"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔

ต้นฉบับ "เศรษฐกิจภาพรวม-เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์" บทที่ ๑ เกริ่นเรื่อง

แดง ใบเล่ - เดฟ นาพญา - ปรีชา ทิวะหุต
Not for commercial use. ไม่สงวนสิทธิ์ฉบับดิจิทัล ไม่ได้เผยแพร่เชิงพาณิชย์ แต่แบ่งปันเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา
สำนักพิมพ์ใด สนใจจะตีพิมพ์เป็นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ โปรดติดต่อเจ้าของงานที่อีเมล salaya123@yahoo.com -ขอบคุณครับ

บท ๑ เกริ่นเรื่อง

ไม่มีใครจะเข้าใจระบบทุนนิยมได้
ถ้าเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดการปฏิวัติของเคนส์?
และการปฏิวัติของเคนส์เป็นอย่างไร?


วันปีใหม่…เมื่อเจ็ดสิบห้าปีก่อน นับถอยหลังจากปี พ.ศ. 2553

1 มกราคม พ.ศ. 2478 จอห์น เมนาร์ด เคนส์ กล่าวกับนักเขียนและนักทำละครเวทีชื่อดังของอังกฤษ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ โดยไม่ได้ประหยัดถ้อยคำ(=ไม่ถ่อมตัว)แม้แต่น้อย ว่า

“ผมว่า อีกราวสิบปีข้างหน้า หนังสือทฤษฎีเศรษฐกิจที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ จะปฏิวัติวิธีคิด และวิธีเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ ของคนทั้งโลก…”

เคนส์กล่าวต่อไปอีกว่า “ผมไม่ได้พูดแบบพยากรณ์นะ...ผมพูดแบบแน่ใจ”

ความแน่ใจของเคนส์ ได้กลายเป็นความแน่นอน

เพราะสิบปีให้หลัง หลังจากหนังสือ The general theory of employment, interest and money. ซึ่งวางตลาดในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2479 ผลปรากฏว่าหนังสือเล่มนั้นของเขาได้เริ่มพลิกผัน วิธีคิด วิธีเข้าใจ และ วิธีเข้าถึง  ปัญหาเศรษฐกิจภาพรวม อย่างที่เคนส์เคยพูดล่วงหน้า แบบแน่ใจไว้กับ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ในวันปีใหม่ พ.ศ. 2478

ถ้าเราถาม “ตุ๊ก ๆ ถูกหวย” หรือ “เศรษฐีเก่า” หรือ “นักจับแพะชนแกะ” หรือ “คนขายกาแฟข้างกรมโยธา” หรือ “คนหากินกับสัมปทานหลวง” หรือ “นายทุนหมดทุน”ตลอดจนถาม “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์” ซึ่งเป็นคนจำนวนหนึ่งในวงการเศรษฐกิจประเทศไทย หรือถ้าเราจะถามเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง หรือถามใครก็ได้เพื่อจะ “แคะไค้” เอาความคิดทางเศรษฐกิจของเขา เราก็จะได้รับคำตอบต่าง ๆ กันไป แต่ข้อสำคัญที่เราพึงตระหนัก ก็คือว่า ทุก ๆ คนล้วนมีความคิดอ่านเชิงเศรษฐกิจด้วยกันทั้งนั้น ความคิดเชิงเศรษฐกิจหรือความคิดเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องผูกขาดของ “นักเศรษฐศาสตร์”  หรือ คนที่มีปริญญาบัตรทางเศรษฐศาสตร์

ยกตัวอย่างเช่น ซาเล้งรับซื้อของเก่าใช้แล้ว เศษเหล็ก กล่องกระดาษ ฯลฯ อาจตอบท่านว่าเศรษฐกิจไม่มีอะไรหรอก เศรษฐกิจมันอยู่ที่ซื้อของเก่ามากิโลละ 10 บาท ขายได้กิโลละ 20 บาท แบบนี้เศรษฐกิจก็จะดี ถ้าขายได้กิโลละ 7 บาทก็แปลว่า เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจตอบว่า ถ้ามีงานสร้างทำนบ สร้างเขื่อน สร้างทางหลวงชนบท สร้างเม็กกะโปรเจ็คให้ประมูลมาก ก็แปลว่าเศรษฐกิจดี ยิ่งกว่านั้น ถ้ามีงานให้ประมูลแล้วตัวเองประมูลได้ แปลว่าเศรษฐกิจดีมาก ถ้าประมูลสร้างอาคารที่ทำการอบต.ได้ แล้วอบต.จ่ายเงินตามนัด แปลว่าเศรษฐกิจดีทีเดียว แต่ถ้าประมูลได้และทำงานไปใกล้เสร็จแล้ว อบต.บอกว่าให้ช่วยตัวเองไปก่อน ทางราชการยังไม่มีงบประมาณ ผู้รับเหมาก็อาจเกิดอาการ “ยากจนเฉียบพลัน” และแปลว่าเศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจถูกผีสิง เศรษฐกิจถูกเจ้าเข้า เศรษฐกิจถูกราหูเล็ง หรือโหงวเฮ้งเศรษฐกิจ “เป็นอัปมงคล” ตลอดจนฮวงจุ้ยประเทศไทยไม่เข้าตำรา ถ้าจะให้เข้าตำราฮวงจุ้ยเป๊ะ...ต้องถมอ่าวไทยเสียครึ่งอ่าว เป็นต้น

คนทุกคนล้วนมีชีวิตอยู่กับเศรษฐกิจ “ส่วนบุคคล” และเศรษฐกิจของสังคม “ส่วนรวม” อันได้แก่ เศรษฐกิจประเทศไทย

ทุกวันนี้ คนจำนวนมากยังมีเศรษฐกิจส่วนบุคคลที่ยังดีอยู่ทุกประการ แต่ปรากฏว่าคนหลายคนกลับบอกว่า เศรษฐกิจประเทศไทย “แย่มาก”  การมองเศรษฐกิจส่วนรวม โดยอาศัยความคิดเศรษฐกิจส่วนบุคคล เป็นแม่แบบ แล้วสรุปว่า “ครือ ๆ กัน” กล่าวคือ วิธีเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจส่วนรวมก็ “เหมือนกับ” วิธีเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจส่วนบุคคล การมองแบบนั้น มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่โอกาสที่จะผิดพลาดก็มีอยู่มาก เช่น สมมติว่า ข้าพเจ้ามีนามีสวน มีของเก่าไว้ขายกิน-นี่เป็นเรื่องสมมติ นะครับ- อยู่มาวันหนึ่ง นายจ้างเกิดไม่มีเงินจะจ้างงาน หรือไม่อยากจะจ้างต่อไปอีกแล้ว เพราะเหม็นหน้า ข้าพเจ้าก็ออกมานั่งเขียนหนังสือ และกินของเก่าไปวัน ๆ ว่าง ๆ ก็ไปเที่ยวเมืองนอก เบื่อ ๆ ก็ทำไร่ทำสวนทำนา เพราะที่สวนที่นาก็พอมี โครงสร้างค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลของข้าพเจ้า ก็ยืดหยุ่นได้มาก สามารถปรับขึ้นลงได้ ตั้งแต่ใช้จ่ายเดือนละหมื่นเดือนละแสน ลงมาเหลือเพียงเดือนละไม่กี่พันบาท ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนอะไร กลับรู้สึกแปลก ๆ ว่า “มีความสุขไปอีกแบบ”  กระทั่งนึกอยากเห็นเศรษฐกิจประเทศไทยทรุดโทรมไปนาน ๆ กลัวเหลือเกินว่า  มันจะฟื้นเร็ว ความสุขแบบที่เพิ่งค้นพบใหม่ในปัจจุบัน อาจจะหายไปเร็ว อีกอย่างหนึ่ง พอมีอาการเศรษฐกิจประเทศไทยกระเตื้องขึ้น ก็หนวกหูพวกคนรวย   คนที่คิดอะไร “เพี้ยน ๆ” แบบนี้ทุกวันนี้มีหลายคน ใครบอกว่ามีคนสองคน

แล้ว ถ้าคนที่มีความคิดเศรษฐกิจส่วนบุคคล เป็นอย่างที่ได้บรรยายไปนั้น แล้วเขายึดความคิดแบบนั้น ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทย จะเกิดอะไรขึ้นมากับเศรษฐกิจประเทศไทย  ข้อที่หนึ่ง เนื่องจากนายจ้างของประเทศไทยก็คือ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยลาออก จากสภาพลูกจ้างไม่ได้ ไม่เหมือนเศรษฐกิจส่วนบุคคล ที่เราสามารถลาออกจากการเป็นลูกจ้างได้ หรือถูกปลดออกก็ได้ ข้อที่สอง สำหรับประเทศไทยนั้น ถึงลาออกได้ แต่ “ของเก่า” ที่ประเทศไทยมีอยู่ ก็อาจจะไม่ได้มีพอให้ทุก ๆ คนกินสบายอยู่สบาย ไม่เหมือนเศรษฐกิจส่วนบุคคล ที่บุคคลพอจะขลุกขลิกกันไปได้ หรือแม้กระทั่งจะอยู่สบาย ๆ ก็ยังได้อยู่

อุทาหรณ์ที่ยกมาในย่อหน้าก่อนนั้น เพื่อจะสรุปว่า เรื่องเศรษฐกิจส่วนรวม ไม่เหมือนกับการทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจส่วนบุคคล ทีเดียวนัก

ถึงแม้คนบางคน จะมีความคิดเรื่องเศรษฐกิจส่วนบุคคลชัดเจนดี ใช้ได้ดี และใช้มาสำเร็จแล้ว แต่การที่จะนำความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้ กับเศรษฐกิจส่วนรวม ก็อาจจะกลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ไปก็ได้ เช่น ประเทศไทยไม่มีสิทธิไปประมูลสัมปทาน จากรัฐบาลโลกที่ไหนมาทำมาหากิน เป็นต้น

ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจส่วนรวมนี้ มนุษย์บางคนในตะวันตก (ไม่ได้หมายถึงชาวตะวันตกทุกๆคน...)เขาคิดกันมานับพันปีแล้ว แต่ความคิดความอ่านที่ตกผลึก ตกทอดอย่างชัดเจนมาถึงปัจจุบัน ก็มีอายุประมาณร้อยปี และมีอยู่เพียงสามแนวหลัก ๆ ได้แก่ ความคิดของ คาร์ล มาร์ก (Karl Marx) กับความคิดของ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Meynard Keynes) และความคิดทางสายกลางของพวก Social Democrats ในยุโรป

ถ้าท่านผู้อ่าน จะตรวจสอบผู้เขียน เกี่ยวกับข้อเขียนย่อหน้าก่อน ด้วยการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาจะเห็นด้วยกับ ข้อความในย่อหน้าที่แล้วกันเป็นส่วนใหญ่ คาร์ล มาร์ก พิมพ์หนังสือชื่อ Das Kapital เมื่อพ.ศ. 2410 (ปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ) จอห์น เมนาร์ด เคนส์ พิมพ์หนังสือ The General Theory เมื่อ พ.ศ.2479 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยสี่ปี เพราะฉะนั้น คณะราษฎร์ จึงยังไม่ได้ทราบเรื่องแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเคนส์ อันเป็นความคิดหลักทางเศรษฐกิจ ของโลกปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ บางทีเราไม่น่าจะลืมประเด็นนี้ไปเสีย

ความคิดอ่านเกี่ยวกับเศรษฐกิจส่วนรวม หรือเศรษฐกิจของชาติ ในหนังสือสองเล่มนั้น คือ Das Kapital และ The General Theory ได้ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานของนโยบายเศรษฐกิจของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ในรอบประมาณร้อยปีที่ผ่านมาจนตราบถึงกระทั่งทุกวันนี้ เราจะไม่พูดถึงความคิด “พันธ์ทาง” ต่าง ๆ ที่มีอีกร้อยแปดรูปแบบ ซึ่งเป็น “อนุพันธ์” –derivatives-ของความคิดหลักสองแนวนั้น และขอละเว้นแนวคิด Social Democrats ซึ่งก็มีอายุเก่าแก่และยังคงปฏิบัติกันในยุโรปปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อจะ contrast ความคิดอ่านให้ชัดเจนระหว่าง Das Kapital กับ The General Theory

ความเรียงของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าจะ เล่าเรื่องเศรษฐกิจแบบเคนส์  เท่านัน เพราะเศรษฐกิจแบบมาร์กนั้น มีผู้เขียนและพิมพ์เป็นภาษาไทยกันมามากต่อมาก ในช่วงสามสิบปีที่แล้วมา ขณะนี้ ก็อาจจะยังเหลืออยู่ตามโกดังของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมหาศาล ถ้าคิดจะแลกกระดาษกลับคืนไปเป็นป่าไม้ โลกเราอาจได้ป่าไม้คืนมานับร้อยนับพันหรือนับหมื่นไร่

แนวคิดมองเศรษฐกิจภาพรวมแบบเคนส์ สำคัญอย่างไร

นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทุกวันนี้ ประมาณไม่ถูกหรอกว่า สิ่งที่เรียกกันว่า ‘การปฎิวัติทางความคิดเศรษฐกิจแบบเคนส์’ มีผลกระทบต่อทุกผู้ทุกนามที่เรียนเศรษฐศาสตร์แบบเก่าในสมัยก่อน ขนาดไหนและอย่างไร” 

ปอล เอ. แซมมวลสัน (P.A. Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ เจ้าของตำราเศรษฐศาสตร์มหภาค(เศรษฐกิจภาพรวม)ชื่อดัง เขียนประโยคนั้นเมื่อพ.ศ.2490 ในหนังสือชื่อ “เศรษฐศาสตร์แบบใหม่-อิทธิพลของเคนส์ต่อความคิดเศรษฐกิจ และต่อนโยบายเศรษฐกิจ”

ถ้าจะเทียบอิทธิพลของเคนส์ที่เข้ามาครอบงำ เสกมนตร์ขลัง ตลอดจนจับกระษัยความคิดทางเศรษฐกิจ และการวางนโยบายเศรษฐกิจ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เราอาจเทียบได้กับความกลัวคอมมิวนิสต์จน “ขี้ขึ้นสมอง” ในประเทศไทยสมัยก่อน นั่นเอง

กล่าวคือ ภยาคติ  ดังกล่าว สิงไปหมดทุกรูปลักษณ์ของสังคม จนขนาดเกิดพระพุทธรูป “ปางปราบคอมมิวนิสต์” นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสท่านหนึ่ง เปรียบเทียบอิทธิพลของเคนส์ในสังคมสมัยใหม่ว่า เหมือนกับที่ความคิดเรื่องการปราบคนนอกศาสนา (หมายถึง นอกศาสนาโรมันคาธอลิค) ที่เคยครอบงำสังคมสเปนในอดีต

ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้สนใจเฉพาะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น (-มีจริงหรือ จะเป็น wisdom of the ignorant เปล่าเนี่ยะ)  แต่ท่านสนใจประวัติศาสตร์โลกด้วย ท่านก็คงจะทราบดีอยู่ว่ายุค “ปราบพวกนอกรีตในสเปน” เป็นอย่างไร  มันเข้าครอบงำสังคมจนคนเกร็งไปหมด กระดุกกระดิกอะไรกันไม่ได้เลย สมัยนั้น เด็กไม่รู้ประสายังถูกนำไปเผาทั้งเป็นกลางเมือง-นั่นคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สเปนยุคนั้น เทียบประวัติศาสตร์ไทยประมาณรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถสิ้นแล้ว ๕๐ ปี

[ในหนังสือ จะเสนอภาพการนำคนไปเผาทั้งเป็น ระหว่างการปราบ “พวกนอกรีตในสเปน”
เปโดร เบรุเก็ตเต้ วาด ปัจจุบันอยู่ในหอศิลป์ “เอล ปราโด”  ในกรุงมาดดริด]

แล้วท่านอาจารย์ล่ะ  ศาสตราจารย์ มิลตัน ฟริดแมน  ท่านว่าอย่างไรบ้าง

ศาสตราจารย์ มิลตัน ฟริดแมน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ( The University of Chicago) ท่านมีชื่อเสียง โดยที่ผู้อื่นตั้งสมญานามให้ ว่าเป็นผู้คิดเห็นขัดแย้ง กับแนวคิดแบบเคนส์ มากที่สุดในโลกตะวันตก  แย้งไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว จะมีก็แย้งคนละแบบอันได้แก่นักเศรษฐศาสตร์รัสเซีย สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า “สหภาพโซเวียต” เท่านั้น แต่อันที่จริงฟริดแมนเอง ไม่ได้แตกแยกหรือแปลกแยกไปจากความคิดแบบเคนส์อย่างมากมาย เท่ากับที่สื่อมวลชนทางเศรษฐกิจและธุรกิจกระพือข่าว ฟริดแมนเคยพูดไว้ว่า
"ว่ากันจริง ๆ เราทุกคนทุกวันนี้ ก็ล้วนเป็นสานุศิษย์ของเคนส์ กันทั้งนั้น

ข้อความนั้น ปรากฎใน นิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2508 ต่อมา ฟริดแมน ก็ได้ย้ำความเห็นดังกล่าว ในต่างกรรมต่างวาระ ว่า "หรือว่ากันอีกแบบ ไม่มีใครสักคน ที่จะไม่ใช่ เคนเซี่ยน (Keynesian)” หรือ- ศิษยานุศิษย์ของเคนส์

บรรดานักการเมืองล่ะ  นักการเมืองส่วนมากจะทำท่าว่าตัวเอง “ตรัสรู้” ความคิดทางเศรษฐกิจกันเอาเองเป็นส่วนใหญ่ น้อยนักที่นักการเมืองจะออกมาแสดงตนว่า รู้บุญรู้คุณของจ้าวทฤษฏีเศรษฐกิจ นิสัยลึกซึ้งเรื่องนี้ (ขอประทานโทษ-นิสัยลึกซึ้งนั้น ใช้แทนคำไม่สุภาพว่า สันดาน ) เคนส์รู้ดี เขาเคยพูด ว่า

ผู้บริหารเศรษฐกิจ ที่นึกว่าตนเป็นอิสระชน ตรัสรู้กันเอาเอง ไม่เคยมีเจ้าบุญนายคุณ ที่เป็นเจ้าของความคิดทฤษฎีใด ๆ ต่างก็ล้วนแต่ เป็นสุนัขรับใช้ เป็นข้าทาสทางความคิด ของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของความคิด คนใดคนหนึ่งในอดีตเสมอ”

เคนส์ เขียนข้อความนี้ไว้ในตอนท้าย ๆ ก่อนจะจบหนังสือ The General Theory

ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองที่เข้าข่ายดังกล่าว -ไม่มากก็น้อย การนำแนวคิดแบบเคนส์มาใช้ อย่างตั้งใจ กับเศรษฐกิจสหรัฐฯในพ.ศ. 2505 มิใช่หรือ ที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อเนื่องยาวนาน กว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์ประเทศนั้น ความทันสมัยของแนวคิดแบบเคนส์ ยังไม่เคยตกรุ่น  สมัยที่นายนิกสันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนิกสัน ทอดทิ้งแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเคนส์ไปชั่วระยะหนึ่ง แต่ทิ้งไปได้เพียงครู่เดียว เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ก็หวนกลับมาบนเวทีนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีนิกสันโดยไม่ต้องไปเชิญ นสพ.ไฟแนนเชี่ยลไทม์ ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ.2514 พิมพ์บทความเขียนโดยผู้สื่อข่าวประจำวอชิงตันดีซี ใช้ชื่อบทความว่า “ประธานาธิบดีนิกสัน เข้ารีตเป็นสานุศิษย์ของเคนส์ ไปเรียบร้อยแล้ว”

ความคิดอ่านที่ทรงพลัง จะเป็นเรื่องพรหมลิขิตก็ดี หรือกรรมลิขิตก็ได้ หรือเรื่องอะไรอื่น ๆ อีกหลายความคิด ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเอ่ยถึง ความคิดที่ทรงพลังเล่านั้น ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อการธำรงอยู่ของมนุษย์เสมอมา

เคนส์ทราบข้อนี้ดี เขารู้ซึ้งถึง อำนาจของความคิด”   เพราะฉะนั้น เขาจึงได้เขียนไว้ว่า “โลกนี้ หมุนไปตามความคิดอ่านของมนุษย์”  ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะสรุปต่อไปได้ ว่า โลกเศรษฐกิจ...ก็ย่อมหมุนตามความคิดอ่านเชิงเศรษฐกิจของผู้บริหารและประชาชนทั่วไป

ซึ่ง ทำให้เราพบกับคำถาม ที่ไล่หลังมาติด ๆ ว่า “ก็แล้วความคิดอ่านเชิงเศรษฐกิจ แบบไหนล่ะ  ที่ทำให้เมืองไทยกลายเป็น ‘นรกแตก’ อย่างที่เป็นอยู่นี้ และอาจจะเป็นนรกแตกไปอีกนาน”

โชคดีเป็นของข้าพเจ้า และของท่านผู้อ่าน เพราะเราได้เกริ่นกันไว้แต่ต้นแล้ว ว่าข้าพเจ้า มิบังอาจ ที่จะเสนอความเรียงเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทย เรา...ซึ่งหมายถึงท่านผู้อ่านและข้าพเจ้า จึงสามารถก้าวข้ามปริศนาข้อดังกล่าวไปได้ โดยไม่ต้องไปแยแสกะมัน...ให้เสียเวลา

เคนส์ แน่ใจกับความคิดอ่านทางเศรษฐกิจภาพรวมแบบของเขามาก จึงได้พูดจาเชิดชูอิทธิพลของความคิดอ่านไว้ปานนั้น เขาแน่ใจว่าความคิดเศรษฐกิจของเขาจะมีอิทธิพลยิ่งนัก ในภายภาคหน้า

แต่ อนิจจา หนังสือเล่มนั้นของเคนส์ เป็นหนังสือที่อ่านยากมาก เพราะวิธีเขียนสับสน ไม่เป็นระเบียบ ขาดการเรียบเรียงที่ดี ค่อนข้างจะไร้รูปแบบ จึงมีแต่ผู้รักชอบจริง ๆ เท่านั้นที่จะสละเวลานั่งอ่านและนั่งแกะ หนังสือเล่มนั้นจึงมี “ผู้โค้งคารวะ” กันมากมาย  คนนั้นก็โค้งคำนับ คนนี้ก็ก้มศีรษะให้ และคนจำนวนมากที่ไม่เชื่อ...ก็ไม่กล้าลบหลู่  แต่ “ผู้ที่ได้อ่านจริง " มีน้อยราย

ประเด็นแตกหักอย่างสำคัญ ที่เคนส์ทำบุญคุณไว้ให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ได้แก่ “วิธีเข้าถึง ความคิดทางเศรษฐกิจ”   ทั้งนี้เพราะ ตำราและงานของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าก่อนเคนส์ ที่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์เรียกกัน ว่า “ยุคคลาสสิค” น่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง เพราะว่า งานของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นก่อนเคนส์ หรือรุ่นคลาสสิค “ใคร ๆ ” ก็พอจะอ่านเข้าใจกันได้โดยไม่ยุ่งยาก (ตรงนี้ขออนุญาตวงเล็บว่า นักเศรษฐศาสตร์ก่อนเคนส์ เขาเรียกกันว่าเป็นพวก “คลาสสิค” ไม่ใช่เขาจะเรียกเพื่อ upgrade ให้เป็นไฮเฮียและไฮซ้อแต่ประการใด เขาเรียกกันอย่างนั้นเอง ไม่ได้มีความหมาย เหนือชั้นมากไปกว่านั้น)

แต่ งานของนักเศรษฐศาสตร์หลังหรือรุ่น “เคนเซี่ยน” นั้น ใช่ว่าใคร ๆ จะสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ - ไม่ง่ายอย่างที่คิด เว้นเสียแต่ว่า ท่านได้อ่านความเรียงเรื่องนี้ของข้าพเจ้าไปก่อน!

ย่อหน้าบน เป็นการ “แทรกโฆษณาแฝง” (อย่าว่ากันนะ)

เคนส์ ได้ทำอะไรลงไปกับวิชาเศรษฐศาสตร์

เซอร์ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ท่านเป็นผู้นำความ “ยากส์”  มาสู่วงการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
เพราะว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เคยอ่านกันเล่น ๆ เพลิน ๆ หน้าเตาผิง ในเมืองมหาวิทยาลัยอังกฤษ หรืออ่านไว้คุยกันเพลิน ๆ ตามร้านน้ำชากาแฟ สถานที่ชุมนุมกลุ่มแม่หม้ายต่างจังหวัด มาบัดนี้ ได้กลายเป็นของยากแก่การศึกษา และยากแก่การเข้าใจไปเสียแล้ว

นับว่า เซอร์ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ เป็นผู้มีความสามารถมาก ท่านได้ทำให้เรื่องที่เคยเป็น หญ้าปากคอกมาก่อน ให้กลายเป็น ของยาก ไปได้  แต่ก่อนนั้น ใคร ๆ ก็พูดเรื่องเศรษฐกิจได้ แต่ยุคหลังเคนส์กลายเป็นว่า มีบางคนเท่านั้นที่พูดได้ คนส่วนใหญ่ไม่กล้าจะพูด เพราะกลัวว่าจะพูดผิด ยกเว้นยุคนรกแตกในประเทศไทย ซึ่งแตกตื่นเป็นกระต่ายตื่นตูม หรือตื่นไฟ ออกมาพูดกันหมดทุกคน ไม่กลัวผิดกลัวถูกกันล่ะ แม้แต่ผู้เขียนความเรียงเรื่องนี้ ซึ่งไม่ชอบพูดเรื่องเศรษฐกิจ ก็ยังอดรนทนไม่ไหว ตื่นตลาด ออกมาพูดด้วยอีกคน

แต่ข้าพเจ้าก็ยังพอมีสติเหลืออยู่บ้าง จึงได้ออกตัวไว้ก่อนว่า จะพูดเรื่องวิชาการบริสุทธิ์ ไม่ขอพูดเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทย เป็นอันขาด หัวเด็ดตีนขาด ก็จะไม่พูดเรื่องนั้น เพราะเป็นเรื่องอยู่เหนือสติปัญญา

เคนส์ ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ “ยาก” อย่างไร

คำตอบเรื่องนี้ ท่านจะอ่านพบ และค้นพบได้ “โดยไม่ยาก”  ด้วยตัวท่านเอง ในเนื้อหาความเรียงเรื่องนี้

งานเชิงเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ มีอยู่มากและกระจัดกระจาย เมื่อเคนส์ตายแล้วหลายปี “ราชสมาคมเศรษฐศาสตร์” ในประเทศอังกฤษ ซึ่งคงจะพอเทียบได้กับ สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมงานด้านนี้ของเคนส์พิมพ์รวมชุด ประมาณยี่สิบกว่าเล่ม งานเหล่านี้ เป็นหลักใหญ่ของปรากฏการณ์ทางวิชาสังคมศาสตร์ ที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติของเคนส์”

ทุกวันนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ไม่มีใครจะเข้าใจระบบทุนนิยมได้  ถ้าเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดการปฏิวัติของเคนส์  และการปฏิวัติของเคนส์เป็นอย่างไร  เพราะการปฏิวัติ(ทางความคิด) ของเคนส์ นำไปสู่นโยบายทางเศรษฐกิจแบบใหม่ และนำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนในรุ่นคลาสสิค ทุกวี่ทุกวันโดยเฉพาะในยุคนี้ เรา ๆ ท่าน ๆ มีชีวิตอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่อิงอยู่กับแนวความคิดของเคนส์ ไม่มากก็น้อย

ก่อนเกิดการปฏิวัติของเคนส์นั้น โลกทุนนิยมมีแต่ แพ้กับแพ้

พ่ายแพ้จนยากที่จะเยียวยา อยู่มาวันหนึ่งวัคซินก็อุบัติขึ้น คือ เกิดความคิดเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ซึ่งได้จุดประกายนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่ และก็ด้วยใบบุญของการเรียนการสอน The General Theory ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก ก็ได้อานิสงส์รูปธรรม พบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม(=สังคมยุติธรรมขึ้น) อย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน

ความคิดของเคนส์ไม่ถึงกับเป็น ยาวิเศษ ที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคสมัยของเขา ได้ทุกเรื่อง นักเศรษฐศาสตร์ท่านอื่น ๆ นอกจากเคนส์ ได้ช่วยกันให้ความกระจ่าง ปรับปรุง ปรุงแต่ง ทบทวน แก้ไขการวิเคราะห์ของเคนส์กันมาโดยตลอด รวมทั้ง มิลตัน ฟริดแมน ด้วย แต่ใคร ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เคนส์ใด้มอบชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเก่า ให้แก่วิชาเศรษฐศาสตร์ โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากนับแต่เคนส์เขียน The General Theory อุบัติการณ์ใหม่ ๆ ในโลกเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาก แต่พอคนสมัยนี้พบปัญหาเศรษฐกิจชนิดใหม่ ๆ ที่แก้ยาก บางคนก็จะเริ่มบ่นว่า “ถ้าเคนส์ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะดี”


และประโยคนั้น ก็น่าจะเป็นการแสดงคารวะอย่างสูงแล้ว ที่ผู้ที่เคารพนับถือ ความคิดของเคนส์ จะมอบเป็นของขวัญแด่ท่านผู้รจนา…The General Theory

ส่วนการที่ราชสำนักอังกฤษ มอบบรรดาศักดิ์ให้เคนส์เมื่อพ.ศ.2485 เป็นที่  “ท่านบารอนแห่งทิลตัน” (Baron Keynes of Tilton) นั้น ดูเหมือนคนจะลืม ๆ กันแล้ว


---------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ จะอ่านเพิ่มขึ้นกว่านี้ โปรดคลิก ที่นี่
  • ชมวีดีโอ พยากรณ์เศรษฐกิจ-วิบัติ ของ บีบีซี
  • มีตัวอย่าง โพสต์บทสำคัญ บางบทไว้ให้อ่านครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. dear readers,
    this is my former blog which has been compromised. i've abandoned it. please kindly visit my new blog at www.pricha123.blogspot.com

    thank for your visits.
    pricha

    ตอบลบ