บทความเรื่อง “freely elected Prime Minister of…กระบือแลนด์”
แดง ใบเล่
เผยแพร่แล้ว ทางสื่อสิ่งพิมพ์
เมื่อ มกราคม 2551
บ้านเมืองที่ระบบกฎหมายเจริญวัย มีวุฒิภาวะ ราษฎร์-พลเมืองมีระดับวัฒนธรรมสูงกว่าทารก เข้าใจที่จะใช้วิธีอหิงสา(civility) แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกันและกัน ทั้งข้อขัดแย้งที่เป็นงานเมืองและงานส่วนตัว ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็จะกระโดดเข้าขย้ำคอกัน แบบไอ้ตูบข้างถนนเลย สองสิ่งนี้ ระบบการใช้กฎหมายเจริญวัย และราษฎร-พลเมืองมีวัฒนธรรมสูงกว่าทารก คือองค์ประกอบในโครงสร้าง(configuration)ของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ ที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และสองสิ่งนี้เป็นหลักประกันให้แก่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (พอสมควร)
ศาล(ส่วนหนึ่งของระบบกฎหมาย)จะประนีประนอมความเป็นจริงทางสังคม กับ การเมืองการปกครอง ได้อย่างไร?
ศาลจะหาสมดุล ระหว่างตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพ(liberty-bearing provisions) กับตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับความยุติธรรม(justice-bearing provisions) ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร?
การเมืองการปกครอง ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคนจำนวนมากเห็นว่าดี และผู้เขียนก็เห็นว่า ดีกว่าระบบ “เผด็จการเสรี” พาราสาวัตถี ตามอำเภอใจ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา เยอะเลย
อย่าหลงถือ ซื่อสัตย์ มักขัดสน
จงคิดกล ให้ได้ดัง หนึ่งกังหัน
ลมพัดกล้า มาทางไหน ไปทางนั้น
หมุนให้มัน รอบตัว กลัวทำไม
แม้นมีมิตร แล้วจงคิด ทำลายล้าง
ตัดหนทาง โกงเจ้า เอาแต่ได้
สละซื่อ ถือดังนี้ ดีสุดใจ
อย่าเลือกหน้า ว่าผู้ใด ใส่ให้พอ
-เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
-เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
อะไรเป็นปัญหาหรือ การเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีปัญหาใหญ่เกี่ยวกับการที่ชัดเจนเรื่อง “สิทธิ” แต่ไม่ชัดเจนเรื่อง “ความยุติธรรม”
ในห้วงมหาสมุทร์แห่ง “สิทธิ” นั้น ในที่สุดแล้ว ก็จะจบลงกับเรือลำน้อยของ “สิทธิตามกฎหมาย” ซึ่งผู้นิยมระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย ต่างก็รู้สึกมีความสุขที่ “สิทธิ” จบลงได้เช่นนั้น แม้จิตใจจะประหวั่นพรั่นพรึง กับการขึ้นเรือลำน้อยลำนั้น อยู่บ้างก็ตาม (เช่น ณ เดือนพฤษภาคม 2554 ตัวอย่างคือ อดีต ผ.อ. ไอเอ็มเอฟ เป็นต้น)