ มีแฟนท้วงมาว่า
    ที่เขียนว่า "วันสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 17"

    ท้าย ย่อหน้าที่ 5
    ใต้หัวข้อ ผลงานรัฐบาล นางสาวอินทิรา รอบแรก พ.ศ. 2509-2520

    นั้น ไม่ถูกต้อง-ศักราชคลาดเคลื่อน
    ที่ถูก วันสิ้นศตวรรษที่ 17 ต้องเป็น วันที่ 31 ธันวาคม 1699

    ขอบพระคุณ มา ณ โอกาสนี้ ครับ
    เพราะฉะนั้น วันที่ 31 ธันวาคม 1600
    อันเป็นวันก่อตั้ง บริษัท อีส อินเดีย คัมปะนี
    ก็จะเป็นเพียง "วันสิ้นปีแรก ของศตวรรษที่ 17"

    ตอบลบ