โดย ภูพาเนช มะเด็ง
ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 2 แรงบันดาลใจจากยุคฟ้าแจ้งจางปาง
โดย ภูพาเนช มะเด็ง
หมายเหตุ-กำลังรวบรวมบทความเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ไปไว้ด้วยกันในหน้าเดียวในบล็อคนี้...โดยจะเปิดหน้าใหม่เพิ่มขึ้นชื่อ "หน้ารวมเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศส" ครับ
พอศอสองพันห้าร้อยสี่
ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม
มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี
ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว
ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
ทางการเขาสั่งมาว่า * (ซ้ำ)
ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร
ฝ่ายตาสีหัวคลอน
ถามว่า สุกร นั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด * (ซ้ำ)
สุกรนั้นไซร้ คือ หมาน้อยธรรมดา
หมาน้อย หมาน้อย ธรรมดา * (ซ้ำ)
สายัณห์ตะวันร้อนฉี่
ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจอน
แดดฮ้อนๆใส่แว่นตาดำ
ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกพรำ * (ซ้ำ)
ถอดแว่นตาดำ ฟ้าแจ้งจางปาง
ฟ้าแจ้ง ฟ้าแจ้ง จางปาง * (ซ้ำ)
ฯลฯ
“เชื่อโชคลาง-งมงาย-ไร้เหตุผล-ไม่มีวิจารณญาณของตัวเอง-นับถือไสยศาสตร์-ถูกข่มขู่ได้ง่ายด้วยนรกและสวรรค์” อีกนัยหนึ่ง “อวิชชาสุด ๆ” นั่นก็คือภาพลักษณ์ของคนฝรั่งเศสก่อนฟ้าแจ้งจางปาง(คือก่อน 1700-1800) ยุคฟ้าแจ้งจากปาหรือ the Age of Enlightenment หรือ Le siècle des Lumières (ประมาณปี 1700-1800) เป็นยุคที่แพร่สะพัดเรื่อง ความคิดอ่านแบบมีเหตุผล เช่น วิทยาศาสตร์(มีเหตุผล) วิทยาการ(มีเหตุผล) เรื่องของความคิดความอ่านทางสังคม(ที่มีเหตุผล) ซึ่งยุคฟ้าแจ้งจางปางจะโดดเด่นเรื่องการใช้เหตุผลกับสังคม โดยได้ยืมใช้เหตุผลแบบที่วิทยาศาสตร์ได้ใช้อธิบายสิ่งแวดล้อมวัตถุธรรมแจ่มแจ้งมาแล้วในศตวรรษก่อน มาเน้นอธิบายสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่วัตถุธรรมของมนุษย์บ้าง(เช่น เรื่องสังคม การเมือง และวัฒนธรรม) ความคิดความอ่านแบบมีเหตุผลในเชิงที่ไม่ใช่วัตถุธรรมนี้ กระจายออกไปในวงที่กว้างมากขึ้นในศตวรรษนี้ ขยายทั่วไปหมดทุกหมู่เหล่าและทุกชั้นชนไม่เลือกหน้า ระดับการอ่านหนังสือออกของผู้คน ทั้งคนมีและคนจนทั้งคนชั้นบนและคนชั้นล่างเพิ่มขึ้น ที่สำคัญก็คือมีหนังสือให้อ่านมากขึ้น หลากหลายขึ้น ราคาไม่แพงเนื่องจากระบบการพิมพ์สมัยใหม่ก็ได้เกิดขึ้นนานแล้ว (กูเต็นเบิร์ก คิดค้นสมบูรณ์ทั้งระบบการพิมพ์ หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ด้วยระบบใหม่นี้ซึ่งมีคุณภาพดีและราคาถูกได้แก่ “กูเต็นเบิร์ก ไบเบิล” พิมพ์ค.ศ. 1455 กว่าสองร้อยปีก่อนยุคฟ้าแจ้งจางปาง)
ประวัติศาสตร์ยุโรปมีศัพท์แสงเกี่ยวกับยุคเฟื่องสติปัญญาอยู่หลายยุค เพื่อที่ท่านผู้อ่านผู้เพิ่งจะเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ จะได้ไม่จมทะเลศัพท์เทคนิคสำลักเสียก่อน จะขอสรุปหยาบ ๆ ง่าย ๆ ว่ากันคร่าว ๆ ลวก ๆ แบบลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว สุก ๆ ดิบ ๆ อาจไม่ถูกต้องนักแต่ชัดเจนพอสมควรว่า ก่อนจะถึงยุคฟ้าแจ้งจางปาง -the Age of Enlightenment- ซึ่งคำ ๆ นี้นักปรัชญาเยอรมัน(Emmanuel Kant)เป็นคนคิดเรียกนั้น ยุโรปได้ผ่านยุคปรับปรุงศาสนาที่เรียกว่า ยุคปฏิรูปศรัทธา(the Reformation) มาก่อนแล้ว ยุคปฏิรูปศรัทธาวิพากษ์ วิจารณ์ศาสนจักรโรมันคาธอลิค แล้วชวนกันย้อนกลับไปปลื้มศาสนาคริสต์สมัยต้นศักราชโน่น เพราะเห็นว่าเรียบง่าย-น่ารัก-เป็นกันเอง ไม่รกรุงด้วยเยียรบับแบบที่ปกาศิตมาจากสำนักวาติกัน-ซึ่งอีรุงตุงนังชวนให้ง่วงเหงาหาวนอน โคดน่าเบื่อ
เทคนิคการอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปอีกนิดหนึ่งนะครับ ทำไมชอบเขียนว่าศาสนจักรโรมันคาธอลิค? มันน่ารำคาญอ่ะ เรียกศาสนาคริสต์เฉย ๆ ไม่ได้หรือ? ตอบว่า-ไม่ได้ดอก เราเขียนกันตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เพราะยุโรปสมัยโบราณมีศาสนาคริสต์อยู่สองสายใหญ่ คือ ศาสนาคริสต์ละติน มีองค์สันตะปาปาอยู่ที่โรม กับ ศาสนาคริสต์กรีกหรือศาสนจักรตะวันออก สันตะปาปาอยู่ที่กรุงคอนสแตนตินติโนเปิล(ก่อนที่แขกเตอร์กจะยึด) ดินแดนยุโรปตะวันตกอันเป็นยุโรปที่เราศึกษากัน รู้จักกัน เข้าใจกัน เขามีปัญหากับศาสนาคริสต์ละติน หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า“ศาสนจักรโรมันคาธอลิค” เพื่อจะแยกให้ชัด จากคริสต์กรีก งัย ภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า l’eglise catholique romaine ซึ่งแยกคำได้ดังนี้ เป็นศาสนจักร-l’eglise-คือมีวัดมีพระมีระบบการปกครอง เป็นคาธอลิค-catholique-ซึ่งมาจากคำกรีกแปลว่า “สากล” กล่าวคือศาสนานี้ไม่กีดกันใคร เพื่อมนุษย์ทุกคนบนพื้นพิภพนี้ และสุดท้ายเป็นโรมัน-romaine-เพื่อแยกว่าไม่ใช่ศาสนจักรกรีกหรือศาสนจักรตะวันออก เป็นของกรุงโรมไม่ใช่กรุงคอนสแตนติโนเปิล
ยุคปฏิรูปศรัทธาก่อให้เกิดศาสนาคริสต์ นิกายประท้วง(โปรเตสแตนต์ = ผู้ประท้วง) และอีกสารพัดนิกายแทรกขึ้นมาในเขตอิทธิพลของศาสนาคริสต์ละติน ประวัติศาสตร์ก่อนหน้ายุคปฏิรูปศรัทธา ทวนน้ำย้อนขึ้นไปอีก ยุโรปก็ได้ผ่านยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)ที่ผู้รู้ทั้งหลายหันกลับไปรื้อฟื้นและพากันปลื้มกับตำรับตำรา ความคิดความอ่าน และรูปแบบศิลปะ ของสมัยกรีกและโรมันโน่น – คนในกระแสสมัยนั้นบอกว่า ของเก่าของเดิม เจ๋งครับพี่ เจ๋ง! ขอยกตัวอย่างสักตัวอย่างเดียวพอเป็นกระสาย คือ เรื่องกฎบัตรกฎหมาย เมื่อผู้พิพากษายุคนั้นกลับไปอ่านประมวลกฎหมายโรมันดั้งเดิมก็เห็นว่า“เข้าท่า” จึงนำมาอ้างอิงตัดสินคดีความ ผลปรากฏว่า “ดีแฮะ” คำพิพากษาเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายว่ายุติธรรมดี จึงศึกษาและปลื้มกันใหญ่ กฎหมายโรมันจึงได้แพร่หลายกลายพันธ์(-มาหลายชั้น)จนเป็นประมวลกฎหมายที่ใช้ตามประเทศต่าง ๆ ส่วนมากในโลกปัจจุบัน-รวมทั้งประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีนด้วย เป็นต้น
แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งปลื้มมั่วไปตามลีลาการเขียน โปรดได้สังเกตว่าทั้งยุคปฏิรูปศรัทธาและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ต่างล้วนมีลักษณะ มองกระจกส่องหลัง หันกลับไปปลื้มอดีตด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อพ้นยุคปลื้มอดีตทั้งสองยุคนั้นมาแล้ว ยุโรปจึงได้เปิดตัว ยุคฟ้าแจ้งจางปาง ของเรา ที่มีลักษณะการโปรโมชันแบบ แลไปข้างหน้า ผู้คนในกระแสพากันกลับหลังหัน เปลี่ยนมาเชื่อใหม่ว่า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้แน่ พวกเขาละสายตาจากกระจกส่องหลัง ผินไปข้างหน้า มองไปยังทิศที่ฟ้าแจ้งจางปาง...
ทิศาปาโมกข์(= “อาจารย์ดัง” )แห่งยุค ผู้ชูประทีปส่องทาง สาดความกระจ่างให้แก่จิตใจคนยุคนั้น ปรากฏรายนามตามตารางเล็ก ๆ ข้างล่างนี้ โปรดสังเกตว่าทิศาปาโมกข์มีอยู่ทั้งในโลกเก่า(ยุโรป)และโลกใหม่(ทวีปอเมริกา) อีกประการหนึ่ง การค้นพบโลกใหม่เมื่อสองร้อยปีก่อนหน้านั้น(ปี 1492) และการเดินทางไปตั้งอาณานิคมรอบโลกของชาวยุโรป ก็มีส่วนทำให้พวกเขาหูตาสว่าง แล้วหันกลับมาตั้งคำถามปรัชญาเอากับโลกเก่าของตน ตารางข้างล่างนี้ใช่ว่าจะรวมชื่ออาจารย์ดังไว้หมดทุกคนนะ แต่รวมไว้เยอะเท่านั้น............
(โปรดติดตามบทความเนื้อเต็ม ในนิตยสารเอ็มบีเอ)
"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18
du Contrat social
สัญญาประชาคม
Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส
The Prince
Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส
"ประชาธิปไตยในอเมริกา" โดย อะเล็กซี่ เดอ ต็อควิลล์ (แปลจากฝรั่งเศส เป็นอังกฤษแล้ว)
วันพฤหัสบดีที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ปฏิวัติฝรั่งเศส ตอน 2 แรงบันดาลใจจากยุคฟ้าแจ้งจางปาง (โพสต์ทั้งบท)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น