"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันจันทร์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เพลงชาติแห่งทวีป

เพลงชาติแห่งทวีป--ดนตรีวิจารณ์
โดย แดง ใบเล่ 
(โพสต์ที่นี่แล้ว ทั้งบทครับ ตีพิมพ์ใน เอ็มบีเอ ฉบับพฤศจิกายน 2552)
ทุกวันนี้มีให้ชมและฟังอยู่นับสิบ ๆ เวอร์ชันใน “ยูตูบ” แต่สมัยเมื่อยังเดินอยู่แถวท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ผู้เขียนก็เคยได้ยินเพลงนี้ ครั้นมีโอกาสได้ผ่านชีวิตเสี้ยวหนึ่งในนครชิคาโก ก็เคยได้ยินเพลงนี้ ต่อมาเมื่อเดินเล่นอยู่หลายปีที่ถนน รู แซ็งต์คัตตะรีน เมืองบอร์โดส์ ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้พบวงดนตรีวนิพกบรรเลงเพลงเดียวกันนี้บนถนนสายนั้นประจำไม่ว่าจะช่วงเทศกาลปั้ค(อีสเตอร์) หรือช่วงเทศกาลโนเอล(คริสต์มาส) เวลาขึ้นจากบอร์โดส์มาเที่ยวที่ปารีส ก็ได้ยินเพลงนี้บรรเลงอยู่บนลานหน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ศูนย์ จอร์จ ปอมปิดู เหตุการณ์เหล่านั้นแท้จริงคือกรรมเดียวกัน แต่ว่าเกิดต่างวาระกัน
เพราะฉะนั้น ผู้เขียนเคยได้สดับทั้งในทศวรรที่ 60 ในประเทศไทย ทศวรรษที่
 70 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และทศวรรษที่ 80 ในประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันนี้ทำนองเพลงยังติดตามตัวทั่วทุกแห่งที่เดินทางไป ไม่ว่าจะในทะเลทรายธาระ หรือเลียบไหล่เขาหิมาลัย หรือชายทะเลรัฐโอริสสาในอินเดีย หรือบนรถทัวร์ประจำทางในประเทศไทย เพราะว่าลำนำอมตะได้อวตารเข้ามาอยู่ในเครื่องเล่น MP3 ชนิดพกพาเรียบร้อยแล้ว
เชื่อขนมครกกินได้เลย ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน ต่างก็ล้วนมีประสบการณ์กับเพลงนี้มาเหมือนกัน บางท่านลึกซึ้งกว่าผู้เขียนเป็นไหน ๆ เพราะว่าท่านเป็นนักดนตรี ท่านเล่นเพลงนี้ได้ด้วยซ้ำ ท่านผู้อ่านแทบจะทุกท่านผู้เกิดมาโดยที่ระบบปฏิบัติการ(โอเอส)ของนิสัยฝังลึก ไม่ได้ถูกตั้งค่าผิดนัด(default value)ไว้เข้าข่าย “ชนใดไม่มีดนตรีการ” หากจะยกเว้นผู้ที่ถูกตั้งค่าผิดนัดไว้เช่นนั้นเสียแล้ว พวกเราทั้งหลายแม้ว่าเราจะยังนึกชื่อเพลงไม่ออก แต่เราหรือท่านเกือบจะทุกคนที่กำลังอ่านบทความบทนี้ ก็จะจำทำนองเพลงได้ในทันทีที่ได้ยิน

เพราะบทเพลงนี้โด่งดังข้ามทวีปทุกทวีป ตั้งแต่มณฑลควีเบ็ค ประเทศคานาดาในทวีปอเมริกาเหนือ ไปจนถึงดินแดนปันตะโกเนียสุดแผ่นดินอเมริกาใต้ ตั้งแต่เกาะทัสมาเนีย ทวีปออสเตรเลีย ไปจนใจกลางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

 ท่วงทำนองมรดกโลกของเพลงนั้น ส่งสำเนียงอันมีมนตร์ขลังจับจิต
 จับใจคน แว่วขึ้นมาจากชีทมิวสิคแผ่นนี้ครับ



พจมาน ตอน 2/2 วินโดว์ ของพจมาน วรรณคดีวิจารณ์

"วินโดส์” ของพจมานฯ (ขอโทษ บิล เกตส์ ชิดซ้าย)
พจมาน ตอน 2/2 วินโดว์ ของพจมาน
 โดย แดง ใบเล่ 


"พจมาน สว่างวงศ์" นวนิยายอสังหาฯอมตะ ต่อเนื่องมาจาก "บ้านทรายทอง" ของ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งตีพิมพ์ปีพ.ศ. 2493 ใช้อสังหาฯ ชิ้นไพรม์เป็นฉาก ทั้ง พจมาน สว่างวงศ์ และ บ้านทรายทอง มีประเด็นในเรื่อง คล้ายกับนวนิยายอสังหาฯ ของนักเขียนอังกฤษ เจน ออสเตน เรื่อง Pride and Prejudice อยู่หลายประเด็น เช่น ทั้งนวนิยายไทยและอังกฤษต่างก็ได้ใช้ “หน้าต่าง” อสังหาฯ เป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่มีบทบาทน่าสนใจ อยู่ในท้องเรื่อง พิจารณาตามความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่า นวนิยายทั้งสองนั้น ต่างก็มีอสังหาฯชิ้นงาม หรือชิ้นไพรม์(มิใช่ซับไพรม์) เป็นเวทีให้ตัวละครได้เล่นบทบาทชีวิต เพราะฉะนั้น โดยสามัญสำนึกแล้ว จะไม่ให้ ประตูหน้าต่างอสังหาฯ เข้ามามีบทบาทในท้องเรื่องบ้าง ได้อย่างไรกัน จริงเปล่าแพ่

อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่านผู้ประพันธ์ ต่างก็ได้ใช้ประโยชน์จาก "วินโดส์" หรือ "หน้าต่าง" แต่ว่า
เจน ออสเตน ได้อาศัย "วินโดส์" ปรุงแต่ง แสดงจุดเด่น ให้แก่อสังหาฯ เธอใช้หน้าต่าง เน้นให้เห็นคุณค่าของอสังหาฯ ช่วยเพิ่มเรตติ้งให้แก่อสังหาฯ ทำให้คุณภาพชีวิตตัวละครดีขึ้น เมื่อมาเกี่ยวข้องกับหน้าต่างนั้น เธอใช้ "วินโดส์" เชื้อเชิญโลกกว้างภายนอก อันสวยงามของชนบทอังกฤษ เข้ามาภายในคฤหาสน์ แล้วก็ด้วยหน้าต่างนั่นเอง ที่ชีวิตภายในตัวคฤหาสน์ จะได้เป็นอิสระทางอารมณ์ มีโอกาสปล่อยใจ โบยบินไปไกลผ่าน "วินโดส์" ได้พักใจให้สดชื่น ด้วยวิธีการอันง่ายและแสนธรรมดา เพียงแค่เดินไปที่หน้าต่าง ทัศนาภูมิทัศน์อันสวยงามภายนอก ผ่าน "วินโดส์" อสังหาฯ เท่านั้นเอง คิดดูแล้วกันว่า หน้าต่างอสังหาฯ สำคัญเพียงใด

แต่ ก.สุรางคนางค์ ใช้ประโยชน์จากหน้าต่างบ้านทรายทอง ในเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ เพียงเพื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบ้านเท่านั้น "วินโดส์" ของ พจมานฯ ไม่ได้เป็นเครื่องมือ ในการเน้นคุณค่า เพิ่มเรตติ้งทริปเปิ้ลเอ(AAA) ให้กับอสังหาฯ  และหน้าต่างของ พจมาน สว่างวงศ์ ไม่ได้เชิญชวน ชี้ชวน หรือเชื้อเชิญ หรือเปิดโอกาส ให้ท่านผู้อ่านได้จินตนาการไปไกล เกินกว่าอาณาบริเวณบ้านทรายทอง ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ จะได้ยกขึ้นมากล่าวอย่างชัดเจนต่อไป

พจมาน ตอน 1/2 พจมาน สว่างวงศ์ วรรณคดีวิจารณ์

“พจมาน สว่างวงศ์”
- วรรณคดีวิจารณ์

พจมาน ตอน 1/2 พจมาน สว่างวงศ์ 
โดย แดง ใบเล่
ผู้วิจารณ์ คิดจะเขียนเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง บ้านทรายทอง  มาพักหนึ่งแล้ว แต่รุ่นพี่ผู้เป็นที่เคารพนับถือ ขอร้องไว้ เธอบอกว่า “นี่เธอ ชั้นขอร้องเถอะ เธออย่าเพิ่งเขียนเรื่องนี้ได้มั๊ย”  ซึ่งผู้วิจารณ์ก็โอนอ่อนผ่อนตาม บัดนี้ ได้เวลาที่จะเขียนถึงนวนิยายเรื่องนั้น ตามความตั้งใจที่มีมานาน คิดได้ก็เขียนเลย ไม่บอกให้เธอทราบ เกรงว่า จะมาขอร้องไม่ให้เขียนอีก


อย่างไรก็ดี ครั้นเวลาล่วงเลยมา ความคิดความอ่านก็เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเห็นว่า มีคนพูดถึงกันมากแล้วเรื่อง บ้านทรายทอง  จึงจะเปลี่ยนมาเขียนเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องที่ต่อเนื่องกัน คือ เรื่อง พจมาน สว่างวงศ์  จะดีกว่าเยอะเลย ซึ่งในโลกหนังสือ มีผู้พูดถึงกันน้อย กว่าเรื่อง บ้านทรายทอง  หรือถ้าจะพูดถึง ก็มักจะกล่าวรวมอยู่ใน บ้านทรายทอง ผู้วิจารณ์เห็นว่า เรื่อง พจมาน สว่างวงศ์  เน้นตัวนางเอกชัด ๆ ในวัยผู้ใหญ่แล้ว ผิดกับเรื่องบ้านทรายทอง ที่ตัวนางเอกยังอยู่ระหว่างก่อรูปบุคลิกตัวเอง และนิสัยใจคอก็ยังคงแฝงความเป็น เด็กหญิงไว้เปีย สวมกางเกงขาสั้นน่ารัก ๆ แบบนักเรียนโรงเรียนแม่ชีฝรั่ง บางครั้งก็ออกอาการเฮี้ยว แบบเด็กสาวรุ่น ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่าง กับบุคลิกในวัยผู้ใหญ่ของ “พจมาน” ในเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์  ผู้วิจารณ์สบโอกาส ที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย จากวิกฤตการณ์อสังหาฯในประเทศสหรัฐอเมริกา ขอถือโอกาสนี้ เขียนถึงนวนิยาย “อสังหาฯอมตะ” ของไทย เรื่องพจมาน สว่างวงศ์  ที่ต่อเนื่องมาจาก บ้านทรายทอง

ซึ่งในบทแรกของนวนิยาย พจมาน สว่างวงศ์  ก็ได้เชื่อมประสานกับนวนิยายอสังหาฯ บ้านทรายทอง อย่างสมบูรณ์ โดยที่ในบทแรกนี้ พจมาน กำลังจะต้องหัดเซ็นชื่อ ด้วยนามสกุลใหม่ จากสกุลเดิม “พินิตนันท์” มาใช้นามสกุลใหม่ว่า “สว่างวงศ์” เธอกำลังจะได้เป็นเจ้าของ “คุณชายภราดาพัฒน์ระพี” ทั้งนี้โดยที่ เธอได้เป็นเจ้าของอสังหาฯชิ้นงาม นามว่า “บ้านทรายทอง” ไว้แล้ว ชีวิตเธอกลับตาลปัตร คล้ายพนักงานทำความสะอาด เดินดันไม้ถูพื้น อยู่ในอาคารศูนย์การค้า ได้กลายเป็นเจ้าของห้างเสียเอง สถานการณ์ชีวิต ช่างพลิกผัน จากร้ายกลายเป็นดี อย่างน่าอิจฉาอะไรเช่นนั้น คล้ายกับพลิกจากสถานการณ์เศรษฐกิจชนิด “วิกฤต”อสังหาฯ กลายเป็นสถานการณ์ชนิด “บูม”อสังหาฯ

อสังหาฯชิ้นงาม เป็นฉากหลังให้กับชีวิตของ พจมาน สว่างวงศ์  โดยท่านผู้ประพันธ์ ก.สุรางคนางค์ ท่านช่างวางชิ้นอสังหาฯ ไว้ได้โดดเด่น ในนวนิยายของท่าน ทำให้หลาย ๆ คน นึกถึงนวนิยายอสังหาฯของ เจน ออสเตน นักเขียนนวนิยายอสังหาฯอมตะ ชาวอังกฤษ ถ้าเราลองเคาะเน็ต ชมหน้าปกนวนิยายอังกฤษย้อนยุค ที่ยังพิมพ์ใหม่ไม่ยอมหยุด และขายทางอะเมซอน.ดอท.คอม เราจะเห็นภาพหน้าปก เป็นรูปพระเอกนางเอก ในเครื่องแต่งกายตามสูตรต้นตำหรับ ฉากหลังจะเป็นภาพอสังหาฯปราสาท หรืออสังหาฯคฤหาสน์ หลังงาม วางอยู่ในบริบทชนบทอังกฤษ และเนื้อเรื่อง ก็จะเกี่ยวข้องกับอสังหาฯหลังงาม ๆ นักเขียนสตรีทั้งสองท่านนี้ นอกจากจะใช้ภาษาตนได้ดีเลิศ และมีศิลปะการเขียนสูงแล้ว ทั้งสองท่าน ยังลิขิตให้ชีวิตพระเอกนางเอก เกาะเกี่ยวอยู่กับอสังหาฯ คล้าย ๆ กันอีกด้วย

วิจารณ์แบบ สงวนจุดเหมือนไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้ จะแสวงจุดต่าง บ้าง

กำเนิดเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกิดกิจการรถไฟในประเทศอังกฤษ รถไฟได้รั้งแผ่นดินชนบททั้งผืน ให้ขยับร่นเข้ามาใกล้กรุงลอนดอนยิ่งขึ้น ทำให้การมี “บ้านชนบท” หรือ “country house” ที่เคยเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง ที่ต้องเดินทางด้วยรถม้า โขยกเขยกไปเป็นวันเป็นคืน เผลอ ๆ อาจโดนโจรป่า โรบิน ฮูด ปล้นเอาอีก อภิสิทธิ์นี้ ได้เลื่อนลงมาสู่ชนชั้นกลาง หรือกลางค่อนข้างสูง ท่านคนชั้นกลางสามารถนั่งรถไฟ ไป country house สบาย ๆ เพียงครึ่งค่อนวัน ก็ถึงแล้ว และดูเหมือนว่า สังคมอังกฤษได้ริเริ่มธรรมเนียม เรื่องการมีบ้านชนบท ให้กับกลุ่มคนชนชั้นกลางค่อนข้างสูงทั้งหลาย ซึ่งแฟชั่นนี้ ก็แพร่หลายไปทั่วทุกแห่งหน ที่วัฒนธรรมอังกฤษ แผ่ไปถึง

Property หรือ อสังหาฯ ในนวนิยายของเจน ออสเตน ก็จะมีชื่อเรียกขาน เช่นเดียวกับที่อสังหาฯของพจมาน มีนามว่า “บ้านทรายทอง” หรืออสังหาฯย่านบางกะปิ ชื่อ “บ้านคลายกังวล” ของนักการเมืองผู้เป็นคุณพ่อของ ศิรินาถ ซึ่งท่านเจ้าของบ้าน กังวลใจมาก ๆ เพราะต้องคดีเกี่ยวกับการเมือง ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่า เจน ออสเตน จะเน้นทั้งบ้านและที่ดิน ในสไตล์ “Land and House” เช่นอสังหาฯ ชื่อ Norland Park estate ในเรื่อง Sense and Sensibility ที่ละม้ายแม้นเรื่องบ้านทรายทอง และเรื่อง พจมาน สว่างวงศ์

ส่วนพระเอกนางเอกของ เจน ออสเตน ก็จะมีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับ “Property” ที่เป็นคฤหาสน์หลังงาม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินผืนงาม ในบริบทอันวิเวกของชนบทอังกฤษ เช่นอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ คฤหาสน์หรือปราสาท Pemberley ในเรื่อง Pride and Prejudice เป็นต้น ถือได้ว่าเป็น Land and House สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แฟลตเอื้ออาทร นะเฮีย ภูมิทัศน์ของ Property เจริญหูเจริญตา เสียจนกระทั่งผู้ประพันธ์เขียน “ขาย” ฉากที่มองเห็นจากหน้าต่างอสังหาฯ คือว่า เธอบรรยายฉากดังกล่าวนั้นเกี่ยวพันกับตัวละคร ผู้อ่านจึงพลอยจินตนาการ เห็นภาพจากหน้าต่างอสังหาฯในนวนิยายของเธอ ซึ่งช่างงามแบบชนบทอังกฤษ และผ่อนคลาย หายเครียดดีจังเลย ครับเฮีย

ตรงนี้ คือ จุดต่าง...เพราะว่า เราจะไม่พบเห็นภาพเช่นนั้น จากหน้าต่างบ้านทรายทองของพจมาน!  แล้วถ้าอย่างนั้น เรามองเห็นอะไร จากหน้าต่างบ้านทรายทอง หรือ

ภารตะ รัตนะ

ภารตะ รัตนะ   โดย ‘นิว’ แดง ใบเล่


 
เรื่องเกิดเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน...คงจะนานพอที่จะนำมาเขียนได้แล้วนะครับ?

นับได้ยี่สิบปีกว่ามาแล้ว ในฉบับเดือนกรกฎาคมปี 1987 ในหน้าเทคโนโลยี นิตยสารฟอร์บ ได้ตีพิมพ์บทความสรรเสริญภาษาสันสกฤตไว้ในทำนองที่ว่า สันสกฤตนั้นคือสุดยอดของภาษามนุษย์ และเป็นภาษาที่เหมาะที่สุดที่จะใช้กับคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ (Forbes magazine, July 1987)

ข้อเท็จจริงรับรู้กันอยู่ในหมู่ผู้สนใจภาษาโบราณว่า สันสกฤตลึกซึ้งและวิจิตรพิสดารกว่าทั้งภาษากรีกโบราณและละติน ประเด็นเรื่องนี้เป็นที่จำนน เป็นที่ยุติ เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่เลิกเถียงกันถ้วนหน้าแล้วในหมู่นักศึกษาภาษาเช่น Noam Chomsky เป็นต้น แต่ว่า การที่สันสกฤตได้รับการยกย่องในโลกคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องใหม่ครับ เป็นวาระดิจิทัลอันทันสมัยและเป็นปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้ที่ตกยุคหลงสมัยประเภทโทรศัพท์มือถือตกรุ่น ต้องเกาศีรษะแกรก ๆ เหมือนสังคังกินมิได้เป็นรังแคธรรมดา ประหลาดใจและยังอึ้งอยู่ว่าสันสกฤต “แซงระบบบัตรคิว” ขึ้นมาทันสมัยอยู่แนวหน้า ได้งัย?


บทความที่เผยแพร่ในนิตยสารฟอร์บเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วนั้น จะเท็จจริงอย่างไรผู้เขียนไม่ได้ยึดถือจริงจังนัก แต่ว่าบทความนั้นก็ได้สร้างความปลื้มใจเพิ่มขึ้น จากที่ปกติก็ปลื้มกันอยู่แล้วในหมู่นักเรียนสันสกฤตตลอดจนนักเรียนภาษาอื่นอันเนื่องอยู่กับสันสกฤต ระบบอักขระเทวะนาครีที่ใช้เขียนสันสกฤต ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าโปรดให้พระพิฆเนศใช้อักขระนี้จารคัมภีร์พระเวท ถือกันว่าเป็นระบบอักขระที่ “เสถียร” ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จักคิดค้นขึ้นมาใช้ การที่มีผู้รู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะท่านผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ artifitial intelligence(AI) เห็นว่าสันสกฤตเหมาะกับคอมพิวเตอร์ ส่งสัญญาณให้ตีความกันต่อไปได้ว่า สันสกฤตเหมาะกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมของมนุษย์ อันได้แก่วิทยาศาสตร์ดิจิทัลและเทคโนโลยีนาโน แล้วถ้าเราจะกระโจนเข้าสู่ข้อสรุปเลยว่า สันสกฤตก็น่าที่จะเป็นภาษาแห่งศตวรรษที่ 21 จะมีใครว่าเราเห่อมั๊ยเนี่ยะ?

ชักไม่ใคร่มั่นใจตัวเอง!

น้าคือใคร?

แล้วผมจะทำนายให้...ว่าน้าคือใคร?โดย ‘นิว’ แดง ใบเล่
เทคโนโลยีแห่งความบันเทิงเพื่อรสนิยมเฉพาะตัว สำหรับบุคคลเป็นคน ๆ หรือที่ปัญญาชนสยามผู้ได้รับรางวัลการใช้ภาษาไทยดีเด่น หรือใกล้จะได้รับรางวัลนั้น ท่านจะเรียกว่าเพื่อ ”ความเป็นปัจเจก” ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่าผู้จัดวางผังรายการลงในเครื่องเล่นนาโนเทคโนโลยีบางเฉียบ และสรรหารายการแต่ละรายการมาบรรจุไว้ ได้แก่ปัจเจกชนผู้เป็นเจ้าของเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ชิ้นนั้นนั่นเอง เขาไม่ใช่นักวางผังรายการมืออาชีพตามสถานีวิทยุหรือตามสถานีโทรทัศน์ ที่แพร่ภาพกระจายเสียงเพื่อคนนับหมื่นนับแสน(หรือนับล้าน) แต่เขาวางผังรายการได้เก่งกว่า(ถูกใจตัวเองมากกว่า)มืออาชีพที่ว่านั่น เสียด้วยซ้ำ

และเวลาจะจัดวางผังรายการ เขาก็ไม่ต้องซื้อข้อมูลเรตติ้งของบริษัทเอซีเนียลสันมาศึกษา เขาไม่ต้องเหลียวซ้ายแลขวาพิจารณาว่าใครจะชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร ผิดกับนักจัดผังรายการบันเทิงประเภทที่ไม่ได้เน้น “ปัจเจก” แต่เน้น “มวลชน”(คนจำนวนมาก) ปัจเจกเจ้าของเครื่องเล่นตระกูลเอ็มพี จะจัดวางผังรายการโดยไม่ฟังสปอนเซอร์ด้วยซ้ำไป เพราะผังรายการของเขาปลอดสปอนเซอร์ เขาไม่ได้ขายสบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม หรือนโยบายพรรคการเมืองพรรคใด เขาบรรจุรายการบันเทิงลงในผังรายการของเขา โดยฟังใจของเขาคนเดียว...ปัจเจกบริสุทธิ์

เพราะฉะนั้น เราก็ได้มาถึงคำถามที่ว่า แล้วต่อไปรายการเพื่อมวลชนจะเหลืออะไร? ต่อคำถามนี้นั้น ในบทก่อนโน้นก็ได้เรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า จะยังมีรายการเคารพธงชาติเวลา 18.00 น. เหลือไว้ให้ ครับพ้ม!

หน้าเทศกาล-การเดินทาง

นักเดินทางหน้าเทศกาล...
โดย แดง ใบเล่

โดยทั่วไปแล้ว  ชีวิตในโลกปัจจุบันนี้นั้นคล้าย ๆ กับว่าคนมีปัญญาและมีโอกาสและมีเงิน  เขาจะพากันหลีกเลี่ยงการเดินทางหน้าเทศกาล  เพราะว่าพวกท่านเหล่านั้นไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเดินทางในช่วงเวลาการจราจรคับคั่ง  ท่านไม่มีความจำเป็นที่จะต้องร่วมขบวนการแก่งแย่งกันใช้ผิวจราจรขาไปและแข่งกันเดินทางขากลับ  แย่งกันกินแย่งกันเข้าห้องน้ำ  แย่งกันหาที่จอดรถตามปั้มน้ำมันริมทาง  ท่านมีโอกาสดีอย่างเหลือเฟือ  ท่านรอเวลาได้  เพื่อให้ฉากช่วงเทศกาลผ่านพ้นไปก่อน  ท่านจึงเยี่ยมหน้าแหวกม่านออกมา   โธ่...โลกนี้คือละคร

แต่ผู้เขียนยังสังกัดกลุ่มคนสามัญธรรมดาทั้งหลาย  ผู้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางในช่วงเทศกาล  และในหน้าเทศกาลต้นปี 2552 นี้  ผู้เขียนก็ได้ร่วมกระบวนการเดินทางแห่ไปพร้อมกับคนอื่น ๆ ทุก ๆ คน  เราเดินทางไปพร้อมกับข่าวร้ายนานาชนิดที่อุบัติขึ้นในหน้าเทศกาลต้นปี 2552  ซึ่งสำหรับการเดินทางขาเข้ากรุงเทพฯของผู้เขียนนั้นปรากฏว่าตั๋วเต็มทุกที่  กิจการเดินรถได้เพิ่มเที่ยวรถเข้ากรุงด้วยการวิ่งรถเสริมหลายคัน  และตั๋วเต็มทุกคัน  จึงมีหนทางเดียวที่ผู้เขียนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯได้ในช่วงเวลาอันจำเป็นนั้น  คือ  เสี่ยงโชคไปรอรถเสริมทางไกล  ที่อาจโคจรผ่านมาแวะที่ท่ารถ  เผื่อว่าอาจจะมีที่ว่างให้โดยสารเข้ากรุงเทพฯได้

ซึ่งผู้เขียนก็ได้ไปรอรถจรตามที่มีผู้แนะนำ อยู่ที่สถานีขนส่งแต่เนิ่น ๆ รออยู่เป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยเสียบหูฟัง ฟังรายการในเครื่องเล่นเอ็มพี 3 เรื่อง “สิทธิมนุษย์ชนในการปฏิวัติฝรั่งเศส” จบไปสองรอบ ก็มีรถจังหวัดอื่นพลัดหลงแวะเข้ามา และมีที่ว่างรับผู้เขียนขึ้นโดยสารได้ เด็กรถตะโกนว่า

"ขึ้นมาเลยแพ่ ขึ้นเลยแพ่”
ซึ่งผู้เขียนก็ได้ร้องถามว่า
มีที่นั่งเปล่า  มีที่นั่งเปล่า
ซึ่งเด็กรถไม่ยอมตอบ  ได้แต่ร้อง ว่า
ขึ้นเลยแพ่  รถออกเดี๋ยวนี้แล้ว” 

ซึ่งผู้เขียนพิจารณาแล้วประจักษ์แจ้ง  มีดวงตาเห็นธรรมว่า  ในยามเทศกาลและช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้  ขืนรอการ “confirm” ตั๋วอยู่ละก้อ  เห็นจะตกรถไม่ได้ออกเดินทางแน่  คิดได้ดังนั้นก็ฉวยเป้สะพายบ่า  วิ่งถลาไปขึ้นรถทัวร์ท่าทางแปลก ๆ คันนั้น  ซึ่งข้างรถวาดรูปตัวการ์ตูนสีสันสดใสเพียบเลย...ระหว่างที่กำลังก้าวขึ้นบันไดหน้ารถอยู่นั้น  ก็เหลียวหลังกลับมามองเพื่อนเดินทางนิรนามทั้งหลายที่รอรถอยู่บนชานชลาสถานีขนส่ง  ปรากฏว่าไม่มีใครขึ้นรถการ์ตูนตามผู้เขียนมาเลยสักคนเดียว

แป๊น ๆ ๆ รถทัวร์การ์ตูนบีบแตรเอาฤกษ์ก่อนบ่ายหน้าขึ้นถนนเพชรเกษม    ภายในห้องโดยสารปรากฏว่าที่นั่งซึ่งปกตินั่งสองคน  มีคนนั่งสาม  และมีคนยืนเรียงรายเกาะพนักเบาะกันอยู่เพราะไม่มีที่จะนั่ง เด็กประจำรถมีสองคน  เป็นผู้หญิงอ้วนตุ๊ต๊ะคนหนึ่งกับผู้ชายผอม ๆ คนหนึ่ง  ทั้งเด็กรถและคนขับซึ่งเป็นคนตัวโตร่างใหญ่และเป็นโรคอ้วนตุ๊ต๊ะเช่นเดียวกับเด็กรถผู้หญิง  ล้วนเป็นคนเมืองเพชร  และพูดภาษาสำเนียงชาวเมืองเพชรอันมีเสน่ห์  เด็กรถหญิงอ้วนตุ๊ต๊ะได้นำเสื่อปลาสติคมาปูบนพื้นรถข้าง ๆ ที่นั่งคนขับให้ผู้เขียนนั่ง  พลางเธอบอกว่า

"นั่งให้สบายเลยแพ่

ผู้เขียนก็ถึงบางอ้อ รู้เลยว่าตอนที่ตะโกนถามอยู่ข้างล่างก่อนขึ้นรถ ร้องถามว่ามีที่นั่งเปล่า ทำไมเธอถึงไม่ยอมตอบ โธ่...ที่นั่งมันมีชัวร์ ๆ อยู่แล้ว จะต้องถาม และตอบกันทำไม หลังจากนั่งขัดสมาธิบนเสื่อข้าง ๆ คนขับอยู่ครู่ใหญ่ ผู้เขียนจึงรวบรวมสติเสียใหม่ แล้วถามเด็กรถอย่างชัดเจน อีกครั้ง ว่า

"เบาะที่นั่ง  จะว่างมั่งมั๊ยเนี่ย

ซึ่งเด็กรถหญิงตัวอ้วน ๆ ตอบว่าซึ่งเด็กรถหญิงตัวอ้วน ๆ ตอบว่า
มีคนลงอยู่เรื่อยแหละพี่  ถึงปราณคนลงตั้งหลายคน 
ตายโหง  ผู้เขียนนึกอุทานอยู่ในใจ  กว่าจะถึงปราณบุรีก็ใกล้ค่ำแล้วล่ะ

รถวิ่งเสริมหน้าเทศกาล  ข้างรถวาดรูปตัวการ์ตูนคันนั้น  บีบแตรแป๊น ๆ เรียกคนตลอดทาง  มีแต่คนขึ้นไม่มีคนลงสักคนเดียว  จนถึงใกล้ ๆ ปากทางเข้าอำเภอท่าแซะ  จังหวัดชุมพร  บริเวณปากทางดังกล่าวนั้น มีศาลาที่พักข้างทางของกรมทางหลวง  ในศาลา มีชายฉกรรจ์นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่หลายคน  ซึ่งรถการ์ตูนก็ชะลอ โฉบเข้าไป เรียกคนขึ้นรถอีก  โดยเด็กรถผู้หญิงตัวอ้วน ๆ เปิดประตูรถ  พลางยืนที่บันไดยื่นหน้าออกไป ร้องถามชายเหล่านั้นในศาลา  ว่า

เพชรบุรีมั๊ยพี่-เพชรบุรี  กรุงเทพฯมั๊ยพี่-กรุงเทพฯ
ชายคนหนึ่งที่นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในศาลา  ร้องตอบน้องอ้วนว่า
บ้านอยู่นี่!”
ผู้เขียนจึงหันไปบอกพี่อ้วน คนขับรถทัวร์การ์ตูน ว่า
"พี่ ๆ ยาวไปเลยดีกว่า  บ้านเขาอยู่นี่

เรื่อยมาถึงบางสะพานน้อย  แล้วต่อมาก็ถึงบางสะพานใหญ่  มีผู้โดยสารขึ้นมาอีกทั้งสองแห่ง  รถแล่นบนถนนเพชรเกษมต่อมาอีกพักหนึ่ง  แก๊ซใกล้จะหมด  คนขับแวะเติมแก๊ซ ที่ปั้มริมทาง นานหลายนาที  จนฝรั่งบนรถ ก็ลงจากรถ มายืนรับลมอยู่ข้างล่าง  ผู้เขียนลงไปเดินดูเขาเติมแก๊ซ ลงถังแก๊ซแปดถังตอนท้ายรถ  พบว่า เขาเติมกันเป็นกิโลกรัม และคิดสตางค์ตามจำนวนกิโลกรัมที่เติม  เมื่อเติมเต็มทั้งแปดถัง เครื่องเติมแก๊ซหยุดกึกโดยอัตโนมัติ  ผู้เขียนจึงเดินมาบอกคนขับรถ ซึ่งนั่งจุมปุ้ก จมกองไขมันพันกาย อยู่กับพวงมาลัยตอนหน้ารถ  ว่า
พี่ ๆ เต็มแล้ว

ได้ยินดังนั้น พี่แกก็สตาร์ทเครื่อง กระหึ่มขึ้นทันที ข้างฝ่ายเด็กรถอ้วนผอมทั้งสองคน ก็เที่ยวเดินไล่ต้อนเรียกผู้โดยสาร ขึ้นรถการ์ตูน เพื่อออกเดินทาง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ กันต่อไป...

นั่งสัปหงกหลับ ๆ ตื่น ๆ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เลยอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาแล้ว รถทัวร์การ์ตูนจอดแวะให้ผู้โดยสารลงไปรับประทานอาหารและใช้ห้องน้ำ ณ สถานีพักรถแห่งหนึ่ง โดยเด็กรถผู้หญิงตัวอ้วน ๆ ประกาศแก่ผู้โดยสารทั้งหลาย ว่า

“จอดกินอาหาร ยี่สิบนาที”

ซึ่งผู้เขียนร้องถาม เพื่อความชัวร์ ว่า
กินฟรีเปล่า?”

ซึ่งเด็กรถผู้ชายตัวผอม ๆ ตอบดัง ๆ แบบมีอุปมาอุปมัย ว่า
"นั่นมันรถวีไอพีแล้วล่ะ!”

ซึ่งผู้เขียนก็รับทราบโดยดุษณี และโดยจ๋องสนิท เจียมเนื้อเจียมตัว พลางนึกในใจว่า กูว่าแล้ว ต้องเสียเงินแหงเลย

ที่พักรถดังกล่าวนั้น มีลักษณะคล้ายกับร้านเซเว่นขนาดใหญ่มาก ๆ สินค้าวางขายส่วนใหญ่จะเป็นของที่ระลึกประเภทของกิน เช่น กล้วยอบเนย กล้วยตากอบน้ำผึ้ง ทุเรียนทอดแผ่นบาง ๆ คล้ายมันฝรั่งทอด ขนมเปี๊ยะชนิดเปลือกหน้าเปลือกบาง และสอดใส้นานาชนิด มีร้านขายข้าวแกง และมีห้องอาหารไว้เลี้ยงอาหารฟรี สำหรับผู้โดยสารรถวีไอพี ส่วนพวกเราผู้โดยสารรถทัวร์การ์ตูน ต้องซื้ออาหารกินเอง ผู้เขียนซึ่งควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเคร่งครัด ซื้อกล้วยเล็บมือนางตากแห้งกล่องเล็ก ๆ กับซื้อน้ำแร่หนึ่งขวด มานั่งรับประทานที่ม้าหินใกล้ ๆ รถทัวร์ เพราะเกรงว่า รถทัวร์การ์ตูนมันจะทิ้งเราไป โดยสารมาครึ่งวัน ชักรู้แล้วว่า วางใจไม่ใคร่จะได้ พี่แกไม่รู้หรอกว่ามีผู้โดยสารทั้งรถกี่คน ขาดหายไปคนสองคนพี่แกก็ไม่มีวันรู้ หรือถึงรู้ แกก็อาจจะไม่สนใจเราก็ได้

การเดินทางบนถนนเพชรเกษม ช่วงก่อนถึงกุยบุรี ถนนขรุขระ ปุปะ และผิวถนนเสียตลอดทาง คล้าย ๆ กับถนนมิตรภาพช่วงก่อนถึงโคราช สมัยที่ยังไม่มีการปรับปรุงถนนและผิวการจราจรครั้งใหญ่ ความขรุขระของผิวถนน เขย่ารถทัวร์การ์ตูนคันเบ้อเร่อ สั่นสะเทือนอย่างแรงทั้งคัน พี่อ้วนคนขับบ่นกับผู้เขียนว่า

“ดีไม่ดีอะหลั่ยหลุด!”

และบางตอน เมื่อมองผ่านกระจกหน้ารถลงไป แลดูราวกับว่าพื้นถนนราบเรียบดำสนิทเป็นแผ่นเดียว แต่พอรถแล่นด้วยความเร็วผ่านเข้าไปบริเวณตรงนั้น ปรากฏว่า ผิวถนนเป็นลูกคลื่นที่มองจากที่สูงไม่เห็น รถทัวร์การ์ตูนโยนตัวโยกเยกขึ้นลงทั้งคัน เหมือนผีเข้า

“เดี๋ยวแหนบหัก”  พี่อ้วนคนขับรถบ่นดัง ๆ ให้ผู้เขียนฟัง

“โห...รถโคลงเหมือนเรือใบ”  ผู้เขียนพูดเสริม เพื่อสร้างบรรยากาศ

มองออกไปจากมุมสูง และกว้างร้อยแปดสิบองศา ผ่านกระจกหน้ารถแผ่นมหึมา ทิวทัศน์ที่แลเห็นช่างแปลกหูแปลกตา กว่าที่เคยมองเห็นจากหน้าต่างด้านข้างรถ เมื่อโดยสารในยามปกติ  เพราะถ้าไม่ใช่หน้าเทศกาลจะนั่งด้านข้างรถ วิวข้างทางก็จะเป็นภาพระยะใกล้ ซึ่งวิ่งผ่านหางตาเราไปอย่างรวดเร็วตามความเร็วของรถทัวร์ แต่เมื่อมานั่งหน้ารถเช่นในยามนี้นั้น นอกจากจะเห็นภาพกว้าง ระดับโปสเตอร์พาโนรามาแล้ว ทัศนียภาพทั้งแผ่น มันไม่ได้วิ่งผ่านหางตาเราไปเหมือนเดิม แต่ว่า มันจะวิ่งเข้ามาหาตัวเรา และดูจะวิ่งเข้ามาไม่เร็วมาก เหมือนอย่างวิวด้านข้าง ทำให้มีเวลาได้เพลินกับทิวทัศน์ ได้นานขึ้นกว่าเดิม

หลังจากเพลินกับการชมวิวอันคุ้นเคย แต่มองด้วยมุมมองใหม่ มาพักใหญ่แล้ว ผู้เขียนก็เริ่มได้สติพิจารณาว่า ตัวเองนั่งอยู่ห่างจากแผ่นกระจกหน้ารถ เพียงประมาณไม่ถึงวา  ด้วยความเร็วที่รถทัวร์กำลังแล่นอยู่นี้ ถ้าพี่แกเกิดเหยียบเบรกกะทันหัน  ตัวผู้เขียนจะพุ่งกระฉูดทะลุจอ กระเด็นออกไปก่อนใครเพื่อนเลย  ตัวคนขับซึ่งนั่งอยู่ในหลุมด้านขวามือผู้เขียน เขายังมีที่กำบังอยู่ข้างหน้า เป็นที่วางแผงอุปกรณ์แสดงผลของรถ แต่อุปกรณ์เสียหมดแล้วมั้ง?  เพราะผู้เขียนพยายามจะมองว่า รถซิ่งด้วยความเร็วเท่าไร เห็นเข็มบอกความเร็ว ตายอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ต้น ส่วนเด็กรถทั้งสองคน ก็นั่งอยู่ในหลุมบริเวณประตูบันไดทางด้านซ้ายมือของผู้เขียน  บริเวณนั้นก็มีที่กำบัง เป็นแผ่นเหล็กตัวถังรถส่วนหน้า ต่อเนื่องไปจากที่คนขับ ตัวผู้เขียนนั่งอยู่ในที่สูงระดับเดียวกับแผ่นกระจกหน้ารถ ไม่มีสิ่งกีดขวางมากางกั้น นอกจากกระจกใสแผ่นโตเบ้อเร่อเบ้อร่า อันเป็นกระจกหน้ารถ ผู้เขียนเริ่มจินตนาการ เห็นฉากน่าตื่นเต้นในภาพยนตร์ประเภทมิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล  ที่พระเอกก็ดี ผู้ร้ายก็ได้ กระเด็นทะลุแผ่นกระจกรถหรือแผ่นกระจกอาคาร หรือแผ่นกระจกหน้าต่าง เห็นภาพช้าสโลว์โมชั่นของเศษกระจก กระจุยตามตัวพระเอก ที่ตีลังกากระเด็นเคว้งคว้างออกไป...และรอดตาย! (แต่ถ้าเป็นผู้ร้าย ขี้มักจะเคว้งออกไปตาย)

ครั้นจินตนาการได้ดังนั้นแล้ว โดยไม่รู้ตัว...ผู้เขียนก็เอี้ยวตัวเอื้อมมือและแขนซ้าย ไปจับเหล็กราวทางลงบันไดหน้า เอาไว้อย่างมั่นคง ทั้ง ๆ ที่แต่เดิม นั่งเพลิดเพลินกับวิวหน้ารถ โดยไม่ได้คิดวิตกอะไรเลยแม้แต่น้อย ไม่เกาะยึดและไม่ยึดติด ปล่อยวางมาโดยตลอด

“ผมต้องกินยาคุม..”  คนขับรถร่างใหญ่อ้วนตุ๊ต๊ะ กระเดือกยาลงคอ แล้วบอกแก่ผู้เขียน ก่อนที่ผู้เขียนจะสะดุ้งสงสัยไปมากกว่านั้น  เขาก็ขยายความต่อไปว่า เขาเป็นโรคอ้วนและเบาหวาน เขาต้องควบคุมน้ำตาลในเลือด ได้ยินเขาเล่าถึงโรคประจำตัวของเขาแล้ว ผู้เขียนยิ่งยึดราวบันไดแน่นขึ้นอีก นึกในใจว่า โรคพวกนี้เคยได้ยินมาว่า มีสิทธิเกิดโรควูบตามมาได้ง่าย ๆ  พิจารณาเห็นขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง มากมายหลายขวด ที่เป็นขวดเปล่าดื่มแล้ว วางเรียงรายอยู่ในซอกที่นั่งคนขับ  ผู้เขียนนึกสงสัยในใจว่า วันสองวันที่ผ่านมาในฤดูเทศกาล พี่แกขับรถทางไกล เที่ยวเร่โฉบหาคนโดยสาร มากี่เที่ยวแล้ว? ผู้เขียนนึกในใจว่า ถ้าพี่แกวูบและเบรกกระทันหันขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้นแก่เรา?

ผู้เขียนจะเปิดโอกาสให้ท่านผู้อ่าน จินตนาการเอาเอง เห็นฉากน่าตื่นเต้นในภาพยนตร์ประเภทมิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล ที่พระเอกพุ่งกระฉูด กระเด็นทะลุแผ่นกระจกรถ หรือแผ่นกระจกหน้าต่าง เห็นภาพช้าสโลว์โมชั่นของเศษกระจก กระจุยตามตัวพระเอก ที่ตีลังกากระเด็นเคว้งคว้างออกไป...และรอดตาย!


ข่าวร้ายเศรษฐกิจ

ทำไมข่าวร้ายเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
ทำให้เราตกอยู่ใน “ป.ส.ด. โหมด” ด้วยเล่า?
โดย ‘นิว’ แดง ใบเล่

นั่นน่ะซี ทำไมล่ะ? ทำไมข่าวร้ายเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทำให้เราตกอยู่ใน “ป.ส.ด.โหมด” ด้วยเล่า? ทั้ง ๆ ที่พวกเราหลาย ๆ คนโดยเฉพาะบรรดาท่านผู้อ่านนิตยสารเอ็มบีเอทั้งหลาย ถ้าจะว่ากันจริง ๆ ก็ยากจนกันซะเมื่อไหร่...

ก่อนอื่น เรื่องนี้เห็นทีจะต้องกลับไปปรึกษาท่านอาจารย์ใหญ่ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ซึ่งหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจเล่มหนึ่งชื่อ “เล่าเรื่องเศรษฐกิจภาพรวม-เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์” ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดคือการพิมพ์ครั้งที่สี่ หน้า144-153 ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่อง Liquidity Preference หรือความต้องการสภาพคล่องของคนเรา หรือพูดภาษาที่สามัญมนุษย์ฟังรู้เรื่องว่า “ความต้องการถือเงินสด” หนังสือเล่มนั้นเล่าไว้ว่าตามแนวคิดเศรษฐกิจของเคนส์แล้ว ท่านชี้ประเด็นความต้องการถือเงินสดไว้สามประการคือ ประการที่ 1. คนถือเงินไว้เพื่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ประการที่ 2. เพื่อเหตุไม่คาดฝัน ประการที่ 3. เพื่อเสี่ยงโชคและเก็งกำไร

ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยที่ในเบื้องลึกแห่งความคิดความอ่าน เคนส์ได้ตีกรรเชียงความเห็นเกี่ยวกับเงิน เบนห่างออกจากความคิดเศรษฐศาสตร์คลาสสิค(--พูดให้เท่ห์...แต่ที่จริงก็หมายความเพียงว่า ความคิดเห็นรุ่นก่อนหน้าเคนส์) ที่เคยเห็นกันก่อนหน้านั้นว่าเงินไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าการทำหน้าที่สื่อกลางแห่งการแลกเปลี่ยนให้แก่มนุษย์และสังคมมนุษย์ แต่เคนส์ได้ตีจากความเห็นดังกล่าวออกมา เพราะท่านีเห็นว่า เงินมีฤทธิ์เดช-ที่เราสามารถปฏิบัติจัดการเสกเป่ากับมันได้ เพื่อประโยชน์ในการก่อให้เกิดการว่าจ้างขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งนี้เพราะว่าการ “กระตุ้น” เศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ ก็คือการหากิจกรรมให้คนทำ เพราะเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อคนทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจ มีกิจกรรมทำกันโดยถ้วนหน้าและมีรายได้จากกิจกรรมทั้งหลายเหล่านั้น

คนน่ารำคาญ

คนน่ารำคาญ นั้นคืออย่างไร?
โดย แดง ใบเล่

ในชีวิตท่านผู้อ่านผู้มีอายุระหว่าง 17- 77 ปีหรือกว่านั้น ท่านคงเคยได้พบกับคนน่ารำคาญกันมาบ้างแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็สักคนสองคน...

อันที่จริงข้อเขียนบทนี้ เพียงย่อหน้าแรกข้างบนนั้นประโยคเดียวก็จบได้แล้ว ไม่เห็นจะต้องเขียนต่อไปให้เป็นที่น่ารำคาญแก่ท่านผู้อ่านอีกเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าทำงานส่งเพียงเท่านั้นก็มีทางเป็นไปได้ว่าท่านบรรณาธิการนิตยสารฉบับนี้ ท่านอาจจะบอกว่าเขียนมาประโยคเดียวหรือสองประโยค ท่านจะพิจารณาไม่นำลงพิมพ์ให้ อย่ามาตีกินกันง่าย ๆ นะ ที่นี่เราเขี้ยวรู้เปล่า?

เวรกรรม! เห็นจะต้องเขียนต่อไปอีกสักหน้าสองหน้า

เอ๊า...เรามาดูกันว่าคนน่ารำคาญ มันเป็นอย่างไร?

กฎข้อที่หนึ่ง คนน่ารำคาญคือคนอื่นเสมอไป ไม่ใช่ตัวเราเอง

คนรุ่นใหม่ทันสมัยแห่งยุคปัจจุบันนี้นั้น ท่านคุ้นอยู่กับการอ่านข้อความหน้าใยแมงมุม(เว็บ) ซึ่งจะคุยกันสั้น ๆ และคุยกันเร็ว ๆ ทำให้ท่านติดนิสัยอ่านไว หูไวตาไว และมือไวด้วยเพราะต้องเคาะคีย์บอร์ด ดังนั้น พอได้เห็นกฎข้อที่หนึ่งซึ่งขีดเส้นใต้ล่อเอาไว้ ท่านก็จะละสายตาข้ามเนื้อหาในลำดับถัดมา ท่านจะกระโดดโลดไปกวาดสายตาหา “กฎข้อที่สอง” กันเลย ท่านคิดว่าท่านจะเอาแต่เนื้อ ๆ นอกนั้นมันน้ำทั้งนั้น (ซึ่งบางทีก็เป็นความจริง)

แต่วิธีการนี้ จะนำมาใช้อ่านบทความชิ้นนี้ไม่ได้ นะพี่

เพราะว่า เรามีแต่กฎข้อที่หนึ่งเท่านั้น กฎข้อที่สอง-สาม-สี่ไม่มีครับ กวาดสายตาเหลือกไปเหลือกมาค้นหากี่ตลบไม่มีวันเจอ...ก็มันไม่มีอ่ะ ไม่ได้เขียนไว้อ่ะ มีแต่กฎข้อที่หนึ่งข้อเดียวเท่านั้นแหละ พี่อย่าได้เสียเวลาหาข้อที่สอง-สาม-สี่ เสียให้ยาก...จะเป็นกิจกรรมที่ไร้สาระ น่ารำคาญใจ และไม่สร้างสรรค์มากเลย

จริงอยู่ว่า คนน่ารำคาญคือคนอื่นเสมอไป แต่บางทีเราได้ยินคนพูดว่า “พักนี้ไม่รู้เป็นไง รู้สึกรำคาญตัวเอง” โดยส่วนมากคำพูดนี้ผู้พูดจะหมายตรงถึงคนฟัง หรือคนเขียนหมายตรงถึงคนอ่าน คนเรามันจะรำคาญตัวมันเองได้งัย? ถ้าเขาพูดกับเราอย่างนั้นร้อยทั้งร้อยแปลว่าเขากำลังรำคาญเรา เราได้กลายเป็นคนน่ารำคาญสำหรับเขาไปแล้ว

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านผู้อ่านแน่ใจอะไรได้อยู่อย่างหนึ่ง คือ รู้ว่าผู้เขียนได้เอาตัวรอด ปลีกตัวออกจากกลุ่มชนคนน่ารำคาญไปเรียบร้อยแล้ว คนน่ารำคาญทั้งโลกที่จะเขียนถึง จึงมีจำนวนน้อยลงไปหนึ่งคน เขียนเป็นสูตรให้ทันสมัยได้ว่า

คนน่ารำคาญทั้งโลก – 1

คือลบด้วยหนึ่ง หักผู้เขียนออกไปแล้ว 1 คน ส่วนที่เหลือจะเป็นใครบ้าง แล้วเราจะค่อย ๆ ดูกันไป พี่ไม่ต้องห่วงอ่านไปเรื่อย ๆ แล้วเดี๋ยวพี่จะรู้ชื่อจริงนามสกุลจริง

ปัญหาปัญญาชน

ปัญหาของปัญญาชนคนมีการศึกษา ไม่ได้อยู่ที่ว่าเรายังรู้ไม่บริบูรณ์
แต่อยู่ที่ว่า สิ่งที่เรารู้อยู่นั้นมันใช่อย่างนั้นที่ไหนกัน
โดย ‘นิว’แดง ใบเล่
เป็นงง!

ชื่อบทความนี้ เขียนเองแล้วก็งงเอง...

ใช้ชื่อเสียยืดยาวถ้าเรียกสั้น ๆ ได้ความรู้สึกตรง ๆ ว่าบทความชื่อ “เป็นงง!” ก็น่าจะเย็นสุด ๆ (cool)แล้ว ทำไมลำบากลำบนทำตัวเองให้ยาก และทำให้ท่านผู้อ่านเสียสายตาอ่านยาวเฟื้อยตั้งขนาดนั้น แต่จะอย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ไม่วายรู้สึกนึกอิจฉาท่านผู้อ่าน ที่ท่านไม่ต้องนั่งลงเขียนบทความที่มีชื่อเยิ่นเย้อเรี่ยราดเรื่องนี้ด้วยตัวของท่านเอง ทว่ากลับมีคนเขียนให้อ่านแทนอยู่ในนิตยสารเอ็มบีเอ ช่างน่าอิจฉาริษยาตาร้อนอะไรเช่นนั้น

genius invents…
wisdom recalls…ท่านว่าไว้อย่างนั้น

เราลองทบทวนและช่วยกันคิดอย่างอิสระพิจารณาหาเหตุผลว่า ทั้ง ๆ ที่มันใช่อย่างนั้นที่ไหนกัน แต่เหตุใดพวกเขา(ซึ่งที่จริงก็คือพวกเรา)เชื่องมงายกับสิ่งที่เชื่อไปนั้น? เราเชื่อกันด้วยเหตุผลกลใด? ปริศนาของสฟิงซ์ปริศนานี้เหนี่ยวนำคำตอบแตกอยู่ในรูปคำถามสองคำถามว่า “ก็เรื่องมันแบบว่าโคดโดนอ่ะ มันเย็นสุด ๆ (cool)น่าหลงลมอ่ะ เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า?” และอีกคำถามหนึ่งว่า “พ่อแม่รังแกฉัน ไม่สอนให้ฉันมีจิตอิสระรู้จักคิดพิจารณา เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า?” จิตอิสระรู้จักคิดพิจารณา ผู้เขียนแปลอย่างลำลองมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า l’esprit critique หรือภาษาอังกฤษว่า critical thinking ซึ่งทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนมีปัญญา อันที่จริงนั้นตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีอยู่ทุกอาณาปริมณฑลของสิ่งที่เรารู้ ตั้งแต่เรื่องกามารมณ์ถึงการเมือง แต่ผู้เขียนจะลองยกตัวอย่างในบริบทร่วมสมัยเกี่ยวกับ “สิ่งที่เรารู้อยู่นั้นมันใช่อย่างนั้นที่ไหนกัน” สักสองสามกรณีพอเป็นอุทาหรณ์

จ้ำม้ำ เกิ๊น

จ้ำม้ำเสียจริงน่ะน้องเอ๋ย ไม่เคยเห็นใครจ้ำม้ำเท่าโดย ‘นิว’แดง ใบเล่

คุณแมน เนรมิต กับ คุณชาย เมืองสิงห์ เคยร้องเพลงยอดนิยมเพลงนี้
บทเพลงได้กลายเป็นคาถาของคนหลายคนที่คิดจะทอนน้ำหนักตัวลง นักเขียนบางคนก็เคยนำเนื้อเพลงตั้งกระทู้ในหน้าหนังสือพิมพ์ และเป็นกระทู้ของพิธีกรงานบวช งานแต่งงาน งานมงคลต่าง ๆ ตามหมู่บ้านตำบลในละแวกบ้านผู้เขียน ยังไม่นับตามวงเหล้าที่เพลงนี้ก็เคยยอดนิยม แต่เหล้าที่กินกันในวงนั้นมักจะไม่ใช่ไวน์หรือบรั่นดี

ทราบกันทั่วว่า โรคอ้วนและน้ำหนักเกินส่วนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติในประเทศอภิมหาอำนาจเดียวแห่งโลก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา การประชุมสมาคมโรคอ้วนและน้ำหนักเกินส่วนในสหรัฐประจำปี 2551(2008)นี้ จัดที่เมืองฟินิกซ์ มลรัฐแอริโซนา ระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม 2551 เหตุที่ประเทศนั้นรณรงค์แอนตี้ความอ้วน อาจเพราะเขาเกรงว่าขืนปล่อยให้พลเมืองเป็นโรคอ้วนไม่มีห้ามล้อกันอยู่อย่างนี้ อภิมหาอำนาจสหรัฐอาจอุ้ยอ้าย ตุ้ยนุ้ย ตุ๊ต๊ะและขี้เหนื่อย ทำให้คนทั่วไปไม่ใคร่จะเกรงขามก็เป็นได้...เป็นมหาอำนาจอึ่งอ่าง แบบว่า ตา-หลกอ่ะ

จ้ำม้ำเสียจริงนะน้องเอ๋ย ไม่เคยเห็นใครจ้ำม้ำเท่า...

คนอ้วนและน้ำหนักเกินส่วน “ถูกเห็น” ด้วยสายตาแบบไหนเอ่ย? ที่ว่า “ไม่เคยเห็นใครจ้ำม้ำเท่า” นั้นหมายความว่าเห็นอย่างไร? ผู้เขียนจะลองประมวลการ“ถูกเห็น” ออกมาดูเล่น ๆ ว่าคนอ้วนถูกมองอย่างไรในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่ยังไม่ใช่ยุคพระศรีอาริยเมตไตร(พระสังขจาย)ซึ่งจะต้องรออีกราว 2,500 ปีข้างหน้าเมื่อไฟบัลลัยกัลป์ไหม้ล้างโลกยุคหลังโลกาภิวัตน์ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ถัดไปต่อจากพระสมนโคดม หรือ “โคตมะ บุดด้า” ท่านคือพระศรีอาริยเมตไตรหรือพระสังขจาย ท่านจะเสด็จมาในโหมดอ้วนลงพุง(flabby mode) ดังจะเห็นได้จาก“visual aid”หรืออุปกรณ์ช่วยการเห็นพระศรีอาริย์ ในโหมดพระเครื่องที่สร้างในรูปของท่าน ซึ่งมีให้เช่ากันแพร่หลาย แม่ค้าแม่ขายฝั่งธนฯนิยมแขวนกันเยอะ โดยเฉพาะที่ทำธุรกิจอยู่ในรัศมีวัดสังขจายย่านท่าพระ

--------------------------------------------------------------------------
คำนำ หนังสือ"จัดรูปกาย ให้ใจเป็นสุข"

หนังสือเล่มนี้เล่าประสบการณ์ส่วนตัว ถึงวิธีการต่าง ๆ ที่ผู้เขียนใช้มาแล้วกับตัวเองได้ผล แต่ใช่ว่าจะได้ผลกับคนอื่น ๆ ทุก ๆ คน แต่ละคนก็คงต้องมีวิธีการของตัวเอง ท่านผู้อ่านที่ไม่แน่ใจกับวิธีการที่ผู้เขียนใช้กับตัวเองตามหนังสือเล่มนี้ และเขียนเล่าให้ท่านฟัง ท่านต้องปรึกษาหารือกับแพทย์ประจำตัวของท่านเสียก่อนทุกกรณีไป หนังสือเล่มนี้เขียนแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ ไม่ใช่คำแนะนำของแพทย์ แม้วิธีนำเสนอจะคล้ายกับกำลังให้คำแนะนำก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงสไตล์ของการเขียนเท่านั้น

แดง ใบเล่

Chandipur-on-sea
ชายทะเล จันดีปุระ
รัฐโอริสสา อินเดีย
๒๕๕๐


---------------------------------------------------------------------------------------------------------

คัดจากหนังสือ ครับ...

หากว่าขณะนี้ท่านมีอายุระหว่าง 17 – 77 ปี หรือกว่านั้น ชีวิตท่านคงจะผ่านเหตุการณ์ประเภท “ยากยิ่งกว่าสิ่งใด” มาบ้างสักเรื่องสองเรื่องเป็นแน่ บัดนี้ ท่านปรารถนาจะจัดรูปกายด้วยการเดินออกกำลังกาย ท่านคงจะเริ่มตระหนักและสำนึกแล้วว่า การที่ผู้มีน้ำหนักเกินส่วนต้องการจะลดน้ำหนักสัก 5 กิโลกรัม หรือ 10 กิโลกรัม หรือ 20 กิโลกรัม ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกายโดยวิธีใด ๆ ก็ดี นับว่าเข้าข่ายเรื่อง ยากยิ่งกว่าสิ่งใด อีกเรื่องหนึ่งในชีวิตของเขาทีเดียว ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจบังคับของตนเองโดยแท้ ผู้อื่นจะมาก้าวก่ายขัดขวาง ขัดแข้งขัดขา หรือกลั่นแกล้งท่านได้ยาก


“ความเพียร” ไม่ได้แปลว่า ความขยัน ความเพียรน่าจะใกล้เคียงกับคำละตินว่า perseverantia ซึ่งมีลักษณะความหมายรวมถึง continuity, courage, energy, persistence, steadiness, insistence, determination, patience, tenacity, willpower ความเพียรไม่ได้มีเนื้อหาหรือองค์คุณพึ่งพาอาศัยการใช้กำลังกายแต่ถ่ายเดียว ความเพียรหมายถึงการใช้กำลังกายใดยมีใจบังคับ


“ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ” อันเป็นลักษณะหนึ่งของความเพียรตามคำของพระสารีบุตรนั้น จะยังคงติดตามมาเปิดประเด็นอยู่ในจิตใจของท่านในเวอร์ชั่นอกาลิโก บางทีกำลังใจก็ดี ความปรารถนาก็ดี หรือความกลัวโรคภัย ก็ยังอาจไม่เพียงพอที่จะรักษาฉันทะที่จะจัดรูปกายของท่าน ท่านเริ่มซาบซึ้งขึ้นแล้วว่า ท่านจะต้องสามารถที่จะรักษากำลังใจไว้ให้ได้อย่างมั่นคงยาวนานต่อเนื่องไม่ขาดสาย นานหลายเดือน หรืออาจเป็นปีท่านจึงจะบรรลุเจตนาสมปรารถนา


วันแล้ววันเล่าที่ท่านออกเดิน เช้าแล้วเช้าเล่าที่ท่านชั่งน้ำหนักตัวบันทึกกระดาษโพสต์อิทแปะผนังห้องน้ำ วันหนึ่ง...ท่านอาจพบกับสภาพที่ครูลักษมีกล่าวไว้ คือ ในที่สุดเราก็อาจมาถึงพรมแดนอันเป็นที่สุดแห่งความเพียรของเราเอง


ดังนั้น เพื่อประคับประคองให้ตัวเรามีแรงใจข้ามเส้นพรมแดนที่ว่านั้น ท่านว่าทาง


หนึ่งก็คือให้เตือนตนไว้เสมอว่า แก้วสารพัดนึกอันหาค่ามิได้รอท่านอยู่เบื้องหน้า ท่านจะมีตัวตนใหม่ที่แข็งแรง ที่สมบูรณ์แต่ไม่อ้วน ที่สะโอดสะอง พริ้งพร้อมสรรพางค์ดังนางหงส์ อรชรอ้อนแอ้นเอวองค์...สำหรับท่านหญิง ประเสริฐสรรพสรรพางค์ แต่บาทางค์สุดเกล้า...สำหรับท่านชาย ตัวตนใหม่ที่น่าปรารถนาของท่านนั้นกำลังจัดรูปของมันอยู่ทุกย่างก้าวที่ส้นเท้าหน้าของท่านสัมผัสพื้นพสุธา ส่งกำลังผลักดันด้วยเท้าหลังตามลักษณะการเดินออกกำลังกายที่ดี การเดินออกกำลังกายที่ม้วนย่างก้าวดุจระลอกคลื่น ที่ก้าวไปข้างหน้า ที่.....
 
 
-หนังสือเล่มนี้ ท่านที่สนใจ อาจจะต้องหาอ่านตามห้องสมุด ครับ

ฤาโลกจะทรุด

ฤๅโลกจะทรุด?
โดย ‘นิว’ แดง ใบเล่
จำได้ว่าหลังวันคริสต์มาส 2547 มีกิจธุระมาพักอยู่ชานกรุงด้านตะวันออก แถวบางนา ใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงวิทยาเขตบางนา ช่วงบ่าย ๆ ในล็อบบี้โรงแรมโนโวเตลที่พำนัก เสียงผู้คนพูดกันฮือฮาเรื่องเกิดคลื่นยักษ์ถล่มแถวภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามัน คนที่ยังไม่ได้ชมข่าวต่างก็ฟังเรื่องราวจากปากของแขกโรงแรมและพนักงาน คาดเดากันไปต่าง ๆ นานา ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ ผู้เขียนซึ่งมีชีวิตปกติไปมาอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล โดยที่ฝั่งอ่าวไทยอยู่ห่างจากบ้านประมาณเจ็ดกิโลเมตร ส่วนฝั่งทะเลอันดามันอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 50 กิโลเมตร ที่ฝั่งอันดามันมีบ้านน้าอยู่ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง และบ้านเพื่อนอยู่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

เพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเกาะอยู่กลางทะเล สมัยเด็กเพื่อนโม้ให้ฟังว่าที่เกาะนั้น ถึงหน้าลมสลาตันบางทีคลื่นใหญ่มากสูงเท่ายอดมะพร้าว โถมขึ้นมาจากทะเล ผู้เขียนถามว่ามันไม่กวาดไปหมดเกาะเลยหรือ แล้วเอ็งมาเล่าเรื่องนี้อยู่ได้อย่างไร เอ็งก็น่าจะไปกับคลื่นเรียบร้อยแล้ว เพื่อนมันหัวเราะ มันบอกว่าบ้านมันอยู่บนเนินสูง(ขี้โม้) ในฤดูคลื่นลมสงบผู้เขียนเคยเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนบนเกาะ แล้วจากนั้นก็ได้อาศัยเรือเดินทะเลลำน้อย สร้างด้วยไม้ทั้งลำ เดินทางจากเกาะซึ่งอยู่ในอ่าวไทยเข้ากรุงเทพฯ เดินทางมาสองวันสองคืน ถึงสมุทรปราการเรือก็เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้เขียนขึ้นฝั่งแถวทรงวาดหรือราชวงศ์ ประมาณนั้น ระหว่างการเดินทาง ยามคลื่นลมสงบทะเลช่างสวยงามดีจริง ๆ กลางคืนดาวเต็มฟ้า กลุ่มดาวที่ตัวเองรู้จักมาแต่เด็กเพราะผู้ใหญ่สอนให้ดู คือ ดาวลูกไก่ ดาวจระเข้ และดาวว่าวปักเป้า ขึ้นให้เห็นหมดและก็ได้เห็นดาวจระเข้หันหางขึ้นกลางหาวด้วย...ดาวที่ไม่ได้เห็นคือดาวจุฬามณี ที่เปล่งแสงอัญมณีมาจากยอดเจดีย์วัดจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเดียวบนสวรรค์ที่มนุษย์โลกสามารถแลเห็นได้ด้วยตาเปล่า (นอกนั้นจะเห็นได้ก็ ด้วยใจ เท่านั้น)

สร้างผู้นำฝรั่งเศส ตอน 2

ระบบการสร้างผู้นำฝรั่งเศส ตอน จบโดย ‘นิว’แดง ใบเล่

เราจะทราบว่าสถาบันอุดมศึกษาใดเป็น “โรงเรียนใหญ่” หรือ “กร็อง เอโกล” ก็ด้วยการดูว่าสถาบันอุดมศึกษาใดบ้าง ที่มาคัดนักเรียนไปจากหลักสูตร“ชั้นเตรียม” หรือ “เด็กเปรปา” โรงเรียนมัธยมที่มีหลักสูตรชั้นเตรียมขึ้นชื่อในกรุงปารีส ได้แก่ โรงเรียนมัธยม ลีเซ่ แซ็งต์หลุยส์ โรงเรียนมัธยม ลีเซ่ หลุยส์-เลอ-กร็องด์ (หมายถึงหลุยส์มหาราชหรือหลุยส์ที่สิบสี่) โรงเรียนมัธยม ลีเซ่ อ็องรี ก๊าต (หมายถึงพระเจ้าอ็องรีที่สี่) โรงเรียนมัธยม ลีเซ่ แซ็งต์-เจอเนอวิแย๊ฟ โรงเรียนมัธยม ลีเซ่ สตานิสล้าส โรงเรียนมัธยม ลีเซ่ การ์โนต์ เป็นต้น นักเรียนหลักสูตรเปรปาซึ่งมีอยู่สามสายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กสายวิทย์(Les classes préparatoires scientifiques) กับเด็กสายเศรษฐกิจและพาณิชย์(Les classes préparatoires économiques et commerciales) ส่วนเด็กสายอักษร(Les classes préparatoires littéraires)เป็นคนส่วนน้อย เพราะว่าโรงเรียนใหญ่สายนี้ก็มีจำนวนน้อย

สร้างผู้นำฝรั่งเศส ตอน 1

ระบบการสร้างผู้นำฝรั่งเศส ตอน 1โดย ‘นิว’แดง ใบเล่
มีด้วยหรือ? ฝรั่งเศสมีระบบการสร้างผู้นำด้วยหรือ?

ก็ในเมื่อคำว่า ผู้นำ เป็นคำที่มีความหมายไม่ใคร่จะดีนักในวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเจ้าตำหรับเรื่องการคานอำนาจอย่างเสมอภาคกันในทางการเมือง ระหว่างอำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งยังมีระบบศาลคู่ระหว่างศาลกฎหมายเอกชนและศาลกฎหมายมหาชนแบบที่ประเทศไทยกำลังเริ่มมีใช้อยู่นี้ ซึ่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไม่มี ตลอดจนเคยมี ผู้นำ อดีตเจ้าของทีมฟุตบอลและเป็นระดับรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาจำคุกมาแล้ว (คือ เมอซิเออร์ แบร์นา ตาปี ) นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่เพลงชาติเป็นบทเพลงแห่งการปฎิวัติ มีทำนองไพเราะเพราะพริ้ง เนื้อเพลงเป็นบทกวีสะเทือนอารมณ์ชื่อ “ลา มาร์แซยแยส” ซึ่งดูเหมือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในอดีต ได้นำทำนองมาแต่งเป็นเพลงเดินของมหาวิทยาลัย แถมฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่มีคำขวัญว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” หรือเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Liberté, Égalité, Fraternité” ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐอเมริกาที่มีคำขวัญว่า “เราศรัทธาพระเจ้า” หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “In God We Trust.” อเมริกาน่าจะสนใจเรื่อง ผู้นำ มากกว่า หรือถ้าหันมาเทียบกับสังคมประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลกคือประเทศอินเดีย ก็จะพบคำขวัญประจำชาติว่า “สัจจะเท่านั้นที่ยืนยง” หรือเขียนเป็นภาษาสันสกฤตว่า
“ ” อ่านว่า “สัตยะเมวะ ชะยะเต” ซึ่งก็ไม่ได้เน้นความเป็นสังคมการเมืองเหมือนกับ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ