"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันพฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

นายกรัฐมนตรีหญิง ถึงคิวสังหาร-จริงหรือว่า มรณะกาลของเธอ ถูกนับถอยหลัง...มาแล้วล่วงหน้า? นางสาว เพนะซีระ ภุทโท बेनज़ीर भुट्टो ตอน 3/3

ปรีชา ทิวะหุต


การค้นคว้า เรียบเรียง นำเสนอ เรื่องการสังหารนายกรัฐมนตรีหญิง ในแดนชมพูทวีป เริ่มจากที่ลังกามาอินเดียและมาปากีสถานนั้น ลำนำข้อมูลหลากหลายที่ไหลผ่านสายตา ล้วนบ่งชัดว่า กรณีการตายของ นางสาว เพนะซีระ ภุทโท เป็นเรื่องลึกลับที่สุด กอรปด้วยปมประเด็นที่น่าฉงนสนเท่ห์ที่สุด ขณะที่ ทั้งอาชญากรรมและอาชญากร ของสองกรณีก่อนหน้านี้ คือกรณีของ นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ  และ นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ต่างล้วนแจ่มกระจ่าง เข้าใจได้ไม่ยาก ผู้คนทั้งหลายสามารถปิดคดีภายในจิตใจของตนลงได้ แต่กรณีฆาตกรรม นางสาวเพนะซีระ คนจำนวนมากทั้งในปากีฯ และนอกปากีฯ ยังไม่สามารถปิดคดีนี้ภายในจิตใจของตน ลงได้ง่าย ๆ เลย

ใครฆ่าเธอ?

ยังไม่มีผู้ใด สามารถตอบปริศนาข้อนี้ได้กระจ่างแจ้ง ทำให้เราหายเคลือบแคลงลงได้ ถ้าท่านผู้อ่านลงมือค้นคว้า ศึกษาด้วยตัวของท่านเอง ท่านก็จะพบกับรายงานมรณกรรมที่เป็นรายงานทางการสองสำนวน ทั้งของรัฐบาลปากีสถานและขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีนักสืบเชลยศักดิ์อีกมากมาย ที่สืบค้นและนำเสนอเรื่องฆาตกรรมดังกล่าว ผู้เขียนลองค้นหนังสือที่มีนาม เพนะซีระ ภุทโท ในอะเมซอน ดอทคอม เมื่อกลางเดือนกันยนยน 2554 พบว่า มีอยู่ถึงประมาณ 850 เล่ม ครั้นเคาะชื่อเธอในกูเกิล ปรากฏว่า นามของเธอปรากฏอยู่ถึงประมาณ 9,650,000 (เก้าล้าน หกแสน ห้าหมื่น) หน้าเว็บ

แล้วจะให้เล่าแบบไหน? ในยุคที่แม้แต่ยาจกวนิพกอย่างผู้เขียน ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูล และสามารถสอบทานข้อมูล ได้ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าแต่ก่อนอย่างชนิดที่ประมานมิได้ วิญญูชนทุกคนก็คงต้องถ่ายทอด เล่าเรื่องการเมืองกรณีนี้ อย่างยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเล่าอย่างเป็นกลางแก่ทุกผู้ทุกนามที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนเชื่อว่าอย่างนั้น

ตัวฆาตกรเอง ก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ เพื่อจะเขียนบันทึกความทรงจำ เขาตายไปกับระเบิดพลีชีพ ผู้ถูกปองร้ายหมายขวัญก็เสียชีวิตแล้ว แต่ผู้เขียนขอสารภาพกับท่านผู้อ่าน ว่า กรณีของ นางสาว เพนะซีระ เขียนยากกว่าสองกรณีที่ผ่านมา แต่ก็จะขอโอกาสจากท่าน ได้ลองทำดูแล้วกันครับ ด้วยการเสนออย่างย่นย่อ คล้ายกับจะลำดับเหตุการณ์ ซึ่งท่านก็ต้องอ่านด้วยความระมัดระวัง เพราะในที่สุด ผู้เขียนจะไม่สรุป ชี้ไปที่ใครเป็นการเฉพาะเจาะจง

ว่ากัน เป็นลำดับ...

1. ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่ง กล่าวว่า มรณกรรมของ นางสาว เพนะซีระ ถูกนับถอยหลัง มาตั้งแต่วันที่เธอ ตัดสินใจบินจาก ดูไบ กลับปากีฯ เช่น นักการทูตอังกฤษผู้หนึ่ง ได้แสดงความเห็น ว่า “เปรียบเสมือน ปูนแดง ได้ถูกป้ายไว้กับศีรษะเธอแล้ว”

2. เพื่อนรักของเธอ นายปีเตอร์ กาลเบรียธ บุตรชายของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์ เคนเนธ กาลเบรียธ ได้เตือนเธอ ว่า “เธออย่ากลับไปเลย เธอเคยเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองครั้งแล้ว นี่เธอกำลังจะทำอะไร เธอจะกลับไปทำไม”

3. ปีเตอร์ เป็นเพื่อนเธอ มาตั้งแต่เธออายุสิบหก เพิ่งจะเข้าเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วยกัน แถมยังมาเรียนที่ อ็อกฟอร์ด ด้วยกันอีก ปีเตอร์ ซึ่งต่อมารับราชการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเคยเป็นทูตสหรัฐฯ แถวยุโรปตะวันออกเฉียงใต้(แหลมบอลข่าน) เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยทำงานกับรัฐสภาอเมริกัน เคยทำงานกับองค์การสหประชาชาติ และได้รับภารกิจในรัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งใหม่ของประเทศติมอร์ตะวันออก เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเจรจาให้ นางสาว เพนะซีระ พ้นจากเงื้อมมือของ “เสธฯเซียะ” และได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ มาครั้งหนึ่ง

4. แต่แล้วในที่สุด เธอก็เดินทางจากวอชิงตัน ผ่านลอนดอน ก่อนจะแวะดูไบ แล้วบินจากที่นั่นเข้าปากีฯ ที่ลอนดอน นางสาว เพนะซีระ กล่าวแก่นักหนังสือพิมพ์สตรีชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ว่า เธอรู้ซึ้งถึงความเสี่ยง อันเกิดจากการตัดสินใจครั้งนี้  “ดิฉันทราบดีว่า มีคนปองร้าย จะฆ่าดิฉัน และทำให้ระบอบประชาธิปไตยในปากีสถานสั่นคลอน  แต่ด้วยศรัทธาต่อองค์อัลเลาะห์ และด้วยความเคารพต่อประชาชนปากีสถาน ดิฉันเชื่อมั่นว่า สมาชิกพรรคจะป้องกันดิฉันได้”

ที่ ดูไบ...

5. ที่ ดูไบ เธอแวะกล่าวคำอำลาบุตรสาวสองคน ผู้อยู่อาศัยที่นั่น และที่ ดูไบ นั่นเอง ในวันที่ 16 ตุลาคม 2550 หน่วยงานสืบราชการลับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้มากล่าวเตือนเธอ ถึงแผนการ ที่จะมีผู้สังหารเธอในปากีสถาน

6. เมื่อได้ทราบความลับข้อนี้ เธอร่างหนังสือไปถึง นายพล ปะระเวซ มุศระรัฟ ประธาน-มนตรี แห่งปากีสถานทันที โดยหนังสือฉบับนั้น เธอได้ระบุชื่อผู้ต้องสงสัย ซึ่งเธอคิดว่า กำลังวางแผนจะเอาชีวิตเธอ มีอยู่สามคน คือ 1) นาย อิลาฮิ ประธานมนตรี แคว้นปันจาบ 2) นายพล ฮามิด คูล นายทหารเกษียณอายุ ผู้เคยดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ -ในสังกัดฝ่ายกลาโหม มีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า ISI และ 3) นายพล ชาห์ อดีตหัวหน้ากรมประมวลข่าวกลาง(IB)

7. แต่จะกระนั้นก็ดี เธอก็ไม่เปลี่ยนใจที่จะกลับปากีฯ เธอกล่าวกับผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่ง ว่า “เวลาแห่งชีวิตถูกลิขิตมา และเวลาความตาย ก็ถูกลิขิตมาด้วยเหมือนกัน”

8. ที่สนามบินการาจี นางสาว เพนะซีระ กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ฝูงชนจำนวนมากมารอรับเธอ เรียงรายทั้งสองฟากฝั่งถนน เธอโบกมือรับกับประชาชน อยู่บนหลังคารถบัสที่จัดมาพิเศษ ในเวลานาทีนั้น เพนะซีระ กลับกลายเป็นคนละคน ใบหน้าของเธออิ่มเอิบ มีชีวิตชีวา ช่างแตกต่างจากใบหน้าของ นางสาว เพนะซีระ ในร่างของผู้มีชีวิตเนรเทศ ระเหเร่ร่อน ผู้พยายามจะกระเดือกไอศกรีมลงคออย่างยากลำบาก ชีวิตผ่านไปวัน ๆ ด้วยการอ่านหนังสือประเภท how-to สาระน้อย นักข่าวสตรีชาติอังกฤษ ผู้ติดตามรายงานข่าวเพนะซีระมานานปี และอยู่บนรถบัสคันนั้นด้วย ได้บันทึกไว้ว่า “ฉันเห็นใบหน้าอันเปี่ยมสุขของเธอ เมื่อโบกมือกับประชาชน อยู่บนบัสคันนั้น ซึ่งฉันโดยสารไปด้วย แล้วฉันก็เข้าใจทันทีว่า ทำไมเธอต้องกลับมา...”

9. แต่ว่า หน่วยรักษาความปลอดภัยของเธอเริ่มวิตก เพราะว่า อุปกรณ์กวนสัญญาณเพื่อป้องกันการกดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ “jammer” ที่รัฐบาลปากีฯ สัญญาจะส่งมาเป็นส่วนหนึ่งของการอารักขาเธอ ไม่ได้มาตามที่ตกลงกันไว้

10. รถบัสจัดพิเศษคันนั้น เคลื่อนไปกับขบวน นานหลายชั่วโมง กระทั่งห้าทุ่มเศษ ๆ ขบวนต้อนรับเธอ ก็เจอระเบิดลูกแรก โดยมีระเบิดลูกที่สอง ตามมาติด ๆ มีกำลังแรงกว่าลูกแรก

11. ตามด้วย ความเงียบสงัด วังเวงอยู่ชั่วอึดใจ หลังจากนั้นก็เป็นเสียงคนร้อง เสียงไซเรน พร้อมกับชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของเศษเนื้อ และผิวหนังมนุษย์ที่ไหม้เกรียม ปลิวว่อนไปทั่วบริเวณ มีคนตายร่วม 150 คน

12. คืนนั้น นางสาว เพนะซีระ ส่งอีเมลไปหา นาย มาร์ค ซีเกล สหายของเธอที่กรุงวอชิงตัน ความว่า “จะไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นกับฉัน แต่ถ้ามี เธอรู้ไว้ด้วยนะ ว่า มุศระรัฟ เป็นผู้รับผิดชอบ...”

13. ท่านทูต ฮุสเซน ฮากกานี ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยงาน เพนะซีระ และปัจจุบันเป็นทูตปากีฯ ประจำกรุงวอชิงตันฯ เล่าว่า หลังเหตุการณ์นั้น เธอได้โทรศัพท์หา ฯพณฯ มุศระรัฟ ซึ่งได้กล่าวแก่เธอ ว่า “ฉันบอกเธอแล้วว่า อย่ากลับมา จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ และจะบอกให้ ฉันจะคุ้มครองเธอ ก็ต่อเมื่อเธอดีกับฉัน เท่านั้น”

14. สัญญาณไม่สู้จะดี ปรากฏว่าหลังจากเหตุการณ์โจมตีขบวนแห่ เพนะซีระ ในวันที่เธอลงจากเครื่องบินผ่านไปแล้ว ปรากฏว่า ชุดคุ้มครองบุคคลสำคัญ ที่จัดมาดูแลความปลอดภัยของเธอ ถูกลดจำนวนลง รวมทั้งลดเครื่องมือและอุปกรณ์ด้วย แถมเธอยังได้รับการตักเตือนจากทางการ ว่า อย่าเดินทางในรถติดฟิล์มกรองแสงทึบ นะ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย

15. วันที่ 27 ธันวาคม 2550 เธอถูกยิงจากด้านหลัง เข้าที่ท้ายทอย กระสุนทะลุกระโหลกศีรษะไปออกด้านขมับ เธอโดนกระสุนเข้าบริเวณแผ่นหลังด้วย เธอทรุดตัวกลับลงมาพับภายในตัวรถกันกระสุน โตโยตา แลนด์ครุยเซอร์ เลือดสด ๆ ทะลักออกจากปากแผล ทั้งสองแผล นางสาว เพนะซีระ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ของนครราวัลปินดี แพทย์ประกาศว่า นางสาว เพนะซีระ ภุทโท เสียชีวิต เวลา 18.16 น.

น่าประหลาด…

16. น่าประหลาด ประการที่ 1)เพียงไม่กี่นาที คือ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ที่ เพนะซีระ ถูกลอบสังหาร ทางการได้ส่งรถดับเพลิง มาฉีดน้ำแรงดันสูง ล้างสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเท่ากับล้างพยานหลักฐาน ที่อาจตกหล่นอยู่ในบริเวณนั้น ผู้กำกับ สน.ราวัลปินดี กล่าวว่า คนใกล้ชิดของ ฯพณฯ มุศระรัฟ โทรศัพท์มาสั่งการให้รีบล้าง เพราะเกรงว่า พรุ่งนี้ แร้งอาจบินมาจิกกิน ชิ้นส่วนเศษเนื้อมนุษย์

17. กรณีฉีดน้ำแรงดันสูง ล้างบริเวณเกิดเหตุทันที ภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ช่างตรงข้าม กับเมื่อมีเหตุลอบสังหาร ฯพณฯ มุศระรัฟ สองครั้ง ในเมืองราวัลปินดีเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าในสองครั้งนั้น สถานที่เกิดเหตุถูกขึงเชือกกั้นบริเวณ ไว้ค้นหาหลักฐาน นานหลายสัปดาห์

18. ระหว่างที่กำลังเกิดความวุ่นวายภายในประเทศ ประการที่ 2)ทางการรุกรี้รุกรน ประกาศสาเหตุการตาย และประกาศชื่อฆาตกร ภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง โฆษกกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ประกาศว่าโรงพยาบาลรายงานว่า นางสาว เพนะซีระ ตายด้วยสาเหตุศีรษะฟาดกับขอบเพดานรถยนต์ เมื่อเธอมุดหลบแรงระเบิดลงมาในตัวรถ โฆษกกล่าวเสริมว่า “ไม่มีรอยกระสุน ลูกกระสุน หรือเศษชิ้นส่วนโลหะใด ๆ ที่บาดแผล” และแจ้งแก่สื่อมวลชนว่า หน่วยงานสืบราชการลับ ได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้ากลุ่มตาลีบัน สาขาปากีฯ นาย ไบตุลละห์ เมห์ซุด แจ้งว่าเขาสั่งฆ่า เพนะซีระ เอง พร้อมกันนั้น โฆษกก็แจกชี้ท พิมพ์คำพูดของ นาย เมห์ซุด กับสื่อมวลชน แต่ไม่ได้แจกคลิปเสียงโทรศัพท์

19. หนึ่งสัปดาห์ถัดมา สื่อมวลชนต่างประเทศจากอังกฤษและสหรัฐฯ ได้รับเชิญจากสถานทูตประเทศตน ไปรับแจ้งจากสถานทูตว่า หน่วยสืบราชการลับ Her Majesty's Secret Service ของอังกฤษ กับหน่วยสืบราชการลับ CIA ของสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่า คำพูดที่พิมพ์ในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ซึ่งสื่อมวลชนได้รับแจก จากโฆษกกระทรวงมหาดไทยปากีฯ นั้น “เป็นความจริง”  เชื่อได้ว่า         ตาลีบันโดยนาย เมห์ซุด เป็นผู้สังหารนางสาวเพนะซีระ

20. เกี่ยวกับเรื่องนี้ อดีตหัวหน้าทีมกีฬาคริกเก็ต ผู้ผันชีวิตมาเป็นนักการเมือง นาย อิมราน ข่าน กล่าวว่าเขาไม่เชื่อ เรื่องที่สถานทูตทั้งสอง และกระทรวงมหาดไทยปากีฯแจ้งต่อสื่อมวลชน แม้แต่นิดเดียว เขากล่าวว่า

“หลังเหตุการณ์เพียงวันเดียว ทางการแจ้งว่า ได้ถอดเทปคำพูดของหัวหน้าตาลีบัน นายเมห์ซุด ซึ่งกำลังหัวเราะร่า พูดว่า 'เนี่ยะ ดูเด่ะ ผมนั่งอยู่นี่งัย ทำงานดีมากพรรคพวก พรุ่งนี้เช้าผมจะรับประทานอาหารเช้าให้อร่อยเลย '  ขอโทษเถอะ ละครน้ำเน่า เปล่าเนี่ยะ นายเมห์ซุด กำลังโดนไล่ล่าจากทุกทิศ และกำลังหนีหัวซุกหัวซุน เขาจะมีเวลาและอารมณ์ นั่งพูดบ้า ๆ อย่างนั้นหรือ" 

...นี่เป็นความเห็นของนาย อิมราน ข่าน นักการเมืองปากีฯ

21. ไม่นานต่อมา โฆษกของกลุ่มตาลีบันในปากีฯ นายมาอูลวี โอมาร์ ได้ออกมาแถลงการณ์ ในนามของท่านหัวหน้าฯ นายเมห์ซุด ว่า “ผมขอปฏิเสธเรื่องนี้ ตาลีบันไม่ได้ฆ่าเพนะซีระ คุณรู้ไหมว่าชนเผ่าคนกลุ่มน้อยอย่างพวกเรา เรามีหลักศิลธรรมจรรยาประจำเผ่า เราไม่ฆ่าผู้หญิง”

22. ผู้สื่อข่าวสตรีชาวอังกฤษ ที่ทำหน้าที่รายงานเรื่องราวอัลกออิดะห์และตาลีบัน มานานปี และใกล้ชิดกับเพนะซีระ เล่าไว้ทางสื่อมวลชนอังกฤษว่า แม้แต่ครั้งเดียวก็ไม่เคยประสบว่า อัลกออิดะห์และตาลีบัน จะไม่ประกาศรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ตนเป็นผู้ลงมือทำ หมายความว่า ถ้าเขาทำ เขาจะประกาศรับว่าเขาทำ เขาไม่ตอแหล

23. ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ผู้สื่อข่าวสตรีรายดังกล่าวเล่าว่า เพนะซีระ ได้เล่าให้เธอฟังว่า หลังจากเหตุการณ์ระเบิดขบวนต้อนรับที่นครการาจี หัวหน้าตาลีบัน ในปากีฯ นายเมห์ซุด ได้ส่งสารลับสั้น ๆ มาถึง เพนะซีระ เตือนเธอว่า “ฉันไม่ใช่ศัตรูของเธอ จำไว้นะ เธอต้องมีดวงตาสว่าง มองให้ออกว่า ใครคือศัตรู”


นายเมห์ซุด หัวหน้าตาลีบันในปากีฯ ถูกอเมริกันฆ่าตายแล้วทั้งครอบครัว ส่วนเรื่องราวการฆาตกรรม นางสาวนายกหญิงคนแรก ของประเทศปากีสถาน ยังไม่สามารถยุติลงได้ ความเห็นใหม่ ๆ จากแหล่งใหม่ และมีสไตล์การเล่าแบบใหม่ ยังคงทะยอยออกมาเผยแพร่ ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเคาะดูรายการหนังสือเล่มใหม่ ๆ ได้จากอะเมซอนดอทคอม แต่ในกรณีของเรา ผู้เขียนจะขอหยุดการเล่าเรื่องไว้เพียงเท่านี้ –ขอบคุณครับ ที่ท่านติดตามอ่าน เรื่องราวการสังหาร นางสาว นายกรัฐมนตรีหญิง 3 คน 3 ประเทศ


แดง ใบเล่ - เดฟ นาพญา - ปรีชา ทิวะหุต

Not for commercial use. ไม่สงวนสิทธิ์ฉบับดิจิทัล ไม่ได้เผยแพร่เชิงพาณิชย์ แต่แบ่งปันเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา
สำนักพิมพ์ใด สนใจจะตีพิมพ์เป็นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ โปรดติดต่อเจ้าของงานที่อีเมล salaya123@yahoo.com -ขอบคุณครับ


-------------------------------------------------------------------------------------------
ตอนก่อน ๆ ...
นายกรัฐมนตรีหญิง ถูกฆ่า น.ส.เพนะซีระ ภุทโท ตอน 1/3
นายกรัฐมนตรีหญิง ถูกฆ่า น.ส.เพนะซีระ ภุทโท ตอน 2/3

ยังสนใจ อยู่อีก...โปรดคลิก
สังหารโหด นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ตอน 1/3
สังหารโหด นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ตอน 2/3
สังหารโหด นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ตอน 3/3

ยังสนใจ ไม่เลิก...โปรดคลิก
ลอบฆ่า นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ นายกรัฐมนตรีหญิง ศรีลังกา ตอน 1/2
ลอบฆ่า นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ นายกรัฐมนตรีหญิง ศรีลังกา ตอน 2/2

1 ความคิดเห็น:

  1. dear readers,
    this is my former blog which has been compromised. i cannot update it or do anything about it any more. however, i have my new blog at www.pricha123.blogspot.com

    thank for your visits.
    pricha

    ตอบลบ