"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ชะตากรรมนักการเมืองสตรีเอเชีย ที่ถูกลอบสังหาร -นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ (จันทริกาตอน 1/2) The murder of Asian women politicians: case of Jandarika

นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ
อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา รอดตาย แต่เสียตาข้างขวา

“ซิ อ็อง โป” ที่ปารีส สถาบันศึกษาการเมือง มีชื่อของฝรั่งเศส กับเวลาหลายปีที่นั่น ทำให้ จันทริกา กุมาระตุงคะ คล่องแคล่วทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงหล เธอเป็นนักศึกษาต่างชาติผู้หนึ่ง ที่มีประสบการณ์จริงจัง กับขบวนการนักเรียนนักศึกษา ระหว่างที่ฝรั่งเศสเกิดขบถนักเรียน ปี 1968

จบจาก “ซิ อ็อง โป” แล้วเข้าเรียนปริญญาเอก สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยปารีส จันทริกา พักการศึกษาเดินทางกลับลังกา ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ต่อมา ระหว่างที่คุณแม่เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง และกำลังปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจ จันทริกา เข้าทำงานการเมืองเต็มตัว คุณพ่อของเธอ นายพันธระไนยเก บางทีเขียนภาษาไทยว่า บันดาราไนเก ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สี่ของลังกา ถูกภิกษุ-คนสิงหล-รูปหนึ่งลอบสังหาร
 คุณแม่ของเธอ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ คุณแม่เธอสร้างประวัติศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก ในส่วนของจันทริกานั้น ประสบการณ์การศึกษาของเธอได้ลบคำสบประมาท ที่พวกกลุ่มคนลูกอีช่างเกลียด(เฮตเตอร์) เคยกล่าวหาคุณแม่ว่า เป็นเพียงหญิงจากก้นครัว หรือ “คิทเช่น วูแมน” ไม่มีความรู้ความคิดอะไร ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ

คนในตระกูลเก่าแก่นี้ ทำงานการเมืองเกาะลังกา ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณหนึ่งในสามของภาคอีสาน มาตั้งแต่สมัยที่เกาะนั้นอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ โดยที่คุณปู่ของเธอ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ให้กับข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษในลังกา และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “Sir” คนตระกูลนี้ นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน อันเป็นนิกายที่ผูกพันอยู่กับประเทศอังกฤษมาตั้งแต่รัชกาลอะลิซาเบธที่หนึ่ง แต่ต่อมา ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง คุณพ่อของเธอได้เปลี่ยนมานับถือพุทธ อันเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในลังกา การเปลี่ยนศาสนาจากคริสต์เป็นพุทธ ของนักการเมืองระดับสูงในลังกานี้ ค่อนข้างจะทำกันเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น เราจึงพบคนลังกานับถือพุทธ แต่ใช้ชื่อฝรั่งอยู่ประปราย สรุปว่าคนในตระกูลนี้ สืบทอดอำนาจทางการเมือง ผูกพันกันมาราว ๆ ครึ่งชีวิตของประเทศศรีลังกา นับแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ

การปกครองของอังกฤษ รองรับด้วยระบบราชการงานเมือง ที่เป็นทีมงานคนทมิฬ ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมส่วนน้อย นับถือศาสนาฮินดู ทำหน้าที่บริหารปกครองคนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละเจ็ดสิบห้าในลังกา ที่เป็นคนสิงหลซึ่งนับถือพุทธ อังกฤษได้ใช้สูตรการปกครองคล้าย ๆ กันนี้ในพม่าด้วย คือใช้คนกลุ่มวัฒนธรรมย่อย เป็นทีมงานให้กับระบบราชการของอาณานิคม ปกครองคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนพม่า

ครั้นได้รับเอกราช คนสิงหลทวงสิทธิ์
คนสิงหลก็ดำเนินการทวงสิทธิ์ ด้วยการเข้าไปแทรกคนทมิฬในระบบราชการและการบริหารแผ่นดิน ให้คนสิงหลเข้าทำแทน กีดกันไม่ให้คนทมิฬเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ฯลฯ เพราะฉะนั้น ปมประเด็นปัญหาเรื้อรัง เรื่องความเกลียดชังของคนสิงหลกับคนทมิฬนั้น พูดยากมาก ยากแก่การเยียวยา จะกระนั้นก็ดี บรรดานักการเมืองระดับชาติของศรีลังกา เห็นจะมี จันทริกา เพียงผู้เดียว ที่ดูเหมือนจะเคยจริงใจ ที่จะแก้ไขปัญหานี้

คนสิงหล เป็นชาวอินเดียเหนือ ซึ่งตามภูมิศาสตร์ หมายถึงคนอารยัน หรืออริยกะ ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากเทือกเขาวินธัย อันเป็นทิวเขาที่กั้นกลางชมพูทวีป ชาวอารยันกลุ่มนี้อพยพมาอยู่ในลังกา ตั้งแต่ก่อนยุคอโศกมหาราช จากการศึกษาเรื่องภาษา ประมาณว่าน่าจะมาจากคนลุ่มน้ำสินธุ กระทั่งต่อมา โอรสของอโศกมหาราชได้นำศาสนาพุทธ พันธุ์โพธิ์พุทธคยา และผู้คนจากแคว้นมคธ ในล่มน้ำคงคา มาสมทบ ส่วนคนทมิฬซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ในชมพูทวีปภาคใต้ เหนือขึ้นไปจากเกาะลังกา ที่เป็นรัฐทมิฬนาดูในปัจจุบัน โดยคนทมิฬมาอยู่ในลังกาภายหลังคนสิงหล และแถมต่อมายังมีทมิฬใหม่อีกจำนวนมิใช่น้อย แบบพวกมอญใหม่ในเมืองไทย มาเป็นคนงานภาคเกษตร ระหว่างที่ฮอลันดาและอังกฤษปกครองเกาะลังกา ทมิฬใหม่เหล่านี้เรียกกันว่า “ทมิฬอินเดีย” มีจำนวนประมาณหนึ่งในสามของทมิฬทั้งหมด หรือล้านคนจากคนทมิฬทั้งหมดสามล้านคนในปัจจุบัน ส่วนคนสิงหลปัจจุบันี้มีประมาณสิบห้าล้าน

เมืองไทยกับกรุงลงกา
ผู้คนในเมืองไทยกับคนสิงหลในลังกา คบหาสมาคมกันมานานมาก โดยผ่านทางเมืองนครศรีธรรมราช สมัยกรุงสุโขทัยนั้น หลายสิ่งหลายอย่างในเมืองสุโขทัย ล้วนแต่ก็อปและตัดปะจากลังกา โดยเฉพาะจากเมืองหลวงที่สองของลังกา ที่รุ่งเรืองเป็นเมืองพุทธ มาก่อนสุโขทัยประมาณสามร้อยกว่าปี ที่เมืองหลวงเก่าของลังกามีคนจากเมืองไทยไปอยู่ และที่กรุงสุโขทัยก็มีคนลังกามาอยู่ ปัจจุบันนี้โปสเตอร์รูปวัดมหาธาตุที่สุโขทัย เราสามารถนำไปหลอกฝรั่งได้ ว่านี่คือ “วัดลังกาดิลก” ในเมืองหลวงเก่า ของประเทศศรีลังกา และโปสเตอร์ภาพวัดลังกาดิลก เราก็สามารถนำไปต้มฝรั่งได้ ว่านี่คือรูป “วัดมหาธาตุ” ที่เมืองสุโขทัย ประเทศไทยแลนด์ ส่วนพระพุทธสิหิงค์นั้น เราก็ทราบกันอยู่ว่า คำว่า สิหิงค์ เพี้ยนมาจากคำว่า สิงหล พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ ชื่อจริงคือ พระพุทธรูป “สิงหล” และหลักศิลาจารึกทั้งหลายสมัยสุโขทัยนั้น ก็คล้ายกับที่เมืองหลวงเก่าของลังกา ซึ่งก็มีธรรมเนียมสร้างหลักศิลาจารึก

ต่อมา เมื่อศาสนาพุทธสิ้นวงศ์ในลังกา กล่าวคือไม่มีพระ มีแต่เณร ก็ได้ดาวน์โหลดพระจากกรุงศรีอยุธยา ไปอินสตอลติดตั้งอุปสมบทพระภิกษุ ต่อวงศ์ สืบศาสนาในลังกา โดยพระภิกษุนับร้อยจากอยุธยา อาศัยเรือของพวกฮอลันดา เดินทางไป เพราะฉะนั้น เรื่องการเดินทางของพระภิกษุกว่าร้อยรูป จากกรุงศรีอยุธยาไปลังกานี้ พวกฮอลันดาบันทึกไว้ละเอียด แถมยังมีบันทึกเรื่องหลังจากนั้นไว้อีกด้วย ศรีลังกายังเก็บรักษาต้นฉบับพระไตรปิฎก ที่พระอุบาลีเถระนำไปจากกรุงศรีอยุธยาไว้ เพราะฉะนั้น ความที่คบกับคนสิงหลมายาวนาน ตั้งยุคสุโขทัยหรืออาจจะก่อนนั้นอีก ทั้งในเมืองไทยปัจจุบัน ก็มีคนไทยเชื้อสายลังกาอยู่ประปราย โดยเฉพาะท่านที่ใช้นามสกุลลงท้ายด้วยคำว่า “ดิลก” ทั้งหลาย คนไทยก็เลยพลอยชังคนทมิฬไปด้วยอย่างไร้เหตุผล โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนทมิฬคือใคร ไม่รู้จัก ไม่เห็นตัว รู้แต่ว่า “มันเลว” เพราะมันเป็น “ทมิฬหินชาติ”  มันเลวเพราะมันเป็นคน “ใจทมิฬ”  และมันโหดร้ายเป็น “พฤษภาทมิฬ”  เป็นต้น

ตัวอย่างเรื่องนี้ชี้ว่า ขนาดปลายแถวแผ่ว ๆ ที่เมืองไทย ยังเกลียดพวกทมิฬได้ขนาดนี้ แล้วที่หัวแถวในลังกา จะขนาดไหน…ฆ่ากันลูกเดียวครับพี่ พูดกันไม่รู้เรื่องเลย ประเด็นร้อนเรื่องการเมืองกรณีนี้ ศาสนาอิสลามรอดตัวไป เพราะมุสลิมในลังกาท่านรักสันติ ท่านมีศีลาจริยาวัตรเป็นเยี่ยงอย่างแก่ชุมชนอื่น ๆ ได้สบาย ๆ คนหัวรุนแรงที่ฆ่าแกงกันประจำ คือ คนพุทธ กับ คนฮินดู ทั้ง ๆ ที่คนสองกลุ่มวัฒนธรรมนี้ มีชื่อเสียงโด่งดัง โปรโหมดกันทั่วโลก-ยกเว้นที่ลังกา-นัยว่าเป็นพวก "โคตรอหิงสา” ด้วยกันทั้งสองกลุ่ม

ปมการเมืองในลังกา มีแต่การกล่าวโทษกัน เริ่มจากโทษอังกฤษว่า แบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริง มีพยานหลักฐานเพียบ ต่อมาถึงยุคใหม่ก็โทษกันเอง โดยมีคำพังเพยทางการเมือง ว่า “บิดาของจันทริกา หว่านเมล็ดแห่งความเกลียดชัง คุณแม่ของเธอรดน้ำพรวนดิน แล้วจันทริกาเก็บเกี่ยวผลกรรม”

ทอนเรื่องยาวให้สั้นลง
จันทริกาแต่งงานกับดาราหนังคนดังของลังกา นายวิชัย กุมาระตุงคะ มีบุตรหญิงหนึ่งชายหนึ่ง ปัจจุบันคือแพทย์หญิงยโสธร กับนายสัตวแพทย์วิมุกติ์ เธอกับสามีตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ ศรีลังกามหาชน โดยมีนโยบายประนีประนอมกับขบวนการทมิฬแบ่งแยกดินแดน ที่รู้จักกันสั้น ๆ ว่า “ทมิฬอีแลม” ฝ่ายพวกสิงหลหัวรุนแรงไม่พอใจ และส่งมือปืนมายิงศรีษะสังหารนายวิชัย เมื่อปี 2531 ด้วยปืนอากาผลิตในเมืองจีน ที่หน้าบ้านของเขาเอง ชานกรุงโคโลมโบ มือปืนยิงเขาล้มลง แล้วลงจากมอเตอร์ไซด์ มารัวอากาที่ศีรษะของวิชัย จันทริกาเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับหนึ่งว่า “พอสิ้นเสียงปืน ฉันวิ่งไปเห็นเขานอนจมกองเลือด และศีรษะของเขาหายไป”

จันทริกาหอบลูกทั้งสอง เดินทางลี้ภัยการเมืองออกจากลังกา ชั่วระยะหนึ่ง เธอกลับลังกาเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยลังกาได้ปรับระบบการเมืองจากเดิมที่คล้ายอังกฤษ เป็นระบบใหม่คล้ายกับของฝรั่งเศส มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี อีกสี่ปีต่อมาพรรคการเมืองของเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไป เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิง ต่อมาอีกสามเดือนมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี จันทริกา ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงของศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2537 ทั้งนี้โดยเธอให้คุณแม่ของเธอ นางสิริมาโว พันธระไนยเก ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีศรีลังกาและนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลังกาใหม่ในปี 2537 นั่นเอง แต่ว่า คุณแม่นายกรัฐมนตรี กับคุณลูกสาวประธานาธิบดี ทำงานไม่ใคร่จะประสานกันนัก จันทริกา พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2548 และไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีได้อีกตามกฎหมาย เพราะเธอดำรงตำแหน่งมาสองสมัยติดต่อกันแล้ว

ทำไม เธอโดนลอบสังหาร
คุณพ่อของเธอก็ดี สามีของเธอก็ดี ต่างถูกฆ่าโดยคนสิงหล ซึ่งเป็นคนกลุ่มเชื้อสายเดียวกันกับจันทริกา แม้จะไม่เชิงว่าจะเป็น “กลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน” สนิทเสียทีเดียว อย่าลืมว่าพวกเธอ เพิ่งจะเป็นพุทธ เพียงด้วยการเปลี่ยนศาสนาของคุณพ่อเท่านั้น แต่ตัวเธอถูกลอบสังหารโดยขบวนการคนทมิฬ และมือสังหารเป็นสตรี เช่นเดียวกับเธอ

การลอบสังหารจันทริกา กระทำกันเป็น เรียลลิตี้ ทีวี คือถ่ายทอดสด หลังจากหาเสียงแล้วเสร็จ เธอเดินจากหน้าศาลากลางนครโคโลมโบ เมื่อ 18 ธันวาคม 2542 เธอกำลังเดินไปเกือบจะถึงประตูรถยนต์ที่เปิดรออยู่ และกล้องโทรทัศน์ก็ส่ายตามเธอไป ทันใดนั้น ปรากฏแสงสว่างสีส้มวาบขึ้นมา และภาพต่อมาเป็นภาพของจันทริกา นอนจมอยู่กับพื้นข้าง ๆ รถยนต์

หวังผลทางการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ฝ่ายที่ลอบสังหารเธอ ใช้มือสังหารที่เป็นสตรีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากมือสังหารไม่สามารถเข้าถึงตัวจันทริกาได้ เพราะโดนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกั้นไว้ จึงต้องระเบิดทำลายตัวเอง ในระยะที่หวังผลได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลที่ได้ก็คือ จันทริกา เสียตาข้างขวาของเธอ และมีคนตายไปกับระเบิดครั้งนั้นกว่าสามสิบคน ขบวนการทมิฬอีแลม ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการสยองขวัญครั้งนั้น และเป็นคนฆ่า ราชีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียด้วย

ดังได้กล่าวแล้วว่า จันทริกา น่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองระดับชาติ ที่สังกัดกลุ่มวัฒนธรรมสิงหลเพียงคนเดียว ที่แสดงท่าทีจริงใจ ที่จะประนีประนอมกับขบวนการเรียกร้องอิสรภาพและแบ่งแยกดินแดนทมิฬอีแลม อย่างไรก็ดี หลังจากที่การแสดงท่าทีจริงใจไม่ได้รับการตอบสนอง เธอก็หันไปใช้พระเดชเพียงสถานเดียว ซึ่งเธอก็ได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรง จากขบวนการทมิฬอีแลม

ณ บัดนี้ เราตระหนักแล้วว่า ถ้ามองจากฝ่ายคนสิงหลข้างเดียว ไม่ยอมรับรู้ความเป็นมาของปัญหา ด้านคนทมิฬเสียเลย ทำให้เราตอบคำถามไม่ได้ว่า ทำไมจันทริกาถูกปองร้ายถึงชีวิต

[สนใจ โปรดติดตามตอนจบ สุดสัปดาห์หน้า 29-31 กรกฎา ครับ]

1 ความคิดเห็น:

  1. บลอก www.devnapya.blogspot.com ของผม โดนแฮ็คไปแล้ว โพสต์เดิมยังอ่านได้ แต่เจ้าของไม่มีสิทธิ์ เข้ามาโพสต์ เพราะเขาลัก password ของผมไปแล้ว

    ผมได้สร้างบล็อกใหม่ โปรดแวะชม ที่
    www.pricha123.blogspot.com
    -ขอบคุณครับ

    ตอบลบ