"คุณคิดว่า สิทธิเสรีภาพ จะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ ถ้าเราเหยียบย่ำทำลาย ความคิดทางศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทิ้งเสียให้หมด?"
-แซมมวล อะดัม Samuel Adams นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ศตวรรษ18

Vive le Roi राजा चिरंजीव

Vive le Roi  राजा चिरंजीव
ทรงพระเจริญ Vive le Roi! ¡Que viva el REY! राजा चिरंजीव

du Contrat social

du Contrat social
แบ่งปัน เพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สัญญาประชาคม


Infos du livre audio - Audiocite.net ฌัง-ฌาค รุซโซ "สัญญาประชาคม" ภาษาฝรั่งเศส

The Prince


Infos du livre audio - Audiocite.net "The Prince" นิโกโล มัคเคียเวลลี ภาษาฝรั่งเศส

วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 02/12 "ค่าของคน กับ ความสุขสันต์หรรษา"

Episode 02 part 1 ติดป้าย บอกราคาชีวิตมนุษย์ ได้ด้วยหรือ

ปัจจุบันนี้ การแสดงเหตุผลแบบอิงประโยชน์ หรือ “ผลดี-อย่างใหญ่สุด แก่คน-จำนวนมากสุด” ตามความคิดอาจารย์เจอเรมี เบ็นแธม ถูกนำมาใช้ประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน และประเมินความควร/ไม่ควร ในอันที่จะลงมือทำกิจกรรมใด ๆ ทั้งในบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการ ตลอดจนใช้เพื่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ของเราท่านทั้งหลาย ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่าย กับ ประโยชน์ที่จะได้รับ  จากกิจกรรมนั้น หรือบางท่านเรียกเป็นภาษาไทย ว่า การวิเคราะห์ความคุ้มค่า

บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอริส วิเคราะห์ความคุ้มค่าของการสูบบุหรี่ ให้กับประเทศสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งสมัยหนึ่งมีคนสูบบุหรี่มาก บริษัทฟิลลิป มอริส ดำเนินธุรกิจมีผลกำไรอยู่ที่นั่น ผลการศึกษาของฟิลลิป มอริส ได้ความว่า ประเทศสาธารณรัฐเช็คจะได้ประโยชน์จากการปล่อยให้ประชาชนสูบบุหรี่ เพราะว่า จะมีรายได้ภาษีบุหรี่ และคนจะตายไวขึ้น ทำให้ประหยัดค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดูแลคนแก่ (at 05:50 Episode 02) อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดลเล่าว่า ต่อมา บริษัทฟิลลิป มอริส ได้ออกมาขอโทษสาธารณชน เกี่ยวกับการศึกษาความคุ้มค่า ที่ใจดำและไร้จิตสำนึกเรื่องนี้

ตัวอย่างการประเมินความคุ้มค่า มีชื่อเสียงอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ศ.แซนเดล ยกขึ้นมาสาธก ได้แก่ กรณีศึกษาความคุ้มค่าการออกแบบรถ ฟอร์ด ปินโต เพื่อให้ปลอดภัยขึ้น ซึ่งมีการตีค่าคนตายและบาดเจ็บออกมาเป็นตัวเงิน ผลการประเมินความคุ้มค่าระบุว่า ไม่คุ้มค่าที่บริษัทจะเพิ่มชิ้นส่วนเพื่อความปลอดภัย ไว้ในแบบรถยนต์ ผลการศึกษาถูกนำขึ้นแถลงในศาล เพราะบริษัทถูกผู้ได้รับความเสียหายฟ้องคดี คณะลูกขุนห่อเหี่ยวกับความใจดำและไร้จิตสำนึก ของบริษัทฟอร์ด และได้ตัดสินคดี ให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

ถึงแม้ การกำหนดราคาชีวิตมนุษย์จะมีปัญหายุ่งยาก กับมีข้อพิจารณาว่าจะเหมาะสมหรือไม่ แต่ ศ.แซนเดล ได้ถามนักศึกษาว่า โดยภาพรวมแล้วนักศึกษา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับแนวคิดศิลธรรมแบบ “ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” (GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people) ผลการยกมือปรากฏว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ เห็นด้วย  นักศึกษาที่ ไม่เห็นด้วย เป็นคนส่วนน้อย ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาฝ่ายข้างน้อย ซึ่งไม่เห็นด้วย ได้แสดงเหตุผลก่อน

ก่อนที่จะสรุปผลการแสดงเหตุผล ศ.แซนเดล ได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวในยุคโรมัน ที่ชาวโรมันโยนคนคริสเตียนให้สิงโตกินในสนามโคลีเซียม เพื่อจะได้ชมการต่อสู้มือเปล่า ระหว่างคนกับสิงโต เป็นรายการบันเทิงยอดนิยมในกรุงโรมยุคหนึ่ง ความทุกข์ทรมานของคริสเตียน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนิด ถ้าจะเทียบกับความสุขสนุกสนานของชาวโรมันที่เป็นคนส่วนใหญ่ คิดตามหลัก“ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” แล้ว การโยนคนคริสเตียนให้สิงโตกินในโคลีเซียม ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ถูกต้องตามครรลองของศิลธรรมทางแพ่ง แนวประโยชน์นิยม

สรุปฝ่ายค้าน ศ.แซนเดล สรุปว่า คำค้านแบ่งออกได้เป็นสองประเด็น คือ

  1. ศิลธรรมประโยชน์นิยมที่ยึดถือ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” นั้น ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง? และได้มองข้าม “ขวัญ” หรือ สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า? ว่า “ขวัญ” หรือสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดติดมาคู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต (อีกนัยหนึ่ง ผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย ขอสรุปว่า ในประเทศไทย คนมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย เพราะฉะนั้น เพื่อประโยชน์สุข และ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” เราจะทำย่ำยีคนมุสลิมอย่างไรก็จะดีไปหมด เช่น อุ้มฆ่าทนายความสมชาย เป็นต้น หรือในทางกลับกัน ในประเทศบังคลาเทศคนพุทธเป็นคนส่วนน้อย อยู่กันแถวเมืองจิตตะกองเท่านั้น เพราะฉะนั้น เพื่อ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” เราจะทำอย่างไรกับคนพุทธก็จะดีไปหมด เช่นสมมุติว่า จะอุ้มฆ่าท่านทูต อรรนพ กุมาร จักกะมะ เอกอัครราชทูตบังคลาเทศคนปัจจุบัน ที่ประจำประเทศพม่า ซึ่งท่านเป็นคนพุทธ เป็นต้น)
  2. ความทรงคุณค่า ของสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์ทุก ๆ เรื่อง สามารถตีออกมาเป็นหน่วยเงินตรา เพื่อจะได้รวมตัวเลข ออกยอดเป็น ผลดีอย่างใหญ่สุด ได้จริงหรือ?
เพื่อ สรุปให้กับฝ่ายสนับสนุน ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในโลกตะวันตก เมื่อทศวรรษที่ 30 งานวิจัยชิ้นนั้นพยายามพิสูจน์ว่า คุณค่าทั้งหลายในโลกมนุษย์ทุกเรื่อง สามารถตีราคาออกมาได้เป็นหน่วยเงินตรา  โดยผู้วิจัยได้สอบถามผู้ประสบภัยเศรษฐกิจวิบัติ ที่มาขอรับการสงเคราะห์ ว่าถ้าจะให้ทำกิจกรรมอันน่าสะอิดสะเอียน หรือเจ็บปวด ไม่น่าพึงปรารถนา ดังต่อไปนี้ เขาอยากได้เงินจำนวนเท่าใด จึงจะยอมทำ เช่น 1)ดึงฟันหน้าให้หลุด หนึ่งซี่ 2)ตัดนิ้วเท้าก้อย หนึ่งนิ้ว 3)กินใส้เดือนตัวยาวที่ยังมีชีวิต หนึ่งตัว 4)ใช้ชีวิตที่ยังเหลือทั้งชีวิต ในไร่นาในมลรัฐแคนซัส - ซึ่งถือกันในสมัยนั้นว่า ล้าหลัง น่าเบื่อหน่าย 5)บีบคอแมวเรร่อนตัวหนึ่ง จนตายคามือ ผลการสอบถามพบว่า ข้อ 4 จะต้องจ่ายเงินมากที่สุด รองลงมาคือ ข้อ 3 ฯลฯ

ผู้ทำการวิจัย ได้ข้อสรุปว่า กิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งปวงของมนุษย์ มีอยู่  ใน “ปริมาณหนึ่ง” มากน้อยต่างกันไป  สังเกตดูเถิด คนเราไม่ได้รู้สึกอยากอะไร ในปริมาณความอยากที่เท่า ๆ กันเสมอไปทุกครั้ง ทุกกรณี หรือเหมือน ๆ กันทุกคน ก็ในเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งปวง มีอยู่ ในปริมาณหนึ่ง  เพราะฉะนั้น ความอยากทั้งหลายนี้ ย่อมจะต้องวัดค่าออกมาได้ เพราะความที่มันมี “ปริมาณ” อยู่นั่นเอง

แต่ จริงหรือว่า  ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ สนับสนุนศิลธรรมแนวประโยชน์นิยม ที่ว่าคุณค่าและความมีราคาทั้งปวง สามารถตีออกมาได้ด้วยหน่วยวัด ที่เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วไปหมด เช่น หน่วยเงินตรา เป็นต้น ดังนั้น จึงสามารถนำมาบวกรวมกันได้ เพื่อหาผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด

หรือว่าการณ์ตรงกันข้าม  คือพิจารณาอีกทางหนึ่ง สิ่งทรงคุณค่าและมีราคาทั้งหลายทั้งปวงในมนุษยโลกนั้น นอกจากจะหลากหลายแล้ว ยังผิดกันไกลและสถิตอยู่ในต่างมิติกัน  จนเราไม่สามารถใช้หน่วยวัดค่า หน่วยเดียวอย่างมีเอกภาพ ไปวัดมาได้ เช่น ระยะทางวัดด้วยหน่วยวัดเป็นกิโลเมตร แต่วัดน้ำหนักกลับใช้หน่วยกิโลกรัม เป็นต้น โดยที่ หนึ่งกิโลเมตร ไม่ใช่  หนึ่งกิโลกรัม และไม่ใช่  หนึ่งกิโลวัตต์ หรือไม่ใช่  หนึ่งกิโลไบต์

ซึ่ง ก็ในเมื่อ เราไม่สามารถตีราคา สิ่งมีค่าทั้งหลายในสากลโลก ออกมาได้โดยใช้หน่วยวัดเดียวกันอย่างมีเอกภาพ เมื่อนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับปรัชญาประโยชน์นิยม อันวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องการรวมค่าผลดีนานาชนิดของนานาบุคคล เข้าด้วยกัน เพื่อหาผลดีอย่างใหญ่สุด มาเป็นตัวกำหนดศิลธรรม?

-------------------------------------------------------------------------------------------

คลิกชมวีดีโอ การอภิปรายของนักศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  และคำสอน ศ.แซนเดล
Episode 02/12 ค่าของคน กับ ความสุขสันต์หรรษา PUTTING A PRICE TAG ON LIFE
--แม้ว่า ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ก็ควรคลิกชมครับ ท่านจะได้อะไรไป มากกว่าอ่านบทสรุปของผู้เขียน อย่างเดียว  เขาพิมพ์ บทพูด เป็นภาษาอังกฤษ ไว้ให้ดูด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------
Episode 02 part 2 จะวัดความสุขสันต์หรรษา ได้อย่างไร
จะโพสต์ต่อ ที่นี่ สุดสัปดาห์หน้า 4 พฤศจิกายน ครับ

คลิก-->>กลับหน้า โหมโรง




วันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 01/12 "ฆาตกรรม และ คนกินคน"

   เป็นคนคิดแล้วจึ่ง         เจรจา
เลือกสรรหมั่นปัญญา      ตรองตรึก
อย่ามลนหลับตา            แต่ได้
สติริรอบให้                   ถูกแล้วจึงทำ
                                                  -โคลงโลกนิติ (มลน=ลนลาน)
------------------------------------------------------------------------------------

Episode 01 part 1 ฆาตกรรม พิจารณาแง่ศิลธรรม

ถ้าท่านต้องเลือกกระทำการ (1) ฆ่าคนหนึ่งคน เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ หรือ (2) นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า คนห้าคนจะต้องตายต่อหน้าต่อตาท่าน ระหว่างสองกรณีนี้ ท่านจะเลือกทำประการใด กรณีใดเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร อันพึงกระทำ

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติ ขึ้นเป็นอุทาหรณ์ เพื่อประกอบการสอนเรื่อง การคิดหาเหตุผลเชิงศิลธรรม ที่ท่านสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

นักศึกษาส่วนมาก ออกเสียงลงคะแนน ให้ฆ่าคน ๆ เดียว เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ ศ.แซนเดล เล่าปริศนาศิลธรรมสามเรื่อง แต่ละเรื่อง ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ให้คิดอ่านตัดสินใจยากขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

เรื่องที่ 1 รถสิบล้อคันหนึ่ง เบรกแตกแต่พวงมาลัยยังใช้ได้ เสียหลักพุ่งมาด้วยความเร็วสูงถึงทางสองแพร่ง (ทางสองแพร่ง มักเป็นตัวอย่างยอดฮิต ในการยกสาธกเรื่องปรัชญา) ทางหนึ่งมีคนยืนอยู่คนเดียว อีกทางหนึ่งยืนอยู่ห้าคน ท่านซึ่งเป็นคนขับรถ จะหมุนพวงมาลัยไปทางใด

เรื่องที่ 2 เรื่องคล้ายกัน แต่เป็นทางตรงที่มีคนห้าคนยืนอยู่ ซึ่งขณะนั้นท่านยืนอยู่บนสะพานลอยเหนือถนน เป็นสะพานลอยที่ปราศจากราวสะพาน บนสะพานลอยมีชายอ้วนมากคนหนึ่งยืนมองเหตุการณ์ ถ้าท่านผลักคนอ้วนตกสะพานลอย เขาจะลงไปขวางทางรถในจังหวะนั้นพอดีเลย รถสิบล้อก็จะชนคนอ้วนตาย แล้วแฉลบเสียหลัก คนห้าคนรอดตาย ท่านจะนิ่งเฉยปล่อยให้คนห้าคนตาย หรือว่าท่านจะผลักชายอ้วนลงไป

เรื่องที่ 3 เหมือนเรื่องที่ 2 ทุกอย่าง แต่ท่านไม่ต้องลงมือผลักคนอ้วนด้วยตนเอง เพราะว่าเขายืนอยู่บนพื้นที่เป็นกระดานกล มีกระเดื่องกลผูกเชือกโยงมาไกลหลายวา จนถึงจุดที่ท่านยืนอยู่ เพียงแต่ท่านกระตุกเชือกกระเดื่องกลนิดเดียว พื้นกระดานกลที่คนอ้วนยืนอยู่นั้น จะกระดกเทคนอ้วนตกลงไปขวางทางรถด้านล่าง ท่านก็รักษาชีวิตคนห้าคนนั้นไว้ได้ คนอ้วนตายคนเดียว

ระหว่างที่นักศึกษายืนพูด แสดงเหตุผลปกป้องการเลือกลงมือกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใด ของตนนั้น  การที่นักศึกษาส่วนมาก ออกเสียงลงคะแนนให้ฆ่าคน ๆ เดียว เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ตามตัวอย่างเรื่องแรก ก็น่าจะสอดคล้องกับความคิดอ่านเรื่องเสียงข้างมากเป็นใหญ่  แต่ในตัวอย่างต่อมา นักศึกษาเริ่มรวนเร ชักไม่แน่ใจว่า เสียงข้างมากจะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรเสมอไปทุกกรณี-จริงหรือไม่  เพราะในตัวอย่างที่ 2 นักศึกษาทั้งหลายก็ไม่อยากผลักชายอ้วน ให้ตกลงไปตาย  แม้ตามตัวอย่างที่ 3 ก็ไม่อยากดึงกระเดื่องกระดานกล 

ทำให้เราพลอยเห็นกระจ่างไปด้วยว่า  ความคิดความอ่าน ที่รองรับศิลธรรมของเราท่านอยู่นั้น มักจะเป็นความคิดอ่านที่ขัดแย้งกันอยู่  เพราะฉะนั้น ข้อปุจฉาปริศนาศิลธรรม ที่ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรเลว จึงอาจจะไม่ได้มีคำตอบที่เด็ดขาดชัดเจน ดุจสีขาวตัดกับสีดำ เสมอไปทุกกรณี

เรื่องที่ 4 สมมติว่าท่านเป็นแพทย์ผ่าตัด มีผู้ป่วยหนักจะต้องตาย จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนอวัยวะอยู่ในความดูแลรวมห้าคน คนหนึ่งต้องเปลี่ยนตับ อีกคนต้องเปลี่ยนไต ฯลฯ แต่เวลานั้นไม่มีผู้บริจาคอวัยวะเลย ขณะนั้นบังเอิญว่า มีชายสุขภาพดีคนหนึ่ง แวะมาตรวจสุขภาพตามปกติ กำลังนอนหลับอยู่ในห้องข้าง ๆ ท่านสามารถเข้าไปควักเอาอวัยวะทั้งห้าออกจากร่างเขา มาเปลี่ยนให้คนใข้ห้าคนของท่านได้ ท่านจะทำหรือไม่ เพราะถ้าทำตามหลักเสียงข้างมาก คนตายคนเดียว จะมีคนรอดตายห้าคน

กรณีนี้นั้น นักศึกษาส่วนมากยกมือว่า จะไม่ฆ่าคน ๆ เดียวเพื่อรักษาชีวิตคนห้าคน ซึ่งเป็นการยกมือที่ขัดแย้งกับหลักเสียงข้างมาก หรือเสียงส่วนใหญ่

 สรุปวิธีคิด เพื่อความกระจ่างแจ้งในการพิจารณาปัญหาข้อศิลธรรมทางแพ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปวิธีคิดเพื่อการแสดงเหตุผลเชิงศิลธรรมทางแพ่งในปรัชญาตะวันตก ว่า เรามีวิธีคิดเรื่องนี้สองอย่าง คือ ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ กับอีกวิธีหนึ่ง คือ ศิลธรรม พิจารณาที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา (สไลด์ at 14:04 ในวีดีโอคำบรรยาย)

ถ้าเราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อเบรกแตก เข้าทางที่มีคนอยู่เพียงคนเดียว ก็เป็นเพราะเราเห็นว่า “ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ” กล่าวคือ คนรอดตายห้าคน ดีกว่าคนรอดตายคนเดียว กรณีที่เราเป็นแพทย์ผ่าตัด แล้วปล่อยให้คนใข้ตายห้าคน เราไม่ยอมควักอวัยวะห้าชิ้น ออกมาจากคนสุขภาพดี ก็เพราะเราเห็นว่า “ศิลธรรม พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา” กล่าวคือ เราไม่ยอมฆ่าชายสุขภาพดี ที่นอนอยู่ในห้องข้าง ๆ เพื่อควักอวัยวะออกมาช่วยคนห้าคนที่กำลังจะตาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการฆ่านั้น จะช่วยชีวิตคนถึงห้าคนได้ก็ตาม เราก็ไม่ทำ เพราะเราถือว่าการฆ่าคน เป็นเรื่องไม่ดีมาก ๆ อยู่ในตัวของมันเอง

ท้ายที่สุด ศ.แซนเดล ท่านเตือนไว้แต่ต้น ว่าเรื่องศิลธรรมทางแพ่งนี้ เป็นเรื่องสอนยาก เพราะเป็นเรื่องที่นักศึกษาทั้งหลาย “รู้ ๆ กันอยู่แล้ว” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อย่างไรก็ดี ท่านประกันว่า หลังจากจบการบรรยายทั้งหมดของท่านแล้ว เรื่องที่นักศึกษารู้ ๆ กันอยู่แล้วนั้น จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โลกของนักศึกษาจะเปลี่ยนไป...

----------------------------------------------------------------------------------------------------

คลิกชมวีดีโอคำสอน ของ ศ.แซนเดล และการอภิปรายของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 
--แม้ว่า ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ก็ควรคลิกชมครับ ท่านจะได้อะไรไป มากกว่า อ่านบทสรุปของผู้เขียน แต่อย่างเดียว
วีดีโอศ.แซนเดล ม.ฮาร์วาร์ด Episode 01/12 "ฆาตกรรม และ คนกินคน" Episode 01 "THE MORAL SIDE OF MURDER"

---------------------------------------------------------------------------------------------------


Episode 01 part 2  คนกินคน คดีดังในอังกฤษ

ศ. แซนเดล แนะนำให้เรารู้จักเอตทัคคะของแนวคิด ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ  คือ อาจารย์เจเรมี เบนแธม ผู้ประกาศข้อศิลธรรมแนวประโยชน์นิยม ที่มีหลักเข้าใจง่าย ๆ ว่า มนุษย์ถูกบัญชาด้วยความต้องการจะ เป็นสุขกับหนีทุกข์  เพราะฉะนั้น “ประโยชน์”  ของการกระทำใด ๆ ในความเห็นของท่าน ก็คือ เมื่อหักกลบลบผลจากการกระทำแล้ว ปรากฏว่าได้ยอดออกมาเป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์ และท่านบัญญัติศัพท์เรียกการกระทำที่ยังผลแบบนี้ว่า กระทำที่ “มีประโยชน์

- เพราะฉะนั้น 1.ท่านจึงไม่ได้หมายถึง ประโยชน์ใช้สอย  แบบที่เราเข้าใจกันในภาษาชาวบ้าน การกระทำที่ก่อประโยชน์ใช้สอยแบบบ้าน ๆ แต่หักกลบลบผลแล้ว มีผลลัพธ์ทำให้คนทุกข์แสนสาหัส การกระทำนั้นอาจารย์เบนแธมท่านเห็นว่า “ไม่มีประโยชน์”  และผิดศิลธรรม  2.อนึ่ง การนำคำเดิม ๆ มาใช้ เช่น คำว่ามีประโยชน์ เป็นต้น แต่มอบความหมายใหม่ให้กับมัน เป็นกิจกรรมปกติอย่างหนึ่งของนักคิดนักปรัชญา ท่านเป็นกันอย่างนั้นเอง

การกระทำที่ “มีประโยชน์” อาจารย์เบนแธม ท่านถือว่าเป็นการกระทำ “ที่ถูกที่ควร” อันพึงทำ หรือเป็นการกระทำที่ “เป็นธรรม”  หรือเป็นการกระทำที่ “มีคุณค่าทางศิลธรรม”

ศิลธรรมง่าย ๆ ของอาจารย์เบนแธมนั้น ต่อมาก็มีผู้สรุปให้จำได้ง่ายขึ้นอีก ว่า หมายถึงการกระทำที่จะยังผลให้เกิด “ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด”  บางท่านเรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ ให้ชนคนตายคนเดียว เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม เอตทัคคะของ ศิลธรรม พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา  อันเป็นแนวคิดเชิงศิลธรรมที่ตรงกันข้าม กับศิลธรรม GHGN ได้แก่ อาจารย์เอ็มมานูเอล คานต์ นักคิดผู้มีชื่อเสียง และทรงอิทธิพลทางความคิด เป็นชาวเยอรมัน ศ.แซนเดล กล่าวว่า ท่านจะยกหลักศิลธรรมทั้งสองแนว มาเทียบเคียงกันในการบรรยายลำดับต่อ ๆ ไป

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างคดีฉาวในอังกฤษ ปลายศตวรรษที่สิบเก้า เรื่องลูกเรือเดนตายสามคน ที่เรือล่มกลางทะเลหลวง แล้วรอดตายด้วยการฆ่าเด็กรับใช้ในเรือ กินเลือดประทังชีพ

โดยที่หลังจากลอยทะเลอยู่ในเรือบตชูชีพได้สิบเก้าวัน กัปตันก็ตัดสินใจฆ่าลูกเรือคนที่เป็นเด็กรับใช้ประจำเรือ เพื่อให้คนอื่นอีกสามคนรอดตาย ด้วยการบริโภคเลือดและเนื้อของคนตาย

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ที่เคยเป็นคดีดังในศาลอังกฤษ ปัจจุบันก็เป็นคดีตัวอย่างที่ศึกษากันทั่วโลก การอ้างเหตุผลแนวศิลธรรมประโยชน์นิยม ถูกยกขึ้นมาต่อสู้คดี ว่าได้กระทำไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ศ.แซนเดล ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้ออภิปรายในห้องเรียน เพื่อพิจารณาศิลธรรมแบบประโยชน์นิยม ที่มีหลักว่า การกระทำที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ได้แก่ การกระทำที่จะก่อให้เกิด “ผลดี-อย่างใหญ่สุด แก่คน-จำนวนมากสุด”  ซึ่งในกรณีนี้ ผลดีอย่างใหญ่สุด คือ การรอดชีวิตของคนเรือ คนจำนวนมากสุด คือ ลูกเรือเดนตายสามคน และ การกระทำที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ก็คือ ฆ่าเด็กรับใช้ประจำเรือกินเป็นอาหาร

ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาช่วยกันพิจารณาคดีนี้ ว่า ลูกเรือสามคนนั้น ผิด หรือ ไม่ผิด

จับใจความได้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่อภิปรายคัดค้าน การอ้างเหตุผลในครรลองศิลธรรมประโยชน์นิยมในคดีนี้ แนวความคิดคัดค้านประมวลได้สามแนว คือ (ดูสไลด์ at 51:43 ในวีดีโอคำบรรยาย Episode 01)

  1. มนุษย์เรา มีสิทธิบางอย่างบางประการ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นคน ใช่หรือไม่? (เช่น คนเรามี “ขวัญ” ใช่ไหม? เพราะขวัญเป็นพื้นฐานของความเป็นคน ถ้าขวัญบิน หรือขวัญหนี ความเป็นคนของเราก็น้อยลง เราจะใกล้เดรัจฉาน หรือซ็อมบีผีดิบ มากขึ้น) ต้วอย่าง-เด็กรับใช้ประจำเรือ มีสิทธิในชีวิต ที่ผู้อื่นจะมาบั่นชีพเขาไม่ได้
  2. การกระทำการใด ๆ ก็ดี ที่มีขั้นตอนเป็นธรรม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ก็อาจถือได้ว่าการกระทำนั้น ๆ มีศิลธรรม ใช่ไหม? ตัวอย่าง-ถ้าคนเรือจับฉลากกัน เพื่อถูกฆ่า
  3. ความยินยอม มีบทบาทอะไร ในกระบวนการยุติธรรม? ทำไมการกระทำบางอย่าง คนเห็นว่า ผิดศิลธรรมอยู่ในตัวของมันเอง แต่ครั้นคู่กรณีให้ความยินยอม การกระทำนั้นก็พลิกตัว กลับกลายเป็นถูกศิลธรรม ตัวอย่าง-ถ้าเด็กรับใช้ประจำเรือ ยินยอมให้ฆ่าโดยสมัครใจ
ศ.แซนเดล บอกนักศึกษาว่า เพื่อจะตอบข้อสงสัยเหล่านี้ เราจะต้องอ่านงานของนักปรัชญาประโยชน์นิยมคนสำคัญสองคน คือ เจอเรมี แบนแธม กับ จอห์น สจวต มิลล์ ซึ่งท่านจะได้เสนอในการบรรยายครั้งต่อ ๆ ไป



วันพฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

นายกรัฐมนตรีหญิง ถึงคิวสังหาร-จริงหรือว่า มรณะกาลของเธอ ถูกนับถอยหลัง...มาแล้วล่วงหน้า? นางสาว เพนะซีระ ภุทโท बेनज़ीर भुट्टो ตอน 3/3

ปรีชา ทิวะหุต


การค้นคว้า เรียบเรียง นำเสนอ เรื่องการสังหารนายกรัฐมนตรีหญิง ในแดนชมพูทวีป เริ่มจากที่ลังกามาอินเดียและมาปากีสถานนั้น ลำนำข้อมูลหลากหลายที่ไหลผ่านสายตา ล้วนบ่งชัดว่า กรณีการตายของ นางสาว เพนะซีระ ภุทโท เป็นเรื่องลึกลับที่สุด กอรปด้วยปมประเด็นที่น่าฉงนสนเท่ห์ที่สุด ขณะที่ ทั้งอาชญากรรมและอาชญากร ของสองกรณีก่อนหน้านี้ คือกรณีของ นางสาว จันทริกา กุมาระตุงคะ  และ นางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี ต่างล้วนแจ่มกระจ่าง เข้าใจได้ไม่ยาก ผู้คนทั้งหลายสามารถปิดคดีภายในจิตใจของตนลงได้ แต่กรณีฆาตกรรม นางสาวเพนะซีระ คนจำนวนมากทั้งในปากีฯ และนอกปากีฯ ยังไม่สามารถปิดคดีนี้ภายในจิตใจของตน ลงได้ง่าย ๆ เลย

ใครฆ่าเธอ?

วันอังคารที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

หน้าคำหยาบ และบทบาท ตัวอย่าง+วีดีโอ คลิกที่นี่

คำเตือน: หนังสือเรื่องคำหยาบก็จริงอยู่ แต่โปรดระวัง เพราะว่า มีคำสุภาพปนอยู่เยอะมาก


ภาพเขียนภาพนี้ เป็นภาพที่มีผู้แวะชมมากที่สุด ในพิพิธภัณฑ์ ออกเซ่ กรุงปารีส
ชื่อภาพ "โลริจีน ดู ม็งด์" (L'Origine du monde) แปลว่า "กำเนิดโลกมนุษย์"
ผลงานของศิลปินฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำด้านศิลปะเหมือนจริง กุสตาฟ กูร์เบต์

หมายเหตุ: ภาพเขียน ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับงานเขียนเล่มนี้ แต่บทกวีที่อ่านประกอบภาพ
เป็นงานเขียนชิ้นเอก สมควรที่นักเขียนทุกคน นับถือเป็นแบบอย่างได้

บทกวี ที่อ่านประกอบวีดีโอ เป็นบทกวีชิ้นเอกของอิตาลี
ชื่อ "L'Infinito" ของกวีเอก Giacomo Leopardi ศตวรรษที่ 18
ถึงไม่รู้ภาษาอิตาลี ก็ฟังเพราะ ครับ