"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันพฤหัสบดีที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ผลการเลือกตั้ง ครั้งประทับใจในอดีต (ตอนที่ 2/2) impression of a French presidential election

ผลการเลือกตั้ง ครั้งประทับใจในอดีต

ตอนที่ 2/2 an impression of a French presidential election
โดย ปรีชา ทิวะหุต

ผลการเลือกตั้งที่ประทับใจอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นหลังจากครั้งแรกหลายปี ในโอกาสที่ปะเหมาะได้ใช้ชีวิตนักเรียนอีกรอบ โดยเดินทางไปเป็นนักเรียนที่ฝรั่งเศส ก็เลยมีผลพลอยได้เป็นการท่องเที่ยวทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนั้น แข่งขันกันระหว่างพรรคแอเปแอ อันเป็นพรรครวมพลคนนิยมอดีตประธานาธิบดี ชาร์ล เดอโกล และพรรคนี้ได้ส่ง นายฌาค ชีรัค เข้าประกวด เพื่อประชันกับพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส หรือสั้น ๆ ว่า พรรคเปแอสแอฟ(PSF) มีฟร็องซัวส์ มิตแตรังด์ เป็นผู้ลงสมัคร

ที่โรงอาหารมหาวิทยาลัย ปีนั้นช่วงฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย ๆ เพื่อนฝรั่งเศสบอกกับผู้เขียนว่า ให้ติดตามการเมืองฝรั่งเศส ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้ดี จะสนุกกว่าการเมืองอเมริกันมาก เขาว่าอย่างนั้น เทียบกันไม่ได้หรอก เขาย้ำว่า “Tu vas voir.” (แล้วเอ็ง จะเห็นเอง) คำว่า “ตู” เป็นสรรพนามบุรุษที่สอง ใช้กับเพื่อนฝูง หรือญาติสนิท

แม้ผู้เขียนจะเชื่อกาลามสูตร เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างนั้น และเพราะโดนต้มมาเยอะ ซึ่งหมายความว่า ตัวเองก็เคยต้มคนอื่นเหมือนกัน แต่ก็พยักหน้ารับคำ ว่าจะติดตาม ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างช่วงปีแรกของชีวิตในฝรั่งเศส สิ่งแวดล้อมทุกสิ้งทุกอย่างยังใหม่มากและใหม่หมด แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในฤดูโลต็น –l’automne - ฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น ก็ช่วยให้ผู้เขียน เข้าใจแง่มุมการเมืองเชิงปฏิบัติของฝรั่งเศส ได้ไวขึ้น ดีกว่าที่จะศึกษายามปกติ เพราะว่าข้อมูลข่าวสารมีพร้อม ประดังกันมารอบด้าน ไม่ต้องไปค้นคว้าแสวงหา นอกจากนั้นเหตุแห่งความประทับใจอีกเหตุหนึ่ง ก็คือ เพราะว่าเป็นระบบการเมืองใหม่อีกแบบหนึ่ง ที่ผิดไปจากระบบอเมริกัน ผู้เขียนจึงต้องเรียนรู้ใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่ พูดภาษาประสาทวิทยาสมัยนี้ ท่านบอกว่า ต้องปรับวงจรเซลสมอง หรือ นู-ร็อน เสียใหม่ เป็นการ re-wire ซึ่งในความเป็นจริง กว่าที่ผู้เขียนปรับแยกวงจรนู-ร็อน เด็ดขาดเป็นสองวงจร คือวงจรภาษาอังกฤษวงจรหนึ่ง แยกกันเด็ดขาดกับวงจรภาษาฝรั่งเศส ผู้เขียนต้องใช้เวลาถึงสองปี ซึ่งเมื่อปรับเรียบร้อย เห็นคำว่า address ก็จะดีดอัตโนมัติไปเข้าวงจรอังกฤษ แต่ถ้าเห็น adresse ก็จะดีดเข้าวงจรฝรั่งเศส เป็นต้น

เวลานั้นพบว่า การเมืองฝรั่งเศสมีพรรคการเมืองร่วมยี่สิบพรรค หลากหลายความคิด มากมายเฉดสี ตั้งแต่ขวาตกขอบไปจนถึงซ้ายตกขอบ โดยมีพรรคใหญ่ ๆ อยู่ตรงกลาง ๆ เช่น กลางขวาคือพรรคแอเปแอ กลางซ้ายคือพรรคสังคมนิยม ซึ่งกระหนาบด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และเวลานั้นมีพรรคการเมืองซ้ายตกขอบที่ชื่อ อั๊ค ซิ ย็ง ดี แรค แปลว่า ลงมือกระทำตรง ชอบใช้ความรุนแรง วางระเบิด และเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งในช่วงต่อมา ก็ถูกระบบยุติธรรมฝรั่งเศส พิพากษาว่า เป็นกลุ่มการเมืองนอกกฎหมาย และให้ยุบพรรค ส่วนพวกแกนนำก็โดนคดีก่อการร้าย แล้วในที่สุด บางคนถูกพิพากษาให้ติดตะรางไปก็มี

กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาส่ง นายฌาค ชีราค เข้าประกวด ส่วนกลุ่มฝ่ายซ้ายส่ง ฟร็องซัวส์ มิตแตรังด์

แม้ว่าในระยะเร็ว ๆ นี้ สีสันการเมืองฝรั่งเศส จะอยู่ที่พรรคฝ่ายขวา แต่ในการเลือกตั้งครั้งประทับใจผู้เขียนครั้งนั้น สีสันอยู่ที่บรรดาพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลาย เริ่มจากซ้ายกลาง ๆ คือพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ตามมาด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ตามด้วยพรรคพลังคนงาน(ฟอร์ก อูบ วริ แยร์) และซ้ายไปเรื่อย ๆ จนซ้ายตกขอบดังกล่าวแล้ว ฯลฯ ครูสอนภาษาเล่าในชั้นเรียนว่า หัวหน้าพรรคพลังคนงานซึ่งเป็นสตรี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ผู้น้อย อยู่ในธนาคารของรัฐ(คล้าย ๆ ธนาคารกรุงไทย) ครูบอกว่า รู้สึกเห็นใจแทนหัวหน้างานของเธอ

ทางฝั่งซ้ายที่ละลานตา จะมีคนแปลก ๆ เยอะมาก เช่น มีอยู่พรรคหนึ่งเขาจะถือธงดำไปโบกเวลาเกิดจลาจลเล็ก ๆ หรือมีการเดินขบวน คือเขาจะไม่เข้าใครออกใคร ขอให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เขาก็จะพอใจ เพราะต้องตามคติความเชื่อการเมืองสายของเขา ซึ่งเชื่อว่า กฎระเบียบทุกอย่างทุกชนิดในสังคม จะต้องยกเลิกเสียให้หมด รวมทั้งกฎจราจร

ทางฝ่ายขวาก็จะมีพรรคขวาอ่อน ๆ ไปจนแก่จัดเกือบ ๆ จะนาซี ซึ่งจะเป็นพวกหัวเกรียน และท่าทางบ้า ๆ แต่เป็นนาซีจริง ๆ ไปไม่ได้ จะโดนยุบพรรค ในประเทศฝรั่งเศสเวลานี้ใครไปโฆษณาสนับสนุนนาซี เช่นว่า ค่ายกักกันของนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จริง ๆ แล้วหามีไม่ ผู้แพร่ข่าวสารทำนองนี้ มีสิทธิติดตะราง โดนข้อหาอาญา ตามพ.ร.บ.ปราบนาซี มาตรา 3-8 ที่พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเป็นผู้เสนอ เรียกสั้น ๆ ว่า “กฎหมาย กา อีส ซ็ต” ตามชื่อผู้แทนราษฎร พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้น มีอยู่ทั้งหมด 16 มาตรา (ชื่อ พ.ร.บ.ต่าง ๆ ในฝรั่งเศส มักจะมีชื่อเรียก ตามนามผู้แทนราษฎร ผู้เสนอร่างกฎหมาย)

ขณะที่ เมืองไทยยังมีกฎหมายปราบคอมมิวนิสต์ แต่คอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศส เสนอกฎหมายปราบนาซี และบัดนี้ แม้กฎหมายปราบคอมมิวนิสต์ในเมืองไทย-จะเลิกแล้ว แต่กฎหมายปราบนาซีในฝรั่งเศส-ยังอยู่ ในเยอรมันและออสเตรีย ก็มีกฎหมายชนิดนี้ ส่วนประเทศยุโรปอื่นผู้เขียนไม่ทราบ

ตัวอย่างภาคปฏิบัติ ของกฎหมายปราบนาซีในเยอรมัน – เมื่อต้นปีนี้เอง – วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2011/2554 นักท่องเที่ยวชาวคานาดา ไปยืนทำความเคารพแบบนาซี ให้เพื่อนถ่ายรูป ที่หน้ารัฐสภา ไรช์ ชถัก ในกรุงเบอร์ลิน ตำรวจเยอรมันรี่เข้ามาจับตัวเขา ใส่กุญแจมือ นำไปโรงพัก เมื่อเวลา 12.30 น.วันนั้น และการ์ดความจำของกล้องถ่ายรูป ถูกริบ (-ข่าวจาก www.hebdoweb.com)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผิดกับอเมริกัน หลายลักษณะ เช่น ระบบการเลือกตั้งมีการเลือกตั้งสองรอบ กรณีที่การเลือกตั้งรอบแรก ไม่มีผู้ใดได้เสียงเกินครึ่ง ก็มีการจัดเลือกในอีกไม่กี่วันต่อมา เพื่อคัดคนเสียงข้างมาก นอกจากนั้นการเมืองฝรั่งเศสก็มีพรรคการเมืองมากมาย แต่พรรคที่เป็นหลักทางฝ่ายซ้ายเวลานั้น ก็คือ พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส กับ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส สองพรรคนี้เป็นพรรคที่อุ่นหนาฝาคั่ง ส่วนการเมืองปีกขวา นับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ไม่ได้มีพรรคการเมืองถาวรจริงจัง เหมือนอย่างพรรครีพับบลิกันของอเมริกัน องค์กรการเมืองปีกขวา จะมีลักษณะรวมการเฉพาะกิจกันมาโดยตลอด เช่น พรรคแอเปแอที่เคยใหญ่โตเวลานั้น บัดนี้หายสาบสูญ

เวลานี้ พรรคยูเอ็มพีของประธานาธิบดีซาร์โคซี ผู้เขียนก็เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะการเมืองปีกขวาของฝรั่งเศส เป็นอย่างนั้นเอง คือพรรคการเมืองมีลักษณะรวมการเฉพาะกิจ และก็ยังไม่เห็นแนวโน้ม ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เว้นเสียแต่ว่า จะถูกการเมืองระดับยุโรป(สหภาพยุโรป)กระหนาบให้ลงรูปลงรอย ให้มีรูปลักษณ์ที่ถาวรขึ้น

การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคแอเปแอ พรรคฝ่ายขวาที่สนับสนุนนาย ฌาค ชีราค ชื่อพรรคก็บอกโต้ง ๆ ว่า เป็นการรวมการเฉพาะกิจ ชื่อเต็มของพรรคสามารถแปลเป็นไทยได้ว่า รวมพลเพื่อสาธารณรัฐ อันเป็นการรวมกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่เคยสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี เดอ โกล

การเมืองฝ่ายขวาของฝรั่งเศส ไม่อาจพิจารณาให้กระจ่างได้ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ซื่อ ๆ เหมือนพรรครีพับบลิกันในสหรัฐ ถ้าผู้เขียนจะบอกว่า นาย ฌาค ชีราค ผู้นำฝ่ายขวาของฝรั่งเศสเวลานั้นและเวลาต่อมา ผู้ขึ้นชื่อว่า นิยมอเมริกัน มากกว่านักการเมืองระดับนำคนใดในฝรั่งเศส และมีข่าวว่า ชอบกินแมคโดแนลแฮมเบเกอร์ ตลอดจนชอบเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐ ถ้าผู้เขียนจะบอกว่า เขาเคยเป็นสมาชิกเคลื่อนไหวอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสมาก่อน ท่านจะเชื่อไหม แล้วถ้าผู้เขียนจะบอกว่า ในอดีต เขาเคยโดนเพ่งเล็งจากงานสืบราชการลับอเมริกันมากพอสมควร ถึงขนาดที่ว่า เคยมีปัญหา กับการเดินทางเข้าสหรัฐ ท่านจะเชื่อไหม

เชื่อก็ได้-ไม่เชื่อก็ได้ ข้อมูลพวกนี้ในปัจจุบันไม่ใช่ข้อมูลลับ และไม่ใช่เสกสรรปั้นแต่งใส้ใคล้กัน ท่านสามารถพบได้ทั่วไปหมด

ฤดูใบไม้ร่วง(ฤดู โล ต็น)ปีนั้น ทุก ๆ วัน ทั้งที่โรงเรียน ตามถนนหนทาง ที่หอพัก ตามร้านกาแฟ มีแต่การเมืองทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้เขียนคงไม่ได้ประทับใจกับการเลือกตั้งครั้งนั้น เพราะการเมืองฝรั่งเศส เป็นเรื่องใหม่สำหรับตัวเอง เพียงถ่ายเดียว แต่เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้น น่าตื่นเต้นสำหรับคนฝรั่งเศสเองด้วย เป็นความหวังอันบันเจิดของการเมืองปีกซ้ายฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้ตั้งรัฐบาลมานานนับสิบ ๆ ปี แถมในครั้งนั้น การรณรงค์หาเสียงค่อนข้างจะคู่คี่ เพราะฉะนั้นจึงเข้มข้น และเป็นที่น่าติดตาม สำหรับชาวฝรั่งเศส ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาของแม่น้ำแซน

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส หรือพรรคเปแอสแอฟ (PSF - Le Parti socialiste français) แม้จะได้รับคะแนนเสียงมาก แต่ก็ไม่พอตั้งรัฐบาล จึงต้องรวมกับพรรคฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ที่สำคัญคือ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส – เป เซ แอฟ(PCF - le Parti communiste français) ว่ากันจริง ๆ กลุ่มผู้นำสองพรรคนี้ ไม่ใคร่จะกินเส้นกันสักเท่าใด ในเวลานั้น พวกปัญญาชนฝรั่งเศส ได้ตีตนออกห่างจากพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสกันหมดแล้ว และตีจากมานานแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส จึงมีฐานะคล้าย ๆ กับพวก “โคกระบือ-สีแดง” สิ้นสง่าราศีที่เคยมีมาแต่เก่าก่อน อย่างไรก็ดี ก็ยังมีฐานเสียงเป็นกอบเป็นกำพอสมควร ใครจะมองข้ามยังไม่ได้

เวลานั้น พวกโคกระบือ-สีแดง(พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส) กระสันอยากเป็นรัฐบาลกับเขาสักครั้งหนึ่ง เพื่อกอบกู้ฐานะอันทรุดโทรมของตน ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ทำให้มีโอกาสสีทองผ่องอำไพ พวกโคกระบือสีแดงจึงยอมกล้ำกลืน ยอมที่จะลืมเรื่องบาดหมางกับพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ยอมร่วมรัฐบาล โดยร่วมด้วยช่วยกันและร่วมกตัญญู แห่ ฟร็องซัวส์ มิตแตร์รังด์ เป็นประธานาธิบดี ก่อนที่พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส จะเลิกร่วมกตัญญู แว้งกลับมาทำหน้าที่ปอเต็กตึ้ง ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ในอีกไม่กี่ปีต่อมาหลังจากนั้น

บรรยากาศในฝรั่งเศสหลังการเลือกตั้ง เต็มไปด้วยความสนุกสนานชื่นบานของฝ่ายชนะ ที่ปารีสมีการจัดงานฉลองตามท้องถนน งานรื่นเริงตามท้องถนนเป็นงานที่คนชอบกันมากในฝรั่งเศส คือมันมีลักษณะเป็นมวลชน และมีสีสันประชาธิปไตย-อะไรประมาณนั้น เขาเรียก “แฟต เดอ รู” แปลเป็นอังกฤษคร่าว ๆ ว่า “เฟสติวัล ออฟ เดอะ สตรีท” ซึ่งอาจะมีสืบมาตั้งแต่ยุโรปสมัยกลางก็ได้ ทุกวันนี้ เขาก็ยังจัดกันอยู่เป็นประจำ เช่น ที่ถนน รู มุฟเฟอตาร์ ย่านการ์ติเย่ ละแต็ง ในปารีส ก็มีแตรวงมาบรรเลง ในงานฉลองของถนนเล็ก ๆ เก่าแก่ สายนั้นเป็นประจำ

ต่อเนื่องนมนานมากแล้ว ที่ฝ่ายขวาฝรั่งเศสครองอำนาจรัฐ การพ่ายแพ้เลือกตั้งแก่ฝ่ายซ้ายครั้งนั้น ย่อมสร้างความเครียดพอสมควร เรื่องนี้ไม่มีใครผิดใครถูก ต้องถือว่าเป็นด้วยกันทั้งสองฝ่าย รัฐบาลเข้ายึดกิจการขนาดใหญ่เป็นของรัฐ ซึ่งว่ากันจริง ๆ ไม่ต้องดัดจริต ก็ไม่ใคร่จะมีอะไรให้ยึดมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ระบบเศรษฐกิจฝรั่งเศสก็เดินด้วยแรงผลักดัน จากกิจการรัฐวิสาหกิจของฝรั่งเศสอยู่แล้ว ธนาคารใหญ่ ๆ ล้วนเป็นของรัฐบาลมานมนาน บริษัทรถยนต์เรอโนล ก็เป็นของรัฐมานาน ถ้าจำไม่ผิด-คิดว่าจำไม่ผิด-รัฐบาลที่ยึดกิจการเรอโนลมาเป็นของรัฐ เป็นรัฐบาลฝ่ายขวาด้วยซ้ำ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งยากแก่การเข้าใจ ต้องนั่งลงศึกษาจริงจัง ผู้เขียนไม่กล้าคิดว่าตัวเองเข้าใจดี รู้แค่งู ๆ ปลา ๆ ก็คือ กฎหมายเกี่ยวกับ กิจกรรมเชิงเศรษกิจพาณิชย์ของฝรั่งเศส ค่อนข้างหลากหลาย ละเอียด และมีเอกลักษณ์ กฎหมายเกี่ยวกับ “ทุน”ก็มีเอกลักษณ์ กฎหมายเกี่ยวกับ “ทุน”แผ่นดิน ก็มีเอกลักษณ์ กฎหมายเกี่ยวกับสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอาจกินความถึงทุนแผ่นดินด้วย ก็เป็นเอกลักษณ์ บริษัทเครื่องบินแอร์บัส ก็ดี บริษัทผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ดี ฯลฯ ล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ประเทศฝรั่งเศสเดินได้ด้วยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ทรงพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุงตัวเองให้ใหม่เสมอ และรองรับด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย(legal infrastructure) ที่ “โคตรจะแหลมคมและมั่นคง”

ตอแหลเปล่า? พิสูจน์เด้ะ?

ได้เลยแพ่! บริษัทเครื่องบินโบอิงของสหรัฐ เคยฟ้ององค์การการค้าโลกเป็นคดีเด็ด เมื่อห้าหกปีมาแล้ว ว่าแอร์บัสแข่งขันไม่เป็นธรรม เพราะได้รับทุนอุดหนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้ พิพากษาตัดสินความกันแล้ว เป็นอันให้คำฟ้องของโบอิ้งตกไป และแอร์บัสกับรัฐบาลฝรั่งเศส-ไม่ผิด คดีนี้ใช้เป็นกรณีศึกษาได้-ไม่เลวเลย เพราะเป็นการสาวใส้ซึ่งกันและกัน เรื่อง “ทุนรัฐ” ระหว่างอเมริกันกับฝรั่งเศส ซึ่งนักศึกษาเอ็มบีเอจากสหรัฐ จะไม่รู้เรื่อง

กลับมาเรื่องการเมืองของเราดีกว่า แต่ที่วอกแวก ออกไปนั้น ใครว่าไม่ใช่การเมือง?

ยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่ง ยกมากเดี๋ยวเยิ่นเย้อ ธนาคารพาณิชย์ฝรั่งเศสเวลานั้น อันดับหนึ่งกับอันดับสองเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รัฐบาลฝ่ายซ้ายก็เข้ายึดธนาคารอันดับสาม คือ ธนาคาร โซ ซิ เอ เต เจ เน ราล ซึ่งก็ต้องมีการจ่ายค่าหุ้นคืนให้กับเจ้าของหุ้นเดิม เพราะเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย จะไปยึดเขามาเฉย ๆ ไม่ได้ จะต้องทำคล้าย ๆ เวนคืนที่ดินมาเป็นของหลวง-อะไรประมาณนั้น การเจรจาระหว่างรัฐบาล กับ เอกชนเจ้าของทุนในเวลานั้น ไปกระทำกันนอกประเทศฝรั่งเศส คือ ไปตั้งกองเจรจากันที่กรุงลอนดอน

ความตึงเครียดทางการเมืองเชิงปฏิบัติระยะแรก ๆ มีมากพอสมควร ทำให้ผู้เขียนได้ยินเรื่อง ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ยินได้ฟัง ในประเทศประชาธิปไตยอย่างฝรั่งเศส นั่นก็คือ มีข่าวจะเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ ในฝรั่งเศส!

โอ ศิวะนารายณ์! มีอย่างนี้ด้วยหรือ?

แต่ในที่สุด หลังจากเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง รัฐบาลพรรคสังคมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ทำงานการเมืองร่วมกันได้ กับพวกฝ่ายขวา คล้าย ๆ อยู่กินฉันท์สามีภรรยา แต่ไม่ถึงกับจดทะเบียน รัฐบาลฝ่ายซ้ายก็ได้ทำงานตามนโยบายใหม่ ๆ หลายอย่างหลายประการที่อยากจะทำ ทำเพลิน จนกระทั่งเจอตอ!

ตอ ที่ว่านั้น ก็เป็นประเด็นเฉพาะ ที่เป็นเอกลักษณ์ ในสังคมการเมืองฝรั่งเศส ที่อื่นถึงมีก็ไม่โดดเด่น มักจะไม่สามารถพัฒนาจนกลายเป็นประเด็นใหญ่โตทางการเมืองได้ง่าย ๆ เหมือนในฝรั่งเศส เรื่องนี้ต้องย้อนอดีต คือว่า บุคคลที่หว่านและวางตอไว้ทั่วประเทศ ก็คือ นะโปเลียน

พรรคสังคมนิยมถูกต่อต้านเรื่องนโยบายการศึกษา ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสนั้น การแตะต้องระบบการศึกษาของฝรั่งเศส ที่นะโปเลียนวางพื้นฐานไว้ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งก็คือ ต้องการประชาชนพลเมืองที่ดี และในทางปฏิบัติก็ต้องการจะทราบว่า ในเวลาแต่ละวัน นักเรียนทั่วประเทศฝรั่งเศส กำลังเรียนวิชาอะไร ชั่วโมงไหน พูดแบบนี้สังเขปไปนิด แต่อยากให้ท่านผู้อ่าน เห็นภาพความเคร่งครัดของระบบการศึกษา

นักเรียนทั่วประเทศเดินขบวน เป็นการต่อต้านครั้งใหญ่สุด นับแต่พรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคสังคมนิยมก็ต้องถอยในประเด็นนี้ อย่างไรก็ดี ในที่สุด ประธานาธิบดีจากพรรคสังนิยมฝรั่งเศส ก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนาน กว่าสิบปีหลังจากนั้น

การได้มีชีวิต อยู่ในเหตุการณ์การเลือกตั้งครั้งสำคัญ แม้เพียงครั้งหนึ่ง ในประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรํฐและฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ ของนักปรัชญาการเมืองยุคแสงสว่างทางปัญญา หรือยุค ดิ เอ็นไลท์เมนต์ ในยุโรปศตวรรษที่ 18 เป็นการปูพื้นฐานการศึกษาเรื่องการเมืองตะวันตก ให้กับผู้เขียนได้พอสมควร ไม่มากก็น้อย และดีกว่าจะนั่งอ่านตำราเอาเอง หากจะมีความตื่นตัวทางการเมืองใด ๆ ก็ดีที่เป็นเรื่องเป็นราวในส่วนของตัวเอง ผู้เขียนก็คิดว่าความตื่นตัวดังกล่าวนั้น เป็นหนี้บุญคุณการเลือกตั้ง สองครั้งนั้น

ก่อนที่จะจบบทความ ก็เกิดคำถามว่า แล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่า ได้ให้อะไรในแง่การศึกษาการเมืองแก่ผู้เขียนบ้างหรือไม่ บัดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่ได้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” มากกว่าเรื่องอื่นใดหมด ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ครั้นเวลาผ่านไป เมื่อได้ท่องเที่ยวเชิงการเมืองในที่อื่น ๆ ด้วย เช่น สเปนและอินเดีย เป็นต้น ในที่สุดผู้เขียนก็เชื่อว่า สิ่งที่ถูกปลุกให้ตื่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ความยุติธรรม” นั้น แท้จริงคือปัจจัยพื้นฐาน ของความสำนึกทางการเมืองของมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะแต่ของผู้เขียนคนเดียว ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าเราตีประเด็นนี้ไม่แตก เราจะไม่มีวันตีประเด็นใด ๆ ในทางการเมืองแตก-หรือแตกฉานได้เลย เราจะยังคงเชียร์การเมือง เหมือนเชียร์ทีมบอลอยู่ร่ำไป ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งกว่านั้น

มีอะไรเป็นหลักฐาน สนับสนุน ความเข้าใจเช่นนั้นของตน หรือไม่

ในสภาพของโลกปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่ามีหลักฐานสนับสนุนอย่างสมเหตุสมผล การได้เดินทางท่องเที่ยวกว้างขวางขึ้นในประเทศอินเดีย อ่านและเขียนอักขระเทวะนาครีได้ เพลงชาติ และแม้คำขวัญของประเทศอินเดีย ศิลปะ ความคิด ความสกปรก ความดิ้นรน การวางเฉย ความแตกต่างหลากหลาย กองอุจจาระในห้องส้วมรถไฟ ฯลฯ ในดินแดนภารตะนั้น น่าอัศจรรย์อย่างที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว อินเดียย้ำให้ผู้เขียนแน่ใจยิ่งขึ้นอีกว่า ที่สุดแล้วปมประเด็นการเมือง คือ ปมประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม”

วิชาปรัชญาการเมือง  ที่โด่งดังที่สุดในโลก ในเวลานี้ ณ ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกได้สัมผัส ได้แก่วิชาปรัชญาการเมือง ที่สอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ใช้ชื่อว่า “ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควร อันพึงทำ” ญี่ปุ่นซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ คนสองสามล้านคนทั่วโลก ได้สัมผัสกับการบรรยายวิชานี้ ไม่นับการเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ อาจารย์แซนเดล ท่านเป็นอเมริกันก็จริง แต่ท่านเคยเรียนที่ออกฟอร์ด ผู้เขียนรู้สึกสะใจ พอใจ อิ่มเอมใจ ที่ในที่สุดทุก ๆ คน ก็มาจบลงที่เรื่องของ “ความยุติธรรม” อันเป็นเรื่องที่ประทับใจผู้เขียนมานมนาน


3สวัสดีครับ และขอบคุณที่อ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น