ปัง – ปัง!
เสียงปืนดังขึ้นสองนัดเมื่อแปดปีก่อน ในวันที่ 14 กรกฏาคม พ.ศ. 2545 อันเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวปารีสทำลายคุกบาสตีย์ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาถือวันนั้นเป็นวันชาติฝรั่งเศส เสียงปืนดังมาจากฝูงชนที่ยืนชมขบวนสวนสนามอยู่บนถนนช็องเซลิเซ่ ถนนสำคัญสายหนึ่งของปารีส อันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ ซุ้มชัยสมรภูมิ (อาร์ค เดอ ตริ-อ็ง - Arc de Triomphe de l'Étoile) ของนะโปเลียน ปัจจุบันทำหน้าที่อนุสรณ์สถานสำหรับทหารนิรนาม
ปืนกระบอกนั้นเล็งไปที่ประธานาธิบดี ฌาคส์ เรอเน ชีรัค ซึ่งยืนเด่นอยู่บนรถเปิดประทุนในขบวนสวนสนามวันชาติฝรั่งเศส หรือวันบาสตีย์ อันเป็นขบวนสวนสนามประจำปีขนาดใหญ่ไม่กี่ขบวนที่ยังจัดกันอยู่ในโลกปัจจุบัน ขณะที่กำลังจะลั่นไก ผู้ยืนชมขบวนผู้หนึ่ง เป็นชาวจังหวัดอัลซาส ได้เห็นการลงมือกระทำนั้นเสียก่อน จึงตบปัดกระบอกปืนให้เบี่ยงขึ้นฟ้า และประชาชนที่ยืนอยู่บริเวณนั้นก็กลุ้มรุมจับนายมักซิม บรูเนรี (Maxime Brunerie) ผู้มีเจตนากระทำการสังหารประธานาธิบดีฝรั่งเศสไว้ได้ ชื่อตัวของผู้ลงมือกระทำที่ชื่อ มักซิม ชวนให้เรานึกถึงนามของนักการเมืองคนสำคัญระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส คือนาย มักซีมีเลียง โรแบสปิแยร์ หรือชื่อเต็มว่า มักซีมีเลียง ฟร็องซัว มารี อีซีโดร์ เดอ โรแบสปีแยร์ (Maximilien François Marie Isidore de Robespierre)
ประธานาธิบดี ฌาคส์ เรอเน ชีรัค ไม่ทราบเรื่องที่ตนเองถูกปองร้าย กระทั่งเวลาล่วงไปแล้วสองชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในบัดนั้นซึ่งก็คือประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน นายนิโกลาส์ ซาร์โคซี จึงได้แจ้งให้ทราบ ประธานาธิบดี ชีรัค เอ่ยสั้น ๆ เพียงว่า “Ah bon”. (“งั้นหรือ”)
หลังจากเข้ารับโทษในคุกตามคำพิพากษาครบเรียบร้อยแล้ว โดยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 10 ปี เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 นายมักซิม บรูเนรี ก็เป็นอันพ้นโทษในวัยสามสิบเศษ โดยที่ก่อนหน้านั้นกระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศสก็ได้แจ้งให้ อดีตประธานาธิบดี ชีรัค ทราบว่านายมักซิม บรูเนรี จะพ้นโทษ เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นประธานาธิบดีชีรัคนึกสงสัยเสมอว่า ตนถูกปองร้ายด้วยเหตุอันใด จึงได้ศึกษารายงานของตำรวจอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งกระทั่งพ้นตำแหน่งประธานาธิดี และประธานาธิบดีชีรัคก็ได้มีโอกาสพบปะกับคุณแม่ของนายมักซิม บรูเนรี ครั้งหนึ่งด้วย
ประเทศฝรั่งเศสนั้น มีการตำรวจที่ทำงานละเอียดและเข้มแข็งมายาวนานตั้งแต่ยุคพระเจ้าหลุยส์ทั้งหลาย บันทึกของตำรวจในอดีตมีส่วนช่วยให้คนรุ่นหลังค้นคว้าประวัติศาสตร์ได้สะดวก ส่วนในปัจจุบันนี้นั้นสังคมเปลี่ยนไป แต่ภาพลักษณ์สมัยใหม่ของตำรวจก็เป็นที่เข้าใจกันอย่างมั่นคงว่า กำลังตำรวจคือแขนขาของกระบวนการยุติธรรม และระบบยุติธรรมทั้งระบบ ก็ถือว่าเป็นกระบวนการ “ศักดิ์สิทธิ์” ตามระบอบประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ตำรวจฝรั่งเศสมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผู้พิทักษ์สันติ” หรือ “Gardien de la paix” ไม่ได้เรียกว่า “โปลิส” เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามหลักฐานประวัติอาญากรรมเกี่ยวกับนายมักซิม บรูเนรี ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการ “ขวาตกขอบ” ผู้พิทักษ์สันติของฝรั่งเศสก็ไม่ได้สรุปเรื่องจบง่าย ๆ เพียงเท่านั้น เช่นสรุปว่านายคนนี้เป็นพวกขวาตกขอบ หรือนายคนนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วจบแค่นั้น
แล้วทางการฝรั่งเศสสรุปเรื่องนี้อย่างไร? ผู้เขียนได้เพียรค้นหาคำตอบให้กับคำถามนี้อยู่นานนับเดือน เพื่อจะนำคำตอบที่ตัวเองพอใจมาเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทั้งหลายได้ทราบ หรือจะพูดแบบเกิน ๆ สักนิดว่าค้นอยู่ประมาณหนึ่งปี จนกระทั่งได้คำตอบที่พอใจมา 3 ประโยค(ในภาษาฝรั่งเศส) ว่า
"Ne personnalisez pas cet acte. Ce n'est pas moi qui étais visé, mais ce que je représente. Lorsqu'on se sent rejeté par la société, on cherche à atteindre son plus haut symbole."
ข้อความนั้น เป็นคำสรุปของตัวผู้ถูกปองร้ายเอง คือ คำของอดีตประธานาธิบดี ชีรัค ผู้ได้ศึกษารายละเอียดของรายงานเรื่องนี้และเข้าถึงข้อมูลมากกว่าผู้เขียนสุดจะประมาณ จึงน่าจะเป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ถูกต้องครบถ้วนที่สุดแล้ว แปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวและตรงตามเนื้อความ ได้ว่า
“อย่าได้ถือการกระทำนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ตัวฉันดอกที่ถูกเล็ง แต่เป้าอยู่ที่สิ่งที่ฉันทำหน้าที่เป็นผู้แทนอยู่ ต่างหาก ในเมื่อเรารู้สึกว่าเราถูกสังคมทอดทิ้ง เราก็จะหาทางแก้แค้น ด้วยการเล็งเป้าไปที่ผู้แทนสูงสุดของสังคมนั้น”
คำตอบนั้นออกจากปากของผู้ถูกปองร้าย ผู้เข้าถึงรายงานและข้อมูลครบถ้วนกว่าใคร ๆ คือท่านอดีตประธานาธิบดี ชีรัค
อดีตประธานาธิบดี ชีรัค เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนมัธยมลีเซ่หลุยส์มหาราช(Lysée Louis le Grand)ในกรุงปารีส เช่นเดียวกับ โรแบสปิแยร์ ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเคยเป็นนักเรียนดีเด่นที่โรงเรียนนั้นมาก่อนเมื่อ 200 ปีเศษที่แล้วมา
และผู้เขียนก็จะไม่พยายามตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมประเทศฝรั่งเศสที่เป็นประชาธิปไตย ผ่านการปฏิวัติและปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่มาหลายครั้ง เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติปารีสคอมมูน การปฏิวัตินักเรียนนักศึกษาปีค.ศ.1968 การก่อการจลาจลทั่วประเทศที่เรียกว่า Frenah riots เมื่อห้าปีก่อน(พ.ศ.2548) ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสที่มีระบบประกันสังคมครอบคลุม(แทบจะ)ทุกชีวิตของพลเมืองในปัจจุบันนี้ ทำไมจึงยังมีคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกสังคมทอดทิ้งอยู่อีก?
จะขออนุญาตท่านผู้อ่าน โหมโรงเข้าสู่เรื่องราวของการปฏิวัติฝรั่งเศสเลยดีกว่า ซึ่งสำหรับผู้เขียน หรือผู้เรียบเรียง-เพราะเป็นผู้เรียบเรียงนำเสนอ ไม่ได้คิดอ่านจินตนาการการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมาเอง-แต่บางทีเรียกตัวเองว่า ผู้เขียน เพราะว่านำเสนอด้วยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อการตีพิมพ์ ไม่ได้นำเสนอเป็นพาวเวอร์พอยต์ หรือบรรยายในที่ประชุม หรือแสดงปาฐกถา หรือทำวีดีโอคอนเฟอเรนต์ ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นของนักประวัติศาสตร์บางท่านว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการปฏิวัติสังคมเพียงครั้งเดียวที่โลกเคยประสบมา การปฏิวัติอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลัง ล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งสิ้น ผู้เขียนกราบขออภัยอย่างสูงต่อท่านผู้อ่าน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นเว่อ ๆ นี้
ท่านผู้สนใจประวัติศาสตร์ หรือ “history buff”ทั้งหลาย อาจจะเคยตั้งข้อสังเกตกันบ้างแล้วว่า การปฏิวัติอื่น ๆ รวมทั้งการปฏิวัติประกาศอิสรภาพอเมริกัน จะมีแนวทางนำเสนอที่เบาสมองให้เราเลือก เช่น การปฏิวัติอเมริกันที่เสนอเป็นการ์ตูนก็มี แต่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น การนำเสนอมักจะเคร่งเครียดเสมอ คนที่จับเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสก็อาจจะอดเครียดไม่ได้ การปฏิวัติรัสเซียยังมีเรื่องโจ๊กเล่าสู่กันฟัง แต่เราไม่ใคร่จะได้ยินใครนำเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสมาเล่าเป็นเรื่องขำขัน เพราะฉะนั้น คำกล่าวของอดีตผู้นำจีน ฯพณฯ โจว เอินไหล เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็อาจจะเป็นความจริงก็ได้ ทั้งนี้โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งชาวตะวันตกผู้หนึ่งถาม โจว เอินไหล ผู้เคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสว่า ท่านพอจะประเมินผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่มีต่อโลกได้ไหม? โจว เอินไหล ตอบว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป”
ดังนั้น ท่านผู้อ่านโปรดเย็นใจและผ่อนคลายได้เลยว่า การเขียนเล่าประวัติการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งนี้ เขียนนะครับไม่ได้เสนอเป็นพาวเวอร์พอยต์หรือแปลมา(-ขอย้ำ) ผู้เขียนจะไม่ตั้งตัวเป็นปรมาจารย์ หรือเผด็จการเม้าส์(mouse dictator)นั่งคลิกอยู่คนเดียวคนอื่นห้ามคลิก พูดจาสรุปบทเรียนนั่นบทเรียนนี่ ให้เป็นที่น่ารำคาญแก่ท่านผู้อ่านเป็นอันขาด ไม่ว่าท่านจะสังกัดสีสันการเมืองเฉดสีใด ๆ ก็ดี อ่านได้สบายใจทุกคน เพราะท่านผู้อ่านแห่งยุคปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นกลุ่มผู้อ่านกลุ่มเดียวกัน ก็ไม่ได้มีสีสันทางการเมืองเพียงสีเดียวหรือสองสี น่าจะมีมากสีกว่านั้น แต่แม้จะหลากสีมัลติคัลเล่อร์อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านทุกท่านและทุกสีสัน ก็มีทางเลือกเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอภาคกัน...ดังจะขยายความต่อไป
ขณะที่กำลังเริ่มทำงานชิ้นนี้ ผู้เขียนลองเคาะกูเกิ้ลภาษาอังกฤษพบว่า มีเว็บไซด์เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสอยู่ประมาณ 24 ล้านเว็บไซด์! การปฏิวัติจีน(คอมมิวนิสต์)มีประมาณ 2 ล้านเว็บไซด์ และการปฏิวัติรัสเซียประมาณ 5 แสนเว็บไซด์ เพราะฉะนั้น ท่านมีสิทธิ์จะโดนการปฏิวัติฝรั่งเศสท่วมหัวท่วมหูสำลักและจามหูดับตับไหม้ หรือจมทะเลเลือดที่ไหลโกรกมาจากเครื่องกิโยติน จากตัวเลขนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจจะเริ่มมีความเห็นคล้อยตามผู้เขียนกันบ้างไม่มากก็น้อยแล้วว่า น่ากลัวความเห็นที่แสดงไว้ในย่อหน้าก่อน ที่ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติสังคมเพียงครั้งเดียวที่โลกเคยได้ประสบมา การปฏิวัติอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลัง ล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งสิ้น คำกล่าวนั้น อาจจะมิได้เกินเลยมากนักก็ได้ ส่วนประเด็นที่ว่าท่านผู้อ่านทุกสีสันมีทางเลือกเสมอ หมายความว่า ถ้าท่านเลือกที่จะศึกษาจากเว็บไซด์(เฉพาะเว็บภาษาอังกฤษ)ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 24 ล้านเว็บไซด์ โดยศึกษาเว็บไซด์ละ 1 ชั่วโมง ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ปีหนึ่งท่านจะอ่านได้ 3,650 เว็บไซด์ ต้องใช้เวลาถึง 24,000,000 / 3,650 = 6,575 ปี จึงจะอ่านจบ แต่ท่านผู้อ่านทุกสีสันมัลติคัลเลอร์มีอ็อปชันอย่าง เสมอภาค เราเสนอโปรโมชันว่าท่านมี เสรีภาพ ที่จะติดตามอ่านเป็นตอน ๆ เป็นภาษาไทยในนิตยสาร MBA ประมาณไม่เกิน 10 เดือนก็จบ ส่วนเวลาที่เหลืออีกราว ๆ 6,500 ปีเศษนั้น ด้วย ภราดรภาพ เราเห็นว่าท่านน่าจะนำไปใช้ทำอย่างอื่นจะดีกว่า
เพื่อไม่ให้การนำเสนอเครียดเกินไป ผู้เขียนได้เรียนหารือคุณวีระพงษ์ กองบ.ก. MBA ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะเปิดฉากกล่าวถึงศิลปะอันเนื่องอยู่กับการปฏิวัติฝรั่งเศสปูพื้นไปก่อน เป็นปฐม
ซึ่งก็จะขอเริ่มด้วยภาพเขียนภาพนี้...เป็นศิลปะ ชิ้นแรก ที่จะขอแนะนำต่อท่าน
ตรงมุมด้านล่างในภาพ ขวามือท่านผู้อ่าน จะพบคำอุทิศว่า “แด่ มาราต์” พร้อมกับชื่อศิลปินผู้เขียนภาพว่า “ดาวิด” (-อ่านตามสำเนียงฝรั่งเศส) ภาพนี้มีชื่อภายหลังว่าภาพ ความตายของมาราต์ ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์หลวงแห่งเบลเยี่ยม (Musées royaux des Beaux-Arts de Belgique) อยู่ที่กรุงบรัซเซลส์ ฌัง-ปอล มาราต์ เป็นนักการเมืองระดับผู้นำคนหนึ่งในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ส่วน ฌาค-หลุยส์ ดาวิด ก็เป็นศิลปินนักการเมืองที่มีชื่อเสียงจากผลงานยุคนั้น ดาวิดคือมิตรที่ดีของมาราต์และโรแบสปิแยร์ งานของเขาหลายชิ้นตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ลูฟร์ กรุงปารีส แต่บรรดาคนคอศิลป์จำนวนมากเห็นพ้องกันว่า ภาพความตายของมาราต์เป็นงานชิ้นที่ดีที่สุดของ ดาวิด
มาราต์ เป็นแพทย์ นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมือง แต่บางช่วงชีวิตต้องลงไปอาศัยอยู่ในท่อน้ำทิ้งของกรุงปารีส พอพูดถึง ท่อน้ำทิ้ง บางท่านอาจจะอ่านเพียงผ่านตา ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของท่อน้ำทิ้งกรุงปารีส จึงขอสะกิดเตือนสติท่านผู้อ่านว่า คำเล็กคำน้อย ที่เราคิดว่าคุ้นอยู่แล้วนั้น บางทีในการศึกษาประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เราคุ้นก็ได้ อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เช่น คำว่าท่อน้ำทิ้ง เป็นต้น ทุกวันนี้(กำลังเล่าเรื่องปัจจุบัน-ไม่ใช่ประวัติศาสตร์) ถ้าท่านไปเที่ยวปารีส ท่านสามารถซื้อทัวร์ไปเที่ยวชมท่อน้ำทิ้งของกรุงปารีสได้ ใต้กรุงปารีส(ใต้ถนน)จะมีคลองขุดอยู่เป็นอุโมงค์ไหลลดเลี้ยวทำหน้าที่ระบายน้ำให้เมืองทั้งเมือง ทั้งน้ำใช้และน้ำฝน ระบบอุโมงค์เพื่อการระบายน้ำนี้ ไหลวนเวียนลับตาคนอยู่ใต้ดินทั่วปารีส วัดระยะทางได้ 2,450 กิโลเมตร ซึ่งถ้านำมาขึงวางบนแผ่นดินก็จะยาวตั้งแต่ปารีสถึงนครอิสตันบุล ประเทศตุรกี
มาราต์ ได้อาศัยอยู่บนฝั่งของท่อน้ำทิ้งใต้กรุงปารีสอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าประดับสว่างใสวไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาทัวร์แบบเวลานี้ ก็คงจะต้องมืด ๆ และสกปรก อันนี้จินตนาการเอานะ ไม่ได้เห็นเอง เรามาตกลงกันแล้วกันว่า อะไรที่เห็นกะตาเองจะระบุไว้ ถ้าไม่ได้ระบุไว้แปลว่า จำ ๆ เขามาเล่าต่อ ไม่ได้เห็นเอง แต่ก็อย่างว่านะครับท่าน เรื่องราวในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ดี มารี-อังตัวแนต ก็ดี มาราต์ก็ดี โรแบสปิแยร์ก็ดี แซงต์จุสต์ก็ดี เดสมูแลงส์ก็ดี ดังต็งก็ดี ฯลฯ ก็ดี ต่างก็ล่วงลับกันไปหมดมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว ไม่เห็นมีใครกลับมาแสดงปาฐกถาเล่าจากปากตัวเองสักราย-พูดผิดเปล่าเนี่ยะ?(ถ้าพูดผิดจะได้พูดใหม่) เล่ากันว่าผลจากการอาศัยอยู่ในรูท่อแบบนั้นนาน น้ำท่าไม่ได้อาบ ทำให้มาราต์เป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเวลาโรคกำเริบ ผิวหนังจะเห่อขึ้นน่าเกลียดและแลดูน่ารังเกียจจนเข้าสังคมไม่ได้ ศิลปิน ดาวิด ผู้เป็นศิลปินการเมืองมิตรสนิทของมาราต์ ได้วาดรูปให้ผิวพรรณของมาราต์เกลี้ยงเนียนสะอาด ปราศจากร่องรอยโรคผิวหนัง วางท่าตายของมาราต์ให้ละม้ายแม้นท่าพระเยซูคริสต์ในรูปแกะสลัก ลา ปิเอตตา ของไมเคิล แองเจโล ดังภาพ (รูปปั้นนี้ผู้เขียนเคยเห็นกะตามาแล้ว ที่วาติกัน)
และได้รับอิทธิพลเรื่องการใช้แสง มาจากภาพเขียนชื่อ Entombment of Christ
ภาพข้างล่างนี้ ซึ่งอยู่ที่วาติกันเช่นเดียวกัน
มาราต์ ถูกหญิงสาวตระกูลขุนนางผู้น้อยในมณฑลนอร์มังดีชื่อ ชาร์ล็อต คอร์เดย์ ซึ่งเป็นคนตี่นตัวทางการเมือง เดินทางมาหลอกแทงตายในที่พักของเขาที่กรุงปารีส โดยเธอเห็นว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ฆ่าหมู่เดือนกันยายน(massacres de Septembre) อันเป็นเหตุการณ์รุนแรงน่าสยดสยองเหตุการณ์หนึ่งในหลาย ๆ เหตุการณ์ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส สำหรับเหตุการณ์ ฆ่าหมู่เดือนกันยนยน นั้น ฝูงชนในภาวะบ้าคลั่งได้เปิดคุกเข้าไปฆ่าฟรีนักโทษการเมือง ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกกรุงปารีส ภายในสองสามวันระหว่าง 2-6 กันยายน 1792 นักโทษผู้ไม่มีทางต่อสู้ถูกฝูงชนที่กำลังคลั่ง ฆ่าตายอยู่ในคุกประมาณ 1,500 คน เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสยดสยองและขนลุกขนพองทั่วยุโรป
ชาร์ล็อต คอร์เดย์ แทงมาราต์ตายแล้วก็ยืนอยู่ตรงนั้น ไม่พยายามหลบหนีไปไหน เธอถูก ศาลปฏิวัติ (Le Tribunal révolutionnaire)พิพากษาให้ประหารชีวิต เธอถูกนำไปตัดหัวด้วยเครื่องกิโยตินในไม่กี่วันต่อมา...
ศิลปะอันเนื่องอยู่กับการปฏิวัติฝรั่งเศส ชิ้นที่สอง ที่จะแนะนำ ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 3 ของ บีโธเฟน คีตกวีชาวเยอรมันผู้นี้มีชีวิตอยู่ในยุคที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้ติดตามเหตุการณ์ด้วยความสนใจ จนกระทั่งนายพลนะโปเลียนนำกองทัพสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เพิ่งจะก่อตั้งใหม่ ๆ ต้านทานกองทัพนานาชาติที่รวมหัวกันมุ่งรุกรานฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ครั้นนะโปเลียนประกาศสถาปนาตนเองเป็น “จักรพรรดิ์” ในเดือนพฤษภาคม 1804 (15 ปีหลังเหตุการณ์ทำลายคุกบาสตีย์) บีโธเฟน ก็สิ้นศรัทธา จากที่เคยรักกลายเป็นชัง ซิมโฟนีหมายเลข 3 เพิ่งจะเขียนเสร็จเรียบร้อยต้นฉบับวางอยู่บนโต๊ะ บนหัวกระดาษต้นฉบับซึ่งคัดลอกไว้สวยงามดีแล้ว เขียนชื่อเพลงว่าเพลง “นะโปเลียน” เมื่อผู้ช่วยของเขาแจ้งข่าวว่านะโปเลียนสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์ บีโธเฟนเดินไปที่โต๊ะวางต้นฉบับเพลง และอย่างโกรธจัดบีโธเฟนร้องว่า
“อ้าว งั้นก็เป็นแค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง! ต่อแต่นี้ไป เขาก็จะขยี้คำประกาศสิทธิมนุษยชนเหยียบไว้ใต้อุ้งเท้า ก้าวเดินไปตามความทะเยอทะยานส่วนตัว เดี๋ยวนี้เขาคิดว่าตัวเขาวิเศษกว่ามนุษย์อื่นทั้งหมด เขาจะกลายเป็นทรราชย์!”
บีโธเฟน หยิบต้นฉบับเพลงแผ่นแรกที่วางอยู่บนโต๊ะขึ้นมาฉีก แล้วขว้างทิ้งลงกับพื้น ดังนั้น ในภายหลังจึงต้องคัดลอกต้นฉบับเพลงแผ่นแรกนั้นขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนชื่อเพลงเป็นภาษาอิตาเลียนว่า Sinfonia eroica, composta per festeggiare il sovvenire d'un grand'uomo แปลว่า “ลำนำแห่งผู้กล้า แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงคนสำคัญคนหนึ่ง” หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ซิมโฟนี เอรอยกา” ต้นฉบับเพลงหน้าแรกที่นำมาลงไว้นั้น ชื่อนะโปเลียนถูกขีดฆ่าทิ้งอยู่บนหัวกระดาษ
ผู้สนใจประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่า บีโธเฟ่นไม่ได้เป็นคนที่ติดตามเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิดแต่เพียงเท่านั้น เขาและงานของเขาเป็นผลิตผลของการปฏิวัติฝรั่งเศสเลยทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะซิมโฟนีหมายเลข 3 เพลงนี้เพลงเดียว เพลงอื่น ๆ นอกไปจากเพลงนี้ก็ใช่ทั้งนั้น ท่านบอกว่าถ้าไม่เชื่อ ให้ลองฟังซิมโฟนีหมายเลข 5 อันมีชื่อเสียงดูใหม่เด่ะ แต่แรกเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนก็ไม่เชื่อ ต่อมาพอได้ทำอย่างที่ท่านแนะนำ ชีวิตก็เลยซวยเล็ก ๆ ตั้งแต่นั้นมา จากที่เคยฟังเพลงบีโธเฟนเพลิน ๆ ด้วยหูอันซื่อ ๆ บริสุทธิ์ พักหลังหูมันไม่ซื่อเสียแล้ว ดันได้ยินสัญญาณการเมืองแฝงอยู่ในท่วงทำนอง-น่ากลุ้มใจแท้
ศิลปะอันเนื่องมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ชิ้นที่สาม ที่จะแนะนำนั้น “กินได้” ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่สนใจประกอบอาหารน่าจะชอบ และเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าท่านสามารถทำกินเองและเลี้ยงเพื่อนฝูงได้ เป็นอาหารฝรั่งเศสจานที่มีขายตามร้านอาหารฝรั่งเศสบางร้านทั้งในกรุงเทพฯและตามเมืองท่องเที่ยว ผู้เขียนเคยรับประทานครั้งแรกในชีวิตที่หัวหินเมื่อหลายปีมาแล้ว อาหารจานนี้มีชื่อเรียกอย่างเต็มยศในภาษาฝรั่งเศสว่า “Languoustes thermidor” ซึ่งพอจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “กั้ง แธร์มิโดร์” เมนูภาษาอังกฤษตามร้านอาหารจะเรียกว่า “Lobster Thermidor” บางแห่งในเมืองไทยอาจกลายพันธ์ จนเหลือเรียกสั้น ๆ ในเมนูว่า “Rock Lobster” ก็เคยเจอนะ
เครื่องปรุง สำหรับ “กั้ง แธร์มิโดร์”
กั้งเป็น ๆ 3 ตัว รวมน้ำหนักราว 700 กรัม
น้ำซุปกุ้งหรือกั้ง 10 เซ็นติลิตร
ไวน์ขาว 10 เซ็นติลิตร
ครีม 20 เซ็นติลิตร
4 หอมเล็ก
ผงมัสตาร์ด 2 ช้อนโต๊ะ
เนยเหลว 30 กรัม
เนยแข็งพามิแสนขูดฝอย 20 กรัม
ผงเชอร์วิลผสมเอสตราโกน 1 ช้อนโต๊ะ
(-ถ้าไม่มีและไม่รู้จัก สับผักชีลาวใส่เลย ใช้แทนได้-พูดจริงไม่ได้พูดเล่น)
เกลือ
พริกไทยดำบดละเอียด
ต้องขออภัยที่ไม่ได้บอกวิธีเตรียมอาหารจานนี้ บอกไว้เพียงแต่เครื่องปรุง เพราะคิดว่าท่านผู้อ่านผู้มีศรัทธาแรงกล้ากับการปฏิวัติฝรั่งเศส อย่างเก่งก็คงจะไปหารับประทานเอาตามร้านอาหารมากกว่าที่จะคิดทำเอง เพราะฉะนั้น จึงบอกเครื่องปรุงไว้ให้ท่านได้ทราบว่าท่านกำลังจะกินอะไร สำหรับท่านที่ยังดื้อดึงคิดจะปฏิวัติครัวทำกินเอง และกะจะชวนผู้เขียนไปกินเป็นเพื่อน(ขออภัย-ตลกบริโภคเล็กน้อย) ผู้เขียนเชื่อว่าท่านสามารถค้นหาวิธีทำได้ไม่ยาก เพราะเป็นอาหารจานที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์จานหนึ่ง
มันเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสตรงไหน อ่ะ?
ตำหรับอาหารจานนี้ ร้านอาหารร้านหนึ่งอยู่ใกล้โรงโอเปร่าที่ปารีสคิดขึ้น หลังจากที่การปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านไปแล้วร้อยปีเห็นจะได้ แต่ใช้คำว่า Thermidor อันเป็นชื่อเดือน 11 ตาม ปฏิทินปฏิวัติฝรั่งเศส (calendrier révolutionnaire français ) อยู่ในชื่ออาหาร
เรื่องราวสั้น ๆ เกี่ยวกับปฏิทินมีว่า ระหว่างช่วงปฏิวัตินั้น คณะปฏิวัติประกาศเลิกใช้คริสต์ศักราช ตั้งศักราชขึ้นมาใหม่และสร้างปฏิทินใหม่ แบ่งเดือน ๆ หนึ่งออกเป็น 3 สัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งมี 10 วัน ทั้งนี้ให้นับวันที่ 22 กันยายน 1792 เป็นวันเริ่ม ศักราชที่ 1 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเลิกนึกถึงวันอาทิตย์ตามพระคัมภีร์ ตลอดจนให้เลิกนึกถึงวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา การปฏิวัติฝรั่งเศสแอนตี้ศาสนจักรอย่างรุนแรง คณะผู้นำหวังกันว่าเมื่อใช้ปฏิทินใหม่นี้แล้ว ประชาชนจะพากันมึนตื้บถ้วนหน้า ไม่ทราบว่าวันอาทิตย์อยู่ไหน วันคริสต์มาสคือวันใด? หรือเทศกาลป้าคส์(อีสเตอร์)เริ่มวันไหน? หรือวันตูสแซงต์ (เทศกาลเช็งเม้งของคาธอลิคฝรั่งเศส-ถ้าเป็นคาธอลิคสเปนและละตินอเมริกาจะเรียกว่าเทศกาล “โตโด้ส โล้สซานโต้ส” )ตรงกับวันใดในปฏิทิน เป็นต้น
ต่อมานะโปเลียนก็ได้ประกาศพลิกโผ ให้หันกลับไปใช้ระบบปฏิทินระบบเดิม ชื่อเดือน แธร์มิโดร์ นั้น เป็นชื่อเดือนหนึ่งในฤดูร้อนตามปฏิทินปฏิวัติที่คนทั่วไปยังจำได้มากกว่าชื่อเดือนอื่น ๆ ซึ่งมีชื่อไม่ค่อยจะคุ้นหูคน เช่น เดือน บรูแมร์ (คาบเกี่ยวระหว่างตุลาคม-พฤศจิกายน) เดือน ปลูวิโอ้ส (คร่อมระหว่างมกราคม-กุมภาพันธ์) หรือเดือน แยร์มินาล (อยู่ระหว่างมีนาคม-เมษายน) เป็นต้น
ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่สมัยโบราณทั้งตะวันตกและตะวันออก นิยมทำงานช้างงานหนึ่ง คือ งานตั้งศักราช พระเจ้าวิกรมาทิตย์(
) แห่งกรุงอุชเชนนี เป็นกษัตริย์องค์เดียวในแดนภารตะที่มีบารมีตั้งศักราชได้ เรียก กันว่า “ศักราชวิกรมาทิตย์” ปัจจุบันนี้กองทัพเรืออินเดีย (
= ภารัติยะ นาวา เสนา ) ได้ตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ทันสมัยให้เป็นอนุสรณ์ ชื่อ
เรือวิกรมาทิตย์ สลักอักขระเทวะนาครีกำกับด้วยอักษรโรมันไว้กับเรือดังภาพ ส่วนภาพขวามือคือตราประจำเรือ อักขระเทวะนาครีด้านบนอ่านว่า
วิกรมาทิตย์ ด้านล่างของตราคือคำขวัญของกองทัพเรือ เป็นคำขอพรพระวรุณ เพราะถือว่าเทพที่คุ้มครองกองทัพเรืออินเดียคือ พระวรุณ-เทพแห่งพระสมุทร์
(บทความนี้ได้พิมพ์แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับพฤษภาคม 2553 ในนามปากกา ภูพาเนช)