"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันพุธที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ผลการเลือกตั้ง ครั้งประทับใจในอดีต (ตอนที่ 1/2) impression of an American presidential election

โดย ปรีชา ทิวะหุต
[writing about my first hand impression of an American presidential election]

นอกจากคนเราจะเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว การท่องเที่ยวเชิงการเมืองก็เป็นไปได้ ผู้เขียนถือเอาเองว่า เคยผ่านการท่องเที่ยวเชิงการเมืองฤดูเลือกตั้ง ที่เป็นครั้งประทับใจมาสองครั้ง จดจำความรู้สึกในแวดวงมิตรสหาย และจำทิวทัศน์ภูมิประเทศการเมืองที่ไปท่องเที่ยวมา ได้ติดตาติดใจจนบัดนี้

ท่องเที่ยวเชิงการเมืองฤดูเลือกตั้งครั้งแรก ที่ตัวเองรู้สึกเกี่ยวข้องและตั้งใจติดตาม ได้แก่การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน เพื่อวาระที่สองของประธานาธิบดีนิกสัน พรรครีพับบลิกัน โดยมีคู่แข่งคือวุฒิสมาชิก จอร์จ แมคโกเวอร์น จากพรรคดีโมแครต

การเมืองอเมริกันครั้งนั้น คือช่วงหักเหเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันยุคปัจจุบัน กล่าวคือ เวลานั้นประธานาธิบดีนิกสัน ได้เดินทางไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองจีนมาใหม่ ๆ และกำลังปูทางไปสู่การเลิกทำสงครามเวียดนาม อันเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเครียดประจำวัน พันเส้นใยเซลสมองคนอเมริกันเสียใหม่ ให้พิกลพิการยาวนาน โดยผ่านภาพข่าวร้ายประจำวันทางโทรทัศน์ สงครามเวียดนามรบกันในห้องนั่งเล่น ในบ้านคนอเมริกันทั่วไปนานหลายปี จนแทบจะไม่รู้ว่าทางออก หรือทางที่จะจบสิ้นอยู่ตรงไหน ความสิ้นหวังถึงที่สุด ของการทำสงครามเวียดนาม สำหรับชาวอเมริกัน น่าจะแสดงได้ดีด้วยความตายเพราะยาเสพติดเกินขนาด ของศิลปินร็อคและกวีต่อต้านสงครามผู้โด่งดัง นายจิม มอริสัน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งคาลิฟฟอร์เนีย ลอส แองเจลีส ผู้มีบิดาดำรงตำแหน่งนายพลเรืออเมริกัน เขาเดินทางไปใช้ชีวิตสามเดือนสุดท้าย กับแฟนสาว ในปารีส โดยพักอยู่ที่ห้องชุดย่าน ถนน รู โบไตรยีส์ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซน ศพของเขาฝังอยู่ที่สุสานแปร์ ลาแชส ซึ่งยังคงมีแฟนจากทั่วโลก เดินทางไปคารวะเสมอ

วุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์น แม้จะเป็นคนจากรัฐดาโกตาใต้ แต่ก็เคยอยู่ที่ชิคาโกนานปี เรียนหนังสือปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธ เวสเทอร์น ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองชิคาโกด้านเหนือ อันเป็นย่านชานเมืองที่คนมั่งมีอยู่กัน คนละทิศกับผู้เขียน ซึ่งเรียนหนังสืออยู่ในย่าน ชิคาโกด้านใต้ อันเป็นเขตคนดำ บริเวณมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนเกาะของคนขาว ในทะเลคนดำ วุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์นเคยเป็นนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้บินภารกิจเหนือน่านฟ้ายุโรปที่เยอรมันยึดครอง ถึง 35 เที่ยว หลังสงครามก็ได้ทุนการศึกษาระดับปริญญาสำหรับทหารผ่านศึก ตามพ.ร.บ.จีไอบิล และก่อนมาทำงานการเมือง ก็เคยเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ แมคโกเวอร์นต่อต้านสงครามเวียดนามระหว่างดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก ในฐานะทหารผ่านศึกที่เคยรบในสงครามใหญ่มาก่อน เขาเห็นว่าสงครามเวียดนามเป็นเรื่องไร้สาระ

นครชิคาโกเป็นเมืองฐานเสียงพรรคดีโมแครต และเป็นที่มั่นสุดท้ายของระบบการเมืองนครใหญ่ในอเมริกา ชนิดที่เขาเรียกกันว่า “แมชชีน โปลิติค” พูดง่าย ๆ แบบการ์ตูนว่าคือ ระบบการเมืองที่มีเจ้าพ่อและเครือข่ายคอรัปชัน สามารถประกันปริมาณคะแนนเสียง ที่จะเทให้แก่พรรคการเมืองได้ เจ้าพ่อการเมืองคนดังที่ชิคาโกเวลานั้น ได้แก่ นายริชาร์ด เจ เดลีย์ นายกเทศมนตรีนครชิคาโกหลายสมัย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคดีโมแครตในนครชิคาโกด้วย และเป็นคนเชื้อสายไอริช นับถือศาสนาคริสต์คาธอลิค มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตระกูลเคนเนดี ซึ่งเป็นไอริชและคาธอลิคเช่นเดียวกัน ใครบอกว่าความสัมพันธ์เชิงลัทธิศาสนา ไม่เกี่ยวกับการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน

ซึ่งในกาลต่อมา บุตรชายของท่านผู้นั้น ก็เล่นการเมืองในนครชิคาโก ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหลายยุคหลายสมัย เช่นเดียวกับคุณพ่อ ทั้งสองคนต่างมีสติสำนึกอันแหลมคม ถึงจิตใจของคนทำมาหากิน คนทำงาน และคนชั้นคนงานในชิคาโก บุตรชายเพิ่งจะประกาศอำลาเวทีการเมือง เมื่อสิ้นวาระนายกเทศมนตรีครั้งล่าสุด เมื่อสองเดือนที่แล้ว ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 นี่เอง เพราะฉะนั้น การเมืองนครชิคาโกตลอดระยะเวลาตั้งแต่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียน จนกระทั่งต่อมาก็ได้เดินทางกลับไปเยือนชิคาโกอีกหลายครั้ง และจวบจนกระทั่งเมื่อสองเดือนที่แล้วมานี้ ยังคงสภาพเป็น “เหตุการณ์ปัจจุบัน” ต่อเนื่องไม่ขาดสายอย่างแปลกประหลาดสำหรับผู้เขียน ทั้ง ๆ ที่ในคาบเวลาเดียวกัน ทั้งการเมืองฝรั่งเศสและการเมืองประเทศไทย ได้พลิกผัน โกลาหล และเปลี่ยนแปลงไปมากมาย

อย่างไรก็ดี การรณรงค์หาเสียงของวุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์นครั้งนั้น ทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน บันทึกไว้ว่า เป็นงานรณรงค์หาเสียงที่ไม่เข้าท่า และห่วยแตกที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการหาเสียงที่ไม่เข้าใจ ไม่โดนใจ ร้องเพลงผิดคีย์ และเต้นรำไม่เข้าจังหวะเพลง กับจิตใจคนอเมริกันยุคนั้นเอาเสียเลย ความจริงข้อนี้ผู้เขียนมาเข้าใจเอาในภายหลัง จากที่ผู้รู้ท่านสรุปให้ฟัง แต่เวลานั้น มีชีวิตอยู่ในเหตุการณ์ ไม่ได้เข้าใจอะไรมากนัก อดีตประธานาธิบดีคลินตัน กับนางฮิลลารี คลินต้น ซึ่งเพิ่งจะเริ่มชีวิตการเมือง ก็อยู่ในทีมงานหาเสียงของวุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์นด้วย

ผู้เขียนอยู่ในแวดวงของชาวดีโมแครต เพื่อนฝูง รูมเมท ครูบาอาจารย์ล้วนเป็นดีโมแครต อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรวมทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา เข้าชื่อกันสนับสนุนวุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์น ในหน้าหนังสือพิมพ์เมืองชิคาโก รูมเมทของผู้เขียนซึ่งเป็นคนยิว มาจากเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นผู้สอนและแนะนำให้ผู้เขียนรู้จักการเมืองอเมริกัน รูมเมทคนนี้ก็เป็นคนเลือกพรรคดีโมแครต เพราะฉะนั้น โดยไม่รู้ตัว สำหรับการเมืองอเมริกัน ผู้เขียนก็ดัดจริตมีจิตใจเป็นคนดีโมแครตไปกับเขาด้วย นับแต่นั้นมา

รูมเมทค่อนข้างจะใจจดใจจ่อกับการเลือกตั้งครั้งนั้นมาก เพราะเขาอยากเห็นสงครามเวียดนามจบลง เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนต่างชาติ มีใจกลาง ๆ กับการเมืองอเมริกัน เขาจึงสบายใจที่จะเล่าทุกสิ่งทุกอย่าง และพูดละเอียดถึงความเป็นไป ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนกระบวนการทางการเมืองของเขา แฟนของรูมเมทเป็นชาวเท็กซัส แต่เธอก็เป็นคนเท็กซัสที่เลือกพรรคดีโมแครต ผู้เขียนรู้สึกว่าคนทั้งคู่ ต้องการเข้ารีตผู้เขียน ให้นับถือลัทธิประชาธิปไดย โดยที่เขาหาทราบไม่ว่า ผู้เขียนมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท่องคาถา “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อยู่แล้ว

รูมเมทเล่าว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่ได้เลือกเฉพาะตัวประธานาธิบดี แต่เลือกตำแหน่งการเมืองตำแหน่งอื่น ๆ พร้อมกันไปด้วยหลายตำแหน่ง ผู้เขียนก็ถามว่า เมื่อเลือกมากมายขนาดนั้น เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า เขาจะเลือกใครเบอร์ไหนบ้าง เขาบอกว่าเขารับโพยมาจากองค์กรการเมืองสายเดียวกับเขา ตามโพยเหล่านั้น จะมีข้อมูลแนะนำผู้สมัครและแนวนโยบาย ซึ่งผู้เขียนก็เห็นรูมเมท นั่งศึกษาเอกสารเหล่านั้น อย่างตั้งอกตั้งใจ ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง

ผู้เขียนถามเขาว่า พรรครีพับบลิกัน ต่างจากพรรคดีโมแครต อย่างไรหรือ เขาบอกว่า พรรคดีโมแครต สนใจนโยบายสังคมมากกว่าพรรครีพับบลิกัน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ต้องพิจารณาเป็นประเด็น ๆ ไป เช่น เวลานั้นรูมเมทก็จะไม่กินผักสลัด เพราะเขาแอนตี้การใช้แรงงานเม็กซิกันอย่างไม่เป็นธรรมในภาคการเกษตรสหรัฐ เขาบอกว่าการรณรงค์ประเด็นนี้ต้องใช้เวลานานเป็นปี เขาปฏิบัติตนตามโพยการเมือง ในสายการเมืองที่เขาเห็นชอบ

ครั้นถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งสมัยนั้นสหรัฐฯยังใช้เครื่องจักรลงคะแนน คล้ายเครื่องใช้สำนักงานขนาดใหญ่ในยุคเก่า เครื่องลงคะแนนนี้ ตั้งอยู่ในคูหามีผ้าบังตา รูมเมทชวนผู้เขียนไปดูเขาลงคะแนนด้วย โดยเขาขออนุญาตเจ้าหน้าที่ ให้ผู้เขียนได้เข้าไปชมคูหากับเครื่องจักรลงคะแนนสักแวบเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ แต่ก็เฝ้าดูไม่คลาดสายตา เวลาเพื่อนลงคะแนนเสียง ผู้เขียนต้องออกมายืนรออยู่นอกบริเวณ

รายการโทรท้ศน์ค่ำวันนั้น รายงานข่าวผลการเลือกตั้งจากทั่วประเทศเป็นหลัก ครั้นผลการเลือกตั้งค่อนข้างจะแน่นอนแล้วว่า พรรครีพับบลิกันชนะแน่ และวุฒิสมาชิก จอร์จ แมคโกเวอร์น ขวัญใจปัญญาชนอเมริกัน เช่นรูมเมทผู้เขียนเป็นต้น แพ้หลุดลุ่ย เป็นปริมาณการพ่ายแพ้คะแนนเสียง อย่างที่ไม่เคยพบกันมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ในท้ายที่สุดผู้เขียนก็ได้ชมข่าวการสัมภาษณ์ นายแมคโกเวอร์น ผู้แพ้ ซึ่งเขาพูดถึงประธานาธิบดีนักสัน ว่า “...ชาวอเมริกัน อย่าไว้ใจชายคนนี้นะ เขาเป็นคนเลว”

รู้สึกประหลาดใจ กับการใช้ภาษาของวุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์น คือไม่คิดว่านักการเมืองอเมริกันระดับชาติ เขาจะกล่าวหากันขนาดนั้น ส่วนรูมเมทที่นั่งชมข่าวอยู่ด้วย และเสียใจกับการพ่ายแพ่หลุดลุ่ยของพรรคดีโมแครต พูดถึงแมคโกเวอร์น ในบัดเดี๋ยวนั้น ว่า “...คนอเมริกัน ช่างไม่ชอบเขาเอาเสียเลย”

ทีมงานหาเสียงประธานาธิบดีนักสัน ไม่ได้มีผลงานการหาเสียงดีเด่นอะไรเลย แต่โชคดีที่ได้พบกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชนิด “ห่วยแห่งศตวรรษ” ของวุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์น ทีมงานนิกสันต่างพากันลิงโลด ดีอกดีใจ กับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ที่ได้ชัยชนะท่วมท้นเป็นประวัติการณ์ และเป็นประวัติศาสตร์ มาจนบัดนี้ ไม่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันครั้งใดหลังจากนั้น จะชนะกันขาดลอยขนาดนั้นอีกเลย การรณรงค์ของพวกเขา มีคำขวัญว่า “ขออีกสี่ปี” หรือ “Four more years” ทีมงานหาเสียงของนิกสัน ไม่มีใครสังหรณ์ใจว่า ผลการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น มิใช่หลักประกันความมั่นคงของตำแหน่งการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน มันเป็นสัญญาณอันตรายบางสิ่งบางอย่าง เสียมากกว่า

ไม่กี่วันต่อมา ข่าวการใช้เงินคอรับชันที่เรียกว่า “slush fund” เพื่อบ่อนทำลายพรรคดีโมแครต ก็หนาหูขึ้นทุกทีทางสื่อมวลชน ที่ทำหน้าที่เป็นหลักประกันให้กับระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน เช่นที่ชิคาโกนั้น นสพ.ชิคาโก ทริบูน อันเป็นนสพ.ขายดี จะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี จากพรรครีพับบลิกันเสมอมา แม้ชิคาโกจะเป็นเมืองดีโมแครตก็ตาม ประกอบกับกลไกการทำงานของระบบความยุติธรรมอเมริกัน ที่ถูกวางไว้ให้คานกันได้โดยเสมอภาค กับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ตามปรัชญาการเมืองยุคสว่างทางปัญญา หรือ ดิ เอ็นไลท์เมนต์ ก็เริ่มทำงานตามธรรมชาติ อย่างเนิบ ๆ แต่แน่นอนในครรลอง นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งเลยทีเดียว ซึ่งก็ได้ขมวดและเขม็งเกลียว จนยังผลให้ประธานาธิบดีนิกสัน ต้องออกจากตำแหน่งกลางคันในอีกสองปีต่อมา กลายเป็นบันทึกหน้าประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ของการเมืองอเมริกันยุคใหม่

วันที่ประธานาธิบดีนิกสัน ลาออกจากตำแหน่ง ผู้เขียนกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว สิ่งแรกที่ระลึกขึ้นได้เมื่อได้ยินข่าว ก็คือข่าวนั้นทำให้ต้องย้อนระลึกถึงคำพูดและสีหน้าท่าทางของวุฒิสมาชิกแมคโกเวอร์น ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ในค่ำวันเลือกตั้งเมื่อสองปีก่อนหน้า ที่ว่า “...ชาวอเมริกัน อย่าไว้ใจชายคนนี้นะ เขาเป็นคนเลว”

เนื่องจากผู้เขียน ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับการเมืองอเมริกัน ตัวเองก็กลับเมืองไทยแล้ว เมื่อทรข่าวก็ได้แต่ขำ พลางนึกในใจว่า “เฮ้ย แมคโกเวอร์นแกพูดจริง ว่ะ” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ชีวิตที่เจริญเติบโตและผ่านการอบรมเลี้ยงดู ในวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ ของผู้เขียนนั้น การแสวงหา “ความจริง” กับ “ปัญญา” นำหน้าเสมอ เพราะมันเป็นทางที่จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขและมีความหมาย

อย่างไรก็ดี ครั้นถึงรุ่นหลานของผู้เขียน ที่เกิด เติบโต และอยู่อาศัยในสหรัฐ ปรากฎว่าไม่ได้มีความคิดทางการเมืองอย่างที่ผู้เขียนเคยมีมา กล่าวคือ เขาเลือก นายจอร์จ บุช จากพรรครีพับบลิกัน เมื่อมาเมืองไทย เขาให้เหตุผลกับผู้เขียนสั้น ๆ โดยที่ผู้เขียนไม่ได้เอ่ยปากถาม เพราะไม่ชอบพูดเรื่องการเมืองกัน หลานบอกว่า “ประเทศสหรัฐ ต้องการคนแบบนี้ จึงจะเดินหน้าไปได้...” ผู้เขียนก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็น เป็นการต่อความกับเขา

ผลการเลือกตั้งที่สร้างความประทับใจอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นหลังจากนั้นราวสี่ห้าปี เมื่อมีโอกาสได้ใช้ชีวิตนักเรียนอีกรอบ โดยไปเป็นนักเรียนที่ฝรั่งเศส มีผลพลอยได้เป็นการท่องเที่ยวทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส แข่งขันกันระหว่างพรรคแอเปแอ

[สนใจ โปรดติดตามตอนจบ... ตอน 2/2]

ผลการเลือกตั้ง ประทับใจ ในอดีต ตอน 2/2 คลิก-อ่าน

1 ความคิดเห็น: